Skip to main content
sharethis

ค่ำคืนวันที่ 19 สิงหาคม 2550 ท่ามกลางผลการลงประชามติที่ทยอยรายงานมาตั้งแต่ช่วงเย็น โดยฝ่ายรับร่างรัฐธรรมนูญมีคะแนนนำโดยตลอด แม้จะถูกฝ่ายไม่รับร่างฯ ตีตื้นทำให้ทิ้งห่างไม่มากเท่าที่หลายคนคาดการณ์ กลุ่มไทยรักไทยออกมาแถลงข่าวตั้งแต่ช่วงเย็นว่าจะยอมรับผลการลงประชามติเพื่อให้สังคมเดินไปสู่การเลือกตั้งภายในปีนี้


 


ด้านเวทีนปก.ยังคงมีการจัดการชุมนุม แต่ผู้คนบางตากว่าทุกวัน มีเพียงประมาณ 1,000 กว่าคน บรรยากาศเป็นไปอย่างค่อนข้างเงียบเหงา แม้ทางแกนนำจะจัดวงดนตรีมาช่วยสร้างบรรยากาศครึกครื้น ผลการลงประชามติชัดขึ้นเรื่อยๆ แต่ผู้คนยังปักหลักอยู่ เพื่อรอคอยมติการตัดสินใจเคลื่อนไหวต่อไปของ นปก.


 


ก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำนปก. ที่อยู่ร้องรำทำเพลงกับผู้ชุมนุมมาตั้งแต่หัวค่ำได้ขึ้นเวทีกล่าวอำลาผู้คนที่ร่วมชุมนุมด้วยกันมาหลายเดือน โดยประกาศให้เบอร์ call center ของพีทีวีไว้เพื่อสอบถามความเคลื่อนไหว


 


หลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวกับนักข่าวราว 22.00 น. ดร.เมธาพันธ์  โพธิธีรโรจน์ แกนนำนปก.ได้ขึ้นเวทีชี้แจงยอมรับผลการลงประชามติ แม้จะวิพากษ์กติกาที่ไม่เป็นธรรมของฝ่ายผู้มีอำนาจ รวมไปถึงขอยุติการชุมนุม ณ ท้องสนามหลวง เพื่อเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง โดยมีเงื่อนไขว่าหากพบว่ามีการโกงประชามติชัดเจน หรือมีวี่แววการสืบทอดอำนาจจะกลับมาจัดการชุมนุมใหม่อีกครั้ง


 


ขณะที่สุชาติ นาคบางไทร แกนนำกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ ประกาศสวนกระแสซึมว่า ปลื้มปิติ มีกำลังใจกับเสียงโหวตโนที่ท่วมท้น ทางกลุ่มจึงยืนยันจะชุมนุมที่สนามหลวงต่อทุกวันเสาร์ เริ่มตั้งแต่เสาร์ที่จะถึงนี้ ทำให้ตัวแทนกลุ่มแรงงาน กลุ่มแท็กซี่ต่างก็ประกาศจะมาร่วมการชุมนุมด้วย โดยระบุชัดเจนว่าเป็นการพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และเพิ่มเติมความรู้


 


"เราจะทำให้ท้องสนามหลวงเป็นมหาวิทยาลัยของพวกเรา ไปจัดที่โรงแรมก็แพง ไปจัดในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็มีค่าใช้จ่าย แต่สนานหลวงจะเป็นแหล่งความรู้ของพวกเราที่มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด" สรรเสริญ อุ่นเรือน ตัวแทนจากกลุ่มแรงงานกล่าวบนเวที


 


สุดท้าย สมบัติ บุญงานมอนงค์ ขึ้นกล่าวปราศรัย โดยเริ่มต้นจากการร้องเพลง "รัตติกาล" เพื่อให้กำลังใจผู้ชุมนุมและตนเอง โดยเขาเป็นคนหนึ่งที่นำการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอย่างเอาจริงเอาจัง หลังจากนั้นเขาได้ประกาศยอมรับความพ่ายแพ้...ในเกมส์ คมช.


 


"มันเป็นเกมส์ที่ไม่ยุติธรรม  ให้เราสู้โดย มัดมือ มัดขาเรา ผมอยากถามคนออกแบบและควบคุมกติกานี้ว่า คุณภูมิใจไหมที่ได้ชนะประชาชนในครั้งนี้" สมบัติกล่าว อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่าการยอมรับความพ่ายแพ้ครั้งนี้เพื่อเป็นตัวอย่างแก่พรรคการเมืองที่ปฏิเสธจะลงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย.49 ซึ่งถือเป็นการไม่ยอมสู้เมื่อรู้ว่าตัวเองจะแพ้


 


สมบัติยังได้กล่าวแก่ผู้ชุมนุมโดยยกคำของครูประทีป อึ้งทรงธรรม ที่ว่า "ให้แปรความเคียดแค้นเป็นพลัง" และคำของนพ.เหวง โตจิราการ ที่ว่า "จงต่อสู้อย่างเบิกบาน"


 


"ความเคียดแค้นที่ยังไม่แปรรูปเป็นพลังงานจะทำลายเรา เราจะต่อสู้แบบควบคุมตัวเองไม่ได้ และเหมือนไม่มีเหตุผล" สมบัติย้ำ


 


หลังจากนั้น มีการร่วมกันร้องเพลง "คำมั่นสัญญา" โดย อู๋ เสรีชน บรรเลงกีตาร์ และเม้าท์ออแกน ท่ามกลางบรรยากาศซาบซึ้ง และหลายคนที่น้ำตาซึม


 







แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.)


แถลงการณ์


 


วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2550


เรื่อง แนวทางการเคลื่อนไหวต้านเผด็จการ


 


จากการที่ผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างไม่เป็นทางการ ปรากฎว่า ผ่านความห็นชอบจากประชาชนด้วยคะแนน 60% ต่อ 40% โดยประมาณนั้น ทาง นปก. พบว่ากระบวนการลงประชามติครั้งแรกของประเทศไทยนี้ เต็มไปด้วยความด่างพร้อย ภายใต้กฎอัยการศึกเกือบครึ่งประเทศ ไร้ความเสมอภาคในการรณรงค์ มีการใช้กลไกของรัฐทุกรูปแบบ เต็มไปด้วยการโกหกหลอกลวง ข่มขู่และกดดัน ผู้ที่มีส่วนได้เสียกับผลของรัฐธรรมนูญเป็นผู้ที่รับผิดชอบในการดำเนินการลงประชามติ รวมทั้งมีเงื่อนงำน่าสงสัยในการโกงการลงประชามติอย่างกว้างขวาง เพื่อผลักดันให้ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนให้จงได้ นำไปสู่การฟอกตัวเองของฝ่ายเผด็จการ นอกจากนั้นประชาชนที่ลงมติเห็นชอบรัฐธรรมนูญจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจรับร่าง รธน ด้วยเหตุผลเบื่อหน่ายการบริหารงานของ รัฐบาล และ คณะรัฐประหาร คมช  และ เชื่อว่า หากมีการรับร่าง รธน ฉบับนี้ จะเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้ปัญหาที่เกิดจากคณะบุคคลเหล่านี้หมดไป หาใช่สนับสนุนร่าง รธน คมช ในเชิงเนื้อหา เพราะมีการแจกหนังสือร่าง รธน ถึงมือประชาชนเพียง 19 วันก่อนการลงประชามติ


 


นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ นปก. ไม่สามารถยอมรับได้ เพราะมีจุดอ่อนมากมาย อาทิเช่น รับรองการรัฐประหารว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม สร้างความอ่อนแอให้กับระบบการเมืองและการบริหารประเทศ สถาปนาอำนาจอำมาตยธิปไตย และนำไปสู่การเป็นรัฐทหาร เปิดช่องให้มีการริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนผ่านกฏหมายความมั่นคงที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันนี้


 


ในระหว่างที่ นปก. จะได้รวบรวมหาหลักฐานที่พิสูจน์การโกงการลงประชามติครั้งนี้ได้อย่างชัดเจน ซึ่งมีการแจ้งรายงานมาจากประชาชนจำนวนมากในความไม่ชอบมาพากลของฝ่ายรัฐ แต่เพื่อความสงบสุขของบ้านเมืองและเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง เพื่อคืนอำนาจอธิปไตยกลับคืนสู่ปวงชนชาวไทย โดยปราศจาคการดำรงอยู่ของ คมช  ซึ่งเป็นความต้องการร่วมกันของ นปก และ ผู้ที่ลงมติเห็นชอบ และ ไม่เห็นชอบ ต่อ รธน ฉบับนี้ นปก. จึงขอยุติการเคลื่อนไหวขับไล่เผด็จการเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีเหตุการณ์ใดที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติอีก อาทิเช่น


1)      ปรากฏหลักฐานเงื่อนขำการบิดเบือนประชามติที่เชื่อถือได้


2) มีความพยายามสืบทอดอำนาจของ ประธานหรือสมาชิก คมช., ครม., สสร., กมธ. หรือ สนช. (ย้ำ นายทหารของ คมช จะต้องไม่หลุดออกจากการเมืองทั้งในสนามเลือกตั้ง และ บทบาททหารที่แทรกแซงการเมือง)


3) มีการทุจริตมิชอบในการบริหารราชการแผ่นดิน ของ คมช. รัฐบาล และองค์กรที่แต่งตั้งขึ้นโดย คมช.


4) มีการสร้างความแตกแยกในสังคมอย่างต่อเนื่อง


5) ออกกฏหมายใดๆที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติหรือประชาชน เช่น กฏหมายที่เป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน  กฏหมายที่นำไปสู่การเป็นรัฐทหาร ฯ


6) แอบอ้างเบื้องสูงหรือทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 


7) พยายามเหนี่ยวรั้งเพื่อเลื่อนการเลือกตั้งออกไปโดยไม่มีเหตุผล ไม่ว่าด้วยการกระทำด้วยวิธีใด


8) มีการใช้อำนาจและกฏหมายอย่างไม่เป็นธรรมต่อประชาชน ไม่ว่าต่อประชาชนกลุ่มใด


9) กลั่นแกล้งดำเนินคดีต่อ แกนนำ นปก. และประชาชนผู้ชุมนุมขับไล่เผด็จการโดยสงบ โดยปราศจากการไต่สวนที่เที่ยงธรรม                                                     


            ในระหว่างนี้ นปก. จะติดตามสถานการณ์ของบ้านเมืองอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีการกระทำในลักษณะดังกล่าว แกนนำ นปก. จะดำเนินการเคลื่อนไหว เพื่อขับไล่เผด็จการต่อไปทันที


            จึงเรียนมาเพื่อทราบทั่วกัน


            ประกาศ ณ. วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2550


                                                                       


 


                                                            ดร. เมธาพันธ์ โพธิธีรโรจน์ 


                                                            ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ 2


นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์


นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ


นายชินวัฒน์ หาบุญพาด


นายก่อแก้ว พิกุลทอง


นายสมบัติ บุญงามอนงค์


นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข


นายสุชาติ นาคบางไทร


นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน


 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net