Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวชาวบ้าน


 


"รธน.50 ไม่ได้มีผลอะไรกับเราอยู่แล้ว ยังไงประชาชนก็ยังต้องสู้เหมือนเดิม เพราะพวกเราไม่เคยเชื่อในตัวรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นฉบับใดๆก็ตาม ประชาชนก็ต้องออกแรงเหมือนเดิม" นางกรณ์อุมา พงษ์น้อย ชาวบ้านจากต.บ่อนอก อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวพร้อมเล่าว่า


 


ช่วงก่อนวันลงประชามติในพื้นที่มีกระแสร่ำลือกันอย่างหนาหูว่า "ถ้าไม่รับร่างรธน.ฉบับนี้แล้วทักษิณจะกลับมา"… "บางกระแสก็บอกว่า ถ้า รธน. 50 ไม่ผ่าน การเลือกตั้งจะไม่เกิด" ซึ่งนี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่แห่กันไปลงคะแนน เพราะหลังจากพูดคุยกับชาวบ้าน ส่วนมากเขาเบื่อหน่ายการเมือง เบื่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) อยากให้เรื่องจบๆ ไป จะได้มีการเลือกตั้ง และมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ สภาวการณ์ทุกอย่างจะได้ดีขึ้น


 


ต.กุยบุรี นอกจากเป็นพื้นที่กฎอัยการศึก แล้วยังเป็นพื้นที่ ที่มีการต่อต้านโครงการพัฒนาจากภาครัฐ กรณีของโรงไฟฟ้าถ่านหิน บ่อนอกด้วย ณ จุดนี้มีผลต่อการตัดสินใจไปลงประชามติหรือไม่ "กรณ์อุมา" แจงว่า ไม่ได้มีผลอะไร เพราะชาวบ้านใน 14 หมู่บ้านของต.กุยบุรี ส่วนใหญ่ออกมาใช้สิทธิ์ทั้งนั้น โดยผลคะแนนรวมของตำบลออกมาว่า "รับ" เนื่องจากเหตุผลข้างต้น


 


กอปรกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทั้งจากส่วนกลางและระดับท้องถิ่น ซี่งรับกันมาทั้งอำนาจและงบประมาณจากภาครัฐ เข้ามาดำเนินการในพื้นที่ มีการจัดดีเบต และสร้างความรู้ความเข้าใจในตัวร่าง รธน.อย่างรอบด้านให้กับประชาชนน้อยมาก เช่นนี้แล้ว ประชาชนก็ต้องเข้าใจตามข้อมูลที่ได้รับ แล้ว รธน. ฉบับนี้จะไม่ผ่านไปเสียได้อย่างไร


 


ขณะที่อีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งมีถูกรุกรานจากโครงการพัฒนาของรัฐเช่นกัน อย่างพื้นที่เขื่อนปากมูล ต.โขงเจียม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี นายนันทโชติ ชัยรัตน์ ตัวแทนชาวบ้านจาก ต.โขงเจียม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี และที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวว่า วิธีคิดในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 50 มาจากทัศนะที่กดหัวชาวบ้าน ฉะนั้นไม่เพียงแต่กรณีเขื่อนปากมูลเท่านั้น ที่ชาวบ้านก็ต้องลุกขึ้น "สู้" เหมือนเดิม แต่รวมไปถึงพื้นที่ปัญหาอื่นๆด้วย


 


"ดูถูกชาวบ้าน ไม่เคยเห็นหัว ทัศนะที่ถูกกดทับมาตลอดในเมืองไทย ชาวบ้านค้านเขื่อนปากมูล ก็ถูกตราหน้าหาว่าเป็นพวกรับการประชาสัมพันธ์น้อย จึงไม่เข้าใจ ตกเป็นเครื่องมือของเอ็นจีโอ"นายนันทโชติกล่าวพร้อมอธิบายต่อว่า


 


ในการลงประชามติครั้งนี้ก็เช่นกัน พอคะแนนออกมาว่าไม่รับมากกว่ารับร่างรัฐธรรมนูญ พี่น้องอีสานก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันว่า ได้รับข้อมูลน้อย เป็นฐานเสียงเดิมของพรรคไทยรักไทย ได้รับอามิสสินจ้าง ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นทัศนะที่ดูถูกคนจนทั้งสิ้น ซึ่งเป็นทัศนะที่ไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นได้


 


นอกจากนี้เขายังเล่าอีกว่า วันที่มีการลงประชามติประชาชนในพื้นที่ต่างให้ความสนใจไปใช้สิทธิ์ในการออกเสียง เพราะอยากให้มีการเลือกตั้งเร็วๆ พร้อมกับมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ เพื่อสถาการณ์ต่างๆจะได้ดีขึ้น


 


ด้านนางสาวนวรัตน์ ดาวเรือง สมาชิกอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จ.อุดรธานี ให้ความเห็นว่า สุดท้ายรัฐธรรมนูญ50 ก็คลอดออกมาแล้ว ประชาชนเองต้องพยายามหาทางใช้ให้มันให้เป็นประโยชน์ สำหรับชาวบ้านในพื้นที่เหมืองโปรแตชเอง พวกเราไม่เคยเชื่อว่ารัฐธรรมจะเข้ามาช่วยเหลือเราได้ อย่างไรก็ตามเราก็ยังต้องสู้ต่อไปให้ถึงที่สุด


 


ทั้งนี้ ก่อนวันลงประชามติ มีการปล่อยข่าวว่า "ถ้าเลือกรับรัฐธรรมนูญ ทหารก็จะออกมาคุมเกมบ้านเมืองอีกเหมือนเดิม" ออกมา ทำให้ชาวบ้านสับสนเหมือนกัน แต่ด้วยความอยากให้มีการเลือกตั้งใหม่เร็วๆ พวกเขาจึงออกไปใช้สิทธิกันอย่างคึกคัก


 


สำหรับ นายบังดล อับดุลเลาะ ชาวบ้านในพื้นที่บ้านป่างาม ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า ปัญหาเรื่องท่อก๊าซจะนะ จะรัฐธรรมนูญฉบับไหนๆ รัฐบาลก็เข้าข้างฝ่ายนายทุนอยู่แล้ว เนื่องจากมีผลประโยชน์ร่วมกัน ฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่รธน.50 รัฐจะมายืนข้างประชาชน พวกเราจึงไม่หวังจะพึ่งอะไรกับ รัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่แล้ว


 


"ชาวบ้านในพื้นที่จะนะต่างให้ความสนใจไปลงประชามติ พวกเขาบอกว่าไปใส่ให้มันจบๆไป จะได้มีการเลือกตั้งใหม่สักที เบื่อการเมืองแบบเดิมแย่แล้ว" นายบังดล กล่าวทิ้งท้าย


 


ความคิดที่ว่า "ยังไง...ประชาชนก็ต้องสู้เหมือนเดิม" เสียงสะท้อนที่บ่งบอกถึงความไม่เชื่อมั่นในรัฐธรรมนูญฉบับ 50 ชัดมาก...สัญญาณเหล่านี้จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมในอนาคตด้วยหรือไม่นั้นคงต้องช่วยกันจับตาต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net