Skip to main content
sharethis

5 ก.ย.50 - เพื่อเป็นการตอกย้ำข้อเรียกร้องของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยที่ได้ยื่นเสนอไปยังรัฐไทยเพื่อให้ดำเนินการตามข้อเรียกร้อง สถาบันชาติพันธุ์พัฒนา กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงร่วมกับ คณะกรรมการจัดงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย จัดงาน "มหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย" ขึ้นระหว่างวันที่ 5-11 ก.ย. 2550 ณ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่


 


ทั้งนี้ เพื่อนำเสนออัตลักษณ์ ภูมิปัญญา สะท้อนปัญหา นำเสนอสถานการณ์และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย รวมทั้งร่วมรณรงค์เนื่องในปีทศวรรษสากลของชนเผ่าพื้นเมืองโลก ระยะที่ 2  


 


ภายในงานได้จัดให้มีการแสดงปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อเรื่อง "นโยบายรัฐกับทศวรรษสากล ของชนเผ่าพื้นเมืองโลก ระยะที่ 2"  โดยตัวแทนจากรัฐบาล


 


นอกจากนั้น ในงานยังมีการแสดงนิทรรศการชุด "พล - ละ - เมือง ชน - ละ - เผ่า สิทธิเราเท่าเทียมกัน..หรือยัง?" การแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินพื้นบ้าน ภาพยนตร์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม การละเล่น กีฬา สินค้าหัตถกรรม อาหารพื้นบ้านของคนชนเผ่าพื้นเมืองจากทั่วทุกภาคในประเทศไทยที่มีความสอดคล้องกับวิถีการดำรงชีวิตที่อยู่ใกล้ชิดและผูกพันกับธรรมชาติ ป่าไม้ แม่น้ำ ทะเลอย่างแนบแน่น ทั้งระบบการผลิต  การตั้งถิ่นฐานและการใช้ทรัพยากรเพื่อยังชีพ ซึ่งลักษณะการดำรงชีวิตดังที่ได้กล่าวมาได้ถูกบ่มเพาะจนกลายเป็นอัตลักษณ์ของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย และยังมีเวทีสัมมนาวิชาการด้านชาติพันธุ์และการพัฒนาโดยนักวิชาการที่มีประสบการณ์การทำงานด้านคนชนเผ่า


 


วันนี้ (5 ก.ย. 50) วันแรกสำหรับ มหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยประชาไทจึงขอเก็บรายละเอียดมารายงาน


 


พี่น้องชนเผ่าร่วมมือร่วมแรงช่วยงาน


พี่น้องชนเผ่าจากทั่วสารทิศในภาคเหนือ ทั้งนักศึกษา ประชาชน ได้เข้ามาร่วมเตรียมงานอย่างแข็งขัน  น.ส.ซาซูมิ  มาเยอะ และ นายจีรศักดิ์  จูเปาะ นักศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ อาข่า ผู้เข้าร่วมงานและได้ทำกิจกรรมช่วยพี่น้องชนเผ่าอาข่าจัดซุ้ม ได้กล่าวว่า พวกเขาทราบข่าวประชาสัมพันธ์จากทางสื่อวิทยุ จึงอยากมาร่วมงานเพราะเป็นงานเกี่ยวกับชนเผ่าซึ่งน้อยครั้งนักที่จะมีงานระดับนี้


 


จีรศักดิ์ กล่าวว่า วันสำคัญต่างๆ ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นวันเด็กหรือวันอื่นๆ ก็มีแล้ว ก็ควรมีงานที่เกี่ยวกับชนเผ่าบ้าง เพราะกลุ่มชนเผ่าก็เป็นประชากรที่ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติ


 


ส่วนซาซูมิ ได้เพิ่มเติมความเห็นว่า กลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายไม่ได้มีแค่พื้นที่ภาคเหนือ จากการประชาสัมพันธ์ที่ได้ออกสื่อไปนั้น มีทั้งชนเผ่าจากภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคกลาง เข้าร่วมด้วย และถือเป็นโอกาสอันดีที่จะมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน


 


ทั้งคู่ได้กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาพลเมืองกลุ่มชาติพันธุ์ ในด้านการศึกษา และอื่นๆ และอย่ามองเป็นแค่กลุ่มชายขอบ เพราะลูกหลานคนรุ่นใหม่ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับการศึกษาล้วนแล้วแต่กลับไปพัฒนาบ้านเกิดและในเมืองใหญ่ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ


 


ส่วนความคาดหวังสำหรับมหกรรมในครั้งนี้คือ จะเป็นงานที่ประกาศถึงความมีตัวตน มีวัฒนธรรมเป็นของตัวเองของกลุ่มพี่น้องชนเผ่าในประเทศไทย


 


นายกำชาติ  ส่องแสง และนายปฏิภาณ วิริยะวนา กลุ่มชาติพันธุ์ ปกาเก่อญอ ทั้งคู่เข้ามาร่วมงานเพราะทราบข่าวทางอินเตอร์เน็ตและจากปากต่อปาก ทั้งคู่สังเกตว่าในงานวันนี้พี่น้องชนเผ่าต่างมาช่วยกันจากทั่วสารทิศ ได้เห็นความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของกลุ่มชาติพันธุ์


 


โดยความคาดหวังนอกจากที่จะได้ศึกษาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของพี่น้องชนเผ่าจากภาคอื่นๆ แล้ว ประเด็นที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือการร่วมกันคิดถึงประเด็นการเคลื่อนไหวในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิที่กลุ่มชาติพันธุ์พึงได้รับ ร่วมกันวางแผนต่อสู้ต่อไปในอนาคต


 


 ศิลปิน-นักเขียน ร่วมให้กำลังใจพี่น้องชนเผ่า


 



ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร และ แสงดาว ศรัทธามั่น


 


นอกจากนี้ศิลปิน-นักเขียนที่มาร่วมงาน ยังให้ประเด็นแง่คิดถึงการหนุนเสริมของฝ่ายศิลปิน ในการเป็นกระบอกเสียงให้พี่น้องชนเผ่า โดยแสงดาว ศรัทธามั่น และไพฑูรย์ พรหมวิจิตร เป็นตัวแทนในการพูดคุยกันในวงสนทนาเล็กๆ


 


ไพทูรย์ กล่าวว่า วันนี้มาดูบรรยากาศของพี่น้อง วิถีชีวิต กิจกรรมที่น่าสนใจ อยากเขียนหนังสือเกี่ยวกับพี่น้องชนเผ่า แต่ต้องมาศึกษาเก็บข้อมูลก่อน ซึ่งมีหลายชนเผ่าจำเป็นต้องศึกษาก่อนที่จะสร้างงานออกมา


 


สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ ก็เหมือนเป็นการเริ่มต้นที่ต้องมารวมตัวกัน เพื่อเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นจากข้อเรียกร้องของชนเผ่าเอง การจัดมหกรรมเป็นการต่อสู้รูปแบบหนึ่งที่สามารถดึงชนชั้นกลางและคนเมืองให้เข้าใจถึงวัฒนธรรมวิถีชีวิตของพี่น้องชนเผ่า และร่วมเป็นพลังหนุนเสริมและให้กำลังใจกับพี่น้องชนเผ่าได้


 


สำหรับนโยบายที่รัฐจะต้องทำเร่งด่วน ไพฑูรย์เห็นว่า ต้องทำบัตรให้กับคนที่อยู่เก่าก่อนจึงจะสามารถเช็คได้ว่ามีจำนวนเท่าใดในแต่ละพื้นที่ ต้องมีพื้นที่ชัดเจนก่อน ต้องไม่ให้ชาวบ้านออกจากป่า หากย้ายที่ก็จะเกิดปัญหาใหม่ตามมา ต้องให้อยู่อย่างสันติและหลากหลายวัฒนธรรม ไม่ใช่ไปกำหนดให้เขาเปลี่ยนไปจากความดั่งเดิม


 


ด้าน แสงดาว ศรัทธามั่น กล่าวว่า อยากมีส่วนร่วมในการนำเสนอเรื่องราวของชนเผ่าให้กับโลกข้างนอกได้รับรู้ ถึงการบุกรุกจากกระแสทุนนิยมและนโยบายของรัฐ  รวมทั้งต้องการมีส่วนร่วมในการดูแล ปกป้องพี่น้องชนเผ่า เพราะมนุษย์ทุกวันนี้เป็นอวิชชา ปัญหาเกิดสะสมทีละน้อยน้อยจนนำไปสู่ปัญหาด้านการเมือง ซึ่งมองข้ามความเป็นธรรมชาติและวิถีชีวิตของพี่น้องซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ อยากร่วมต่อสู้กับพี่น้องซึ่งถูกมองว่าเป็นคนชายขอบ


 


โดยปัจจุบันนั้น โครงสร้างสังคมและทุนนิยมไม่เคารพธรรมชาติ ชนเผ่า กลุ่มทุนนิยมมองเป็นเรื่องผลประโยชน์ในการดูดกลืนทรัพยากร การศึกษาที่รัฐยัดเหยียดให้กับเด็กและชาวบ้าน เหมือนการครอบงำ รัฐคิดเหมือนกับฝรั่ง เน้นเทคโนโลยีทันสมัยมากกว่าจิตใจ ชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดหลักสูตรทางการศึกษาจึงจะอยู่รอด และในฐานะจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ เราต้องมีความเมตตาต่อกัน ไม่ใช่เอากฎหมายเข้าไปจัดการ ทั้งนี้ต้องให้กำลังใจกับพี่น้องชนเผ่า ชนชั้นกลางต้องเป็นตัวเชื่อมเป็นปากเสียงให้


 


โดยแสงดาว ศรัทธามั่น ได้มอบบทกวีให้กับงานมหกรรมชนเผ่าแห่งประเทศไทยไว้ดังนี้


 







ชีวิตคนเราเกิดมามีแค่นี้      จักกี่ปี กี่เดือน กี่ครั้ง


เกิดมายังชีพแล้วตายไป     มิมีใครจักอยู่โยงค่ำฟ้า


อยู่อย่างนี้อย่างพี่น้องและผองเพื่อน    จักกี่ปีกี่เดือนช่างเถิดหนา


อยู่อย่างคน ตีนติดดินธรรมดา    หลายชีวิตคุ้มค่าก็แล้วกัน


We  love   you


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net