Skip to main content
sharethis

 







พม่า


 


 


ปูด "ทหารพม่า" สกัดขบวนส่งอาหารยูเอ็น


เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ : นายพอล ริสเลย์ โฆษกโครงการอาหารโลก ขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เปิดเผยวานนี้ (29 ก.ย.) ว่า ทหารพม่าได้สกัด หรือห้ามการเคลื่อนไหวของขบวนขนส่งอาหาร ทำให้ผู้อดอยากที่รอคอยความช่วยเหลือราว 500,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็ก ต้องประสบกับความยากลำบาก เมื่ออาหารไปไม่ถึงมือ ทั้งนี้ โฆษกโครงการอาหารโลก กล่าวว่าพื้นที่ซึ่งน่าเป็นห่วงที่สุดอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการแจกจ่ายอาหารช่วยเหลือผู้ที่อดอยากในพม่า ถูกปิดล้อม ทำให้ขบวนขนส่งอาหารไม่อาจออกไปจากเมืองมัณฑะเลย์ได้ ทำให้อาหารไปไม่ถึงมือผู้อดอยากที่รอคอยความช่วยเหลืออยู่ในภาคกลางและรัฐฉานของพม่า และนอกจากเมืองมัณฑะเลย์แล้ว ขบวนรถลำเลียงความช่วยเหลือด้านอาหารจากเมืองท่าซิตตเวไปให้แก่ประชาชนผู้อดอยากในรัฐยะไข่ ในภาคเหนือ ก็ถูกห้ามมิให้เคลื่อนขบวนด้วยเช่นกัน


 



ผู้ที่รอคอยความช่วยเหลือจากโครงการอาหารโลกนั้น ส่วนใหญ่เป็นเด็กๆ ที่ป่วยด้วยโรคเอดส์ และวัณโรค โดยโครงการอาหารโลกได้สำรวจพบว่า เด็กๆ บริเวณชายแดนพม่า ซึ่งเป็นพื้นที่สู้รบของชนกลุ่มน้อยที่ต้องการปกครองตนเอง เป็นโรคขาดสารอาหารมากถึง 70% นอกจากนั้น องค์การยูนิเซฟ ยังได้เคยสำรวจพบว่า สตรีพม่าที่มีเชื้อไวรัส เอชไอวี ราว 10,000 คน ได้ให้กำเนิดทารกที่ติดเชื้อเอชไอวี มาจากในครรภ์ปีละราว 3,000-4,000 คน


 



โครงการอาหารโลก วางแผนใช้เงินจากการบริจาคราว 51.7 ล้านดอลลาร์ ในระยะเวลา 3 ปี เพื่อช่วยเหลือชาวพม่าราว 1.6 ล้านคน แต่ได้รับเงินบริจาคจากชาติผู้บริจาคเพียง 12.5 ล้านดอลลาร์ เท่านั้น



 


สหรัฐงดออกวีซ่าทหารพม่าเพิ่ม


กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐ ออกแถลงการณ์ว่าได้งดออกวีซ่าเดินทางเจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารพม่าและครอบครัวกว่า 30 คน เพิ่มเติมจากเดิมที่อยู่ในบัญชีดำ เพื่อประท้วงที่รัฐบาลทหารพม่า ยังคงใช้กำลังกวาดล้างกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 13 ราย พร้อมทั้งเตือนว่า อาจจะเพิ่มเติมรายชื่อบุคคลอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้กำลังกับพลเรือนผู้บริสุทธิ์อีก แต่ปฏิเสธที่จะเปิดเผยรายชื่อบุคคลที่สหรัฐงดออกวีซ่าให้ในครั้งนี้



 


ชาวสิงคโปร์ถูกยิงในเหตุประท้วงพม่า


กระทรวงต่างประเทศของสิงคโปร์ ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า มีชายชาวสิงคโปร์ที่ทำงานในเมืองย่างกุ้งคนหนึ่ง ถูกตำรวจปราบจลาจลของพม่า ยิงกระสุนยางหลายนัดเข้าใส่ ทำให้ได้รับบาดเจ็บ แต่ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต โดยล่าสุดทางการสิงคโปร์เตรียมนำชายผู้นี้พร้อมครอบครัวเดินทางกลับประเทศ พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าใช้ความอดกลั้นอย่างที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วง



 


"อาร์โรโย" จี้พม่าปล่อยตัวซูจี


กลุ่มสตรีนำโดยประธานาธิบดีกลอเรีย อาร์โรโย ของฟิลิปปินส์ ได้ส่งจดหมายถึงรัฐบาลทหารพม่า เรียกร้องให้ปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านเรียกร้องประชาธิปไตย โดยโฆษกประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ระบุว่า นางอาร์โรโย ได้พบปะกับกลุ่มผู้นำสตรี รวมทั้ง ดร.คอนโดลีซซา ไรซ์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ นอกรอบการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก และได้เสนอแนะให้กลุ่มเขียนจดหมายไปถึงรัฐบาลทหารพม่า เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางซูจี ซึ่งทางกลุ่มเห็นพ้องด้วย


 



นอกจากนี้ ผู้นำฟิลิปปินส์ยังเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด และเปิดเจรจาเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ เพื่อยุติเหตุการณ์ไม่สงบในพม่า พร้อมกันนี้ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าใช้ความอดกลั้นอย่างถึงที่สุด



 


พม่าขอโทษกรณีชาวญี่ปุ่นเสียชีวิต


สำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่น รายงานว่า นายญาน วิน รัฐมนตรีต่างประเทศพม่า ได้ขออภัยหลังจากญี่ปุ่นยื่นประท้วงอย่างเป็นทางการ กรณีมีนักข่าวชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตในระหว่างการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล


 



ทั้งนี้ นายมาซาฮิโกะ โคมูระ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น ได้ประท้วงพม่าระหว่างการพบปะกับนายญาน วิน ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก โดยกล่าวว่า การเสียชีวิตของนายเคนจิ นางาอิ เป็นเรื่องที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง ขณะที่นายญาน วิน กล่าวว่า เขาก็รู้สึกเสียใจ และว่าการชุมนุมประท้วงเริ่มสงบลงแล้ว และรัฐบาลทหารพม่าอยากที่จะควบคุมตนเอง


 



ด้านสำนักข่าวเกียวโด รายงานว่าญี่ปุ่นกำลังพิจารณาที่จะเรียกตัวเอกอัครราชทูตกลับจากพม่า และระงับความช่วยเหลือด้านเทคนิคแก่ประเทศดังกล่าว



 


พม่าสั่งปิดท่าเรือสินค้าด้านแม่สอด


มีรายงานแจ้งว่า วานนี้ (29 ก.ย.) ทางการพม่าจังหวัดเมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ได้ปิดท่าขนส่งสินค้าทั้งหมด 19 แห่ง ทางด้านเหนือและด้านใต้ สะพานมิตรภาพไทย-พม่า เพื่อป้องกันการก่อวินาศกรรมและกลุ่มไม่หวังดีเล็ดลอดเข้าไปก่อความไม่สงบ เพราะก่อนหน้านี้มีผู้ชุมนุมชาวพม่าใน อ.แม่สอด ไปชุมนุมประท้วงบริเวณท่าเรือ ส่งผลให้ฝ่ายพม่าเกิดความไม่พอใจมาก จนในที่สุดฝ่ายไทยสามารถเจรจาสลายตัวได้


 



ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ตาก ว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ย. สถานีโทรทัศน์พม่าได้แพร่ภาพราษฎรชาวพม่ากว่า 5,700 คน ได้เดินถือป้ายต่อต้านการชุมนุมของพระสงฆ์และประชาชนที่ประท้วงอยู่ในขณะนี้ โดยกลุ่มชาวพม่าได้เดินไปตามถนนสายต่างๆ ในเมืองเจ้าบะด่อง ห่างจากตัวเมืองมัณฑะเลย์ประมาณ 37 กิโลเมตร ชาวพม่าดังกล่าวได้ยกมือโห่ร้อง เพื่อต้องการให้ประเทศชาติสงบเรียบร้อย ไม่ต้องการให้กลุ่มพระสงฆ์เดินชุมนุมประท้วงรัฐบาล อย่างไรก็ตาม การเดินชุมนุมประท้วงดังกล่าวไม่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลขัดขวางแต่อย่างใด ขณะที่ประชาชนไม่ได้ระหวาดระแวงการจับกุมแต่อย่างใด



 


"สนธิ" ไม่ฟันธง "ตันฉ่วย-หม่องเอ" แตก


พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (ปธ.คมช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเหตุการสลายการชุมนุมในประเทศสหภาพพม่า โดยมีข่าวผู้นำทางทหารพม่ามีความขัดแย้งในการแก้ไขปัญหาว่า ไม่น่าจะกระทบต่อประเทศไทย เพราะเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างภายในตามข่าวสาร ซึ่งทางกองทัพกำลังตรวจสอบอยู่ว่า เป็นข่าวจริงหรือข่าวลวง ทั้งนี้ข่าวที่เกิดขึ้น การปฏิบัติของกองทัพพม่า โอกาสที่จะรู้ว่ามีความขัดแย้งค่อนข้างยาก จึงต้องตรวจสอบให้ชัดเจน



"ทั้ง พล.อ.อาวุโส ตัน ฉ่วย ประธานเอสพีดีซี และ พล.อ.หม่องเอ รองประธานเอสพีดีซี ค่อนข้างมีความแน่นแฟ้น แต่เหตุการณ์กับประชาชนที่เกิดขึ้น การตัดสินใจอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะการตัดสินใจใช้กำลังกับประชาชน มีผลต่อความสัมพันธ์ได้เหมือนกัน"


 


นายกรัฐมนตรีพม่าพักรักษาตัวในสิงคโปร์ท่ามกลางความวุ่นวายในประเทศ


ศูนย์ข่าวแปซิฟิค : ขณะที่สถานการณ์ในประเทศกำลังอยู่ในภาวะตึงเครียดจากการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล พลโทซอ วิน นายกรัฐมนตรีพม่าก็ยังคงนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลในสิงคโปร์นาน3-4 เดือนแล้ว โดยเจ้าหน้าที่สถานทูตพม่ากล่าวว่านายกรัฐมนตรีกำลังฟื้นจากอาการป่วย โดยไม่ยอมเปิดเผยว่าพลโทซอ วิน ป่วยด้วยโรคใด


 



จีนยืนยันจะทำงานร่วมกับประชาคมโลกเพื่อช่วยคลี่คลายวิกฤติการเมืองในพม่าอย่างสันติ


กรมประชาสัมพันธ์ : นายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีนให้คำมั่นจะทำงานร่วมกับประชาคมโลกเพื่อหาทางคลี่คลายวิกฤติการเมืองในพม่าอย่างสันติ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงวันนี้ว่า นายเวินให้คำมั่นดังกล่าวระหว่างที่สนทนาทางโทรศัพท์กับนายกอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษเมื่อคืนวานนี้ พร้อมกับระบุว่า จีนกำลังติดตามสถานการณ์ในพม่าอย่างใกล้ชิดและคาดหวังว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะใช้ความยับยั้ง ชั่งใจเพื่อหาวิธีที่สันติแก้ปัญหาและปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ถ้อยแถลงดังกล่าวเป็นการเรียกร้องให้พม่าสร้างความปรองดองกับฝ่ายค้านหรือไม่



 


พม่าเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้


คมชัดลึก : อย่างไรก็ตาม ขณะที่ข่าวสารในพม่าถูกตัดขาดจากโลกภายนอก วิทยุเวเรลดอมโรพ วิทยุระหว่างประเทศของเนเธอร์แลนด์ ได้แถลงบนเวบไซต์ว่าจะออกอากาศวิทยุคลื่นสั้นไปยังพม่า เพื่อให้ประชาชนชาวพม่าสามารถรับฟังข่าวสารที่เป็นภาษาอังกฤษได้ โดยทางสถานีจะออกอากาศจากไซบีเรีย และเปลี่ยนคลื่นความถี่ทุกชั่วโมง


 



ขณะเดียวกันมีรายงานว่า หลังจากถูกตัดขาดจากโลกภายนอกมานานร่วมสองวัน ล่าสุดพม่าสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้แล้วเมื่อวันเสาร์ ที่ผ่านมา โดยผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในพม่าสามารถเข้าเวบเพจในประเทศ และส่งอีเมลไปยังนอกประเทศได้แล้ว



 


เคเอ็นยูยิงถล่มค่ายตรงข้ามบ้านหมื่นฤาไชย จ.ตาก


สถานการณ์ในพื้นที่แนวชายแดนระหว่างไทย-พม่า วันเดียวกัน พันตรีเหน่เซ ผู้บังคับกองพันทหารที่ 103 กองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) นำกำลังทหารกะเหรี่ยงกว่า 100 นาย เข้าโจมตีที่มั่นทหารรัฐบาลพม่าค่ายทีบาโบ ตรงข้ามบ้านหมื่นฤาไชย ต.พบพระ อ.พบพระ จ.ตาก โดยฝ่ายเคเอ็นยูใช้อาวุธปืน ค.60 และอาวุธหนักอื่นๆ ยิงถล่มใส่ที่มั่นทหารพม่า ขณะที่ทหารพม่าตอบโต้ด้วยอาวุธหนักเช่นกัน แต่ยังไม่มีรายงานความเสียหายทั้งสองฝ่าย การเปิดฉากการสู้รบครั้งนี้ ฝ่ายเคเอ็นยูเป็นฝ่ายเปิดฉากยิงก่อน หลังจากเกิดเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงในพม่า


 



แหล่งข่าวกะเหรี่ยงแจ้งว่า ทหารเคเอ็นยูเกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมากที่ทหารพม่ายิงประชาชนและพระสงฆ์ จึงต้องการตอบโต้ทหารพม่า และพร้อมจะยืนหยัดเคียงข้างประชาชนพม่า หากเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นมาทั่วประเทศพม่า 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net