Skip to main content
sharethis

"Free Burma


We want democracy


Release all political prisoners


Fight for Aung San Suu Kyi"


 


Htat Wai Min, Demo Wai Min และ May Zaw Moe สามสาวพี่น้องชาวพม่า ร่วมเปล่งเสียงตะโกน พร้อมชูกำปั้นขึ้นเหนือหัว เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่ายุติการใช้ความรุนแรง คืนเสรีภาพและประชาธิปไตยให้ประชาชนพม่า และให้เลิกการกักตัวนางออง ซาน ซู จี และนักโทษการเมืองทั้งหมด


 


พวกเขาได้แต่หวังว่า เสียงร้องตะโกนของคนพม่าทั่วโลก จะได้ยินไปถึงหูของผู้นำประเทศต่างๆ และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นบ้างในพม่า


 


แม้จะรู้ดีว่า ความหวังช่างมืดมนเต็มที


 


"ยากเหลือเกินที่จะกดดันให้รัฐบาลทหารพม่าเปลี่ยนแปลง" Htat Wai Min วัย 21 ปี กล่าวอย่างหนักใจ


 


แม้กระนั้น เธอและคนพม่าจำนวนกว่าร้อยคนที่มาร่วมชุมนุมเดินขบวนประท้วงรัฐบาลทหารพม่า ที่บริเวณลานมาร์ติน เพลซ (Martin Place) ย่านธุรกิจใจกลางกรุงซิดนีย์ ยังไม่สิ้นความหวัง ที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยเกิดขึ้นในพม่า หากรัฐบาลนานาชาติและประชาคมโลกจะร่วมกันสนับสนุนผู้ชุมนุมชาวพม่า และพร้อมใจกันใช้มาตรการกดดันรัฐบาลทหารพม่าในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง


 


พวกเขาเรียกร้องให้ส่งกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติเข้าไปในพม่า เพื่อเจรจาและกดดันรัฐบาล ตลอดจนเรียกร้องให้จีน อินเดีย รัสเซีย และอาเซียน ใช้มาตรการกดดันพม่าให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะไทย ซึ่งจะต้องเผชิญกับปัญหาผู้ลี้ภัยจากพม่า จะต้องแสดงบทบาทนำในเวทีภูมิภาคและสหประชาชาติ


 


"รัฐบาลไทยจะต้องยกปัญหานี้ขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญว่า การปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างเหี้ยมโหด และการคงไว้ซึ่งมาตรการความรุนแรงของรัฐบาลทหารพม่านั้น เป็นภัยคุกคามอันใหญ่หลวงต่อความสงบสุขในภูมิภาค และต่อประเทศไทยโดยตรง" นพ.มินท์ โช (Myint Cho) สมาชิกของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ ของรัฐบาลพม่าพลัดถิ่นในออสเตรเลีย กล่าวกับประชาไท


 


"ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยอมรับผู้อพยพลี้ภัย โดยไม่พยายามผลักดัน ผลักไสพวกเขาที่กำลังได้รับความเดือดร้อน ลำบาก ให้กลับไปเผชิญหน้ากับอันตรายอีก และอยากจะขอร้องให้อนุญาตให้นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในพม่าดำเนินการรณรงค์ในประเทศไทยได้ โดยไม่ถูกจับกุมหรือตั้งข้อหา" นพ.มินท์ โช กล่าวเพิ่มเติม


 


เหตุการณ์เข่นฆ่าทำร้ายพระสงฆ์และประชาชนพม่านั้น นพ.มินท์ โช เสนอว่า สหประชาชาติต้องส่งทูตพิเศษของสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนประจำพม่า เข้าไปสืบสวนในเรื่องนี้ นอกจากนี้ เขายังเรียกร้องให้จีน อินเดีย และรัสเซีย ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นประเทศที่มีอิทธิพลต่อรัฐบาลทหารพม่ามากที่สุดนั้น ไม่ให้คัดค้านมาตรการใดๆก็ตามของสหประชาชาติที่จะออกมาบังคับหรือดำเนินการกับพม่าในอนาคต


 


ด้านนายหม่อง หม่อง เอ (Maung Maung Aye) สมาชิกสภาที่ได้รับเลือกตั้งในการเลือกตั้งเมื่อปี 2533 กล่าวว่า ในตอนนี้สิ่งที่ประชาชนชาวพม่าต้องการอย่างที่สุดคือกำลังใจและการสนับสนุนจากประชาคมโลก ซึ่งจะต้องดำเนินการกดดันอย่างแข็งกร้าวต่อรัฐบาลทหารพม่า มิฉะนั้นแล้ว เหตุการณ์นองเลือดในพม่าก็จะยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า


 


ในส่วนของรัฐบาลออสเตรเลียนั้น นายหม่อง หม่อง เอ เรียกร้องให้ใช้มาตรการกดดันขั้นสูงต่อรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า โดยการเลิกทำธุรกิจโดยตรงกับรัฐบาลพม่า และลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับพม่าลง


 


การเดินขบวนวันนี้ (5 ต.ค) มีผู้ที่สนใจเข้าร่วมทั้งชาวพม่าที่ไปอาศัยอยู่ในออสเตรเลีย ชาวออสเตรเลีย และชุมชนชาวลาวในซิดนีย์ที่มาให้กำลังใจและสนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า ซึ่งหลังจากที่รวมตัวบริเวณลานมาร์ติน เพลสแล้ว ผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนไปยื่นจดหมายเรียกร้อง (ผ่านตัวแทน) ต่อนายอเล็กซานเดอร์ ดาวน์เนอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย


 


ทางด้านองค์กร Australian Coalition for Democracy in Burma (ACDB) ซึ่งเป็นหน่วยงานในออสเตรเลียที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในพม่า ผู้จัดการเดินขบวนครั้งนี้ เรียกร้องต่อประชาคมโลก ให้ช่วยเหลือสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในพม่าในทุกด้าน ซึ่งรวมถึงการบริจาคเงินช่วยเหลือนักเคลื่อนไหวในพม่า การงดเว้นไม่เดินทางเข้าไปในพม่าจนกว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตย ไม่ซื้อหรือสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่ทำการผลิต จำหน่าย และขายในพม่า ตลอดจนส่งจดหมายประณามไปยังรัฐบาลทหารพม่า เรียกร้องให้ยุติการละเมิดสิทธิในชีวิตของคนพม่า และให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมดทันที


 


ACDB ได้จัดเดินขบวนประท้วงรัฐบาลทหารพม่า และเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่ามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย 2550 มีการเดินขบวนประท้วงในบริเวณย่านธุรกิจกลางเมืองซิดนีย์ การอดอาหารประท้วงหน้ารัฐสภารัฐนิวเซาท์เวลส์วันที่ 3 ต.ค 2550 การเดินขบวนประท้วงวันที่ 5 ต.ค 2550 และในวันศุกร์ที่ 6 ต.ค 2550 จะมีการประกอบพิธีทางศาสนาเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ประท้วงในพม่า


 



 



 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net