Skip to main content
sharethis


เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.50  ที่โรงแรมเจ.บี.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีการประชุมคณะกรรมการสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้ขึ้น โดยมีนายสมเกียรติ อนุราษฎร์ เป็นประธาน มีคณะกรรมการ ตัวแทนส่วนราชการและเอกชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งได้รวมเข้าไปอยู่ในเขตการพัฒนาเศรษฐกิจ สามฝ่าย อินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย หรือ IMT - GT จำนวนกว่า 50 คน เข้าร่วม

 


นายกิตติพล โชติพิมาย นักวิชาการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้แจ้งถึงผลการประชุมสุดยอดสุดยอดผู้นำ IMT - GT ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 ซึ่งเป็นการประชุมคู่ขนานกับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 13 (ASEAN Summit) ที่ประเทศสิงคโปร์ด้วยว่า ตามที่สภาธุรกิจฝ่ายไทยได้เสนอแนวพื้นที่เศรษฐกิจ ระนอง - ภูเก็ต - อาเจะห์ ไว้ในโรดแมป IMT - GT หรือแผนที่นำทางการพัฒนานั้น ได้รับความเห็นชอบของที่ประชุมสุดยอดผู้นำ โดยได้ขอให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี(ADB) รับศึกษาแนวเศรษฐกิจดังกล่าวด้วย


 


นายกิตติพล แจ้งด้วยว่า นอกจากนี้ ยังได้ขอให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ศึกษาวิเคราะห์ในระดับลึกถึงภาคการขนส่ง การพัฒนาโลจิสติกส์ การพัฒนาด้านท่าเรือและการขนส่งทางน้ำ เพื่อเชื่อมเส้นทางเดินเรือและการขนส่งในพื้นที่ IMT - GT พร้อมทั้งสนับสนุนด้านแหล่งเงินทุนและวิชาการต่อโครงการสำคัญตามแผนที่นำทางดังกล่าวด้วย โดยภายในเดือนธันวาคม 2550 ตัวแทนของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียจะเดินทางมาศึกษาท่าเรือในประเทศไทยการพัฒนาดังกล่าวด้วย


 


นายสมเกียรติ กล่าวถึงเรื่องนี้ด้วยว่า ทางธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียจะใช้เวลาศึกษาทั้งสองเรื่องดังกล่าวภายใน 6 เดือน หรืออย่างช้าจะมีร่างออกมาได้ภายในเดือนตุลาคม 2551 เพื่อให้ทันการพิจารณาเห็นชอบของที่ประชุมสุดยอดผู้นำ IMT - GT ในเดือนธันวาคม 2551 ที่กรุงเทพมหานคร


 


นายสมเกียรติ เปิดเผยด้วยว่า เหตุที่ฝ่ายไทยเสนอแนวเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ ระนอง - ภูเก็ต - อาเจะห์ ขึ้นมา เนื่องจากแนวเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจ 4 เส้นทางที่ระบุในโรดแมป IMT - GT นั้น ผ่านพื้นที่ประเทศไทยน้อยมากได้แก่ เส้นเหนือใต้ของเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย เส้นช่องแคบมะละกา ซึ่งอยู่ในประเทศมาเลเซีย เส้นมะละกา - ดูไม ซึ่งตัดผ่านช่องแคบมาละกา และเส้นเมดาน - ปีนัง - สงขลา ทำให้ไทยเสียโอกาสที่จะได้รับด้วย จึงเสนอเส้นทางใหม่ขึ้นมา


 


สำหรับผลการประชุมสุดยอดผู้นำ IMT - GT ครั้งที่ 3 ที่มีการนำเสนอในที่ประชุมนั้น ประกอบด้วย ข้อเสนอแนะของไทยตามคำกล่าวเปิดประชุมของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้แก่ เร่งรัดให้ดำเนินการตามโครงการตามแผนที่นำทางให้มีผลเป็นรูปธรรมในระยะ 4 ปี ข้างหน้า พร้อมกับสร้างความสงบและความมั่นคงในพื้นที่ เร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงทั้งทางถนน ทางทะเลและอากาศ เพิ่มบทบาทและความร่วมมือของภาคเอกชนและรัฐบาลท้องถิ่นในการเตรียมแผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาแนวเขตเศรษฐกิจเดิมและแนวใหม่ เป้นต้น


 


ส่วนผลการประชุมในประเด็นอื่นๆ นั้น ประกอบด้วยการรับรอง 6 จังหวัดภาคใต้ตอนบนเข้าอยู่ในพื้นที่ IMT - GT เห็นชอบให้ปี 2551 เป็นปี ส่งเสริมการท่องเที่ยว Visit IMT - GT Year 2008 เร่งรัดเปิดศูนย์ความร่วมมืออนุภูมิภาค IMT - GT ที่รัฐสลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย ให้สภาธุรกิจ IMT - GT และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย เพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งทุนดำเนินโครงการของภาคเอกชน IMT - GTมอบหมายให้คณะทำงานเร่งรัดโครงการเร่งด่วน โดยเฉพาะด้านพลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทน จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ จัดทำมาตรฐานการรับรองฮาราล เป็นต้น

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net