Skip to main content
sharethis

วิธีรณรงค์เพื่อรัฐสวัสดิการ วิธีที่หนึ่งคือเราต้องมีพรรค วิธีที่สองซึ่งสำคัญพอๆ กันเลย เราต้องมีขบวนการเคลื่อนไหว เราต้องมีเครือข่าย เราต้องมีสหภาพแรงงาน เราต้องมีเอ็นจีโอเข้มแข็งในการที่จะผลักดันความก้าวหน้าในสังคม หากไม่มีอันใดอันหนึ่ง ผมคิดว่าเรารณรงค์เพื่อรัฐสวัสดิการไม่ได้

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2550 ใจ อึ๊งภากรณ์ จากพรรคแนวร่วมภาคประชาชน ได้แสดงความคิดเห็นเรื่อง รัฐสวัสดิการและร่วมมองนโยบายทางสังคมของพรรคการเมือง ในการจัดงานเสวนาวิชาการ ภาคประชาชนเหนือต่อสถานการณ์การเมืองการเลือกตั้ง ณ อาคาร Uniserv มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

โดย  ใจ อึ๊งภากรณ์ ได้เสนอว่า รัฐสวัสดิการจะต้องมีความถ้วนหน้า เสนอให้เก็บภาษีอัตราก้าวหน้าจากคนรวย อีกทั้งยังแสดงความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีเงินค่าเฉลี่ยต่อหัวมากพอจะทำรัฐสวัสดิการได้ เพียงแค่ที่มีคนจนนั้น เป็นเพราะเงินมันไปกระจุกตัวอยู่ที่คนบางกลุ่ม

 

นอกจากนี้ยังได้พูดถึง นโยบายทางสังคมของพรรคการเมืองที่ลงสมัครในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ แนะว่าให้ดูว่าพรรคใดที่เป็นประโยชน์กับประชาชนได้อย่างแท้จริง ขณะเดียวกันก็หนุนให้ภาคประชาชนมีการตั้งพรรคเป็นของตัวเอง ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องได้ที่นั่ง ส.ส. แต่เพื่อมีอำนาจต่อรองในการผลักดันนโยบาย ร่วมกันเคลื่อนไหวเป้นขบวนการ จากที่เดิมมีปัญหาเพราะเคลื่อนไหวกันแบบแยกส่วน ทำให้กลายเป็นกบขอนาย

 

000

 

 

ผมอยากจะคุยถึงประเพณีไทยสามอย่างในภาคประชาชน ในภาคประชาชนไทยเรามีประเพณีในการคัดค้านรัฐประหารและการคัดค้านเผด็จการทหาร เรามีประเพณีในการเสนอรัฐสวัสดิการมายาวนาน แล้วเรามีประเพณีในการสร้างพรรคด้วย ผมอยากจะอธิบายตรงนี้ในรายละเอียดต่อไป

 

หลังจากการทำรัฐประหาร 19 กันยาฯ ไม่กี่วัน พวกเราพรรคแนวร่วมภาคประชาชนและเพื่อนๆ ในเครือข่าย 19 กันยาฯ ก็ออกมาคัดค้านประท้วงทหาร ประท้วงโดยที่เราไม่ได้เชียร์ทักษิณ นอกจากนี้เพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อนๆ ในสมัชชาคนจน ก็ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารเช่นเดียวกัน ผมคิดว่าพวกเราทั้งหมดไม่เห็นด้วยกันการรัฐประหาร ไม่เคยตั้งความหวังกับการรัฐประหารเราเข้าใจดีว่า ทำรัฐประหารแล้วจะเกิดอะไรขึ้น เราก็เลยเสนอว่าทหารไม่ใช่คำตอบ

 

แล้วตอนนี้เราก็เห็นชัดเลย ว่าทหารร่างรัฐธรรมนูญมาเพื่อลดสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย ทหารออกกฎหมายความมั่นคงเพื่อสืบทอดอำนาจตัวเอง และตั้งกอ.รมน. ขึ้นมา ทหารพยายามผ่านกฎหมายต่างๆ นานา ผ่าน สนช. ที่เขาแต่งตั้งขึ้นมา รวมถึงกฎหมายเกี่ยวกับการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการนำโลกาภิวัตน์ กลไกตลาดเข้ามาในมหาวิทยาลัย แล้วมีการเซ็นสัญญา FTA สัญญาค้าเสรีกับญี่ปุ่น มีเรื่องเยอะแยะไปหมดที่ เป็นสิ่งที่คลอดออกมาจากการมีเผด็จการทหาร ผมคิดว่าเราก็ควรจะร่วมกันเรียนบทเรียนตรงนี้ในภาคประชาชนไทยว่า ทหารไม่ใช่คำตอบ

 

ทีนี้เวลาเราพูดถึงรัฐสวัสดิการ ผมจะไม่ลงรายละเอียดเพราะมีสองท่าน (อ.จอน , อ.สมเกียรติ์ ตั้งนโม) พูดไปแล้ว แต่ผมอยากจะชูคำขวัญเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการ รัฐสวัสดิการต้องถ้วนหน้าต้องครบวงจร แล้วต้องเก็บภาษีก้าวหน้า สามอย่างนะครับ

           

ถ้วนหน้า ก็คือทุกคนได้ มีระบบเดียวด้วยครับ ไม่ใช่ว่า มีโรงเรียนสำหรับคนที่ไม่มีตังค์ แล้วโรงเรียนสำหรับคนที่มีตังค์ ต้องมีระบบเดียว ต้องครบวงจรเพราะว่า เกี่ยวโยงกับเรื่องของที่อยู่อาศัย ใครมีบ้านอยู่ลำบากไม่มีน้ำสะอาดหรือปัญหาอะไรต่างๆ เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยก็จะมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยซึ่งจะมีผลกระทบต่อเรื่องของการศึกษา รายได้ก็มีผลกระทบต่อสิ่งเหล่านี้ด้วย ฉะนั้นมันจะต้องเป็นเรื่องที่ครบวงจร ไม่ใช่เศษของสวัสดิการ

           

เศษของสวัสดิการเป็นข้อเสนอของแนวคิดของนายทุน นายทุนในยุคนี้เข้าใจว่าในยุคนี้ต้องมีสวัสดิการบ้าง แต่เขาจะให้เป็นเศษๆ ฉะนั้นมันไม่ครบวงจร เราต้องเรียกร้องให้ครบวงจร เราต้องเรียกร้องให้มีการเก็บภาษีก้าวหน้า

 

มีหลายคนตั้งคำถามว่าประเทศไทยเนี่ยร่ำรวยพอที่จะสร้างรัฐสวัสดิการหรือไม่ ถ้าเรากลับไปดูตัวเลข ตัวเลขความร่ำรวยของประเทศเขาใช้คำว่า GDP ต่อหัว นี้คือความร่ำรวยของประเทศหารด้วยประชากร ถ้าเราปรับราคาสมัยนั้นกับสมัยนี้ เราจะพบว่า GDP ต่อหัวของประเทศอังกฤษ ในปีที่เข้าสร้างรัฐสวัสดิการสงครามโลกครั้งที่สองเนี่ย พอๆ กับ GDP ต่อหัวพอๆ กับประเทศไทยในปัจจุบันฉะนั้นเขาทำได้

 

แต่พวกเราอาจจะคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ไม่เห็นร่ำรวยเลยประเทศไทย อันนี้ก็เพราะว่าเราไม่เห็นความร่ำรวย แล้วก็ความร่ำรวยมันไปกระจุกตัว กระจุกกับคนอื่น พวกที่กำลังลงเล่นการเมืองก็สร้างพวกที่เป็นอภิสิทธิชนบ้าง กระจุกตัวอยู่อย่างนี้

 

ที่นี้ผมอยากจะพูดถึงประเพณีการเรียกร้องรัฐสวัสดิการของประเทศไทย คนแรกที่พูดถึงเรื่องรัฐสวัสดิการในประเทศไทยคืออาจารย์ ปรีดี พนมยงค์ หลังการปฏิวัติ 2475 อ.ปรีดี พูดเสร็จก็ถูกคัดค้านโดยรัชกาลที่เจ็ด ถูกคัดค้านโดยพวกอภิสิทธิชนที่ไม่อยากจะให้คนจนได้อะไร แล้วในที่สุด อาจารย์ปรีดีก็ถูกเขี่ยออกจากอำนาจ ต้องไปอยู่ต่างประเทศ

 

ครั้งที่สองที่มีการพูดถึงรัฐสวัสดิการ คือหลัง 14 ตุลาฯ 2516 แล้วเกิดอะไรขึ้น ก็เกิดเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาฯ 2519 แล้วครั้งต่อไปที่เริ่มมีการพูดถึงเรื่องรัฐสวัสดิการ รวมถึงเป็นครั้งแรกที่มีรัฐบาลของนายทุนสนใจที่จะให้สวัสดิการต่างๆ ก็คือ ไทยรักไทย นั่นเอง มันอาจจะเพี้ยนหน่อย มันอาจจะไม่ใช่รัฐสวัสดิการ แต่มันเป็นการเปิดโอกาสให้คนจนได้รับรัฐสวัสดิการบางส่วน เกิดอะไรขึ้น...ก็เกิดรัฐประหาร 19 กันยาฯ

 

เราจะเห็นนะครับว่า ประเพณีของฝ่ายเรานี้ คือเรียกร้องให้มีรัฐสวัสดิการมาตลอด ประเพณีของฝ่ายเขา คือพอดูเหมือนว่าเราจะเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ก็ทำรัฐประหาร ไล่ผู้นำออกจากประเทศ ทำเหตุการณ์นองเลือด อันนี้เป็นปัญหานะครับ

 

ผมคิดว่าเรื่องที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลไทยรักไทย ยิ่งมีปัญหาสำหรับภาคประชาชนมากกว่านั้นอีก ก็เพราะว่า การที่ไทยรักไทยเป็นพรรคนายทุน เพื่อนายทุน เสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนจน จะทำให้พวกเราในหลายส่วนถูกช่วงชิงฐานมวลชนไปโดยไทยรักไทย อันนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่เราควรพิจารณากันว่าเราควรจะตั้งพรรค หรือไม่

 

ในปัจจุบันนี้เวลาเสนอเรื่องของการสร้างรัฐสวัสดิการ เราจะเจออุปสรรค จะเจอคนที่จะมาเถียงด้วย นอกจากพวกทหารที่ทำรัฐประหารแล้ว เราจะเจอนักวิชาการอย่างเช่น อัมมา สยามวาลา ใครๆ ชื่นชมอาจารย์ อัมมา สยามวาลา ว่าเก่งอย่างนู้นเก่งอย่างนี้ อาจจะเก่ง แต่เก่งในการปกป้องผลประโยชน์ของอภิสิทธิชน อันนี้เราจะต้องชัดเจนกันหน่อย เพราะอาจารย์ อัมมา ไม่เห็นด้วยกับการสร้างรัฐสวัสดิการ หรือเวลาบอกว่าเห็นด้วย แต่คิดไม่ออกว่าจะสร้างยังไงก็เหมือนกัน

 

ธีรยุทธ์ บุญมี ก็เหมือนกัน มองว่าสวัสดิการทำให้คนจนแบมือ กลายเป็นทาส อันนี้ไม่แปลก ผมไม่ได้ด่าสองคนนี้ เป็นลักษณะส่วนตัว แต่เราต้องแยกแยะว่าแนวความคิดในสังคมมันมีหลายแนวความคิด เขาใช้แนววามคิดกลไกตลาดเสรีนิยม เขาก็ย่อมไม่เห็นด้วยกับรัฐสวัสดิการเป็นเรื่องปกติ มันไม่เกี่ยวกับว่าเขาเป็นคนดี หรือไม่ใช่คนดี เราต้องแยกแยะแนวความคิดกันโดยไม่ต้องเอามาเป็นเรื่องส่วนตัว

 

พรรคการเมืองพรรคนึงมีประวัติอันยาวนาน ในการคัดค้านสวัสดิการสำหรับคนจน พรรคนี้คือพรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาธิปัตย์วิจารณ์การใช้เงินเพื่อคนจนโดยใช้คำหรูๆ ว่า มัน "ขาดวินัยทางการเงิน" ในตอนนี้เราก็จะได้เห็นว่ารัฐธรรมนูญของทหารปี "50 นี้มีคำว่า "ต้องรักษาวินัยทางการเงิน" สามครั้ง ต้องแปลกนหน่อยนะครับ คำว่าวินัยทางการเงินแปลว่า รัฐบาลไม่ควรจะใช้เงินของพวกเราเพื่อประโยชน์ของพวกเราเอง แต่ควรจะใช้เงินซื้ออาวุธ ซื้อเรือดำน้ำ ซื้อรถถัง อุ้มบริษัทไฟแนนช์ หรือธนาคารหลังจากที่บริษัทมันเจ๊งไปในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ แต่อย่าไปให้คนจน อันนี้คือนโยบายที่ชัดเจนมาตลอด ของคุณอภิสิทธิ เวชชาชีวะ ของคุณชวนหลีกภัย เป็นจุดยืน ปกตินะฮะ พรรคการเมืองแบบนี้ในต่างประเทศก็มีเยอะแยะไปหมด

 

ฉะนั้นเราก็ต้องมาให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อเรื่องของการสร้างพรรคของประชาชน วิธีรณรงค์เพื่อรัฐสวัสดิการนะครับ ผมคิดว่าจากประวัติศาสตร์ ในหลายๆ ประเทศและประวัติศาสตร์ในประเทศไทย คือว่ามันต้องเป็นสองเรื่องพร้อมกัน

 

วิธีรณรงค์ วิธีที่หนึ่งคือเราต้องมีพรรค วิธีที่สองซึ่งสำคัญพอๆ กันเลย เราต้องมีขบวนการเคลื่อนไหว เราต้องมีเครือข่าย เราต้องมีสหภาพแรงงาน เราต้องมี NGOs ที่เข้มแข็งในการที่จะผลักดันความก้าวหน้าในสังคม หากไม่มีอันใดอันหนึ่ง ผมคิดว่าเรารณรงค์เพื่อรัฐสวัสดิการไม่ได้

 

ทีนี้ผมอยากจะมาดูเรื่องของพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง อาจารย์สมเกียรติ์ ก็พูดไปแล้วถึงมัชฌิมาฯ (มัชฌิมาธิปไตย) พรรคมัชฌิมาฯ เนี่ย หน้าประตูจุฬาผมเดินเข้าไปทุกวัน เห็นรูปคุณประชัยยกมืออย่างนี้นะฮะ (ทำท่ายกมือเลียนแบบประชัย) มืออาชีพ...มืออาชีพในการทำบริษัทตัวเองเจ๊งน่ะสิ คือบริษัท TPI ไอ่เรื่องรัฐสวัสดิการยิ่งแล้วใหญ่เหลวไหลมาก

 

พรรคชาติไทย ครั้งหนึ่งรู้สึกว่าหลุดปากออกมาว่าจะให้รัฐสวัสดิการ แล้วมาอ้างชื่อพ่อผมอีก (อ.ป๋วย อึ้งภากรณ์) ผมเข้าใจว่าพรรคชาติไทยมันเคยไล่พ่อผมออกนอกประเทศ ในสมัย 6 ตุลาฯ แล้ผมเข้าใจด้วยว่ามันไม่มีการพูดถึงการเก็บภาษีก้าวหน้า

 

มันมีพรรคหนึ่งที่พยายามตั้งขึ้นมาเพื่อเสนอว่า พรรคคล้ายๆ พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย ผู้นำคือคุณโชคชัย สุธาเวชย์ พรรคสังคมธิปไตย แต่พรรคนี้ไม่ได้สนับสนุนแนวรัฐสวัสดิการอย่างจริงจัง เพราะว่าต้องการให้เศษสวัสดิการ มองว่าการทำลายรัฐสวัสดิการในยุโรปเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ฉะนั้นตรงนี้เราไว้ใจไม่ได้ ไม่มีการพูดถึงการเก็บภาษีจากคนรวย ไม่มีการเสนอให้สร้างขบวนการภาคประชาชนให้เข้มแข็ง ซึ่งถ้าเราไม่มีขบวนการภาคประชาชนที่เข้มแข็ง เราสร้างรัฐสวัสดิการไม่ได้

 

แล้วพรรคพลังประชาชนล่ะครับ เป็นยังไง ผมคิดว่าประชาชนจะแห่กันไปเลือก เพราะต้องการคุณทักษิณกลับมา พรรคนี้ ตอนนี้ในปาร์ตี้ลิสท์เขตแถวๆ กรุงเทพ สองคนที่นำในปาร์ตี้ลิสท์คือสมัคร สุนทรเวช และเฉลิม อยู่บำรุง สมัคร สุนทรเวช มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ยาวนานในการปราบปรามกดขี่พวกภาคประชาชนคนจนทั้งหมด ดูถูกคนจนอย่างถึงที่สุด สมัยเป็นผู้ว่า กทม. ก็ไปรื้อเต็นท์สมัชชาคนจน ฉะนั้น เราจะเป็นว่าผลของการทำรัฐประหาร มันทำให้ลูกหลานของไทยรักไทย คือพลังประชาชน เสื่อมกลายเป็นพรรคที่ ปฏิกิริยาแย่ที่สุด ผมคิดว่าไม่มีใครในห้องนี้คิดว่า สมัคร สุนทรเวช , เฉลิม อยู่บำรุง จะเอารัฐสวัสดิการมาให้คนจน ไม่มีทาง

 

ทีนี้ผมคิดว่า เราน่าจะตรวจสอบให้ดีว่า มันมีพรรคไหนบ้าง ที่น่าจะสนับสนุน โดยที่ดูเรื่องอื่นด้วย แน่นอนไม่มีพรรคไหนมีรัฐสวัสดิการโดยการเก็บภาษีจากคนรวย ภาษีจากคนรวยเก็บอย่างไร ภาษีรายได้ ภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน และเก็บจากคนรวยทุกคนนะ ทุกคนเลย ไม่ว่าจะเป็น ตระกูลชินวัตร หรือตระกูลราชวงศ์ ต้องเก็บหมด แล้วผมคิดว่า ถ้าใครเป็นคนดีรักประชาชนก็คงจะยินดี จ่ายภาษี คงจะยินดีมีความเมตตา อยากจะจ่ายภาษีให้ประชาชน ฉะนั้นคงไม่เป็นปัญหา แต่ผมคิดว่าคงเป็นน่ะนะ

 

นอกจากนี้เราต้องตรวจสอบดูว่ามีพรรคการเมืองไหน เสนอว่าควรจะถอดตำรวจและทหารออกจากภาคใต้ เพื่อสร้างสันติภาพ อันนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนในภาคใต้ต้องการ มีพรรคไหนบ้าง ผมคิดว่าไม่มี บางพรรคถึงกับต้องบอกว่าเราต้องออกรบให้หนักกว่านี้อีก ฆ่าประชาชนมากกว่านี้อีก มีพรรคไหนเสนอว่า เราควรจะเอาเทศกาลของศาสนาหลักๆ รวมถึงของอิสลาม , พุทธ , คริสเตียน , เจ้าแม่กวนอิม มาเป็นวันหยุดประจำชาติ เพื่อจะให้ความเคารพอย่างเท่าเทียมกัน ผมคิดว่าไม่มี มีพรรคไหนบอกว่า คัดค้านทหาร คัดค้านการสืบทอดอำนาจของทหาร และในขณะเดียวกับ สนับสนุนพลังของภาคประชาชน โดยที่สนับสนุนสิทธิเสรีภาพในการเคลื่อนไหว ประท้วง จัดตั้งสหภาพแรงงาน สิทธิเสรีภาพของชุมชนเพื่อจะเข้าไปจัดการกับทรัพยากร ผมคิดว่าไม่มี แต่ก็ลองไปดูเอาแล้วกัน

 

สรุปแล้วผมคิดว่า ไม่มีพรรคไหนที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ไม่มีพรรคไหนที่ส่งเสริมเรื่องสิทธิเสรีภาพของผู้หญิง ของคนรักเพศเดียวกัน ของผู้หญิงที่จะทำแทงค์ถ้าจำเป็น ของคนพิการ ไม่มีพรรคอย่างนี้

 

ฉะนั้นพวกเราในพรรคแนวร่วมภาคประชาชนเนี่ย เราก็มีการ์ตูนมาฝากท่าน พี่ชายผม (อ.จอน อึ้งภากรณ์) บอกว่าการเลือกตั้งนี้ทำให้ท้อแท้ ผมก็ท้อแท้เหมือนกัน แต่ว่าเราต้องสร้างอารมณ์ขันกลางความท้อแท้ เชิญไปดูการ์ตูนหลังห้อง มีคู่มือการเลือกตั้ง แล้วก็มีรูปหมาทำอะไรกันไม่รู้ ก็ไปดูได้นะครับ คู่มือการเลือกตั้งของพรรค มีหนังสือขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมขายด้วย ในนั้นมีบทความเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการ ลงรายละเอียด อันนี้ขอโฆษณาไว้เลย

 

ทีนี้ ผมอยากจะมาพูดถึงประเพณีของการสร้างพรรคการเมืองในประเทศไทย การที่เราไม่มีพรรคการเมืองของเราเองตอนนี้ที่มีบทบาทใหญ่พอสมควร ไม่ใช่เรื่องธรรมชาติของสังคมไทย แต่เป็นข้อสรุปของภาคประชาชนหลังจากที่พรรคคอมมิวนิสม์แห่งประเทศไทยล่มสลาย เป็นข้อสรุปว่าแนวทางในการสร้างพรรคของพรรคคอมมิวนิสม์เนี่ย มีปัญหา มีทั้งเรื่องของการเป็นเผด็จการ มีทั้งเรื่องของการที่จับอาวุธ มีอีกหลายๆ เรื่องที่ไม่ให้เสรีภาพ

 

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเรียนบทเรียนอีกครั้งหนึ่งว่า การไม่มีพรรคเนี่ย มันมีข้อเสียหายอย่างไร เพราะว่านอกจากพรรคคอมมิวนิสม์แห่งประเทศไทยแล้ว ซึ่งเป็นประเพณีของเรา เราก็เคยมีพรรคสังคมนิยม ผมคงไม่ต้องบอกคนเหนือว่า พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยเคยลงสมัครรับเลือกตั้งแถวเชียงใหม่ แล้วก็ได้ที่นั่งด้วย

 

ผมคิดว่าปัญหาของเรา หลังจากที่พวกเราส่วนใหญ่สรุปว่า ไม่ควรจะมีพรรค มีแต่เครือข่ายเคลื่อนไหวแบบประเด็นเดียวแยกส่วน มันทำให้เรากลายเป็นกบขอนายนะครับ ถ้าไม่เอาทักษิณ ก็เอา คมช. ถ้าไม่เอา คมช. ก็เอาทักษิณ อันนี้ล่าสุดในการเป็นกบขอนาย

 

ก่อนหน้านั้น หลายฝ่ายก็ชื่นชมความหวังใหม่ ชื่นชมทักษิณไปในช่วงแรก เวลาไม่ชื่นชมใคร ก็มีข้อเสนอว่าไม่ควรจะเลือกใคร ซึ่งผมคิดว่าก็เป็นข้อเสนอที่จำเป็น แต่ก็มีข้อเสนอว่าคุณจะเลือกหมามากัดกัน อันนี้การเลือกตั้งปี จำไม่ได้ว่าปีไหน ครั้งที่ก่อนที่จะมีการบอยคอตต์ ปัญหาคือการที่จะเลือกหมามากัดกัน ไปลงคะแนนเสียงให้ประชาธิปัตย์หรือว่ามหาชน (พลังประชาชน?) ทำไมเราจะต้องเลือกคนที่จะมาปกครองเรา ทำไมเราจะต้องเป็นกบขอนาย อันนี้ก็เป็นประเด็นที่เราควรจะศึกษาให้ดีตอนนี้

 

ในขณะนี้ พวกเราตั้งพรรคแนวร่วมภาคประชาชน ขึ้นมาเป็นพรรคขนาดเล็ก ไม่จดทะเบียน มีแค่สองร้อยคนที่เป็นสมาชิกเท่านั้นเอง นกกระจอกครับ แล้วก็เป็นการพยายามทำตุ๊กตาว่าพรรคภาคประชาชนจะเป็นอย่างไร มีการเก็บค่าสมาชิกจากทุกคน มีหนังสือพิมพ์ มีการเสนอให้นำร่วมกันในรูปแบบของคณะกรรมการ ไม่มีผู้นำของพรรค มีข้อเสนอหลายอย่าง เช่น เรื่องรัฐสวัสดิการ เรื่องภาคใต้ เรื่องของการบริหารสังคมรูปแบบใหม่ เรื่องของการปฏิรูประบบทหารตำรวจ มีข้อเสนอในหลายๆ เรื่อง ซึ่งความคิดเหล่านี้ไม่ได้ออกมาจากมันสมองอันใหญ่โตของพวกเราหรอก เราฟังข้อเสนอของภาคประชาชน แล้วก็เอามารวบรวมไว้

 

ทีนี้ ผมคิดว่าถ้าพรรคของภาคประชาชนจะมีบทบาทจริงๆ มันต้องใหญ่ แล้วมันต้องเชื่อมโยงกับภาคประชาชนอย่างแท้จริง ขณะนี้พรรคของเรา ไม่ได้เชื่อมโยงกับขบวนการเครือข่ายอย่างแท้จริง

 

อาจจะมีคำถามสักสองสามคำถามเกี่ยวกับการสร้างพรรคของภาคประชาชนที่ผมเคยฟังมา คำถามที่หนึ่งในเรื่องของการสร้างพรรคภาคประชาชนเนี่ย มันต้องใช้ เวลานานเกินไปใช่ไหมกว่าจะได้ ส.ส. มาคนนึง ยิ่งพูดถึงการตั้งรัฐบาลยิ่งแล้วใหญ่ จึงต้องใช้เวลานาน แต่ในระหว่างที่เราตั้งพรรคอยู่ ในระหว่างที่เรารณรงค์เนี่ย มันไม่ได้แปลว่าสังคมไทยยังไม่เปลี่ยน แค่ภาคประชาชนหลังสมัชชาสังคมไทย เสนอเรื่องรัฐสวัสดิการออกมาแล้วพวกเราก็จะเห็นว่า มันเริ่มบังคับให้พรรคการเมืองหลักพูดถึงเรื่องนี้ แม้ว่าจะพูดในลักษณะที่เหลวไหล แค่นั้นก็กดดันแล้ว ถ้าเราสร้างพรรคจะกดดันแค่ไหน

 

ในกรณีเยอรมันในตอนนี้มีการสร้างพรรคฝ่ายซ้ายขึ้นมา ซึ่งกดดันให้พรรคกระแสหลักต้องมาพิจารณานโยบายที่เขาเสนอ ทั้งๆ ที่เขายังไม่มี สส. ดังนั้นเราควรจะมอง อาจจะไม่ใช่ว่าถ้าเราไม่มี สส. มันจะไม่มีผลอะไร มันเป็นวิธีการในการรณรงค์

 

คำถามที่สองคือ เราจะเอาเงินมาจากไหน เราจะแข่งได้อย่างไรกับพรรคที่มีนายทุนหนุนหลัง คำตอบก็คือเขามีเงิน แต่เรามีขบวนการ วิธีหาเสียงของพรรคภาคประชาชนจะต้องผ่านขบวนการภาคประชาชนเอง ไม่ต้องมาซื้อพื้นที่ในสื่อราคาแพง แล้วเราเก็บค่าสมาชิกในอัตราก้าวหน้า คือใครมีเงินเดือนเยอะ ก็เก็บเยอะ ใครมีเงินเดือนน้อยก็เก็บน้อย แล้วเรามาลงขันร่วมกัน แล้วเราทำอะไรได้เยอะ

 

คำถามสุดท้ายที่ผมเคยเจอคือ มีคนถามว่าเราจะคุมผู้นำพรรคยังไง เราจะรู้ได้ไงว่าจะไม่กลายเป็นไอ้พวกที่อยากได้ตำแหน่ง คำตอบก็คือเราจะต้องไม่มีผู้นำพรรค เราจะต้องนำโดยกรรมการ ยิ่งหว่านั้นอีก พรรคภาคประชาชน ถึงแม้ว่าจะต้องการเป็นพรรคของขบวนการเครือข่ายต่างๆ แต่ขบวนการและเครือข่าย ต่างๆ จะต้องรักษาความอิสระจากพรรคเพื่อที่จะกดดันบังคับและลงโทษพรรคได้ ถ้าพรรคไม่ทำตามความต้องการของขบวนการ อันนี้คือรูปแบบที่มีอยู่ในบราซิล

 

ฉะนั้น อาจจะมีคำถามอื่นอีกมากมาย แต่ผมคิดว่า จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แล้วถ้าเราจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ มันต้องมีสองทาง ช่วยสมัครเป็นสมาชิกพรรคแนวร่วมภาคประชาชน แต่ถ้าท่านยังไม่พร้อม ช่วยไปตั้งพรรคเอง แล้วพวกเรายินดีจะยุบพรรคเข้าไปในพรรคของท่าน เพราะว่าเราไม่หวง เราไม่หวงอำนาจ เราไม่หวงโครงสร้างอะไรทั้งสิ้น แต่ขอให้มีพรรค ฉะนั้นก็ขอฝากไว้แค่นี้ครับ ขอบคุณครับ

 

ข่าวประชาไทที่เกี่ยวข้อง

เสียงก้องจากภาคประชาชนเหนือ "ทำไมต้องค้าน สนช. ต้าน พ.ร.บ.ฉบับรัฐประหาร" - ประชาไท 21/12/2550

คุยเรื่อง "รัฐสวัสดิการ" กับ จอน อึ๊งภากรณ์: สู้เรื่องภาษีก้าวหน้า เน้นชุมชนร่วมผลักดัน กม. - ประชาไท 17/12/2550

เครือข่ายภาคประชาชนเหนือจัดเวทีสะท้อนสถานการณ์การเมืองการเลือกตั้ง - ประชาไท 8/12/2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net