Skip to main content
sharethis




ตัวแทนเกษตรกรญี่ปุ่นแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำเกษตรกรปลอดสารพิษกับเกษตรกรไทย เผยสร้างเครือข่ายสหกรณ์เชื่อมผู้ผลิตและผู้บริโภค เน้นสร้างสินค้าคุณภาพและปลอดภัยกับผู้บริโภคเป็นหลัก



เมื่อวันที่ 8 ม.ค.50 มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือร่วมกับองค์กรพันธมิตร จัดเสวนาเรื่อง "สหกรณ์...การเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตในชนบทกับผู้บริโภคในเมือง" ประสบการณ์จากประเทศญี่ปุ่น ณ ห้องประชุมมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยมีมิสเตอร์ คานาอุ ยามากูจิ ตัวแทนจากสหกรณ์โยซูบะ องค์กรเครือข่ายผู้ผลิตและผู้บริโภค จ.โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เป็นวิทยากรบรรยายความรู้และประสบการณ์


มิสเตอร์ คานาอุ กล่าวว่า โยซูบะมีนโยบายหลักอันเป็นหัวใจสำคัญพื้นฐาน คือการส่งเสริมกระบวนการผลิตที่ไม่ใช้สารเคมี เน้นความเป็นธรรมชาติ และมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ หรือสินค้า ที่มีความปลอดภัยกับผู้บริโภคเป็นหลัก โดยงานหลักของโยซูบะ แบ่งออกเป็น 3 ประเด็น คือ 1.การซื้อวัตถุดิบ และผลผลิตจากเกษตรกรสมาชิกที่สังกัดอยู่ในองค์กรโยซูบะ 2.องค์กรทำการแปรรูปผลิตภัณฑ์เอง และ 3.จำหน่ายสินค้า ผลผลิตทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์แปรรูป ไปยังผู้บริโภคสมาชิก โดยมีแคตตาล็อกให้สมาชิกสั่งซื้อทางไปรษณีย์ได้ โดยสินค้าที่ได้รับการสั่งซื้อจากสมาชิกจะถูกจัดส่งไปยังบ้านใน 1 อาทิตย์ นอกจากนี้ กรณีข้าวสาร สมาชิกผู้บริโภคสามารถที่จะสั่งซื้อได้เป็นรายเดือน หรือรายปี ก็ได้


"กรณีสั่งซื้อข้าวสารล่วงหน้าแบบรายปี มีผลดีกับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สั่งซื้อ เนื่องจากทางสหกรณ์โยซูบะ หรือผู้ผลิตสามารถที่จะคาดคะเนผลการผลิตได้ แต่ผลผลิตก็จะก็ไม่ตรงตามคาดเสียทีเดียว เนื่องจากไม่ได้ผลิตแบบเกษตรกรรมอุตสาหกรรม ดังนั้น ผลผลิตที่ได้ก็จะขึ้นอยู่กับฤดูกาล และสภาพอากาศในแต่ละปีด้วย นอกจากนี้ สมาชิกผู้บริโภคที่สั่งซื้อข้าวสารรายปี จะได้เข้าร่วมกิจกรรมกับผู้ผลิตโดยตรงในการปลูกข้าว เช่น ดำนา เกี่ยวข้าว เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเชื่อมโยงทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้ผู้บริโภคได้เรียน และรู้เข้าใจว่า ข้าวมาจากไหน มีกระบวนการผลิตอย่างไร ทั้งนี้ การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องคำนึงถึง การเปิดโอกาสให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้มาร่วมกิจกรรมด้วยกัน แลกเปลี่ยนข้อมูล และความต้องการของทั้ง 2 ฝ่าย ว่าจะทำอย่างไรให้การผลิตและการบริโภคเป็นไปอย่างลงตัว" มิสเตอร์ คานาอุ กล่าว


มิสเตอร์ คานาอุ กล่าวต่อว่า สำหรับสินค้าเกษตรในกรณีที่ฤดูกาลนั้น ประสบปัญหาทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม อากาศร้อนจัด อาจจำเป็นต้องใช้สารเคมีบางชนิดมาใช้ในแปลงเกษตร แต่ทั้งนี้ ในการใช้สารเคมี ไม่ว่าจะในการผลิตพืชผล หรือการแปรรูปผลิตภัณฑ์ จะต้องแจ้ง และระบุอย่างชัดเจนเพื่อให้ผู้สมาชิกบริโภคทราบว่าใช้สารเคมีชนิดใดบ้าง และใช้ในปริมาณเท่าไหร่ เพื่อให้สมาชิกผู้บริโภคเป็นผู้ตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้าเอง


ทั้งนี้ ผลผลิต และผลิตภัณฑ์ในสังกัดของโยซูบะ โดยรวมมีราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไปในตลาด 1.5 % แต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่เน้นให้ความสำคัญกับคุณภาพ และความปลอดภัย โดยสมาชิกส่วนใหญ่เป็นครอบครัวที่มีรายได้ปานกลาง เป็นผู้บริโภคที่ใส่ใจในเรื่องคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหาร และสินค้า แต่เนื่องจากทำงานยุ่ง  จึงไม่มีเวลาสะดวกในการออกไปซื้อสินค้าข้างนอก ส่วนผู้บริโภคที่ไม่ได้เป็นสมาชิกโยซูบะ ก็สามารถซื้อสินค้าได้ในร้านค้าขนาดเล็กที่กระจายอยู่ 8 แห่งในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศญี่ปุ่น โดยสามารถซื้อได้ในราคาเดียวกันกับที่ขายให้สมาชิกผู้บริโภค


มิสเตอร์ คานาอุ กล่าวย้ำว่า ที่ผ่านมาประเทศญี่ปุ่นมีการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้า และผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยรายได้จากอุตสาหกรรมนั้นนำมาซื้อสินค้าเกษตรกรรม เนื่องจากการผลผลิตทางการเกษตรภายประเทศสามารถผลิตได้เอง 40% เท่านั้น อีก 60% เป็นการนำเข้า แต่คำถามคือ การมีรายได้จากอุตสาหกรรมเพื่อซื้อสินค้าเกษตรจะทำได้ตลอดไปหรือไม่ เพราะในยุคโลกาภิวัตน์ การแข่งขันทางตลาดมีสูง ผู้ผลิตรายใหญ่สามารถกระจายสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ได้อย่างเสรีมากกว่าอดีต ในตลาดโลกาภิวัตน์แบบนี้ ทำให้เน้นอุตสาหกรรมมากขึ้น ทุนใหญ่จะเข้ามามีอิทธิพลในการผลิตมากขึ้น โดยที่เกษตรกรรายเล็กต้องแข่งขันกับทุนขนาดใหญ่ที่สามารถผลิตสินค้าได้ในปริมาณมาก และขายในราคาถูกกว่า


"อาหารราคาถูกที่นำเข้ามาขายจากต่างประเทศ ทำให้เกษตรกรในประเทศนั้นอยู่ไม่ได้ ต้องต่อสู้มากขึ้น ในทางกลับกัน เกษตรกรของประเทศที่นำสินค้าอาหารราคาถูกไปขายให้ประเทศอื่น เกษตรกรของประเทศที่ผลิตอาหารราคาถูกก็ถูกกดขี่ราคาด้วยเช่นกัน ในโลกโลกาภิวัตน์นี้จึงน่าเป็นห่วงว่า การผลิตแบบอุตสาหกรรม ใช้เครื่องจักและเทคโนโลยี จะส่งผลให้เกษตรกรรายเล็ก รายน้อย อยู่อย่างลำบาก และการเกษตรแบบดั้งเดิมจะสูญหายไปหรือไม่" มิสเตอร์ คานาอุ กล่าว


ด้านนางดอก กาวิละ ตัวแทนเกษตรกรบ้านโป่ง ต.แม่แผก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตนทำสวนผักเกษตรอินทรีย์มา 4-5 ปี แล้ว เนื่องจากเห็นว่าเป็นแนวทางที่ปลอดภัยกับสุขภาพ และชีวิต รวมถึงไม่ทำลายดินและธรรมชาติแวดล้อมด้วย อย่างไรก็ตาม การทำเกษตรอินทรีย์ของบ้านเรายังไม่มีการรวมกลุ่มขายมากนัก อีกทั้งคนยังไม่ให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยเท่าที่ควร


"พืชผักที่ปลูกได้ก็เอามาวางขายในตลาด เจเจ มาร์เก็ต ทุกวันพุธ มีรายได้พออยู่ พอกิน ผักที่ปลูกเองก็บอกกับคนซื้อว่าไม่ได้ใช้สารเคมีเลย แต่คนซื้อก็ยังไม่ค่อยอยากซื้อเท่าไหร่ แม้ว่าจะขายราคาถูกและให้เยอะกว่าผักที่พ่นสารเคมี เพราะผักธรรมชาติมันมีแมลงเจาะเยอะ ดูไม่สวยเหมือนผักที่พ่นสารเคมี แต่ก็คิดว่าเราปลูกเอง กินเอง แบบไม่มีสารเคมีดีกว่า ปลอดภัยกับชีวิต" นางดอก กล่าวทิ้งท้าย


อนึ่ง โยซูบะ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1976 (พ.ศ.2519) เกิดจากการรวมตัวของบริษัทขนาดเล็กภายในประเทศญี่ปุ่น จำนวน 35 แห่ง ประกอบด้วย บริษัทผู้ทำการขนส่งอาหาร 22 แห่ง และบริษัทแปรรูปอาหาร 13 มาร่วมกันสร้างเครือข่ายผู้ผลิตและผู้บริโภค ภายใต้ชื่อ "โยซูบะ" โดยมีแนวคิดที่ต้องการเชื่อมต่อระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค เพื่อให้เห็นความสำคัญกับกระบวนการผลิตอาหารและสินค้าที่มาจากธรรมชาติ มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค


ปัจจุบันโยซูบะ มีพนักงานที่ทำงานดูแลงบประมาณกองกลาง และทำหน้าที่ประสานงาน จำนวน 300 คนม เกษตรกรผู้ผลิตในสังกัดประมาณ 30 ราย นอกสังกัด 50 ราย, ฟาร์มในสังกัด (เช่น ฟาร์มวัว ฟาร์มหมู) 4 แห่ง และเครือข่ายสมาชิกผู้บริโภคทั่วประเทศ 40,000 กว่าคน.


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net