Skip to main content
sharethis

รายงานโดย


สุเทพ วิไลเลิศ


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ


 


 



 


 


วานนี้ (9 ม.ค.) ที่ศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์รณรงค์นโยบายการสื่อสารร่วมกับคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ จัดการสัมมนาเรื่องวิทยุชุมชนในบริบทสังคมโลก เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายและรูปแบบต่าง ๆ ของสื่อวิทยุชุมชนทั่วโลก  รวมทั้งเรื่องของเทคโนโลยีของสื่อวิทยุชุมชนโดยมีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยโอไฮไอ สหรัฐอเมริกา บรรยายเรื่องวิทยุชุมชน - สื่อและเทคโนโลยีของประชาชน โดยมีนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวจากประเทศไทยเข้าร่วม


 


Prof. Drew McDaniel จากมหาวิทยาลัยโอไฮไอ กล่าวถึงวิทยุชุมชนในสหรัฐอเมริกาว่า บริบททางการเมืองมีผลต่อการจัดตั้งและดำเนินการวิทยุขนาดเล็กของชุมชน (LWFM) ขณะนี้มีวิทยุชุมชนที่ได้รับใบอนุญาตจำนวน 800 สถานี จากการเปิดให้ใบอนุญาตลักษณะนี้ในช่วงก่อนปี ค.ศ.2000 ซึ่งอยู่ในปลายสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีบิล คลินตัน นับเป็นช่วงเวลาที่สนับสนุนนโยบายเสรีนิยมทางการสื่อสาร แต่ต่อมาในรัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ บุช กลับไม่ส่งเสริมเนื่องจากมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมซึ่งไม่สนับสนุนการให้ใบอนุญาต หากชุมชนมีความต้องการจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชนจริงจะต้องได้รับการรับรองจาก FCC ซึ่งเป็นคณะกรรมการกำกับดูแลการสื่อสาร


 


"ผลของการปฎิวัติดิจิตอลทำให้ต้นทุนการกระกอบกิจการลดลงอย่างมาก เช่น เครื่องมิกเซอร์ที่มีขนาดเล็กลงและเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมกับวิทยุชุมชน การเปลี่ยนแปลงคลื่นสัญญาณจากอนาลอคเป็นดิจิตอล เป็นผลให้รูปแบบรายการและการออกอากาศทางวิทยุ หรือโทรทัศน์เปลี่ยนโฉมหน้าไปประสบการณ์สำคัญของวิทยุชุมชนในอเมริกาชี้ให้เห็นว่าได้ให้ข้อมูลที่สื่อกระแสหลักอาจมองข้ามไป โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในสถานะที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียง เข้าถึงสื่อได้และยังเป็นเวทีแห่งการโต้เถียงอภิปรายประเด็นของชุมชนอย่างแท้จริง"


 


ด้านดร.ชาลิสา มากแผ่นทอง จากมหาวิทยาลัยโอไฮไอ ซึ่งได้ศึกษาเกี่ยวกับวิทยุชุมชนในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ให้มุมมองเกี่ยวกับบริบทของวิทยุชุมชนในสังคมโลกว่ากระแสการจัดตั้งวิทยุชุมชนที่เกิดขึ้นทั่วโลกมาจากปัญหาเรื่องความไม่สมดุลย์ด้านข่าวสารเพราะส่วนใหญ่สื่ออยู่ในมือของรัฐและภาคธุรกิจ จึงทำให้วิทยุเป็นสื่อทางเลือกของท้องถิ่นที่ถือเป็นกระบอกเสียงของชุมชนโดยเฉพาะกลุ่มที่ไร้สิทธิ์ไร้เสียง ทั้งยังพบว่าวิทยุชุมชนมักมีความสัมพันธ์กับอัตลักษณ์ของท้องถิ่น อาทิในช่วงปี 1960 หลังสงครามโลก ตามเมืองใหญ่ ๆ ในอเมริกาจะมีวิทยุชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อพยพมา ออกอากาศในภาษาของตนเอง ทั้งชาวเยอรมัน โปรแลนด์ และอิตาลี


 


ส่วนในนิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย วิทยุชุมชนถือเป็นสื่อทางเลือกที่แข่งขันกับสื่อกระแสหลักหลัก


ในแคนนาดามีกลุ่มชนพื้นเมืองเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เป็นผู้ริเริ่มวิทยุชุมชน ส่วนในประเทศแซอีใช้เพื่อส่งเสริมด้านการเกษตร อัตลักษณ์ของวิทยุชุมชนแต่ละที่หรือในแต่ละประเทศจึงขึ้นอยู่กับประเด็นสำคัญที่ชุมชนต้องการแสดงออก


 


"ปัญหาร่วมที่พบจากการศึกษาวิทยุชุมชนในประเทศไทย พบว่ามาจากปัญหาด้านการบริหารจัดการเป็นหลัก อาทิปัญหาด้านโครงสร้างการบริหารที่ไม่เป็นกลไกในการทำงานอย่างแท้จริง ทำให้ไม่เกิดการพัฒนาและปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่สอดคล้องกับความต้องการในการสื่อสารของชุมชน"


 


สุภิญญา กลางณรงค์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหิดล และในฐานะเลขาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ(คปส.) ให้ความเห็นว่าวิทยุชุมชนในประเทศไทยมีความผันแปรตามสถานการณ์ทางการเมืองเช่นเดียวกับภาวะที่วิทยุชุมชนทั่วโลกเผชิญ ปัญหาที่สำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคือปัญหาด้านกฎหมายเนื่องจากไม่มีแนวทางรองรับที่ชัดเจน อีกทั้งในขณะนี้ยังมีความพยายามต่อเนื่องที่จะแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่เพิ่มเติม หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งแก้ไขให้โทษปรับสูงขึ้นจากเดิม 100,000 บาท เป็น 5,000,000 บาท


 


สุภิญญา จึงมีข้อเสนอให้ยึดหลักในเรื่องสิทธิเสรีภาพโดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงออก การแสดงความคิดเห็น ประชาชนพื้นที่ที่ดำเนินการวิทยุชุมชนในประเทศไทยยึดมาตรา 26 ในพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2543 เป็นหลัก เพื่อให้การแก้ไขที่จะเกิดขึ้นต้องไม่ลดสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ที่ระบุไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20


 


ทั้งนี้ รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ ชี้ว่าพลวัตของปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพในสังคมไทยได้ยกระดับจากปัญหาของชนชั้นล่างมาสู่ปัญหาของกลุ่มชนชั้นกลางด้วย การอ้างสิทธิเสรีภาพในทางสากลจะอ้างอิงอาร์ทิเกิลนายทีน (Article19) เพื่อการรับรองเรื่องสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร แต่ภาคประชาชนในประเทศไทยจะอ้างหลักสากลดังกล่าวได้หรือไม่ เนื่องจากรัฐบาลไทยเองยังไม่ยอมรับเนื่องจากมองว่าสากลเกินไป จึงมีคำถามว่าแล้วเราต้องอ้างอิงสิ่งใดในการรับรองสิทธิเสรีภาพ ฉะนั้นการปฏิรูปสื่อภายในปีนี้จึงต้องติดตามเรื่องการแสวงหาและการรับรองสิทธิดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net