Skip to main content
sharethis

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 กลับคำพิพากษาคดี ม.112 ของ 'ฉัตรมงคล' ลงโทษจำคุก 3 ปี ก่อนลดเหลือ 27 เดือน คาดคำนวณโทษผิด จำเลยต้องเข้าเรือนจำรอศาลฎีกาสั่งประกัน


“บอส” ฉัตรมงคล วัลลีย์ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในบริษัทเอกชน วัย 29 ปี | ที่มาภาพ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2567 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดเชียงรายนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีของ “บอส” ฉัตรมงคล วัลลีย์ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในบริษัทเอกชน วัย 29 ปี ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เหตุจากถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้คอมเมนต์ข้อความมีเนื้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ในโพสต์ของเพจเฟซบุ๊ก “ศรีสุริโยไท” เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2564

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยเห็นว่าจำเลยผิดตามฟ้อง โดยมองพยานหลักฐานในคดีต่างไปจากศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุก 3 ปี เนื่องจากเห็นว่าจำเลยให้การเป็นประโยชน์ จึงลดโทษหนึ่งในสี่ เหลือจำคุก 27 เดือน โดยไม่รอลงอาญา แต่คาดว่าศาลคำนวณโทษจำคุกผิดพลาด

วันนี้ (1 พ.ค.) ฉัตรมงคลเดินทางจากจังหวัดปทุมธานี มาถึงเชียงรายในช่วงเช้า ตามนัดฟังคำพิพากษาของศาล โดยมีทนายความเดินทางไปร่วมฟังคำพิพากษา

ที่ห้องพิจารณาที่ 7 ศาลอ่านคำพิพากษา โดยสรุปเห็นว่าการมีคำวินิจฉัยว่า จำเลยโพสต์ข้อความลงในระบบคอมพิวเตอร์หรือไม่ เป็นการยากในการหาประจักษ์พยานหลักฐาน และการนำเข้าข้อมูลสู่คอมพิวเตอร์สามารถทำได้โดยง่าย ซึ่งจะต้องใช้พยานแวดล้อม และการใช้บริการเฟซบุ๊กนั้นเป็นการทราบดีกันว่าจะต้องมีการระบุข้อมูลของบุคคลหนึ่งเข้าไปสมัครเพื่อเข้าใช้บริการ โดยบุคคลหนึ่งอาจมีมากกว่า 1 บัญชี โดยมี URL และ ID ในทำนองเดียวกันกับบ้านเลขที่และเลขบัตรประจำตัวประชาชน ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถเข้าใช้บริการได้

โจทก์นำสืบโดยมีผู้กล่าวหา ซึ่งเห็นว่ามีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อเดียวกันกับจำเลยเข้ามาโพสต์ข้อความใต้ภาพดังกล่าว เมื่อเข้าไปค้นข้อมูลพบว่าฉัตรมงคลอยู่อาศัยที่กรุงเทพมหานคร มีการโพสต์รูปภาพที่ตรงกับจำเลยในคดีนี้ มีการลงรูปจำนวนมากเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

พยานโจทก์ที่เป็นสองแอดมินผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊กเบิกความไม่มีความขัดแย้งกัน ไม่มีข้อพิรุธ และไม่รู้จักกับจำเลยมาก่อน คำเบิกความสามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

ส่วนโจทก์มีเจ้าพนักงานตำรวจ เข้าไปค้นข้อมูลในเฟซบุ๊ก พบข้อมูลส่วนตัวของจำเลย พยานเบิกความไปตามรายงานสืบสวนซึ่งเป็นข้อมูลส่วนตัวของจำเลยยากจะปลอมแปลง โดยจำเลยไม่ได้ถามค้านว่าเอกสารดังกล่าวว่าไม่เป็นความจริงอย่างไร แต่นำสืบว่าจำเลยเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งเจือสมกับคำเบิกความของพยานโจทก์

เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาและสอบคำให้การจำเลยในชั้นสอบสวน จำเลยให้การเพียงแค่จะให้การเพิ่มเติมภายใน 30 วัน แต่ไม่ได้ให้การเพิ่มเติมดังกล่าว

พนักงานสอบสวนได้สอบถามไปยังหน่วยงานตรวจสอบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ หน่วยงานแจ้งว่าไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากสำนักงานเฟซบุ๊กอยู่ต่างประเทศ และในชั้นสอบสวนคำให้การของจำเลย ระบุพบว่ามีบัญชีเฟซบุ๊กจำนวน 7 บัญชี เป็นชื่อของตนเองทั้งหมด และจำเลยได้เปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ ทำให้มีข้อพิรุธสงสัย รูปคดีก็ไม่มีเหตุให้เชื่อว่าพยานโจทก์คิดสร้าง URL ขึ้นมา เมื่อจำเลยไม่ใช่นักการเมืองหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงที่น่าจะมีผู้ใดมากลั่นแกล้ง พยานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้

แม้ว่าจำเลยนำพยานมาเบิกความเรื่องการเก็บข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่จำเลยก็ไม่ได้ต่อสู้ว่ามีการนำข้อมูลของจำเลยไปใช้ หรือถูกแฮกระบบอย่างไร คำเบิกความของจำเลยจึงมีน้ำหนักรับฟังได้น้อย เจือสมกับคำเบิกความของโจทก์และข้อพิรุธของจำเลย

ส่วนข้อความที่โพสต์ มีพยานซึ่งพนักงานสอบสวนขอให้ตีความเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ทนายความ รวมจำนวน 3 ปาก ซึ่งเป็นผู้มีคุณวุฒิ วัยวุฒิ ตีความข้อความดังกล่าวว่า “ในหลวง” หมายถึงรัชกาลที่ 10 พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์

ส่วนที่โจทก์ขอให้บวกโทษนั้น เห็นว่าไม่ปรากฏว่าคดีที่ขอให้บวกโทษนั้นเกิดขึ้นก่อนหรือหลังคดีนี้  จึงเห็นควรไม่บวกโทษคดีดังกล่าว (โจทก์เพิ่งระบุในคำอุทธรณ์ ขอให้บวกโทษต่อจากคดีชุมนุม #ตามหานาย หน้า ม.พัน 4 ที่จำเลยถูกศาลอาญารอการลงโทษไว้ โดยคดีดังกล่าวยังไม่สิ้นสุด แต่โจทก์ไม่ได้ขอไว้ในท้ายฟ้องตั้งแต่ต้น)

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักที่สุด ตามมาตรา 112 จำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงเหลือโทษจำคุก 27 เดือน

เนื่องด้วยเป็นการกระทำความผิดร้ายแรงต่อพระมหากษัตริย์ และเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เพื่อให้จำเลยหลาบจำ จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

ทั้งนี้ หากคำนวณโทษโดยลดโทษหนึ่งในสาม จากโทษจำคุก 3 ปี ควรจะเหลือโทษจำคุก 2 ปี มิใช่จำคุก 27 เดือน ตามคำพิพากษาดังกล่าว จึงคาดว่าศาลอุทธรณ์ภาค 5 คำนวณโทษดังกล่าวผิดพลาด ซึ่งฝ่ายจำเลยจะได้ยื่นฎีกาคำพิพากษาต่อไป

หลังอ่านคำพิพากษา ฉัตรมงคลได้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปห้องขังของศาล ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวระหว่างฎีกา

จนเวลาประมาณ 11.45 น. ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำสั่งให้ส่งคำร้องขอประกันตัวไปให้ศาลฎีกาวินิจฉัย โดยคาดว่าจะทราบคำสั่งในวันพรุ่งนี้ ทำให้วันนี้ฉัตรมงคลต้องถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำกลางเชียงราย

สำหรับ “บอส” ฉัตรมงคล มีภูมิลำเนาอยู่อาศัยในกรุงเทพมหานคร และทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี เขาเคยเข้าร่วมการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา ที่นำโดย “จ่านิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ในช่วงยุค คสช. และเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในช่วงปี 2561 ต่อมาเขาลดการเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองลง และเน้นประกอบอาชีพเพื่อหารายได้และดูแลครอบครัว

การถูกกล่าวหาในคดีนี้ตลอด 2 ปี 5 เดือนที่ผ่านมา ทำให้บอสต้องเดินทางไปจังหวัดเชียงรายเพื่อต่อสู้ไม่ต่ำกว่า 8 ครั้งแล้ว ประกอบกับบอสมีรายได้ไม่มากนัก ทำให้การต่อสู้คดีมีอุปสรรคอย่างมาก โดยเขาได้รับความช่วยเหลือเรื่องค่าเดินทางจากกองทุนดา ตอร์ปิโด แต่ก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ด้วยตนเอง

อ่านรายละเอียดของข่าวนี้ทั้งหมดได้ในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net