Skip to main content
sharethis


 


วันนี้(10 ม.ค.) ที่ห้องประชุมสถาบันการศึกษานานาชาติ ม.เชียงใหม่ ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง(ศปส.) ร่วมกับองค์กรพันธมิตรจัดเวทีเสวนาเรื่อง "พ.ร.บ.ความมั่นคงฯกับผลกระทบต่อการเมืองภาคประชาชน" ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเสวนาร่วมแลกเปลี่ยนอย่างคับคั่ง นอกจากนี้แล้วในเวทีดังกล่าวยังมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ "พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับ สนช.กับผลกระทบต่อภาคประชาชน" โดยมี อ.ชูพินิจ เกษมณี อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ เป็นวิทยากร


 


โดย อ.ชูพินิจ กล่าวว่า สำหรับ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ที่ผ่านมาพิจารณาจาก สนช.ออกมานั้น ตอนนี้กระบวนการอยู่ที่รอในหลวงลงพระปรมาภิไท แต่ทั้งนี้หากพิจารณาเนื้อหาโดยภาพรวมนั้นจะเห็นว่ามีการละเมิดสิทธิชุมชนเป็นอย่างมาก ซึ่งนอกจากเนื้อหาจะขัดกับรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้วยังพบว่า พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับนี้ยังขัดแย้งกับอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยไปลงนามเป็นภาคีสมาชิกด้วย หนึ่งในนั้นคืออนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งพูดถึงการเคารพสิทธิ การส่งเสริมชาวบ้านในการอนุรักษ์ทรัพยากรต่างๆ


 


นอกจากนี้ อ.ชูพินิจ กล่าวต่อว่า จากการประชุมของประเทศภาคีสมาชิกหลายๆครั้งได้มีข้อตกลงร่วมกันหลายๆเรื่อง เช่น การเข้าถึงและการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรอย่างเป็นธรรม กล่าวคือ ทั้งหน่วยงานรัฐที่ดูแลป่าไม้กับชาวบ้านที่อยู่ในเขตป่านั้นชาวบ้านสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากป่าไม้อย่างยั่งยืนและเป็นธรรมได้ แต่ทั้งนี้หากพิจารณานัยยะของ พ.ร.บ.ป่าชุมชนที่ออกมาจะพบว่าไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่เลย


 


"ที่น่าแปลกคือมีมาตราหนึ่งระบุว่าไม้หรือพืชพรรณต่างๆที่ปลูกในเขตป่าชุมชนใช้ประโยชน์ได้เพียงในครัวเรือนหรือประโยชน์ในทางสาธารณะเท่านั้น กรณีนี้ในข้อเท็จจริงจะพบว่าหลายชุมชนใช้พื้นที่ป่าชุมชนปลูกผลผลิต เช่น ชา พืชผักสวนครัวต่างๆปะปนอยู่ด้วยซึ่งสามารถสร้างเป็นรายได้เสริมแก่ชุมชนได้ ขณะที่อีกหลายพื้นที่สามารถเก็บหาของป่าไปขายเป็นรายได้เสริม แต่หากเอา พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับนี้มาใช้ก็ทำให้ชาวบ้านเสียโอกาสในการสร้างรายได้ ดังนั้นจะเห็นว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านเพิ่มขึ้นไปอีก ทั้งๆที่คนยกร่างหลายคนก็เคยลงพื้นที่ เคยศึกษาการจัดการป่าชุมชนโดยชาวบ้านมาแล้ว" อ.ชูพินิจ กล่าว


 


อ.ชูพินิจ กล่าวต่อว่า จากฐานคิดที่ว่าทรัพยากรทุกอย่างนั้นเป็นของรัฐแต่มิได้หมายความว่ารัฐจะเป็นผู้ผูกขาดการจัดการเพียงฝ่ายเดียว แม้ใน พ.ร.บ.ป่าชุมชนที่ออกมาจะบอกให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการจัดการแต่ก็เป็นไปแบบไม่เต็มที่ ยังมีการตั้งเงื่อนไขข้อบังคับต่างๆกันไว้เยอะมาก ดังนั้นการยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้สะท้อนชัดเจนว่าไม่มีการศึกษาบริบทของสัญญาระหว่างประเทศต่างๆแม้แต่น้อย แต่เป็นการใช้อำนาจนิยมแบบสุดๆ เป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้น


 


อย่างไรก็ตาม อ.ชูพินิจ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบัน พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับนี้อยู่ในช่วงรอในหลวงลงพระปรมาภิไท ดังนั้นภาคประชาชนต้องช่วยกันกระจายปัญหา ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ที่เป็นรูปธรรมไปในวงกว้างเพื่อให้สังคมร่วมเห็นปัญหาและดึงเขาเข้ามาเป็นพันธมิตรในการไม่เอา พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับนี้ด้วย นอกจากนี้ผลจากการที่ สนช.จำนวน 29 คนเข้าชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ทราบผลว่าจะออกมาเช่นไร แต่หากศาลรัฐธรรมนูญตีความออกมาว่าไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญก็คงต้องมีการเข้าชื่อจำนวน 10,000 รายชื่อเสนอให้มีการยกเลิก พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับนี้ไปเลย.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net