Skip to main content
sharethis

สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย มหิดล ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดเวทีสัมมนา เรื่อง สิทธิมนุษยชนไทยในยุคการเมืองเปลี่ยนผ่าน เพื่อระดมความคิดเห็นของนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนในภาคประชาสังคม นักสื่อสารมวลชน และประชาชนทั่วไป ต่อสถานการณ์การเมืองที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร สู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นำโดยพรรคพลังประชาชนที่อาจเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ว่าจะมีผลกระทบต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างไร เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถ.ราชดำเนิน


 


โดยมี จอน อึ๊งภากรณ์ อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และอดีต ส.ว. กทม. เป็นองค์ปาฐก ในหัวข้อ สิทธิมนุษยชนไทยในช่วงการเมืองเปลี่ยนผ่านซึ่งมีเนื้อหา นอกจากนี้ยังมีการสัมมนาเรื่อง ทิศทางสิทธิมนุษยชนไทย อะไรคือคำตอบ โดยนักวิชาการ และนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนเข้าร่วม


 


00000


 


จอน อึ๊งภากรณ์


อดีตประธาน กป.อพช. และอดีต ส.ว. กทม.


 


สวัสดีครับทุกคน ในหัวข้อนี้ผมก็ลำบากใจ คือผมมาคิดดูว่าจริงๆ แล้วสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยมันจะเปลี่ยนไหมถ้าแค่เปลี่ยนยุคเปลี่ยนสมัย ไม่ต้องย้อนไปไกลเอาแค่จากรัฐบาลทักษิณ (ชินวัตร) ที่ครองอำนาจตั้งแต่ปี 2544 มาถึงยุค คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 มาถึงยุครัฐบาลสมัคร สุนทรเวช สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยจริงๆ แล้วเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน และการที่เห็นยุคทักษิณมาถึงยุค คมช. หรือจะเรียกว่าจากยุคประชาธิปไตยมาเป็นยุคเผด็จการ แต่ผมก็ไม่ค่อยชอบใช้คำนี้เพราะว่าแล้วมันกลับมาเป็นประชาธิปไตยใหม่ไหม ไม่รู้ว่าท่านคิดยังไง แล้วสิทธิมนุษยชนจะเปลี่ยนไหม


 


ผมเสนอว่าโดยหลักไม่เปลี่ยน เพราะรากฐานของการขาดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยไม่ได้อยู่ที่ใครมาเป็นรัฐบาล ไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลพลเรือนหรือรัฐบาลทหาร ซึ่งจริงๆ แล้วรัฐบาลทหารก็มอบอำนาจให้พลเรือนเพียงแต่คุมอยู่ห่างๆ จริงๆ แล้วสถานการณ์การเมืองและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ผมเห็นว่าเป็นสถานการณ์ที่ร้ายแรงนั้น มันมาจากการสมยอมกันระหว่างผู้มีอำนาจกับผู้อยู่ใต้อำนาจเป็นส่วนใหญ่ในสายตาของผม หมายความว่าสิ่งที่เกิดการละเมิดสิทธิในประเทศไทยอย่างรุนแรง มักจะเกิดขึ้นทั้งจากทัศนคติของผู้มีอำนาจ ซึ่งในที่นี้ผมรวมทั้งผู้มีอำนาจทางการเมืองและผู้มีอำนาจในระบบราชการ และด้วยความสมยอมหรือเห็นด้วยหรือขี้เกียจแย้งของประชาชน อันนี้คือสถานการณ์การละเมิดสิทธิ แต่ผมจะพยายามพูดถึงสิทธิมนุษยชนไทยใน 5 ด้าน ซึ่งเป็นด้านที่ผมคิดขึ้นมาเองในฐานะนักวิชาการ


 


1. ผมคิดถึงเรื่องสิทธิในด้านสถานภาพ คำว่าสิทธิทางด้านสถานภาพพูดง่ายๆ ว่า ประเทศไทยมีพลเมืองชั้น 2 เต็มไปหมดเลย เพราะเราไม่ยอมรับให้เขาเป็นคนไทย หรือเราไม่ยอมรับให้เขามีสัญชาติ เมื่อเขาไม่มีสัญชาติ แม้เขาจะทำใบขับขี่ก็ทำไม่ได้ จะจบปริญญา จะมีปริญญาก็ไม่ได้ เรามีแรงงานข้ามชาติเข้ามาในประเทศไทย แต่เป็นแรงงานที่เราคิดว่าเป็นแรงงานเถื่อน แรงงานผิดกฎหมาย เราคิดว่าแรงงานพวกนี้ไม่มีสิทธิอะไรเลย ทำผิดกฎหมาย จึงถูกส่งกลับไปประเทศเขา ถ้าเขายังอยู่ในประเทศไทยจะไปให้สิทธิอะไรเขาล่ะ ในเมื่อเขามาแบบผิดกฎหมาย แล้วเรายังมองเขาเป็นอาชญากร เป็นภัยสังคม


 


เรามีชนกลุ่มน้อยเป็นจำนวนมาก ชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทยเยอะแยะไปหมด ซึ่งก็ไม่ได้สัญชาติทั้งๆ ที่เกิดมาในประเทศไทย อยู่มาในประเทศไทย เรามีคนในสังคมที่มีสัญชาติ แต่เราปฏิบัติกับเขาเหมือนเขาไม่ใช่พลเมือง เช่น ชุมชนมุสลิมภาคใต้เป็นต้น เพราะฉะนั้นผมมองว่า สิทธิด้านสถานภาพเป็นสิทธิที่ถูกละเมิดอย่างรุนแรงในประเทศไทย คนจำนวนมากไม่ได้เป็นมนุษย์หรือเป็นพลเมืองไทยหรือที่ถูกยอมรับในสังคมไทย แต่ก็ต้องอยู่ ไปไหนก็ไม่ได้ ไม่มีที่ไหนเขารับ จึงต้องอยู่ที่นี่ แต่ว่าถึงอยู่ที่นี่ก็ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นพลเมืองเต็มขั้น ถามว่ายุคทักษิณยุค คมช. ต่างกันหรือไม่ ไม่ค่อยจะต่างกันเท่าไหร่


 


2. คือสิทธิการได้รับความคุ้มครอง ผมหมายถึงสิทธิที่จะได้รับเวลาถูกจับก็ถูกปฏิบัติเหมือนเป็นผู้บริสุทธิ์ก่อน จนกว่าศาลจะพิสูจน์ หมายถึงสิทธิในความปลอดภัยที่จะไม่อยู่ดีๆ อาจมีตำรวจมายิงเพราะเขาคิดว่าเราเป็นอาชญากร  ผมหมายถึงสิทธิที่จะไปชุมนุมที่ตากใบ แล้วไม่ถูกนำมากองไว้เป็น 7-8 ชั้นจนเสียชีวิต เรามีกฎหมายจริง ในกฎหมายหลักเป็นหลักที่ดี เป็นหลักสากลแต่ไม่ปฏิบัติ กฎหมายไม่มีการปฏิบัติเท่าเทียมระหว่างคนมีอำนาจกับคนไร้อำนาจ เราเอากฎหมายไปกดขี่คนไร้อำนาจ เราผ่อนผันการใช้กฎหมายกับผู้มีอำนาจ


 


ถ้าเราจะพูดถึงสิทธิการคุ้มครองโดยกฏหมายผมเสนอว่า ยุคทักษิณนั้นร้ายแรงกว่ายุค คมช. หลายเท่า อันนี้พวกที่มีสังกัดค่อนข้างจะโวยวาย วันก่อนผมไปพูดผมโดนโห่ใหญ่ เพราะผมพูดเรื่องรัฐบาลทักษิณกับการฆ่าตัดตอน ซึ่งคนที่อยู่ในนั้นส่วนใหญ่บอกว่าไม่จริงๆ ต้องลองถามอาจารย์เสน่ห์ว่ามันมีจริงไหม อันที่ผมกลัวที่สุดขณะนี้ก็คือว่า เราจะเลือกข้างก็ได้ แต่ขอให้อยู่กับความเป็นจริง ปัญหาของประเทศไทยตอนนี้คือประวัติศาสตร์ถูกบิดเบือนตลอดเวลา เราไว้ใจนักประวัติศาสตร์ยังไม่ได้เลยที่จะบันทึกข้อเท็จจริงให้เรา ประวัติศาสตร์ที่เรียนในโรงเรียนก็ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่เป็นข้อเท็จจริง ประวัติศาสตร์ที่แท้จริงคือประวัติศาสตร์ของการกดขี่ การเอารัดเอาเปรียบ สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนของประวัติศาสตร์ และถ้าเราไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ เราถึงเกิดการละเมิดสิทธิอย่างร้ายแรง


 


จะเห็นว่าเรื่องประวัติศาสตร์ก็น่าสนใจนะครับ จะเห็นว่าพอสมัครเป็นนายกฯ ก็ให้สัมภาษณ์ CNN บอกว่ายังไงนะ 6 ตุลาคม มีคนตายคนเดียว นี่เรียกว่าเป็นประวัติศาสตร์ของคุณสมัครนะครับ คุณจาตุรนต์ ฉายแสงก็บอกว่าเรื่องนี้ไม่ขอแสดงความคิดเห็น อันนี้คืออะไรของประเทศไทย ผมอยากรู้ คือพูดง่ายๆ ว่าสมยอมกัน กะล่อนกันทั้งประเทศรึเปล่า สมยอมกันบิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่อพรรคพวกเหรอ ถ้าคุณอยู่ฝ่ายหนึ่งประวัติศาสตร์จะเป็นอย่างหนึ่ง ถ้าคุณอยู่อีกฝ่ายหนึ่งประวัติศาสตร์จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง


 


นี่คือเรื่องเศร้าเพราะว่า การจะเกิดการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ถ้าเราไม่เรียนชัดเจนถึงประวัติศาตร์ของชุมชนมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราก็จะถือว่าไอ้พวกนี้มาอยู่ในสังคมไทยแล้วมามีวัฒนธรรมแปลกๆ มีความคิดแปลกๆ ถ้าไม่อยากอยู่ก็ออกไปซะ มันเกิดความคิดแบบนี้ในสังคมไทย มันเกิดความคิดว่าประเทศไทยมีสัญชาติเดียว มีคนกลุ่มเดียว พูดภาษาไทยกลาง มีวัฒนธรรมเดียว มีความเป็นมาอันเดียว ไม่พูดถึงว่าใครเคยกดขี่ใครมาบ้าง ใครเคยบุกรุกใคร ไปรุกรานใครมาเป็นเมืองขึ้นบ้าง สิ่งเหล่านี้จะไม่ออกมาเป็นประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้นสิทธิทั้ง 2 อันข้างต้นที่ผมกล่าวถึงนั้น ผมคิดว่า 2 อันนี้ ผู้มีอำนาจในสังคมไทย ไม่ว่าเป็นใครละเมิดทั้งนั้น แต่ว่าบังเอิญ คมช. หรือรัฐบาลสุรยุทธ์ ฆ่าคนน้อยกว่ารัฐบาลทักษิณ แต่ทุกรัฐบาลที่กล่าวถึงก็ฆ่าคนภาคใต้เหมือนกัน มุสลิมภาคใต้ถูกยิงเหมือนเดิม อาจบอกได้ว่ารัฐบาล คมช. คืนอำนาจให้ทหาร รัฐบาลทักษิณเปิดอิสระให้ตำรวจใช้อำนาจ อยากจะไปฆ่าใครก็ฆ่าถ้าคิดว่าคนคนนี้เป็นผู้ค้ายาเสพติด คุณก็ยิง ผมไม่รู้ล่ะขอให้ตายไปก็ถือว่าเป็นผลงาน ไม่มีกระบวนการสอบสวนแต่อย่าทำอะไรที่มันน่าเกลียดก็แล้วกันทำนองนี้นะครับ


 


ภาคใต้ก็เหมือนกัน การมีทหารนอกราชการไปเป็นมือปืนฆ่าคนมุสลิมที่สงสัยว่าเป็นผู้นำขบวนการที่ใช้ความรุนแรง ถ้าจะพูดถึงนโยบายฆ่าตัดตอนที่ตายไป ตายเท่าไหร่มันไม่แน่ เพราะว่าตัวเลขที่น้อยที่สุดก็แล้วกันคือมีผู้บริสุทธิ์ 1,300 กว่าคน ตายไปเนื่องจากสงครามยาเสพติด มันเกิดขึ้นด้วยความเห็นชอบของสังคมไทย เพราะรัฐบาลทักษิณเป็นรัฐบาลประชานิยม ผมคิดว่าคำว่าประชานิยมของรัฐบาลทักษิณคือนโยบายฆ่าตัดตอน ผมไม่พูดถึงเรื่องอื่นนะครับ คือรู้ว่านโยบายนี้จะเรียกคะแนนเสียง แต่เป็นนโยบายที่ทำแล้วจะต้องกำจัดคนโดยการฆ่า นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น


 


3. คือสิทธิทางวัฒนธรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิทางสถานภาพ อันนี้มีมาตลอดไม่ว่าจะเป็นยุค คมช. ยุคทักษิณ ยุคประชาธิปัตย์ ไม่เคยเปลี่ยนคือเราไม่ยอมรับทุกๆ กลุ่มในชุมชน ทุกๆ กลุ่มที่หลากหลาย ไม่ยอมรับความเป็นสังคมที่หลากหลาย หลากหลายภาษา ความคิด วิถีชีวิต และวัฒนธรรม ในโรงเรียนต้องสอนภาษาเดียว สื่อมวลชนก็ภาษาเดียวกันหมด นี่ก็เป็นการกดขี่ที่รุนแรงในสังคมไทย คือ เกิดกลุ่มคนจำนวนมากในสังคมแทนที่จะมีโอกาสได้ภูมิใจในวัฒนธรรม ในวิถีชีวิตของตนเอง กลับถูกบังคับให้ต้องมาเป็นแบบของคนกลางๆ โดยลืมนึกถึงความหลากหลายของสังคมไทยในอดีต


 


ผมไม่เคยลืมว่าคุณปู่ผมก็มาจากประเทศจีน ไม่ได้เกิดในประเทศไทย มาแล้วในยุคก่อนการที่จะได้สัญชาติมันก็เกิดขึ้นได้ง่าย การที่จะเข้ามาอยู่ในสังคมก็เกิดขึ้นได้ง่าย ผมไม่รู้ว่าเข้าใจถูกมั้ยต้องถามจากอาจารย์เสน่ห์ด้วย ผมเข้าใจว่าการเปิดโอกาสให้ใช้วัฒนธรรมของตัวเองมีมากกว่าสมัยนี้ มีโรงเรียนสอนภาษาจีนก็ไปเรียนได้ มีสถานีวิทยุที่ออกอากาศเป็นภาษาจีนได้


 


4. สิทธิประชาธิปไตย คำว่าประชาธิปไตยนี้ผมจะโยงไปถึงทุกเรื่อง เป็นเรื่องของประชาธิปไตยในเรื่องของการเลือกตั้ง เป็นเรื่องของประชาธิปไตยในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เสรีภาพด้านสื่อมวลชน และการพูดถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน อันนี้ต้องบอกว่ารัฐบาลทักษิณ รัฐบาล คมช. ละเมิดคนละแบบ คมช. น่าจะร้ายแรงกว่า เพราะว่าใน คมช. นั้นมีการออกกฎหมายที่ปิดกั้น จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมาก


 


โดยเฉพาะ พรบ. คอมพิวเตอร์ ที่ทำให้บุคคลธรรมดาอย่างพวกเราที่อยากเป็น Blogger อยากแสดงความคิดเห็นทางอินเทอร์เน็ต ถูกกลั่นแกล้ง ถูกจับ ซึ่งมีการจับแบบเงียบๆ ไปแล้ว 2 ราย ในนั้นเขียนแค่ว่ามีข้อความในคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อสังคมหรืออาจจะเป็นข้อความที่ก่อให้เกิดความแตกแยก อะไรทำนองนี้ แต่มักจะมาใช้กับการแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเรื่องของสิทธิเสรีภาพในสังคม ตราบใดที่เรามีกฎหมายอาญาในเรื่องของการหมิ่นต่อพระมหากษัตริย์แบบนี้ เราก็ไม่มีสิทธิเสรีภาพที่แท้จริง มันต้องมีการแก้ ยกเลิกกฎหมายในส่วนนี้ไป ในความเห็นผมการยกเลิกคงเป็นไปได้ยาก แต่ควรจะมีการแก้ให้การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตใจต่อสถาบันพระมหากษัตริย์น่าจะกระทำได้ โดยไม่ต้องไปกลัวว่าจะถูกดำเนินคดี จะเกิดอันตราย หรืออยู่ดีๆ มีตำรวจมาเคาะประตู


 


ตอนนี้เป็นเรื่องที่ดีที่เราหมดยุค คมช. เป็นเรื่องดีต่อสิทธิประชาธิปไตย แต่ก็ดูเหมือนว่ารัฐบาลใหม่ก็ยังมุ่งหวังที่จะควบคุมสื่อมวลชน คือโทรทัศน์ที่เป็นสื่อหลักที่ประชาชนบริโภค เพื่อควบคุม โดยเขาบอกว่าก่อนหน้านี้มันลำเอียง ตอนนี้จะทำให้มันไม่ลำเอียงนะ แต่ถ้าทำโดยคนที่อยู่ในรัฐบาลเมื่อไหร่มันก็แปลว่า ปิดกั้นการตรวจสอบหรือการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ คงไม่ปิดทั้งหมดแต่คงทำให้มันน้อยหรือไม่รุนแรง เพื่อที่ตนเองจะได้อยู่ อันนี้ก็เป็นลักษณะที่อันตราย


 


5. สิทธิด้านคุณภาพชีวิต อันนี้เป็นเรื่องที่ผมให้ความสำคัญมาก มันยังเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย ในสังคมอุตสาหกรรมที่เป็นประชาธิปไตย และเป็นเรื่องที่มีมานานแล้วคือระบบรัฐสวัสดิการที่เป็นสวัสดิการสังคมแบบบูรณาการรอบด้าน หมายความว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ดี ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบในระดับโลก อยู่ในระดับที่สามารถคุ้มครองให้ความเป็นธรรมกับทุกคนได้ว่าจะได้รับคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐาน เช่น มีโอกาสการเรียนหนังสือ ไม่ว่าจะจนยังไงจะได้เรียนหนังสือ และควรได้รับหลักประกันในเรื่องรายได้ หลักประกันเรื่องการมีงานทำ หลักประกันเรื่องการมีที่ดินทำกิน การมีอาชีพที่พึ่งที่กิน เรื่องการมีที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องต่อสู้ไปเรื่อยๆ


 


ก็ต้องบอกว่าในสิทธิส่วนนี้รัฐบาลทักษิณก็ทำได้ดีอยู่ โดยการนำระบบหลักประกันสุขภาพเข้ามา รัฐบาลสุรยุทธ์ มีหมอมงคล (ณ สงขลา) มาเป็นรัฐมนตรีสาธารณสุข ก็มาทำให้โอกาสในการเข้าถึงยาของผู้ป่วยมีมากขึ้น เลยมีมาตรการบังคับใช้เกิดขึ้นอย่างถูกต้องไม่ขัดต่อข้อตกลง TRIPS ขององค์การการค้าโลก แต่รัฐบาลนี้ก็มาลบตรงนี้ มาทบทวนใหม่อย่างที่อาจารย์ได้พูดไปเมื่อกี้นี้ คือสรุปแล้วจะบอกว่าใครดีกว่าใคร รัฐบาลไหนดีกว่ารัฐบาลไหนในเชิงสิทธิมนุษยชนนั้น พูดยาก


 


ผมมีบทสรุปอันหนึ่งว่าการทำลายสิทธิอย่างร้ายแรง ละเมิดสิทธิด้านการคุ้มครองอย่างร้ายแรงเกิดขึ้นในรัฐบาลทักษิณ เกิดโดยการฆ่าตัดตอนพันกว่าคน ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้บริสุทธิ์ตามกฎหมายหรือตามรัฐธรรมนูญ จะเห็นว่าเกิดผู้นำชาวบ้านเยอะแยะในสมัยทักษิณ เกิดผู้นำชุมชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ในเรื่องสิทธิของชุมชนรัฐบาลไม่สามารถให้การคุ้มครองได้ และสถานการณ์ภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นทีมฟุตบอลเยาวชนสะบ้าย้อย ถูกยิงไปทั้งทีม และโปรดสังเกตอันที่น่ากลัวที่สุดก็คือ ในสถานการณ์อย่างนั้น ความจริงไม่สามารถปรากฎได้ แม้ว่ายุค คมช. จะพยายามให้เกิดความจริง มันเป็นไปไม่ได้เพราะว่าผู้ที่ละเมิดสิทธิในสมัยทักษิณก็มาละเมิดสิทธิในสมัย คมช. และมาละเมิดสิทธิต่อในสมัยนี้ ถ้าเราเข้าไปถึงความจริงสักระยะ มันจะไปถึงใคร แน่นอนมันจะไปถึงคนในเครื่องแบบ ซึ่งก็ยังเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ในปัจจุบันนี้


 


ไม่ว่ายุคไหนก็มีบางสถาบันที่แตะต้องไม่ได้ เรื่องคอรัปชั่นในทหาร ครั้งสุดท้ายที่มีการจับดำเนินคดีเมื่อไหร่ผมก็ไม่รู้ อำนาจทหาร อำนาจตำรวจในการฆ่าตัดตอน ล้วนแต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ นี่คือสิ่งที่เป็นเรื่องเลวร้าย ตราบใดที่มีสถานการณ์เหล่านี้อย่ามาพูดถึงประชาธิปไตยเลย เรายังไม่เป็นประชาธิปไตยตราบใดที่เราไม่สามารถตรวจสอบสถาบันต่างๆ ได้ นี่คือข้อเท็จจริง เราอาจจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเพราะเรามีเลือกตั้ง หรือเพราะทหารถอนตัวไป แต่ความเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ของเรายังอยู่ในขอบเขตที่จำกัดมากๆ


 


ฉะนั้นถามว่าแล้วตอนนี้มีอะไรดีขึ้นบ้าง ผมคิดว่ามีในสถานการณ์ปัจจุบัน การที่บอกว่าการเมืองเปลี่ยนผ่านมันมีอะไรดีขึ้นอยู่ คือช่วงนี้เปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนไปต่อสู้เรื่องสิทธิมากขึ้น แต่ปัญหาคือภาคประชาชนจะสู้หรือเปล่า ตอนนี้ในรัฐธรรมนูญใหม่ เราสามารถเสนอกฎหมาย 10,000 รายชื่อ ภาคประชาชนเสนอเข้าสู่สภา แล้วสภาพิจารณา ผู้เสนอกฎหมายจากภาคประชาชนสามารถเข้าไปนั่งในระหว่างการพิจารณากฎหมายในสภา อันนี้เปิดพื้นที่ ที่จริงผมชอบพื้นที่ที่จะให้เสนอกฎหมายมากกว่าพื้นที่ให้ไปขอร้องรัฐมนตรีให้ทำอะไรให้ คือที่ผ่านมาผมรู้สึกว่าภาคประชาชนต้องไปยื่นเสนอต่อรัฐมนตรีคนนี้คนนั้น ช่วยหน่อยนะ ทำนั่นทำนี่ให้หน่อย มันเสียศักดิ์ศรี และมันได้ประโยชน์บ้าง ไม่ได้บ้าง


 


แต่หลายๆ อย่างตอนนี้มันต้องมาจากการสู้จริงๆ สู้ในพื้นที่ของการเสนอกฎหมาย เสนอกฎหมายคือตรงไปตรงมาเลย เป็นวิธีการสู้ในเรื่องสิทธิ ผมคิดว่าผมคาดหวังว่าพวกเราทั้งหลายจะกำลังคิดอยู่ตอนนี้ว่ากฎหมายภาคประชาชนที่จะช่วยส่งเสริมสิทธิของประชาชน ผมคิดว่าออกได้เป็นสิบสิบกฎหมาย และควรจะยกเลิกรื้อถอนไปสิบสิบกฎหมายเหมือนกัน เรื่อง พ.ร.บ. ความมั่นคง พ.ร.บ. ของคุณทักษิณเรื่องการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เริ่มต้นด้วยการยกเลิกกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมากมาย และในขณะเดียวกันคือการผลักกฎหมาย นี่คือสิทธิที่เปิดอยู่ในช่วงนี้ เพราะฉะนั้นนี่คือโอกาส


 


แต่อย่าลืมว่าปัญหาใหญ่ของเราคือ ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมยังไม่เข้าใจเรื่องสิทธิ ผมบอกแล้วว่าผู้มีอำนาจมักจะควบคุมโดยความสมยอมของประชาชน เราพูดมากเรื่องสิทธิของแรงงานข้ามชาติ มันไม่ใช่เรื่องง่าย เราจะพูดถึงเรื่องสิทธิคนต่างชาติ เราจะพูดถึงเรื่องสิทธิของคนมุสลิมภาคใต้ เราพูดถึงว่าชุมชน 3 จังหวัดภาคใต้ส่วนใหญ่ควรจะมีความเป็นอิสระพอสมควร


 


ที่จริงท่ามกลางรัฐบาลที่น่าเป็นห่วงมากๆ มันก็มีอะไรดีเกิดขึ้นเหมือนกันนะ อย่าไปมองขาวดำมากไป ผมมองข้อดีของรัฐบาลสมัครอยู่ 2 เรื่องที่จะเกิดขึ้น เรื่องแรกคือ คุณสมัครเป็นรัฐมนตรีกลาโหม จริงๆ แล้วไม่อยากให้เป็นคุณสมัคร แต่ก็ดีการมีรัฐมนตรีกลาโหมเป็นพลเรือน อันนี้เป็นหลักการที่ดีที่ควรจะมีตลอดไปตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และคุณเฉลิม (อยู่บำรุง) ออกมาพูดเรื่องของภาคใต้อยู่เหมือนกัน แต่มันน่าจะมี Autonomy ไม่รู้ว่าภาษาไทยเรียกว่าอะไร คือพูดถึงบางรัฐในจีนปกครองตนเอง โอเคถ้าพูดอย่างนี้และจะทำต่อมันก็เป็นการเริ่มหลักการที่ดีใน 3 จังหวัด แต่จะจริงหรือเปล่าอันนี้ไม่รู้ รัฐบาลทักษิณก็ออกมาพูด แต่มันไม่เคยเกิดจริง สรุปแล้ว สถานการณ์ไม่เปลี่ยนไปมาก แต่เราต้องต่อสู้ต่อไป ต้องมีความหวัง


 


 



หมายเหตุจากผู้จัด : เวทีสัมมนาครั้งนี้ จัดโดยสำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งกำลังเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าเรียนหลักสูตรปริญญาโท ด้านสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.humanrights-mu.org


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net