Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ณ อนุสรณ์สถาน  14 ตุลา คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)พร้อมเครือข่ายภาคประชาชนกว่า 20 เครือข่ายออกคำประกาศแสดงจุดยืน "เปลี่ยนผ่านการเมืองอย่างสันติ ประชาชนร่วมกำหนด" ยืนยันคัดค้านและประณามการก่อการรัฐประหารไม่ว่าจะเหตุผลใดๆ  เพราะการรัฐประหาร นอกจากจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยความรุนแรงไม่เป็นไปโดยวิถีทางประชาธิปไตยแล้ว หากยังเป็นการทำลายล้างระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย และพร้อมที่จะเคลื่อนไหวคัดค้านการรัฐประหารที่เกิดขึ้นโดยทันที


 


นายไพโรจน์ พลเพชร กล่าวถึงขอเสนอของ กป. พอช. และเครือข่ายว่า สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่ในขณะนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งที่เกิดจากการแบ่งฝ่ายทางการเมืองออกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจนระหว่างฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำ ซึ่งความขัดแย้งแบบสองขั้วหลักดังกล่าว นับวันจะนำไปสู่การเผชิญหน้า และมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงมากขึ้น จนอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย โดยการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองด้วยการรัฐประหาร ซึ่งจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยต้องถดถอยเลวร้ายลงไปอีก อันจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการแก้ไขปัญหาของประชาชนทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม


ข้อเสนอของ กป.อพช. และเครือข่าย มีดังนี้


       


ประการแรก ยืนยันว่า เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ และเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เป็นหลักการพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย สนับสนุนเสรีภาพในการชุมนุมหรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แนวร่วมประชาชนต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือกลุ่มอื่นใด แต่จะต้องเป็นไปอย่างสันติ และจะต้องไม่ถูกคุกคามสิทธิเสรีภาพทั้งจากผู้ที่คิดเห็นต่างกันหรือจากรัฐบาล  โดยเฉพาะรัฐบาลจะต้องไม่ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมโดยเด็ดขาด


 


ประการที่สอง ยืนยันคัดค้านและประณามการใช้ความรุนแรงหรือการสร้างเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความรุนแรงของทุกฝ่าย เนื่องจากการใช้ความรุนแรงดังกล่าว จะกลายเป็นเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การรัฐประหาร ซึ่งถือเป็นการก่ออาชญากรรมที่ร้ายแรงต่อระบอบประชาธิปไตย


 


ประการที่สาม ยืนยันคัดค้านและประณามการก่อการรัฐประหารไม่ว่าจะอ้างเหตุผลใดก็ตาม เพราะการรัฐประหาร นอกจากจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยความรุนแรงไม่เป็นไปโดยวิถีทางประชาธิปไตยแล้ว หากยังเป็นการทำลายล้างระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย และพร้อมที่จะเคลื่อนไหวคัดค้านการรัฐประหารที่เกิดขึ้นโดยทันที


 


ประการที่สี่ ยืนยันว่าจะต้องนำหลักนิติธรรมหรือหลักนิติรัฐมาใช้กับบุคคลทุกคนที่กระทำความผิด จะต้องไม่ใช้วิถีทางการเมืองในการตัดสินความผิดถูกของบุคคล และสถาบันตุลาการจะต้องเป็นอิสระปลอดจากครอบงำแทรกแซงจากอิทธิพลใดๆ เพื่อสร้างบรรทัดฐานในการยุติความขัดแย้งในสังคม


 


ประการที่ห้า ยืนยันว่าการแก้รัฐธรรมนูญ 2550 จะต้องมีเจตนารมณ์ เพื่อการปฏิรูปการเมืองที่มุ่งหมาย "ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน สร้างประชาธิปไตยกินได้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม" ซึ่งการปฏิรูปการเมืองที่สำคัญคือการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวางในกระบวนการการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกติกาในการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจของทุกกลุ่มที่อยู่ร่วมกันในสังคม เราจึงเสนอให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ตัวแทนจากกลุ่ม องค์กรต่างๆ อันหลากหลายทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ผลักดัน แลกเปลี่ยนข้อมูล และความต้องการของแต่ละกลุ่มให้เป็นไปอย่างเสรีและกว้างขวางที่สุด และต้องเปิดให้มีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ


 


ประการที่หก เรายืนยันว่าการปฏิรูปนโยบายทางเศรษฐกิจจะต้องดำเนินการไปพร้อมกับการปฏิรูปการเมือง  เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ โดยการพัฒนาระบบเศรษฐกิจทางเลือกที่กระจายโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน การปฏิรูปที่ดิน การสร้างสมดุลการผลิตพืชอาหารและพืชพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร การปรับโครงสร้างระบบภาษีที่เป็นธรรมในอัตราก้าวหน้า และการกำหนดค่าจ้างที่เป็นธรรมกับแรงงานทุกภาคส่วน


 










 


คำประกาศ


เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่ายองค์กรประชาชน


เรื่อง


" เปลี่ยนผ่านการเมืองอย่างสันติ  ประชาชนร่วมกำหนด"


 


 


สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่ในขณะนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งที่เกิดจากการแบ่งฝ่ายทางการเมืองออกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจนระหว่างฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำ ซึ่งความขัดแย้งแบบสองขั้วหลักดังกล่าว  นับวันจะนำไปสู่การเผชิญหน้า และมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงมากขึ้น จนอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย โดยการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองด้วยการรัฐประหาร ซึ่งจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยต้องถดถอยเลวร้ายลงไปอีก อันจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการแก้ไขปัญหาของประชาชนทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม


เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่ายองค์กรประชาชน ดังรายนามข้างท้ายนี้ มีความเห็นว่าการแก้ปัญหาความขัดแย้งในระบอบประชาธิปไตย จำต้องใช้วิถีทางประชาธิปไตย และประชาชนต้องมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางเท่านั้น จึงจะจรรโลงระบอบประชาธิปไตยให้ตั้งมั่นในสังคมไทยได้


จึงขอประกาศร่วมกัน ดังต่อไปนี้


       


ประการที่หนึ่ง เรายืนยันว่า เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ และเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เป็นหลักการพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย เราสนับสนุนเสรีภาพในการชุมนุมหรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แนวร่วมประชาชนต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือกลุ่มอื่นใด แต่จะต้องเป็นไปอย่างสันติ และจะต้องไม่ถูกคุกคามสิทธิเสรีภาพทั้งจากผู้ที่คิดเห็นต่างกันหรือจากรัฐบาล  โดยเฉพาะรัฐบาลจะต้องไม่ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมโดยเด็ดขาด


 


ประการที่สอง เรายืนยันคัดค้านและประณามการใช้ความรุนแรงหรือการสร้างเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความรุนแรงของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แนวร่วมประชาชนต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือกลุ่มอื่นใด เนื่องจากการใช้ความรุนแรงดังกล่าว จะกลายเป็นเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การรัฐประหาร ซึ่งถือเป็นการก่ออาชญากรรมที่ร้ายแรงต่อระบอบประชาธิปไตย


 


ประการที่สาม เรายืนยันคัดค้านและประณามการก่อการรัฐประหารไม่ว่าจะอ้างเหตุผลใดก็ตาม เพราะการรัฐประหาร นอกจากจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยความรุนแรงไม่เป็นไปโดยวิถีทางประชาธิปไตยแล้ว หากยังเป็นการทำลายล้างระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย และเราพร้อมที่จะเคลื่อนไหวคัดค้านการรัฐประหารที่เกิดขึ้นโดยทันที


 


ประการที่สี่ เรายืนยันว่าจะต้องนำหลักนิติธรรมหรือหลักนิติรัฐมาใช้กับบุคคลทุกคนที่กระทำความผิด จะต้องไม่ใช้วิถีทางการเมืองในการตัดสินความผิดถูกของบุคคล และสถาบันตุลาการจะต้องเป็นอิสระปลอดจากครอบงำแทรกแซงจากอิทธิพลใดๆ เพื่อสร้างบรรทัดฐานในการยุติความขัดแย้งในสังคม


 


ประการที่ห้า เรายืนยันว่าการแก้รัฐธรรมนูญ 2550 จะต้องมีเจตนารมณ์ เพื่อการปฏิรูปการเมืองที่มุ่งหมาย "ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน สร้างประชาธิปไตยกินได้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม" ซึ่งการปฏิรูปการเมืองที่สำคัญคือการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวางในกระบวนการการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกติกาในการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจของทุกกลุ่มที่อยู่ร่วมกันในสังคม เราจึงเสนอให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ตัวแทนจากกลุ่ม องค์กรต่างๆ อันหลากหลายทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ผลักดัน แลกเปลี่ยนข้อมูล และความต้องการของแต่ละกลุ่มให้เป็นไปอย่างเสรีและกว้างขวางที่สุด และต้องเปิดให้มีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ


 


ประการที่หก เรายืนยันว่าการปฏิรูปนโยบายทางเศรษฐกิจจะต้องดำเนินการไปพร้อมกับการปฏิรูปการเมือง  เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ โดยการพัฒนาระบบเศรษฐกิจทางเลือกที่กระจายโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน การปฏิรูปที่ดิน การสร้างสมดุลการผลิตพืชอาหารและพืชพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร การปรับโครงสร้างระบบภาษีที่เป็นธรรมในอัตราก้าวหน้า และการกำหนดค่าจ้างที่เป็นธรรมกับแรงงานทุกภาคส่วน


 


เพื่อให้บรรลุคำประกาศดังกล่าว เราพร้อมจะร่วมมือกับบุคคล กลุ่ม หรือองค์กรต่างๆในการรณรงค์ผลักดันการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจอย่างจริงจังต่อเนื่องให้บังเกิดผลต่อไป


 


                                                                  ประกาศ วันที่ 11 มิถุนายน 2551


                                                                    ณ หอประชุม 14 ตุลา


 


คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)


ศูนย์เผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา


มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม


มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ


มูลนิธิส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาชุมชน


สหกรณ์เครดิตยูเนียนนักพัฒนาจำกัด


สถาบันต้นกล้า


โครงการฝึกอบรมเยาวชนเพื่อการพัฒนา


โครงการปฏิรูปการเกษตรและพัฒนาชนบทจังหวัดพิจิตร-นครสวรรค์


ศูนย์เสริมสร้างองค์กรชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิษณุโลก


คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์


เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอดส์แห่งประเทศไทย


มูลนิธิเข้าถึงเอดส์


เครือข่ายผู้หญิงพิทักษ์สิทธิ


เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ


เครือข่ายแรงงานนอกระบบ


เครือข่ายผู้บริโภค


มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค


เครือข่ายสลัมสี่ภาค


มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย


มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน


สมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน


สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย


กลุ่มศึกษาปัญหาการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA  WATCH)


เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก


เครือข่ายผู้หญิงภาคอีสาน


สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค


สหพันธ์วิทยุชุมขนแห่งชาติ


สมัชชาคนจน


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net