Skip to main content
sharethis

การต่อสู้ของสหภาพฯ ทีไอจีเกี่ยวพันมากกว่า 19 คนงานที่ถูกบังคับให้โอนย้ายสัญญามาอยู่บริษัทเอสตรีมด์เมื่อต้นปี พนักงานจำนวนหนึ่งที่ทำงานกับทีไอจีมาเป็นเวลานาน บางคนนานถึง 19 ปี  ยังคงอยู่ภายใต้ระบบสัญญาจ้างชั่วคราวเช่นเดียวกัน


 


หมายเหตุ ชื่อบทความเดิม "DRIVEN TO DISMISSAL"  เขียนโดย ศุภรา จันทร์ชิดฟ้า ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post วันที่ 5 พฤษภาคม 2551 ถอดความโดย วรรยา เทียนดี


 


 


จากการชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อถึง 1 เดือน ในที่สุดสหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊สฯ และคนงานขับรถแก๊สที่ถูกเลิกจ้าง ก็ได้รับชัยชนะในสิ่งที่พวกเขาเรียกร้อง


 


มีน้อยคนที่จะลืมเหตุการณ์ในเดือนกันยายน 2533 เมื่อรถบรรทุกแก๊สระเบิดบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ อุบัติเหตุครั้งนั้นได้คร่าชีวิตผู้คนถึง 88 ราย บาดเจ็บ 36 ราย บ้านเรือน รถยนต์และมอเตอร์ไซด์ถูกเพลิงไหม้เป็นจำนวนมาก


 


ถึงแม้ไม่เคยมีอุบัติเหตุครั้งใดที่ส่งผลเสียหายมากเท่านี้มาก่อน แต่กลับมีอุบัติเหตุจำนวนมากที่เกิดจากยานพาหนะที่ขนส่งแก๊สพุ่งชนหรือลื่นไถลลงข้างทาง ซึ่งมักเป็นที่สยดสยองแก่ผู้ที่พบเห็นหรือหน่วยกู้ภัยที่เข้ามาทำการช่วยเหลือ


 


แล้วกับผู้ที่ต้องอยู่หลังพวงมาลัยรถเหล่านี้เล่า? เขาผู้มีหน้าที่ขับรถและขนส่งวัตถุอันตราย มีใครเคยรู้เรื่องสภาพการทำงานและการจ้างงานของเขาเหล่านั้นหรือไม่? ได้ค่าตอบแทนเท่าไร? มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร? พวกเขาได้รับเงินพิเศษอันเนื่องจากการทำงานที่เสี่ยงอันตรายนี้หรือไม่?


 


การประท้วงของคนงานบริษัทแก๊สที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้ ดูเหมือนจะแสดงให้เห็นว่า คนงานเหล่านี้ส่วนหนึ่งไม่ได้รับการดูแลให้สมกับที่ได้รับมอบหมายให้ขนส่งสินค้าอันตรายของบริษัท


 


อันที่จริง พวกเขาไม่ได้เป็นแม้กระทั่งพนักงานประจำ


 


ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ได้กลายมาเป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างบริษัทไทยอินดัสเตรียลแก๊ส (TIG) กับสหภาพแรงงานทีไอจี


 


ซึ่งนำไปสู่การปักหลักตั้งเต้นท์ชุมนุมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา "เพื่อบอกความจริงว่า ฝ่ายบริหารของบริษัทไทยอินดัสเตรียลแก๊สได้เลิกจ้างคนงานกลุ่มหนึ่ง ที่ปฏิเสธจะเซ็นสัญญาการจ้างงานชั่วคราวกับบริษัทจ้างเหมาค่าแรง โดยที่ฝ่ายบริหารไม่ได้เจรจากับสหภาพฯ เลย" นายฉัตรชัย ไพยเสน เลขาธิการสหภาพแรงงานทีไอจีกล่าว


 


บริษัทไทยอินดัสเตรียลแก๊ส (TIG) ก่อตั้งเมื่อปี 2513 ปัจจุบันอยู่ในเครือบริษัทลินเด้ กรุ๊ป เยอรมันนี ที่จัดว่าเป็นยักษ์ใหญ่แห่งวงการธุรกิจอุตสาหกรรมแก๊สในระดับโลก ทั้งนี้ ทีไอจี เองก็เป็นบริษัทแก๊สที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งจัดส่งแก๊สให้แก่ โรงพยาบาลของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และบริษัทใหญ่ๆ เช่น โคคา โคลา เป็นต้น


 


หลังการต่อสู้ ที่ยาวนานถึง 1 เดือน TIG ยินยอมให้คนงานที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้ามาทำงานตามเดิม แม้ว่าสหภาพฯ และคนงานจะได้รับชัยชนะในครั้งนี้ แต่มันก็แลกมาด้วยความเหนื่อยยาก และเต็มไปด้วยบทเรียน


 


ในบรรดาคนงานชั่วคราวที่ถูกเลิกจ้าง  มีอยู่ส่วนหนึ่งที่เคยเป็นคนงานประจำโดยตรงของ TIG  หนึ่งในนั้น คือ ยม (นามสมมุติ) เขาเล่าให้ฟังว่า เขาเป็นหนึ่งในคนงาน 19 คน ที่หลังจากเข้ามาทำงานเป็นลูกจ้างของ TIG ได้ 1 ปี ในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 พวกเขาก็ถูกโอนย้ายให้มาเป็นลูกจ้างสัญญาชั่วคราวกับบริษัทอะเดคโก้ ซึ่งเป็นบริษัทต่างประเทศที่จัดหาลูกจ้างแบบชั่วคราว (เหมาช่วง-เหมาค่าแรง) ป้อนให้กับโรงงานหรือบริษัทต่างๆ


 


คนงานหลายคนรู้สึกแปลกใจกับการที่ตัวเองต้องถูกเปลี่ยนสัญญา แต่เพื่อที่จะรักษางานไว้ก็ต้องก้มหน้ายอมรับและไม่มีอำนาจที่จะทำอะไรได้


 


ต่อมาปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2551 สัญญาจ้างสิ้นสุดลงอย่างกระทันหันและไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า  ในครั้งนี้ พวกเขาถูกบังคับให้เซ็นสัญญาใหม่กับบริษัทเอสตรีมด์ ซึ่งเป็นบริษัทนายหน้าจัดหาคนงานแบบชั่วคราวเช่นเดียวกัน


 


ข่าวการโอนย้ายบริษัททำให้คนงานตื่นกลัวมากขึ้น พวกเขาเคยได้ยินชื่ออะเดคโก้ ซึ่งป็นบริษัทจัดหางานต่างประเทศ  แต่กับบริษัทเอสตรีมด์ไม่เคยมีใครได้ยินหรือรู้จักมาก่อนเลย


 


ในคนงานกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ไม่มีทางเลือก แต่มี 9 คนปฏิเสธที่จะเซ็นสัญญาใหม่กับเอสตรีมด์ จึงนำมาสู่การถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 1 มีนาคม


 


การปฏิบัติที่มีเงื่อนงำ


 


การเลิกจ้างคนงานขับรถแก๊ส 9 คน ที่ตั้งคำถามต่อการจ้างงานแบบเหมาช่วง-เหมาค่าแรง (outsourcing practice) ของทีไอจี ทำให้คนงานคนอื่นๆ ในทีไอจีโกรธ และออกมาร่วมประท้วงกับสหภาพแรงงานฯ ทีไอจี เพื่อเรียกร้องให้บริษัทต้องรับทั้ง 9 คนกลับเข้าทำงานเหมือนเดิม


 


"เพื่อนของเราไม่ได้ทำผิด พวกเขาเป็นพนักงานที่ดี เราไม่เข้าใจว่าทำไมบริษัทถึงต้องใช้การจ้างงานผ่านบริษัทนายหน้า ทั้งๆ ที่พวกเขาก็ทำงานให้กับทีไอจีเหมือนกับเรา แต่นายจ้างกลับบอกว่า คนงานกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นลูกจ้างของทีไอจี" วานซึ่งเป็นลูกจ้างประจำ แสดงความคิดเห็น


 


เขาตั้งข้อสังเกตว่า "บริษัทต้องจ่ายเงินเพิ่มมากขึ้นให้กับบริษัทนายหน้า ถ้าทีไอจีจ้างลูกจ้างโดยตรง  น่าจะช่วยลดค่าประกอบการได้อีกมาก"


 


ตามที่คนงานทีไอจีบอกเล่า การโอนย้ายคนงานไปเป็นลูกจ้างบริษัทจ้างเหมาค่าแรงดำเนินการโดยผู้จัดการฝ่ายบุคคลและผู้จัดการแผนกจัดส่ง โดยบังคับให้คนงานเซ็นสัญญาใหม่หรือเซ็นสัญญาโอนย้าย  และไล่คนงาน 9 คนออกเมื่อพวกเขาไม่ยอมทำตาม


 


ก่อนที่จะถูกเลิกจ้าง  คนงานกลุ่มนี้ทำงานในแผนกจัดส่ง โดยทำหน้าที่ขับรถบรรทุกแก๊ส


 


หนึ่งในกลุ่มเล่าว่า "พวกเราได้รับการฝึกอบรมและรับใบสั่งงานจากเจ้าหน้าที่ของทีไอจี อยู่ภายใต้การดูแลควบคุมและปฏิบัติตามกฎของทีไอจี แต่งชุดเครื่องแบบของทีไอจี ถึงแม้ค่าจ้างและสวัสดิการจะเทียบเท่ากับคนงานประจำ แต่สัญญาจ้างแบบชั่วคราวนี้ทำให้เราไม่มีความมั่นคงในชีวิตเลย"


 


แม้ว่าทีไอจีจะปฏิบัติกับคนงานเหมาค่าแรงให้เสมอเหมือนลูกจ้างประจำ แต่สภาพการจ้างงานแบบชั่วคราวก็มีผลต่อการดำรงชีวิตในสังคมภายนอก


 


หนึ่งในคนงาน ยกตัวอย่างให้ฟัง "ผมพยายามกู้เงินธนาคารเพื่อซื้อบ้านเล็กๆ สักหลังให้ครอบครัว แต่ก็ถูกปฏิเสธ ธนาคารบอกว่าผมไม่มีงานที่มั่นคง  ผมสงสารลูกสาวที่กำลังจะโตและพวกเราต้องมาทนอยู่ในห้องเช่า"


 


ในระหว่างนี้ คนงานของทีไอจีจำนวนหนึ่งที่เป็นคนงานเหมาค่าแรง ถูกข่มขู่ว่าจะเลิกจ้างถ้าพวกเขาเข้ามาร่วมกับสหภาพแรงงานฯ


 


ฝ่ายบริหารของทีไอจีพยายามกันไม่ให้สหภาพฯ เข้ามายุ่งเกี่ยวกับคนงานจ้างเหมาค่าแรง ในกรณีนี้ ทีไอจีจะเรียกคนงานที่ถูกเลิกจ้างมาคุยเป็นรายบุคคลโดยไม่ให้ตัวแทนจากสหภาพฯมาร่วมคุยด้วย


 


กรณีนี้จึงไม่ได้เป็นแค่การต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้ปฏิบัติอย่างเป็นธรรมต่อคนงานจ้างเหมาค่าแรง แต่เป็นการต่อสู้ที่สำคัญและไม่เคยปรากฏมาก่อน นั่นคือ การต่อสู้เพื่อสิทธิในการเข้าร่วมสหภาพฯ ของคนจ้างเหมาค่าแรง


 


สหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส (TIGLU) ก่อตั้งในปลายปี 2547 ด้วยอุปสรรคมากมาย


 


หยก (นามสมมติ) คณะกรรมการสหภาพฯ เล่าว่า "เมื่อครั้งที่เราจัดตั้งสหภาพฯ ใน ปี 2547 มีกรรมการหลายคนถูกเลิกจ้างและถูกตั้งข้อหาว่าขโมยกระดาษของบริษัทไป 200 แผ่น หลังจากการพิจารณาของศาล มีคำสั่งให้บริษัททีไอจีรับคนงานที่เป็นกรรมการสหภาพฯ กลับเข้าทำงานตำแหน่งเดิม แต่บริษัทก็ไม่สนใจ เพิกเฉย"


 


ด้วยการยื่นมือช่วยเหลือของสหภาพแรงงานขนส่งลอนดอน และการยืนหยัดต่อสู้ด้วยความอดทนทำให้กรรมการสหภาพฯ 2 คน สามารถกลับเข้าไปทำงานที่ทีไอจีได้ในปี 2549 รวมถึงได้รับเงินเดือนย้อนหลัง 2 ปี


 


ผู้นำสหภาพฯก็ได้กลับเข้ามาทำงานในปีเดียวกัน


 


"พวกเราโชคดีที่สหภาพฯขนส่ง ลอนดอนเข้ามาช่วย" หยกเสริมอีกว่า สหภาพฯทีไอจีของเราต้องผนึกกำลังกับองค์กรอื่นๆ ต่อสู้ในลักษณะนี้เพื่อที่จะปกป้องคนงานจ้างเหมาต่อไป"


 


สหภาพฯขนส่ง ลอนดอน ก่อตั้งเมื่อปี 2465 ประกอบด้วยสมาชิก 900,000 คน ถือว่าเป็นสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักรและในโลกก็ว่าได้


 


ชัยชนะของการต่อสู้ แม้จะเป็นประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ แต่ก็ยิ่งใหญ่ ทำให้สมาชิกของสหภาพฯทีไอจีเข้มแข็งและมีกำลังใจมากขึ้น การที่สมาชิกของสหภาพฯ ออกมาต่อสู้เพื่อคุ้มครองคนงานจ้างเหมา เป็นสิ่งพิสูจน์ในเรื่องนี้


 


การต่อสู้ของสหภาพฯ ทีไอจีเกี่ยวพันมากกว่า 19 คนงานที่ถูกบังคับให้โอนย้ายสัญญามาอยู่บริษัทเอสตรีมด์เมื่อต้นปี พนักงานจำนวนหนึ่งที่ทำงานกับทีไอจีมาเป็นเวลานาน บางคนนานถึง 19 ปี  ยังคงอยู่ภายใต้ระบบสัญญาจ้างชั่วคราวเช่นเดียวกัน


 


"เราไม่อาจนิ่งเฉยต่อสภาพที่เลวร้ายของเพื่อนที่ทำงานมาด้วยกัน แต่ต้องรับสวัสดิการต่างจากเรา พวกเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกับเรา" นพดล สนม ประธานสหภาพฯทีไอจี กล่าวย้ำ


 


"เราเริ่มรับคนงานจ้างเหมาเข้ามาเป็นสมาชิกสหภาพฯ เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว" นพดลกล่าวว่า ตาม กม.คุ้มครองแรงงาน ปี 2541 มาตรา 5(3) ระบุชัดเจนว่า...คนงานจ้างเหมาค่าแรงมีสิทธิเข้าเป็นสมาชิกและมีส่วนร่วมกับสหภาพฯ


 


เขายังยกคำตัดสินของศาลเมื่อเดือน ตค. 2550 ในกรณี บริษัทซียูอีแอล จ.ชลบุรี ซึ่งพิพากษาว่า...ในฐานะที่เป็นนายจ้างผู้ว่าจ้างของคนงานจ้างเหมาค่าแรง บริษัทซียูอีแอลต้องรับผิดชอบดูแลสวัสดิการของคนงานเหล่านี้ให้เหมือนเป็นลูกจ้างประจำของบริษัท


 


"สำหรับเรา คำตัดสินนี้ได้ยืนยันว่าคนงานจ้างเหมาค่าแรงมีสิทธิเช่นเดียวกับคนงานอื่นๆ ดังนั้น เขาจึงมีสิทธิเข้าร่วมสหภาพแรงงานด้วยเช่นกัน"


 


พลังของของสหภาพแรงงาน


 


สหภาพฯ ทีไอจียังช่วยเหลือทั้งคนงานประจำและคนงานจ้างเหมาค่าแรงในอีกหลายเรื่อง ตัวอย่างเช่น สหภาพฯ ได้ขอให้ผู้ตรวจการแรงงานมาตรวจดูสภาพการทำงานของพนักงานขับรถแก๊ส ซึ่งต้องทำงานยาวนานเฉลี่ยแล้ว 12 ชม.ต่อวัน  เกินกว่าที่กำหนดไว้ใน พรบ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ซึ่งกำหนดไว้ว่าต้องไม่เกิน 7 ชม. ทั้งนี้ เพื่อควบคุมงานที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนงาน


 


อันได้แก่ งานประเภทที่ต้องทำใต้ดิน หรือ ใต้น้ำ งานเกี่ยวกับกัมมันตรังสี งานเชื่อมโลหะ การผลิตหรือจัดส่งวัตถุที่เป็นอันตราย


 


ปี 2550 ผู้ตรวจการแรงงาน พบว่า บริษัททีไอจีสาขาท่าลาน จ.สระบุรี ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของคนงานเหมาค่าแรง 4 คน


 


คนงานได้รับค่าล่วงเวลาเพียง 1.5 เท่า (กฎหมายกำหนดไว้ 2 เท่า) ในกรณีที่ทำงานช่วงวันหยุด และไม่อนุญาตให้ลาพักร้อน  ยังพบว่า พวกเขาไม่ได้รับค่าแรงถ้าหากมีการลาป่วย  การจัดอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยสำหรับคนงานเหมาค่าแรงก็ไม่เพียงพอ


 


หลังกการตรวจสอบของผู้ตรวจการแรงงาน บริษัทเหมาค่าแรง (คนละบริษัทกับที่ จ.ระยอง) ต้องจ่ายเงินให้กับคนงาน  อย่างไรก็ตาม เมื่อสัญญาจ้างงานหมดอายุลง พวกเขาได้รับการต่อสัญญาอีกเพียงแค่ 3 เดือน และหลังจากนั้นมา สัญญาจ้างของพวกเขาก็ต้องทำใหม่ทุกๆ 3 เดือน


 


"นี่มันยุติธรรมกับคนงานที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตัวเองไหม" นพดลตั้งคำถาม


 


"ในคนงาน 4 คนที่กล่าวมาข้างต้น ทำงานให้กับบริษัทมานาน 7 ถึง 19 ปี แต่พวกเขากลับเป็นแค่พนักงานชั่วคราว"


 


นพดลกล่าวว่า สหภาพแรงงานฯ พยายามหารือเรื่องนี้กับฝ่ายบริหารของทีไอจี ก่อนจะนำเรื่องนี้ไปร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแรงงาน แต่ก็ถูกปฏิเสธมาโดยตลอด


 


จากที่พิสูจน์ได้ว่า ทีไอจี (ท่าลาน) ละเมิดกฎหมายแรงงาน ผู้ตรวจการแรงงานจึงได้ออกคำสั่งถึงบริษัทเมื่อเดือนมิถุนายน 2549 แต่ทีไอจีตอบโต้ด้วยการฟ้องผู้ตรวจการฯ 2 นาย ที่ศาลแรงงานภาค 1


 


เดือนเมษายน 2550 ศาลแรงงานเห็นด้วยกับการตัดสินของผู้ตรวจการฯ และพิพากษาให้ผู้ตรวจการฯ 2 นายชนะ ถึงอย่างนั้นก็ตาม ทีไอจีก็ได้คัดค้านและยื่นฟ้องต่อศาลอุทธรณ์ ซึ่งคดียังอยู่ในชั้นศาลจนถึงตอนนี้


 


ผดุงศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า เนื่องจากทุกอย่างยังอยู่กระบวนการยุติธรรม  ดังนั้น เขาจึงไม่สามารถให้การช่วยเหลือใดๆ แก่คนงานในระหว่างนี้ได้ "เราต้องรอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาออกมาก่อน"


 


เรื่องของสัญญา


 


สมาชิกของสหภาพฯทีไอจีรู้สึกเป็นห่วงการเพิ่มขึ้นของคนงานจ้างเหมาค่าแรงและคนงานสัญญาจ้างชั่วคราวในทีไอจี


 


สหภาพฯ จึงเริ่มจัดการกับปัญหานี้ โดยส่งเรื่องร้องเรียนไปยังนายทะเบียนแรงงาน จ.สระบุรี เพื่อขอแก้ไขข้อบังคับสหภาพแรงงานให้คนงานจ้างเหมามีสิทธิเข้าเป็นสมาชิกสหภาพฯ


 


หลังจากนั้น 165 วัน นายทะเบียนแรงงานจังหวัดได้นำส่งจดหมายจากนายผดุงศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551  ระบุว่า คำร้องของสหภาพฯไม่อาจยอมรับได้


 


2 วันต่อมา ฝ่ายบริหารบริษัททีไอจีแจ้งกับคนงานสาขา จ.ระยอง ว่า สัญญาจ้างงานหมดอายุในวันที่ 1 มีนาคม จึงเรียกให้มาทำสัญญาฉบับใหม่กับบริษัทเหมาค่าแรงเอสตรีมด์


 


ผู้นำสหภาพฯ ทำคำร้องไปหลายครั้ง ขอเข้าเจรจากับทีไอจีเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดกับคนงานจ้างเหมาค่าแรง  เมื่อไม่ได้รับความสนใจจากทีไอจี  ผู้นำสหภาพฯ จึงตัดสินใจไปร้องเรียนกับกระทรวงแรงงาน โดยเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยฯ ไปที่กระทรวงฯ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม


 


วันที่ 25 มีนาคม จึงมีการประชุมไตรภาคีเพื่อทีจะแก้ไขความขัดแย้งในเรื่องดังกล่าว


 


ที่ประชุมไตรภาคีประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ 6 คน, ฝ่ายบริหารทีไอจี, กรรมการสหภาพฯ และคนงานที่ถูกเลิกจ้างเข้ามานั่งเจรจาร่วมกัน ที่สำนักงานแรงงานจังหวัดสระบุรี


 


การประชุมนี้นำไปสู่ข้อตกลงที่เป็นจุดเปลี่ยนแปลงหลายข้อ และถือว่าเป็นชัยชนะเล็กๆของสหภาพฯ  ซึ่งได้แก่ การที่ทีไอจีให้คำสัตย์จะไม่กลั่นแกล้ง คุกคาม คนงานของสหภาพฯ ทั้ง 9 คนนี้ ในช่วงที่ระยะสัญญาของพวกเขายังอยู่กับบริษัทเอสตีมด์


 


ทีไอจียินยอมที่จะปฏิบัติตามข้อเสนอที่ทำขึ้นก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ว่า คนงานทั้ง 19 คน เป็นอยู่ในสัญญาจ้างกับบริษัทเอสตีม ตั้งแต่มีนาคม 2551 จนถึง มิถุนายน 2552 และหลังจากนั้นคนงานทั้งหมดนี้จะเปลี่ยนมาเป็นพนักงานประจำของทีไอจีอย่างช้าในเดือนมิถุนายน 2554


 


นอกจากนี้ ทีไอจียังยืนยันให้คนงานจ้างเหมาทั้ง 19 คน มีสภาพการทำงานเหมือนกับคนงานประจำ (ลูกจ้างประจำทีไอจีหลายคนชื่นชมบริษัทที่มีมาตรการความปลอดภัยที่เพียงพอ)


 


ส่วนคนที่ถูกเลิกจ้างทั้ง 9 คน ให้ลาโดยไม่รับค่าจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม จนถึงวันที่พวกเขากลับไปทำงาน เพื่อที่ว่าช่วงเวลาทำงานจะไม่หยุดชะงักไป


 


สหภาพฯ จะได้รับแจ้งจากทีไอจี หากมีการดำเนินการตามระเบียบใดๆ กับคนงานทั้ง 9 และให้มีตัวแทนสหภาพฯ 2 คนเข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการสอบสวน


 


คนงานทั้ง 9 คน ให้กลับเข้าทำงานขับรถแก๊สเช่นเดิม โดยไม่มีการโยกย้ายไปจากสาขาระยองที่เขาทำอยู่ ยกเว้นการไปทำงานชั่วคราวในบางครั้ง


 


สมาชิกสหภาพฯ ที่ไปร่วมชุมนุมในการเรียกร้องให้บริษัทรับคนงานกลับเข้าทำงาน จะไม่ถูกกลั่นแกล้ง คุกคาม


 


คนงานได้กลับเข้าทำงานวันที่ 26 มีนาคม


 


แม้ว่า นายเดวิด ชอว์ ผู้อำนวยการทีไอจี จะไม่มีการตอบสนองใดๆ ในระหว่างที่มีการชุมนุมประท้วงของสหภาพฯ แต่ในที่สุด เขาก็ได้แสดงความเห็นต่อปัญหาคนงานจ้างเหมาค่าแรงในบริษัท


 


เนื้อความในอีเมล ระบุว่า "ผมยินดีที่จะยืนยันว่าด้วยความช่วยเหลือและสนับสนุนจากสำนักงานคุ้มครองแรงงานจังหวัดสระบุรี ปัญหาที่เกิดขึ้นได้รับการแก้ไขฉันมิตรภาพ และเราตั้งใจจะทำงานร่วมกับสหภาพฯ เพื่อให้แน่ใจว่า สวัสดิการและความปลอดภัยของพนักงานขับรถจะยังคงเป็นสิ่งแรกของเรา"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net