Skip to main content
sharethis

ธีระพล อันมัย
สาขาวิชานิเทศศาสตร์
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี


 


 


"วิทยุเถื่อน"



"ขยะทางอากาศ"



คือ คำประณามผสมเหน็บแนมแถมพ่วงที่เรามักได้ยินเสมอ เมื่อต้องการคำนิยามหรือคำอธิบายเกี่ยวกับ
"วิทยุชุมชน"



ทำไมนะเหรอ ?


           
ก็คนทั่วไปมักสรุปเอาง่าย ๆ ว่า วิทยุอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตการใช้คลื่นจากกรมไปรษณีย์โทรเลข นักจัดรายการไม่ได้ผ่านการสอบใบผู้ประกาศของกรมประชาสัมพันธ์ สุมรุมรวมกันเรียกว่า วิทยุชุมชน หรือ พวกวิทยุเถื่อน


           
คนทั่วไปและคนของหน่วยงานรัฐบางส่วนเองก็มักเหมารวมเอาว่า สถานีวิทยุที่นอกเหนือจาก 520 สถานีหลัก (ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานรัฐมายาวนาน) คือ วิทยุชุมชน ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ ส.ส. วิทยุ ส.จ. วิทยุ อบต. วิทยุเทศบาล วิทยุมหาวิทยาลัย วิทยุวัด วิทยุขายของ วิทยุชาวบ้าน ล้วนแต่เป็น
"วิทยุชุมชน"ทั้งนั้น และที่สำคัญ นักจัดรายการของสถานีวิทยุเหล่านั้นก็เรียกขานชื่อสถานีตัวเองด้วยคำ "วิทยุชุมชน" ทั้งสิ้น



ซึ่งนั่น เป็นการเหมารวมที่หยาบคายและไม่เป็นธรรมนักกับ
"วิทยุชุมชนตัวจริง"


           
แล้วอะไรล่ะที่เป็นตัวชี้วัดความต่างของวิทยุชุมชนตัวจริง กับสิ่งที่ไม่ใช่วิทยุชุมชน ?


           
ต้องกลับไปดูเจตนารมณ์ของมาตรา 40 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (ซึ่งกลายมาเป็นมาตรา 47 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550) ที่เป็นจุดเริ่มต้น แนวคิดเรื่อง วิทยุชุมชนจนกลายเป็นปรากฏการณ์ของการสื่อสารแนวราบผ่านคลื่นความถี่อย่างไม่เคยมีมาก่อน


           
แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดคำถามและความเคลือบแคลงหลายประการ ทั้งการก่อเกิดวิทยุชุมชนว่า ถูกต้องตามกฎหมายไหม ? และใครเป็นคนอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ? เพราะจนถึงวันนี้ (พฤษภาคม 2551) ประเทศไทยก็ยังไม่มีองค์กรอิสระที่จะมาทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่อันเป็นทรัพยากรของชาติอย่างเป็นธรรมตามเจตนารมณ์เดิมของมาตรา 40



เราอาจจะต้องกลับไปอ่าน มาตรา 26 ของ กฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 (ซึ่งออกมารองรับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ มาตรา 40 และปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการแก้ไขเพิ่มเติม) ซึ่งได้กำหนดสัดส่วนของการจัดสรรคลื่นความถี่เอาไว้ชัดเจนว่า ภาคประชาชนต้องได้ใช้คลื่นไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบ พร้อมทั้งระบุวัตถุประสงค์ไว้ว่า เพื่อประโยชน์สาธารณะและไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ



เมื่อสัดส่วนคลื่นความถี่ภาคประชาชนได้ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบ ก็เป็นอันเข้าใจได้ว่า ที่เหลือคือภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องแบ่งสรร ปันส่วนกันให้ได้ คาดกันว่าอยู่ที่ สี่สิบต่อสี่สิบ



เมื่อพิจารณาใจความของมาตรา 26 แห่งกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯก็จะพบว่า ได้กำหนดความเป็นวิทยุภาคประชาชน ซึ่งขอเรียกว่า วิทยุชุมชน (เพราะคำว่า ประชาชนมักถูกอ้างในหลายกรณี แม้กระทั่งพรรคการเมืองบางพรรคก็ใช้คำว่า ประชาชนพ่วงท้ายด้วย) ไว้ค่อนข้างชัดเจน คือ เพื่อประโยชน์สาธารณะและไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ



หากจะพิจารณาตามเนื้อความของกฎหมายอาจตีความได้ว่า วิทยุชุมชน ไม่แสวงหาผลกำไรทางธุรกิจ และเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ นั่นก็หมายความว่า วิทยุชุมชนจะต้องไม่มีโฆษณา นั่นแสดงว่า ที่มีโฆษณาก็ให้พิจารณาให้ถี่ถ้วนว่า ไม่ใช่วิทยุชุมชนแน่ ๆ



ส่วนเนื้อหาที่ว่า เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะนั้นสามารถตีขลุมได้ไหมว่า การพูดถึงผลงานของนักการเมืองคนโปรดทั้งในระดับท้องถิ่นยันระดับชาติก็ถือว่า เป็นประโยชน์สาธารณะได้?



อันนี้ หากจะตะแบงกันสุดแรงก็จะเอาข้อนี้เป็นข้ออ้างได้ แต่วิทยุภาคประชาชนหรือวิทยุชุมชนในยุคก่อตั้งในนามของสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ ซึ่งมีสมาชิกร่วมขบวนการวิทยุชุมชนนำร่องกว่า 140 สถานีทั่วประเทศก็ได้วางระเบียบร่วมกันว่า นอกจากวิทยุชุมชน จะไม่แสวงหาผลกำไรในทางธุรกิจแล้ว จะต้องไม่แสวงหาอำนาจทางการเมือง วิทยุ ส.ส. วิทยุ ส.จ. วิทยุ ส.ว. ก็ไม่ใช่วิทยุชุมชนเช่นกัน



นั่นก็เท่ากับว่า คนทำวิทยุชุมชนจะต้องยึดหลักการนี้ไว้ให้มั่น หากแสวงหาผลกำไรทางธุรกิจก็ต้องกล้าที่จะประกาศตัวเองว่า เป็นวิทยุเพื่อธุรกิจ หากจะเป็นกระบอกเสียงให้หน่วยงานรัฐก็ต้องบอกให้ชัดว่า เป็น วิทยุของหน่วยงานรัฐ หรือวิทยุของราชการ



แต่ในช่วงเลี้ยวหัวต่อ ที่ คณะกรรมการจัดสรรคลื่นความถี่ไม่เกิดสักที (2543 -2548) ทุกกลุ่มก็ยังใช้คำว่า
"วิทยุชุมชน" จนช้ำไปหมด เพราะไม่ว่าหน่วยงานไหน ทั้งรัฐ และเอกชน นักการเมือง หรือแม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้าก็ร่วมขบวนการตั้งวิทยุที่เข้าใจกันผิด ๆ หรือตั้งใจเรียกเพื่อเลี่ยงบาลีว่า วิทยุชุมชน



ที่สำคัญ เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2548 กรมประชาสัมพันธ์ก็มีส่วนทำให้เจตนารมณ์ของวิทยุชุมชนไขว้เขว ด้วยการประกาศให้คนที่จะทำวิทยุชุมชนไปขึ้นทะเบียน ไปเตรียมความพร้อม ไปชำระค่าธรรมเนียมร่วมโครงการปีละ 1,000 บาทและชำระเงินประกัน 5,000 บาท ภายใต้เงื่อนไขว่าสามารถโฆษณาได้ชั่วโมงละ 6 นาที นั่นหละที่ทำให้ใคร ๆ ก็สามารถมีวิทยุ(ชุมชน)ได้ คาดกันว่า จนถึงปัจจุบันมีวิทยุเกิดขึ้นทั่วประเทศกว่า 4,000 สถานี และคนฟังวิทยุก็ได้ฟังขยะทางอากาศกันถ้วนหน้า แล้วผู้ที่ตกเป็นจำเลยของสังคมก็ คือ
"วิทยุชุมชน"



ดังนั้น เจตนารมณ์ไม่แสวงหาผลกำไรทางธุรกิจและไม่แสวงหาอำนาจทางการเมืองแล้ว ก็ยังดูจะไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจความเป็นวิทยุชุมชนอย่างแท้จริง เพราะปรากฏการณ์อ้างชื่อ ใช้ชื่อวิทยุชุมชนนั้นมันเกินเยียวยา



ในที่สุดก็ต้องกลับมาที่อุดมการณ์วิทยุภาคประชาชนว่า เราจะมีวิทยุชุมชนไปเพื่ออะไร ?



บ้างบอกว่า เป็นกระบอกเสียงของคนไร้เสียง บ้างก็บอกว่า นี่คือการสื่อสารแนวราบ นี่คือ การสื่อสารแบบมีส่วนร่วม และสรุปรวมคือ วิทยุชุมชน เป็นวิทยุประชาธิปไตย นั่นคือ ของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน



หากจะหาคำอธิบายความเป็นวิทยุชุมชน เพื่อให้เห็นตัวตนที่แท้จริงว่า แตกต่างจากวิทยุธุรกิจ (ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า วิทยุท้องถิ่นไทย หรือ วทท.) และต่างจากวิทยุภาครัฐอย่างไรแล้ว จำเป็นจะต้องนำหลักการประชาธิปไตยแบบอับรมฮัม ลินคอล์น ที่ว่า
"โดยประชาชน ของประชาชน และเพื่อประชาชน" มาอธิบาย


วิทยุชุมชนที่แท้จริง จะต้องบริหารจัดการและดำเนินงาน "โดยคนในชุมชน" ตั้งแต่ขั้นตอนการคิดค้น วางแผน ดำเนินงาน การกำหนดผังรายการ การแก้ไขปัญหาต้องให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในรูปของคณะกรรมการหรือคณะทำงาน



วิทยุชุมชนที่แท้จริง จะต้องเป็น
"ของชุมชน" ตั้งแต่การที่คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของสถานี เจ้าของคลื่นความถี่ เจ้าของรายการ โดยการมีส่วนร่วมที่หลากหลายวิธีตั้งแต่การระดมทุน ระดมแรงกาย แรงความคิด เพื่อสร้างความรู้สึกร่วมในความเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง



วิทยุชุมชนที่แท้จริง จะต้องมี
"เป้าหมายของสถานีเพื่อชุมชน" ทั้งรูปแบบ เนื้อหารายการต้องสนองตอบต่อชุมชนเป็นหลัก



บทเรียนที่พบจากการศึกษาข้อมูลพื้นฐานวิทยุชุมชนภาคประชาชน จากลุ่มตัวอย่างจำนวน 158 สถานีนี้ ล้วนสะท้อนความเป็นตัวตนของวิทยุชุมชนทั่วประเทศไทยในวิถีที่แตกต่างในรายละเอียด แต่ก็พบว่าจุดร่วมของวิทยุชุมชนยังชัดเจน ทั้งการไม่แสวงหาผลกำไรทางธุรกิจ ไม่แสวงหาอำนาจทางการเมือง การดำรงตนเป็นวิทยุประชาธิปไตย ส่วนใหญ่ยังมั่นคง



เพียงแต่ว่า ประสบการณ์ที่แต่ละสถานีได้รับในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของขบวนการวิทยุประชาธิปไตยนั้น พวกเขาต้องเผชิญกับการคุกคามและแทรกแซงสารพัดรูปแบบ บางแห่งถูกคำสั่งให้ปิดสถานี บางแห่งพบว่า วันดี คืนดีมีรถถังมาวิ่งเพ่นพ่านหน้าสถานี บางสถานีได้รับจดหมายเตือนจากกรมประชาสัมพันธ์ จากกองทัพภาค บางสถานีมีทหารหรือตำรวจไปตรวจเยี่ยมอย่างไม่รู้ตัวมาก่อน บางสถานีถูกนักการเมืองพยายามส่งคนแทรกซึมเข้ามาจัดรายการ หรือหาเสียงในรายการ บางสถานีถูกโน้มน้าวใจด้วยสินจ้างรางวัลหรือไม่ก็เงินโฆษณา บางสถานีถูกทำให้ต้องเข้มงวดกวดขันตัวเอง (
Self Censor) เพื่อที่จะได้ไม่กล่าวถึงกลุ่มการเมือง หรือเรื่องที่มีความขัดแย้งทางการเมือง



ขณะที่ปัญหาภายในของวิทยุชุมชนที่คนร่วมขบวนจะต้องครุ่นคิดและตอบโจทย์ทางสังคมต่อไปคือ ปัญหาคลื่นทับซ้อน คลื่นแทรก หรือแม้แต่ความพร้อมของบุคลากรที่จะเข้ามาดำเนินงานเอง ทั้งความเชี่ยวชาญ ความสามารถในการบริหารจัดการให้วิทยุชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืน การผลิตเนื้อหารายการให้สนองตอบต่อชุมชนอย่างแท้จริง



กว่า 10 ปีแล้วที่เจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อถูกประกาศในกฎหมายสูงสุดของประเทศ แม้กระบวนการที่จะพัฒนาวิทยุชุมชนให้เป็นไปตามเจตจำนงวิทยุประชาธิปไตยจะถูกทายท้าด้วยอุปสรรคมากมาย ทั้งกลไกรัฐ กฎหมาย การพยายามแย่งชิงพื้นที่ แย่งชิงความเป็นวิทยุชุมชนแล้วบิดเบือนเจตนารมณ์ให้เป็นอื่นก็ตามที แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเบ้าหลอมให้ขบวนการวิทยุชุมชนต้องเคี่ยวกรำแล้วฝ่าข้ามไปเพื่อหยัดยืนอย่างมั่นคงในแนวทางของตัวเอง



ไม่เช่นนั้น เราจะไม่เหลือสื่อที่ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชนหลงเหลืออยู่เลย


 


 


 

เอกสารประกอบ

วิทยุชุมชน: รายงานการศึกษาข้อมูลพื้นฐานวิทยุชุมชนภาคประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net