Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การสอนสั่งผู้คนที่มีปัญหาต่าง ๆ ในสังคมว่า “ให้รักตัวเอง” ให้มาก ๆ ดูเป็นการสอนสั่งที่ดูดี และน่าเชื่อถือมาก แต่อย่างไรก็ตาม หากมองความคิดนี้กับบริบทของสังคมเศรษฐกิจแล้ว น่าจะเป็นความคิดที่ไม่ทำให้เกิดการแก้ปัญหาใด ๆ แม้ว่าการสอนสั่งนั้นเป็นไปเพราะความปรารถนาดีก็ตาม เพราะความคิดนี้เป็นการคิดว่าคนที่มีปัญหาต่าง ๆ นั้น ก่อปัญหาขึ้นมาเพราะ “รักตัวเอง” น้อยไป ซึ่งผมคิดว่าน่าจะต้องทบทวนกันแล้วว่าการเน้นให้ “รักตัวเอง” ให้มากขึ้นจะแก้ปัญหาสังคมที่ปัจเจกบุคคลกระทำขึ้นมาได้หรือไม่ อย่างไร

หากพิจารณาจากความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน การทำงานเลี้ยงชีพเกือบทุกส่วนล้วนขึ้นอยู่กับความสามารถ/ทักษะส่วนตัวในการเชื่อมต่อกับตลาดและผู้คน ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจสังคมก็ขึ้นอยู่กับการจัดวาง “ตัวตน” ของคนกับโครงข่ายความสัมพันธ์นั้นๆ หนังสือประเภท How to และโค้ชชีวิต (ไลฟ์โค้ช : Life Coach) จึงขยายเพิ่มมาอย่างมากมายในช่วงที่ผ่านมา 

แม้ว่าระบบเศรษฐกิจโดยรวมของสังคมไทยยังไม่ใช่ระบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ที่พยายามปลดเปลื้องปัจเจกบุคคลออกจากโครงข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมอย่างเต็มตัว แต่ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้ทำให้พลังของความสัมพันธ์ทางสังคมเดิมที่เดิมเคยเหนียวแน่น เปราะบางและอ่อนแอมากขึ้น คำกล่าวที่ว่า “ครอบครัวไม่ใช่เซฟโซนอีกต่อไป” ที่พูด/เขียนกันมากขึ้นในช่วงสิบปีที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นถึงพื้นฐานของสังคมเริ่มแปรเปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว

ระบบเศรษฐกิจและสังคมได้ทำให้ผู้คนจำนวนมากขึ้นมุ่งการรับรู้และให้ความสำคัญต่อ “ตัวเอง” มากขึ้น กล่าวได้ว่าเป็นการ “มุ่งในอัตตาตนเอง” (egocentric) พร้อมกันนั้น ก็เกิดการเชื่อม “ตัวตน” ของตัวเองเข้าไปกับขนบทางวัฒนธรรมเดิมอย่างแรงกล้ามากขึ้น ขนบทางวัฒนธรรมที่สำคัญประการหนึ่ง ได้แก่ การ “เสียหน้า” ก็ได้ขยายออกครอบคลุมพื้นที่สาธารณะอื่น ๆ เข้มข้นขึ้น เช่น การขับรถบนถนน (เสียงแตรจึงเป็นเสียงที่กระทบตัวตน) หรือในความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านในละแวกบ้าน และการเกิดปรากฏการณ์คนหัวร้อนทั้งหลาย เป็นต้น แม้กระทั่งในปริมณฑลของความรัก การสูญเสียคนรักไม่ใช่การยอมเสียสละเพื่อให้คนที่รักได้สิ่งที่ดีกว่าหากแต่เป็นการสูญเสีย “ตัวตน” ไปอย่างถึงที่สุด

นอกจากความสำนึกที่ “มุ่งในอัตตาตนเอง” ที่แรงกล้ามากขึ้นจะเชื่อมเข้าไปกับขนบทางวัฒนธรรมเดิมแล้ว  “อัตตาตนเอง” ได้เข้าไปแสวงหาความสัมพันธ์ทางสังคมลักษณะใหม่ที่ทำให้ “อัตตาตนเอง” ได้รับการตอบสนองอย่างถูกใจมากขึ้น ดังกรณีของเด็กวัยรุ่นที่รวมกลุ่มกันเป็นแก๊งค์เพื่อใช้ปฏิบัติการในแก๊งค์เสริมอัตตาของตนเอง  

กล่าวได้ว่าความสำนึกที่ “มุ่งในอัตตาตนเอง” ได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางในทุกพื้นที่ทางสังคม การปะทะ/ความขัดแย้งมากมายเกิดขึ้นจากการเผชิญหน้ากันของผู้คนที่เปี่ยมล้นไปด้วยอัตตา การเพิ่มขึ้นของการเสพสารเคมีปั้นอารมณ์ก็เป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการ “ความสุขส่วนตัว” อย่างแท้จริง ความสัมพันธ์ในโลก/สื่อโซเชียลเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเข้มข้นของสำนึกแห่งอัตตาตนเองนี้

ท่ามกลางสังคมที่ความสำนึกที่ “มุ่งในอัตตาตนเอง” ได้กระจายซึมลึกไปในอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนจำนวนมากกว่ามาก การสอนสั่งให้ “รักตัวเองให้มากขึ้น” จึงผิดฝาผิดตัวไปอย่างมีนัยยะสำคัญ แม้ว่าคนจำนวนหนึ่งที่เขียนหรือพูดเรื่อง “ให้รักตัวเองมากขึ้น” จะเข้าใจความหมายอยู่บ้าง โดยมักจะบอกว่าการสอน “ให้รักตัวเอง” นั้นไม่ใช่สอนให้เห็นแก่ตัว แต่ให้ตระหนักถึงความหมายและความสำคัญของตนเองให้มากขึ้น แต่คงจำเป็นที่จะต้องบอกว่าหากทำความเข้าใจระบอบอารมณ์ความรู้สึก “มุ่งในอัตตาตัวเอง” ที่ก่อตัวขึ้นมาอย่างแรงกล้าแล้ว การสอนสั่งให้ “รักตัวเอง” ให้มากขึ้นกลับเป็นการย้ำให้กระบวนการการเน้นตัวตนแรงกล้ามากขึ้น

การศึกษาในเรื่องกระบวนการการสร้าง “ความรักต่อตัวเอง” ในโลกตะวันตกก็มีสาระสำคัญคล้ายคลึงกัน  บทความที่น่าสนใจได้แก่ Heidi Marie Rimke, Governing Citizens through Self-help Literaturr,(Cultural  Studied  14(1)) และ Rebecca Hazleden ,Love yourself :The relationship of the self with itself in popular self-help texts (Journal of Sociology 39(4)) (ขอขอบคุณอาจารย์กฤตภัค งามวาสีนนท์ ที่ช่วยหาบทความให้) ซึ่งเป็นการศึกษาวรรณกรรมที่แพร่หลายอย่างมากในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา วรรณกรรมกลุ่มนี้จะเน้นให้ผู้อ่านตระหนักและซึมซับความคิดในการพัฒนาตัวตนโดยเน้นให้ “รักตัวเอง” ให้มากขึ้น โดยผู้เขียนทั้งสองคนเห็นพ้องต้องกันว่าการเน้นให้ “รักตัวเองให้มากขึ้น” นี้เป็นการปกครองพลเมืองหรือทำให้พลเมืองแต่ละคน (ปัจเจกพลเมือง) เชื่องและสยบยอมต่อระบอบเศรษฐกิจการเมืองแบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่

สำหรับสังคมไทยมีความละม้ายคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ การเน้นให้ “รักตัวเองให้มากขึ้น” จะเป็นการชี้นิ้วกล่าวโทษไปยังผู้ที่ก่อปัญหาหรือผู้ที่รู้สึกตัวว่ามีปัญหาว่าเป็นเพราะปัญหาของคนๆนั้นในฐานะปัจเจกชนเอง ไม่ได้มองเกี่ยวข้องไปสู่บริบททางสังคม ซึ่งในด้านหนึ่งก็เป็นการกล่อมเกลาให้คนในสังคมคิดและเชื่อไปว่าปัญหาทั้งหลายเกิดขึ้นจากคนแต่ละคนเท่านั้น (เพราะไม่รักตัวเอง จึงก่อให้เกิดปัญหา) ซึ่งทำให้ส่งผลต่อไปอีกด้านหนึ่ง คือ ทำให้ปัญหาเชิงโครงสร้างหายไปจากการรับรู้ของสังคม ดังนั้น ปัญหาของสังคมไทยที่ทวีมากขึ้นด้วยการเน้นให้รักตัวเองจึงไม่ได้มีการมองหาแนวทางในการแก้ไขแต่อย่างใด

ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยวันนี้มีความสลับซับซ้อนกว่าเดิมมาก และมีความเปลี่ยนแปลงลึกลงไปสู่ในระดับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด การสอนสั่ง “ให้รักตัวเองให้มากขึ้น” จึงไม่ใช่การแก้ไขที่เหมาะสมและถูกต้อง มิติจำเป็นที่จะต้องสอนสั่งกันให้มากขึ้นเพื่อลดทอนปัญหา ต้องเน้นความรู้สึกที่ว่า “จงรักตัวเองให้น้อยลง รักคนอื่นและสังคมให้มากขึ้น” 

การเน้นให้รักตัวเองน้อยลง รักคนอื่นและสังคมให้มากขึ้นจะเป็นการลดทอนสภาวะ “มุ่งในอัตตาตนเอง” (egocentric) ลงไป การเรียนรู้ที่จะรู้จัก “รักคนอื่นและสังคม” จะทำให้ความรักตัวเองมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมของตนเองทุกๆด้านและจะทำให้พยายามเข้าใจเงื่อนไขที่คนรอบข้างกำลังเผชิญอยู่  ที่สำคัญ การเรียนรู้ที่จะรู้จัก “รักคนอื่นและสังคม” จะเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ที่จะอยู่กับคนไม่เหมือนเรา ซึ่งแต่ละฝ่ายก็มีโอกาสที่จะมองเห็นซึ่งกันและกันด้วยความเข้าใจที่กว้างขวางขึ้น

สังคมไทยวันนี้ ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว การปะทุขึ้นของอารมณ์พลุ่งพล่านเกิดขึ้นได้ง่ายมากขึ้น และจะนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงกระจายทั่วไปในสังคมทุกพื้นที่ ผู้คนในสังคมไทยทุกคนที่ยังมีความหวังที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ เกื้อกูลกันเท่าที่ทำได้ ก็จะเป็นที่จะต้องช่วยกันคิดหาแนวทางในการทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงให้ขัดเจนและร่วมกันแสวงหาแนวทางในการปรับเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกร่วมกันของผู้คนในสังคม เพราะกลุ่มชนชั้นนำที่ครองอำนาจร่วมกันอยู่นั้น ไม่ได้สนใจหรือพยายามที่จะเข้าใจปัญหา ที่สำคัญ พวกเขาพยายามลดทอนปัญหาให้เป็นเพียงปัญหาของคนแต่ละคน และปล่อยให้สังคมเป็นสังคมลักษณะนี้ต่อไปเพื่อที่พวกเขาจะใช้เป็นข้ออ้างในการจรรโลงอำนาจเหนือพลเมืองต่อไป

ความพยายามที่จะเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมและการแสวงหาทางออกให้แก่สังคมเป็นพันธกิจของคนไทย (ที่ไม่ใช่กลุ่มชนชั้นนำ) ทุกคน

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน Facebook ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net