Skip to main content
sharethis

สุริยันต์ ทองหนูเอียด


ผู้ปฏิบัติงานภาคสนามกลุ่มเพื่อนประชาชนบนพื้นที่สูง


 


ทันที่ที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้แถลงจุดยืนถึงความจำเป็นที่ต้องยกระดับความเข้มข้นในการชุมนุมไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวชที่เชิงสะพานมัฆวาน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า พันธมิตรฯ มีความจำเป็นที่จะต้องจะใช้มาตรการที่เรียกว่า"สิทธิที่จะไม่เชื่อฟังรัฐบาล" โดยเฉพาะกับรัฐบาลที่หมดสภาพ และหมดความชอบธรรม ในการบริหารแผ่นดิน


 


ซึ่งนักวิชาการบางท่านก็ใช้คำว่า "อารยะขัดขืน" หรือที่นักกฎหมายบางคนก็ใช้คำว่า "ดื้อแพ่งหรือ "สิทธิของพลเมืองที่จะไม่เชื่อฟังรัฐ" โดยพันธมิตรฯ ได้ประกาศจุดยืนทางการเมือง 3 ประการว่า


 


1.เรายืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณและบริวาร หรือ คนในระบอบทักษิณที่ถูกกล่าวหา จะต้องขึ้นต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมเยี่ยงสามัญชนเท่านั้น เมื่อไหร่ก็ตาม หากมีการพบว่ามีการใช้อำนาจทางการเมือง ไม่ว่า จะใต้ดินหรือบนดิน หรือว่า อำนาจทางการเงินเข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เราจะไม่ยอมและจะต่อต้านให้ถึงที่สุด


 


2.ต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นข้ออ้างอะไร จนกว่าคดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณจะได้ข้อยุติในกระบวนการยุติธรรม และ


 


3.รัฐบาลชุดนี้หมดสภาพและหมดความชอบธรรม ฉะนั้นจากนี้ไปพลเมืองไทยทุกคนที่เสียภาษี สามารถใช้สิทธิของพลเมืองที่จะไม่เชื่อฟังรัฐบาลที่หมดสภาพและหมดความชอบธรรมนี้ได้ กล่าวได้ว่า "อารยะขัดขืน" ในครั้งนี้เป็นกระบวนการปฏิรูปการเมืองที่ภาคประชาชนสามารถเข้าร่วมปฏิบัติการได้อย่างกว้างขวางหลากหลายและเป็นเอกภาพ อีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย


 


อย่าลืมว่า 4 เดือนของการบริหารประเทศรัฐบาลสมัคร ภายใต้คำแถลงนโยบายเร่งด่วน 19 ข้อ 54หน้า นอกเหนือจากคำนายของหมอดูที่ว่ารัฐบาลจะอยู่ไม่ถึง 3 เดือน แต่อย่างอื่นล้วนล้มเหลวโดยสิ้นเชิง


 


อย่าลืมว่า 35 คนในคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลนายสมัคร ล้วนไร้น้ำยาในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองโดยเฉพาะปัญหาวิกฤตข้าวยากหมากแพง วิกฤตพลังงาน ราคาน้ำแพง ค่าแรงต่ำ ปัญหาหนี้สินเกษตรฯ


 


อย่าลืมว่า กว่า 76 ปี นับจากเหตุการณ์อภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 อันนำมาซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เราได้นายสมัคร สุนทรเวชเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ที่ไม่มีอำนาจ ขาดบารมี ไร้ศักดิ์ศรีมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เป็นนายกฯ ปากจัด ขาดวิสัยทัศน์ ขาดภาวะผู้นำ


 


อย่าลืมว่า ก่อน 19 กันยายน 2549 ปรากฏการณ์เคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ เพื่อล้มล้างระบอบทักษิณ ซึ่งนิยมกินรวบ ควบอำนาจ ผูกขาดสัมปทาน ผลประโยชน์ทับซ้อน เอื้ออาทรครอบงำ สร้างความเกลียดชังทางสังคม ด้านหลักต้องการขับไล่กังฉินโกงชาติ คุ้มบริบาลให้คนดีได้บริหารแผ่นดิน


 


อย่าลืมว่า หลัง 19 กันยายน 2549 รัฐบาลที่มาจากรัฐประหารโดยคณะปฏิรูประบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สุดท้าย ก็เกี้ยเซียะ กับระบบทักษิณอย่างหน้าด้านๆ


 


อย่าลืมว่า แม้นว่า อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คนจะถูกมติของคณะกรรมการเลือกตั้ง ห้ามดำเนินกิจการทางเมืองเป็นเวลา 5 ปี แต่ชัยชนะอย่างท่วมท้นของพรรคพลังประชาชน เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ล้วนเป็นผลงานของพวกเขาโดยตรงดังปรากฏสัดส่วนของ รมต.กลุ่ม ก๊วน ต่างๆ


 


นั่นย่อมสะท้อนถึงผลความล้มเหลวในการบังคับใช้ทางกฎหมาย ภายใต้การยึดอำนาจของ คปค.อย่างชัดเจน ทั้งนี้ยังไม่นับถึงการไม่ให้ความร่วมมือของราชการในการตรวจสอบการคอรัปชั่นของ คตส.


 


กล่าวโดยสรุป อำนาจรัฐที่มาจากระบอบเผด็จการทหาร ย่อมไร้ความชอบธรรมในการบริหารประเทศ ซ้ำไม่มีน้ำยาพอที่จะเอาผิดกับนักการเมืองที่อ้างระบบการเลือกตั้งเข้ามาโกงกินประเทศชาติ


ประการสำคัญ ระบบเผด็จการรัฐสภา ในนามระบอบประชาธิปไตย อันเป็นข้ออ้างของรัฐบาลของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กลับขาดจริยธรรมในการบริหารบ้านเมือง มุ่งปกป้องคนชั่ว ทำลายคนดี


ดังนั้น ในสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อของระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจ "อธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยผู้เขียนเห็นว่า "การเมืองภาคประชาชน" คือ คำตอบของของก้าวข้ามวิกฤตทางการเมือง


 


และยังว่า การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 และการชุมนุมรอบใหม่ ตั้งแต่ 25 พฤษภาคม 2551 ที่ผ่านมา คือ หน่ออ่อนของคำตอบการเมืองภาคประชาชนในสมัยใหม่


 


เราเห็นว่า การสร้างอำนาจของประชาชน เช่นนี้ จำต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีพันธมิตรต่างๆ เพื่อสร้างความเห็นพ้องต้องกันทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ทั้งในเชิงคุณภาพและกระบวนการ


รวมทั้ง การจัดตั้ง เชิงระบบคิดคุณค่า ในหลักการการเมืองภาคประชาชนชุดเดียวกันอย่างเป็นระบบ อันจะนำไปสู่การจัดตั้งขบวนการประชาชนในมติอำนาจต่างๆ ที่ข้ามข่ายประเด็นปัญหาเชิงพื้นที่ ข้ามข่ายองค์กรเชิงเนื้อหา อันจะนำไปสู่ข้ามข่ายความคิดอุดมการณ์อย่างผสมผสานที่เป็นเนื้อเดียวกัน


 


นี่คือ "การอภิวัฒน์ใหม่" ของพันธมิตรฯ ภายใต้มาตรการ "อารยะขัดขืน" อันเป็นสิทธิที่มีอยู่ของพลเมือง ซึ่งไม่สามารถที่จะยกเลิกไปได้ ตราบใดที่เขายังมีชีวิตอยู่ ดังที่ มหาตะมะ คานธี* กล่าวไว้ว่า


 


"อารยะขัดขืน นั้น ไม่เคยนำไปสู่สภาวะความวุ่นวายทางการเมือง สิ่งที่นำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมือง คือ การขัดขืนที่เกิดจากอาชญากรร้าย ซึ่งรัฐในทุกประเทศ ได้จัดการกับอาชญากรร้าย ด้วยการปราบปราม ด้วยกำลังเพื่อป้องกันไม่ให้สังคมเสื่อมสลายลง


 


แต่การที่รัฐ จะจับกุมคุมขัง หรือปราบปรามการกระทำอารยะขัดขืนนั้น ถือเป็นความพยายามของรัฐในการจับกุมคุมขัง ซึ่งเป็นความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของคน อารยะขัดขืนนั้นเป็นหนทางที่จะนำไปสู่ความเข้มแข็งและความบริสุทธิ์ ผู้ที่กระทำการอารยะขัดขืนนั้นไม่เคยใช้อาวุธ ดังนั้น เขาจึงไม่เป็นอันตรายต่อรัฐ และรัฐเองนั้นย่อมจะต้องเป็นผู้ที่แสดงออกซึ่งความเต็มใจในการรับฟังความคิดของประชาชน


 


ผู้ที่กระทำการอารยะขัดขืนนั้น จะเป็นอันตรายก็แต่กับรัฐที่เป็นปกครอง โดยคณะปกครองที่ถือเอาตัวเองเป็นใหญ่ เนื่องจากผู้ที่กระทำการอารยะขัดขืนนั้น จะทำให้คณะปกครองที่ถือว่าตัวเองเป็นใหญ่กว่าคนอื่นสิ้นสลายลง ด้วยการที่ผู้กระทำการอารยะขัดขืนนั้นได้สื่อสารกับประชาชน ว่าทำไมพวกเขาจึงต้องขัดขืนกับการกระทำของคณะปกครองนั้น.... "


 


 


*ขอขอบคุณข้อมูลจากสำนักข่าวประชาไท


พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, "มหาตมะ คานธี: สิทธิในการแสดงออกซึ่งอารยะขัดขืน" (แปลจาก The Right of Civil Disobedience (1922). ของ มหาตะมะ คานธี). ประชาไท, 26 ก.ย. 2549

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net