Skip to main content
sharethis

ศรายุธ  ตั้งประเสริฐ  สัมภาษณ์


 


รศ.ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง เป็นนักวิชาการคนหนึ่ง ใน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สิ่งที่น่าสนใจคือ นักวิชาการผู้นี้อาจจะเป็นนักวิชาการในมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพียงคนเดียวที่กล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์เมื่อเกิดการรัฐประหาร 19 กันยา  ในขณะที่นักวิชาการส่วนใหญ่ต่างแย่งกันแถลงข่าวสนับสนุน ล่าสุดเมื่อ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมา ท่านได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ ขบวนการประชาชนอีสานกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ให้กับ นักพัฒนา ผู้นำชุมชน นักศึกษา และเยาวชน ณ สถาบันวิจัยและพัฒนา (RDI) หลังจากนั้น สื่อมวลชนค่ายหนึ่งได้นำเสนอข่าวว่า ท่านเป็นนักวิชาการฝ่ายซ้ายที่มีความใกล้ชิดกับพรรคไทยรักไทย


 


ในฐานะที่เป็นสื่อเล็กๆที่ตระหนักถึงหน้าที่ในการนำเสนอข้อเท็จจริง ในท่ามกลางกระแสคลื่นการเมืองที่โถมรุนแรงผลักดันให้ผู้คนต้องเลือกข้าง เราใคร่ขอนำทัศนะมุมมองที่ยังหนักแน่นมั่นคงของนักวิชาการท่านนี้เสนอต่อผู้อ่าน


 



 


Q:ในขณะที่มีการเปิดประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีการก่อกระแสการให้มีการแก้ไขความยากจนก่อนโดยให้พักเรื่องแก้รัฐธรรมนูญไว้ อาจารย์มีทัศนะอย่างไรครับ


 


A: นี่เป็นความพยายามที่จะเอาชนะกันระหว่างพลังทางการเมืองสองด้าน ในความคิดส่วนตัวผมคิดว่ามันต้องทำทั้งสองเรื่องครับ แก้ไขปัญหาความยากจน และเรื่องปากท้องของประชาชนก็ต้องทำ จะมานั่งรอร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ ในขณะเดียวกัน การเคลื่อนไหวเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ ในส่วนที่เราคิดว่ามันเป็นอุปสรรคก็ต้องทำพร้อมกันไป จะรอให้แก้ไขความยากจนเสร็จแล้วค่อยไปแก้กฎหมาย คงไม่ได้


 


 


Q: ในฐานะที่อาจารย์เป็นนักวิชาการสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มีงานวิจัยที่ต้องลงพื้นที่สัมผัสกับชาวบ้านในอีสานมาตลอด อยากให้อาจารย์ช่วยสะท้อนทัศนคติของคนอีสานต่อประเด็นปัญหาประชาธิปไตยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา


 


A:ผมมองแบบเดียวกับอาจารย์นิธิ คือก่อนที่จะมีเหตุการณ์ 19 กันยา การเมืองเราก้าวไปไกลพอสมควรแล้ว ที่สำคัญคือ ชาวบ้านในภาคอีสาน ได้มีประสบการณ์กับการใช้อำนาจโดยการเลือกตั้งแบบใหม่ คือเขาตระหนักว่า เขาสามารถที่จะมีอิทธิพล โดยผ่านการหย่อนบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง ทำให้นักการเมืองทำตามสัญญา (นโยบาย) ที่เสนอไว้ในตอนหาเสียง ไม่ว่าเราจะมองว่านโยบายดังกล่าวเป็นการสร้างหนี้ เป็นประชานิยมหรืออะไรก็ตาม แต่เป็นเรื่องที่ชาวบ้านเขารู้สึกว่า เขาได้รับการตอบสนอง ดังนั้น คนในอีสานหรือในชนบท จึงมองว่า การเลือกตั้ง เป็นทางออก สามารถแก้ปัญหาของเขาได้


 


ในช่วงสองปีที่ผ่านมา มีแนวคิดอันหนึ่งที่มีการพยายามรณรงค์ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือรวมทั้งเป็นการโปรโมทความคิดดังกล่าวโดยไม่รู้ตัวก็คือว่า การเลือกตั้งไม่ใช่ประชาธิปไตยเสมอไป การเลือกตั้งไม่ใช่ทางออก เพราะจะนำประชาชนไปสู่ทุนนิยม และประชานิยมแบบสุดขั้ว นักการเมืองเป็นคนชั่ว ซึ่งความคิดดังกล่าวนี้แพร่หลายในหมู่ชนชั้นกลาง (ชนชั้นนี้ รวมทั้งผมด้วยครับ) ความคิดเช่นนี้ แม้ไม่ผิด แต่ก็มีปัญหาว่า เราจะแก้เรื่องนี้อย่างไร ผมคิดว่า การไม่เอาการเลือกตั้ง โดยชาวบ้าน เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ชาวบ้านมองว่าการเลือกตั้งจะเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาของเขา ผมยังมองไม่เห็นว่า ประชาธิปไตยที่ไม่ให้ชาวบ้านแสดงเจตจำนงของเขา มันจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร ที่สำคัญที่ผมคิดว่ามีปัญหาก็คือ เราเรียกร้องหารัฐประหาร รัฐประหาร 19 กันยา จะไปโทษทหารไม่ได้ เพราะพวกเราเรียกร้องให้ทหารเขาออกมา แม้พรรคการเมืองบางพรรคก็ยังไม่เห็นมีแสดงท่าทีอะไรออกมาเลย


 


ในความคิดส่วนตัวของผม ตอนที่เราต่อต้านทักษิณในตอนแรกนั้น ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการรัฐประหาร เมื่อเกิดเหตุการณ์ 19 กันยา หลายคนโล่งอก และมองว่า เราสามารถหลีกเลี่ยงการนองเลือดได้ แต่ผมมองว่า การรัฐประหาร 19 กันยา เป็นเพียงการเริ่มต้นของวิกฤติ แม้ขณะนี้ (ในปัจจุบัน) ในความคิดของผมก็ยังคิดว่า ไม่ใช่จุดสูงสุดของวิกฤติ ผมคิดว่าในอีก 5 - 10 ปี ข้างหน้า สังคมเราจะเผชิญกับวิกฤติแบบถาวรแบบนี้ ทั้งนี้ เพราะว่า โลกเราได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นทางอีสานหรือที่ไหน ๆ ก็เปลี่ยนแปลงความคิดความอ่านไปมากแล้ว 2 ปีที่ผ่านมาได้ชี้ให้เห็นว่า ความคิดของชนชั้นนำในสังคมยังไม่เปลี่ยน คือมองว่าประชาชนเป็นผู้ปกครอง และจะต้องปกครองเขาต่อไป แม้ปล่อยให้เขาเลือกตั้ง ก็ยังบอกว่าเขา "ผิด" เขารับอามิสสินจ้าง ความจริงแล้วชาวบ้านเขาเปลี่ยนไปมากแล้วครับ


 


 


Q:ความขัดแย้งของกลุ่มพลังทางการเมืองต่างๆในสังคมไทยทางนี้ อาจารย์มองว่าอะไรน่าที่จะเป็นต้นเหตุของปัญหา


 


A:ความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ มันสะสมมีมานานแล้วนะครับ อยู่ในรากเหง้าของสังคมไทย การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ได้ทำให้เกิดกลุ่มพลังต่าง ๆ ขึ้นมา มีการท้าทาย มีการแข่งขัน และมีความขัดแย้งกันนี่เป็นเรื่องธรรมดา และความขัดแย้งเช่นนี้ ในประวัติศาสตร์ของเรามักจะอยู่ในกลุ่มผู้นำหรือชนชั้นนำ ความขัดแย้งในปัจจุบัน ก็ยังอยู่ในหมู่ชนชั้นนำอยู่ แต่ที่พิเศษขึ้นมาอีกนิดหนึ่งก็คือ ระบอบทักษิณได้เข้าไปจับมือกับกลุ่มคนชั้นล่าง (การจับมือระหว่างกลุ่มทุนก้าวหน้าและคนจน) ในขณะที่กลุ่มพลังตรงข้ามกับระบอบทักษิณ จับมือกับชนชั้นกลาง ความขัดแย้งในครั้งนี้ คนจนถูกลากเข้าไปอยู่ในสมการด้วย


 


สาเหตุความขัดแย้งประการสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ในระยะหลัง กลุ่มทุน ได้เข้าไปมาส่วนร่วมในทางการเมืองโดยตรงมากขึ้น แต่เดิมกลุ่มอำมาตย์ยาธิปไตย เป็นคนควบคุม เมื่อกลุ่มทุนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมือง และมีส่วนในการใช้อำนาจรัฐ ได้มีการปรับแต่งกลไกการใช้อำนาจของรัฐ เพื่อเปิดทางให้สามารถระดมให้เกิดพลังการผลิตได้เต็มที่ การเข้าไปปรับแต่งและแทรกแซงตรงนี้ เป็นสิ่งที่อมาตยาธิปไตยรับไม่ได้ ในแง่ของประชาชนแล้ว ผมว่าเขาพอใจกับการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ เพราะแต่ก่อน ข้าราชการเป็นใหญ่ การที่ทุนเข้าไปปรับแต่งกลไกอำนาจรัฐตรงนี้ ในตอนหลังถูกนิยามว่าเป็นระบอบทักษิณ ความจริงแล้ว สิ่งที่ทักษิณสร้างขึ้นตรงนี้ ไม้ใช่นวตกรรมใหม่อะไร แต่อาศัยฐานรากของระบบอุปถัมภ์เดิมที่มีอยู่ในอมาตยาธิปไตย


 


เมื่อความขัดแย้งเป็นเรื่องที่สั่งสมมานาน มันก็คงไม่จบง่าย ๆ หลายคนมองว่า หากจับทักษิณเข้าคุก ทุกอย่างก็จะจบ ความขัดแย้งที่เราเผชิญ แม้ว่าหลายอย่างจะมีปมอยู่ที่ตัวบุคคล ส่วนใหญ่แล้วเป็นพัฒนาการที่มีมาก่อน และมีกลไกอยู่เหนือตัวบุคคล สิ่งที่เป็นปัญหามากกว่าเรื่องความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็คือ สังคมไทยเราเป็นสังคมที่ไม่ค่อยยอมรับว่าความขัดแย้งมันเป็นธรรมชาติ เพราะเราเคยชินกับการใช้อำนาจกดทับความเห็นที่แตกต่างเอาไว้ตลอด โดยเฉพาะอำนาจในการปิดกั้นที่มาจากรัฐ ชนชั้นกลางทนไม่ได้กับการที่คนอีสานเลือก สส ที่เขาคิดว่าไม่ดี (แต่ชาวบ้ามองว่าดี) ตรงนี้หละครับที่น่าจะหาทางออกยากที่สุด ตำราที่ไหน ๆ ก็บอกเราเสมอว่า ทุกสังคมมีความขัดแย้ง ประเด็นปัญหาไม่ใช่เรื่องที่ว่า เราจะไปขจัดความขัดแย้งให้หมดไป แต่อยู่ที่ว่าเราจะเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่กับความขัดแย้งอย่างไร และจะจัดการสังคมของเราอย่างไรที่ไม่ให้ความขัดแย้งขยายไปสู่ความรุนแรง


 


Q:ข้อเสนอหรือทางออกของสังคมไทยที่อาจารย์มองคืออะไรครับ


 


A:คงต้องบอกว่าเป็นข้อเรียกร้องมากกว่าครับ เพราะผมก็ไม่รู้ว่ามันจะออกอย่างไรดังนี้


·                ทุกฝ่ายจะต้องยุติที่จะใช้ความรุนแรง ฝ่ายรัฐจะต้องหลีกเลี่ยงที่จะใช้กำลังปราบปรามหรือสลายผู้ประท้วง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหน ในขณะเดียวกัน ฝ่ายผู้ประท้วงก็จะต้องอยู่ในขอบเขตที่จะไม่ทำให้เกิดความรุนแรง


·                ทหารจะต้องเป็นกลาง เป็นทหารอาชีพ


·                ทุกฝ่ายควรจะเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน ทุกกลุ่ม รับฟังความคิดเห็นหรือข้อมูลที่แตกต่าง


 


Q:การประชุมของ กลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอีสาน ( กสส.) ในครั้งที่ผ่านมา โดยอาจารย์ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรได้ถูกนำเสนอข่าวโดยสื่อมวลชนสำนักหนึ่งว่าเป็น "ลิ่วล้อทักษิณ"  เท่าที่อาจารย์ได้แลกเปลี่ยนและพูดคุยกับคนกลุ่มนี้ อาจารย์คิดว่าคนกลุ่มนี้เป็นจริงตามที่สื่อมวลชนนำเสนอหรือไม่


 


A:ผมไม่ได้คิดอะไรมาก มองว่า วาทะกรรมเรื่อง "ระบอบทักษิณ" เป็นวาทะกรรมที่ทรงพลัง และถูกนำมาใช้เป็นอาวุธในทางการเมืองอย่างได้ผล และทรงอานุภาพ ในฐานะนักวิชาการผมมองเรื่องนี้ เป็นเรื่องธรรมดา แต่เดิมเรามีคำว่าพวกหัวเอียงซ้าย พวกคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นที่รังเกียจของคนทั่วไป แต่ตอนหลังพวกหัวเอียงซ้ายกลายเป็นดาราไป เราใช้วาทะกรรมเช่นนี้ ตีตราให้กับคน เพื่อจำแนกแยกแยะให้เห็นว่า คนนั้น ๆ เป็นคนพวกไหน แต่ที่ผมห่วงก็คือ เมื่อตีตราเขาว่าเป็นพวกนั้นพวกนี้ แล้ว ก็จะหาทางใช้อำนาจ ใช้ความรุนแรงจัดการกับเขา อันนี้มันไม่ถูก ผมจะถูกจัดเข้าพวกแบบไหน แบบใด คงไปห้ามไม่ได้ เช่นเดียวกัน ไม่มีเทวดาทีไหน จะมาห้ามหรือกำหนดความคิดให้ผมได้


 


ผมรู้จักกลุ่มคนเหล่านี้มานาน ก่อนที่จะเริ่มมีกระบวนการขับไล่ทักษิณ คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นหนุ่มสาว การที่คนอื่นมองว่า คนเหล่านี้ เป็นสมุนของระบอบทักษิณ ผมว่าก็ไม่ตรงนัก ครั้งสุดท้ายที่ผมได้ไปนั่งฟังคนกลุ่มนี้เขาคุยกัน ก็ไม่มีประเด็นไหนเลยที่ว่า เขาจะสนับสนุนรัฐบาล หรือพรรคพลังประชาชน ข้อเรียกร้องของเขาก็คือ เขาจะไม่เอารัฐประหาร และการเรียกร้องที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าข้อเรียกร้องเช่นนี้ จะไปตรงกับข้อเรียกร้องคนอื่น คงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่การจัดให้เขาไปอยู่กลุ่มโน้นกลุ่มนี้ คงไม่เป็นธรรมนัก


 


Q:อาจารย์เองก็ถูกพาดพิงถึงว่ามีความใกล้ชิดกับอดีตนักการเมืองพรรคไทยรักไทย อาจารย์มีความเห็นอย่างไร


              


A:ผมนึกไม่ออก เนื่องจากว่า ชาติกระกูลผมล้วนเป็นชาวนา ความจริงพ่อผมเป็นผู้ใหญ่บ้าน แต่เสียชีวิตมาก่อนที่จะเกิดพรรคไทยรักไทย นึกไม่ออกจริง ๆ ว่า คนที่ผมใกล้ชิดเป็นใคร นี่ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการของวาทะกรรมเรื่องระบอบทักษิณ เพื่อให้สมจริงหน่อยก็จะต้องมีเรื่องให้เห็นว่า คนที่ถูกจัดพวกให้นั้น ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับเครือข่ายทักษิณ ผมอยากจะให้สังคมไทยมีความใจกว้างสักนิดหนึ่งครับ คนในประเทศนี้ ไม่ควรจะถูกจัดเป็นสองพวก คือพวกระบอบทักษิณกับพวกไม่เอาระบอบทักษิณ น่าจะเปิดให้มีกลุ่มหรือมีพวกมากกว่านี้ การจัดพวกให้คนอื่นแบบนี้ แม้ว่าโดยผิวเผินแล้ว ดูว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่จริง ๆ แล้วมันก็คือรากเหง้าของปัญหาความรุนแรงในสังคม ทบทวนประวัติศาสตร์ดูเถอะครับ ขั้นแรกก็จะมีการจัดพวกให้ก่อนแบบนี้แหละ หลังจากนั้น ก็จะหาความชั่วของพวกตรงข้ามมาใส่ให้เยอะ ๆ แล้วก็หาทางจัดการเขา


 


 


 


หมายเหตุ


 


บทบาททัศนะทางการเมืองของนักวิชาการท่านนี้สามารถดูได้จาก


http://www.thaimisc.com/freewebboard/php/vreply.php?user=tuthaprajan&topic=7


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


เครือข่าย "แม้ว" เดินสายปลุกแก้ รธน.50 - ต้านพันธมิตรฯ ทั่วอีสาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net