Skip to main content
sharethis

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์


 


3 กรกฎาคม 2551 ครบ 2 เดือนพอดีที่เหตุการณ์พายุไซโคลนนาร์กิสได้เข้าพัดถล่มประเทศพม่าและสร้างความเสียหายไปทุกหย่อมหญ้าโดยเฉพาะในเขตลุ่มน้ำอิระวดี ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2551 รัฐบาลพม่าได้ประกาศตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการจำนวน 84,537 คน และสูญหายอีก 53,836 คน แม้ว่าจะมีความช่วยเหลือจากองค์กรนานาชาติและองค์กรชาวบ้านในท้องถิ่นจำนวนมาก แต่ก็พบว่ายังมีประชาชนอย่างน้อยอีกกว่า 1 ล้านคนต้องเผชิญกับผลกระทบและรอคอยความช่วยเหลืออยู่ในพื้นที่


 


สาเหตุสำคัญที่ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างล่าช้า ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยได้อย่างสะดวก เนื่องมาจากความเข้มงวดในการตรวจสอบผู้ที่จะเข้าไปในพื้นที่ รวมถึงการจับจ้องเฝ้ามองจากรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา คงมีเพียงองค์กรที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลเพียงเท่านั้นที่ดูจะได้รับความสะดวกในการทำงาน


           


สถานการณ์สำคัญที่ชาวบ้านเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ประกอบด้วย


 


การขาดแคลนอาหาร


 


องค์การสหประชาชาติ(UN)ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2551 ว่าผู้รอดชีวิตประมาณสามในสี่กำลังจะขาดแคลนอาหารทำให้จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ตัวชี้วัดที่แสดงถึงภาวะการขาดแคลนอาหารดูได้จากการที่มีเด็กที่รอดชีวิตจากพื้นที่ประสบภัยเข้ามาขโมยอาหารในเมืองย่างกุ้งเพิ่มมากขึ้น เนื่องมาจากความอดอยากหิวโหย นอกจากนั้นยังมีเด็กที่มาเป็นขอทานตามเมืองต่างๆจำนวนมากกว่าเดิม เด็กชายวัย 9 ปีคนหนึ่งที่สูญเสียพ่อแม่จากพายุและได้เข้ามาเป็นขอทานใกล้กับสถานีรถไฟในกรุงย่างกุ้งบอกว่า "เพื่อนอายุ 14 ปีที่สูญเสียพ่อแม่เหมือนกันได้ชักชวนให้เขามาขอทานที่นี่ เพราะจะมีข้าวกินทุกวัน" 


 


เจ้าหน้าที่สนามจากองค์กรมนุษยธรรมแห่งหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า "รัฐบาลพม่าให้ความช่วยเหลือแก่เด็กไร้บ้านตามมีตามเกิด ไม่ให้ความสำคัญกับเด็กเหล่านี้มากนัก ถึงแม้ว่ายูเอ็นจะได้อนุมัติเงินเพื่อสร้างศูนย์ช่วยเหลือเด็กกว่า 30 แห่งและบ้านพักเด็กกำพร้าอีก 60 แห่งให้กับเด็กที่ประสบภัย แต่ก็ไม่เพียงพอกับจำนวนของเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ"


 


นอกจากนั้นยังมีผู้ประสบภัยจำนวนมากที่เดินทางออกจากพื้นที่ประสบภัยมาหางานทำในย่างกุ้ง พวกเขาต้องอาศัยวัดเป็นที่พักพิงและขออาหารจากพระสงฆ์ในวัดดำรงชีวิตในแต่ละวัน


 


ผู้ประสบภัยถูกบังคับให้กลับไปในพื้นที่


 


ผู้ประสบภัยอย่างน้อย 7,000 คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 3 แห่งในเมืองลาบุตตา กำลังเผชิญกับความกดดันจากเจ้าหน้าที่ทางการในท้องถิ่นที่บังคับให้พวกเขาต้องกลับไปบ้านเดิมในพื้นที่ ปัจจุบันที่นี่มีผู้ประสบภัยอยู่ประมาณ 10,000 คน ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวทั้งหมด 5 แห่ง เจ้าหน้าที่อ้างว่าถ้าพวกเขาไม่ยอมกลับไป ในเดือนหน้าพวกเขาจะไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆอีกต่อไปแล้ว สำหรับคนที่ยินยอมกลับไปในตอนนี้ พวกเขาจะได้รับแจกข้าวสาร น้ำมัน ถั่ว ที่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างน้อย 10 วัน รวมทั้งรัฐบาลจะไปสร้างบ้านใหม่ให้กับพวกเขาด้วย ชาวบ้านจำนวนมากต่างไม่เชื่อคำพูดดังกล่าวแต่ก็ไม่มีใครกล้าขัดขืน


 


เดือนที่แล้วมีผู้กลับไปในพื้นที่ประมาณ 400 คนแต่พวกเขาต้องไปอาศัยวัดอยู่แทน เพราะบ้านเรือนถูกทำลายจนหมดสิ้นและจนบัดนี้ก็ยังไม่มีองค์กรใดมาสร้างบ้านใหม่ให้กับพวกเขา


 


สำหรับครอบครัวที่เป็นชาวนา ปัจจุบันพวกเขาก็ยังทำนาไม่ได้เต็มที่แม้จะได้รับบริจาคเมล็ดพันธุ์และอุปกรณ์เครื่องจักรที่จำเป็นต่างๆแล้วก็ตาม สาเหตุสำคัญมาจากวัวควายที่ได้รับบริจาคมา สัตว์เหล่านี้กว่าจะเดินทางมาถึงในพื้นที่ต้องใช้เวลานานมากอย่างน้อยกว่า 7 วัน พวกมันจึงอ่อนเพลียและไม่มีแรงพอที่จะช่วยทำนาได้ในทันที


 


การหลบหนีมายังประเทศไทย


 


เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2551 ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจพม่าได้ตั้งด่านสกัดไม่ให้ผู้ประสบภัยเดินทางมาที่ประเทศไทย ทั้งตรงบริเวณเมืองเมียวดีและบริเวณแม่น้ำสาละวิน หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าชาวบ้านคนใดเดินทางมาจากพื้นที่ประสบภัย เขาจะถูกส่งกลับโดยทันที ดังเช่นผู้ประสบภัยจากเมืองโบกาเลย์หลายคนที่ถูกทหารพม่าจับได้ นอกจากนี้ทางการพม่ายังสั่งห้ามวัดในตัวเมืองเมียวดีให้ที่พักแก่ผู้ประสบภัย หากวัดใดฝ่าฝืนจะถูกลงโทษอย่างหนัก แต่อย่างไรก็ตามไม่สามารถสกัดกั้นผู้ประสบภัยได้ หลายคนใช้วิธีเดินทางทางเรือจากปากแม่น้ำอิระวดีมุ่งหน้าสู่อ่าวเมาะตะมะและมาขึ้นฝั่งที่ประเทศไทยแทน


 


มีรายงานจากองค์กรพม่าในตัวเมืองแม่สอดว่า อย่างน้อยมีชาวบ้าน 1 พันคนที่หลบหนีมาที่ประเทศไทยแล้ว บางคนอาศัยปะปนอยู่กับแรงงานข้ามชาติในเมือง อีกหลายคนเลือกเข้าไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย มะ จี สาวกะเหรี่ยงอายุ 28 ปี จากเมืองโบกาเลย์เล่าให้เจ้าหน้าที่ขององค์กรฟังว่า "สิ่งของช่วยเหลือต่างๆเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเอาไปเก็บไว้ที่สำนักงานของตนเองจำนวนมาก ชาวบ้านได้รับแจกของเพียงเล็กน้อย ไม่พอกิน อยู่ไม่ได้ ทำให้เธอและเพื่อนอีกกว่า 100 คน ต้องหนีออกจากพื้นที่และเดินทางมาที่แม่สอดแทน ระหว่างเดินทางเธอต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเพื่อแลกกับการไม่ถูกส่งกลับเหมือนกับชาวบ้านคนอื่นๆก่อนหน้านั้น


 


เธอตั้งใจมาหางานทำให้ได้ในแม่สอด เก็บเงินและจะกลับไปปลูกบ้านหลังใหม่ แต่ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ ทำให้เธอต้องพาน้องชาย 2 คนเดินทางมาพร้อมกันด้วย  เธอบอกต่อว่าจะให้น้องชายมาเรียนหนังสือที่นี่ ในพื้นที่ไม่มีโรงเรียนแล้ว ที่แม่สอดมีโรงเรียนสอนเด็กพม่า เธอเชื่อว่าอย่างน้อยก็ดีกว่าอยู่ในพื้นที่และไม่รู้ว่าจะได้รับความช่วยเหลือเมื่อไหร่ พ่อแม่ของเธอเสียชีวิตจากพายุทันที เธอไม่มีญาติพี่น้องอีกต่อไป ที่แม่สอดเหมือนกับเป็น "Little Burma" ที่นี่มีแรงงานจากพม่าและผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่จำนวนมาก มันดีกว่าอยู่ที่โบกาเลย์แน่นอน"


 


ชาวบ้านถูกทหารพม่าบังคับให้บริจาคข้าวสารและเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย


 


เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาในรัฐคะฉิ่นและรัฐอาระกัน พบว่าชาวบ้านได้ถูกทหารพม่าบังคับให้บริจาคข้าวสารและเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย


 


ในรัฐคะฉิ่น ทหารพม่าได้ยึดวัวควายของชาวบ้านส่งไปให้ผู้ประสบภัย โดยในภาคกลางเป็นพื้นที่ที่ถูกทหารพม่ายึดวัวควายไปมากที่สุด นอกจากนี้มีรายงานว่าหน่วยกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 372 ได้ยึดข้าวและผลไม้ของชาวบ้านในพื้นที่ไปด้วย นอกจากนั้นทหารพม่ายังเรียกเก็บเงินบริจาคจากข้าราชการ กองกำลังคะฉิ่นที่ทำสัญญาหยุดยิงกับทหารพม่า ผู้ประกอบการธุรกิจและชาวบ้านเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย


 


ในรัฐอาระกัน ทหารพม่าได้บังคับให้ชาวนาในเมืองมงดอว์และเมืองบุดิตอง บริจาคข้าวสาร 3 กิโลกรัมต่อพื้นที่เพาะปลูก 1 เอเคอร์ และยังบังคับให้บริจาคเงินอีกครอบครัวละ 5,000-10,000 จั๊ต เพื่อนำไปมอบให้กับชาวนาในเขตอิระวดี ส่วนหมู่บ้านในเมืองมงดอว์และเมืองบุดิตองจะต้องรวบรวมวัวควายให้ได้ 6-10 ตัวเพื่อให้ทหารพม่านำไปให้ผู้ประสบภัย


 


นักเคลื่อนไหวที่เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ถูกจับกุม


 


เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2551 นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มนักศึกษาปี 1988 จำนวน 3 คนได้ถูกจับในร้านน้ำชาแห่งหนึ่งในกรุงย่างกุ้ง หลังกลับจากไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเขตปากแม่น้ำอิระวดี ทางการพม่ากล่าวหาพวกเขาว่าได้รับเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศให้ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย  ไม่ต่างจากในวันที่ 13 มิถุนายน 2551 ที่รัฐบาลทหารพม่าก็ได้สั่งจับกุมนายซอ เต็ด ต่วย นักเขียนและบรรณาธิการข่าวกีฬาชื่อดังของพม่า เพราะว่าเขาเป็นผู้จัดการเดินทางเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี 5 ครั้ง เป็นแกนนำส่งอาหารและเครื่องนุ่งห่มให้ผู้เดือดร้อน ขณะที่ซากานา นักแสดงตลกชื่อดังพม่าและบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งได้ถูกจับไปก่อนหน้านี้ตอนต้นเดือนมิถุนายน


 


องค์กรเซฟ เดอะ ชิลเดรน ให้ความเห็นว่า "แม้ผู้ประสบภัยจากพายุไซโคลนนาร์กิสส่วนใหญ่จะได้รับความช่วยเหลือพื้นฐานต่างๆเกือบจะครบถ้วนแล้ว แต่การฟื้นวิถีการดำเนินชีวิตของชาวบ้านยังต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านเงินบริจาคจากประชาคมโลกอีกจำนวนมาก ประชาคมโลกจึงไม่ควรนำเงินบริจาคมาเกี่ยวข้องกับความพยายามดำเนินการทางการเมืองต่อพม่า เพราะอาจส่งผลให้เงินบริจาคไปไม่ถึงมือผู้ประสบภัย" อย่างไรก็ตามจนบัดนี้ผ่านมา 2 เดือนก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า รัฐบาลทหารพม่าก็ไม่ได้แสดงความจริงใจต่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างจริงจัง มิหนำซ้ำยังมีรูปธรรมของเหตุการณ์ที่ชี้ชัดว่ารัฐบาลพม่าดูจะใส่ใจต่อประชาชนของตนเอง น้อยกว่าการสร้างภาพที่ดูดีให้องค์กรระหว่างประเทศที่เป็นแหล่งบริจาครายใหญ่ได้เห็นถึงความช่วยเหลือที่ตนเองมีต่อประชาชน ซึ่งขัดแย้งจากข้อมูลภาคสนามขององค์กรในพื้นที่อย่างสิ้นเชิงว่าความช่วยเหลือมีเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับความทุกข์ยากที่ประชาชนต้องเผชิญ


 


 


* ที่มาภาพประกอบหน้าแรก www.smh.com.au

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net