Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 9 ก.ค. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่คำวินิจฉัยกลาง ในกรณีคำร้องที่ประธานวุฒิสภา ส่งคำร้องของส.ว. 77 คน และประธานสภาผู้แทนราษฎร ยื่นคำร้องของส.ส. 151 คน เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ลงวันที่ 18 มิ.ย. 51 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หรือไม่ โดยระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องไว้ตามช่องทางรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรคหก ประกอบกับมาตรา 154 (1) โดยได้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงพร้อมเอกสารประกอบ


 


ทั้งนี้ นายนพดล ปัทมะ รมว.การต่างประเทศ ชี้แจงและให้ถ้อยคำต่อศาลว่า การจัดทำคำแถลงการณ์ร่วม ไม่ได้มีเจตนาให้เป็นหนังสือสัญญาหรือสนธิสัญญาใดๆ เพียงเพื่อต้องการสะท้อนเจตนารมณ์ทางการเมืองที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเรื่องปราสาทพระวิหารร่วมกัน ไม่ได้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงเขตแดน หรืออธิปไตยของประเทศไทย พื้นที่ทับซ้อนก็ยังเป็นพื้นที่ทับซ้อนเหมือนเดิม ไม่มีการสละให้กับประเทศกัมพูชาแต่อย่างใด และก่อนการลงนามในแถลงการณ์ร่วม วันที่ 18 มิ.ย. 50 นั้น เจ้าหน้าที่ของไทยได้ไปตรวจสอบแผนที่ ปรากฏว่าไม่มีส่วนใดล้ำเข้ามาในประเทศไทย จึงได้เสนอให้สภาความมั่นคงแห่งชาติพิจารณาเห็นชอบ และครม.ก็มีมติเห็นชอบในวันที่ 17 มิ.ย. ดังนั้น การไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมวันที่18 มิ.ย. จึงเป็นการกระทำหลังจากได้รับมอบอำนาจจาก ครม.แล้ว


 


นอกจากนี้ ตามมติครม.วันที่ 10 ก.ค. 2505 ได้มีมติให้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่พิพากษาว่าปราสาทพระวิหาร อยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา โดยให้คืนปราสาทและดินแดนรอบปราสาท จากนั้นจึงได้จัดทำแผนที่ แอล 7017 ซึ่งปรากฏแนวเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา และยึดแผนที่ดังกล่าวเป็นแนวทางบริหารราชการแผ่นดินมาโดยตลอด


 


ต่อมารัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้สนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ตามมติคณะกรรมการมรดกโลก ที่ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อปี 2550 จึงเห็นได้ว่า การสนับสนุนประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ไม่ได้เกิดขึ้นในรัฐบาลนี้เป็นครั้งแรก


 


คำวินิจฉัยกลาง ระบุต่อว่า นายกฤต ไกรจิตติ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ชี้แจงว่า คำแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เป็นเพียงการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง ไม่ได้อยู่ในความหมายตามอนุสัญญากรุงเวียนนา ว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา เพราะไม่ได้เป็นการตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลทั้งสอง และในแถลงการณ์ร่วม ไม่ได้เป็นการก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ใดๆ


         


คำวินิจฉัยกลาง ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดประเด็นวินิจฉัยชี้ขาด 2 ประเด็น คือ


 


1.คำแถลงการณ์ร่วมเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 190 หรือไม่ โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า คำว่า "หนังสือสัญญา" ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หมายถึงความตกลงระหว่างประเทศทุกรูปแบบที่จัดทำขึ้นระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ หรือ องค์การระหว่างประเทศในรูปแบบที่เป็นลายลักษณ์อักษร และอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะบันทึกในเอกสารฉบับเดียว หรือหลายฉบับ และไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอย่างไร อันเป็นความหมายตรงกับคำว่า "treaty" ตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969 และตรงกับที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้ว ในคำวินิจฉัยที่ 11/2542 และคำวินิจฉัยที่ 33/2543


 


คำแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าว ประกอบด้วยการกระทำระหว่างรัฐต่อรัฐ เป็นลายลักษณ์อักษร โดยผู้มีอำนาจ ทำหนังสือสัญญาของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งปกติคำแถลงการณ์ร่วม ที่ไม่ต้องการให้มีผลทางกฎหมายนั้นไม่มีความจำเป็นต้องลงนาม แต่ในแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวกลับมี รมว.การต่างประเทศ เป็นผู้ลงนาม นอกจากนี้ยังมีความมุ่งหวังให้เกิดผลทางกฎหมาย โดยพิจารณาจากพันธกรณีที่ทั้งสองฝ่ายจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกัน คำแถลงการณ์ร่วมฯ จึงเข้าองค์ประกอบของลักษณะความตกลงระหว่างประเทศ โดยที่ทั้ง 2 ฝ่าย ต่างสงวนสิทธิซึ่งกันและกัน เมื่อคำแถลงการณ์ดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้อยู่ภายใต้กฎหมายภายในของรัฐใดรัฐหนึ่ง จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ เมื่อแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นข้อตกลงจากการประชุมร่วมกันระหว่างผู้ที่มีอำนาจทำความตกลงผูกพันประเทศไทย และกัมพูชาได้ จึงเข้าข่ายหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190


 


ประเด็นที่ 2. หากคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา หรือ Joint Communique เป็นหนังสือสัญญาแล้ว ถือเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคสอง ที่ต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภาหรือไม่ โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรา 190 วรรคสอง ได้บัญญัติถึงหนังสือสัญญา 5 ประเภท ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เนื่องจากเป็นหนังสือสัญญาที่มีความสำคัญ สมควรได้รับการพิจารณาโดยรอบคอบ จากครม.ที่เป็นฝ่ายบริหาร และรัฐสภาที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ และเป็นตัวแทนของประชาชน ที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย


 


สำหรับแถลงการณ์ร่วมฯ ลงวันที่ 18 มิ.ย. แม้จะไม่ได้ปรากฏสาระสำคัญชัดเจนว่า เป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่ อันเป็นอาณาเขตของประเทศไทยก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาข้อบททั้งหมดในคำแถลงการณ์ร่วมฯ ประกอบแผนที่หรือแผนผังแนบท้าย ซึ่งจัดทำโดยประเทศกัมพูชาเพียงฝ่ายเดียว จะเห็นได้ชัดเจนว่า แผนที่ดังกล่าวได้กล่าวอ้างถึงพื้นที่ เอ็น 1 เอ็น 2 และเอ็น 3 โดยไม่ได้กำหนดเขตของพื้นที่ดังกล่าวให้ชัดเจนว่า ครอบคลุมส่วนใดของประเทศใด เป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบในเรื่องอาณาเขตของประเทศไทย อันเป็นปัญหาละเอียดอ่อน และอาจก่อให้เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศต่อไปในภายหน้าได้


 


"นอกจากนี้ การที่ประเทศกัมพูชาเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้น มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ที่เป็นประเด็นถกเถียงกันในเรื่องของเส้นเขตแดน และขอบเขตที่ปราสาทตั้งอยู่ ทั้งประเด็นทางการเมือง และด้านสังคม การที่รมว.การต่างประเทศ เจรจากับประเทศกัมพูชาก่อนที่จะมีการลงนามในแถลงการณ์ร่วมฯนั้น เล็งเห็นได้ว่า หากลงนามคำแถลงการณ์ร่วมฯไป ก็อาจก่อให้เกิดความแตกแยกกันทางด้านความคิดเห็น ของคนในสังคมทั้ง 2 ประเทศ อีกทั้งอาจก่อให้เกิดวิกฤตแก่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา อันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางสังคมอย่างกว้างขวาง


 


คำแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าว จึงเป็นหนังสือสัญญาที่อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศไทยจึงเป็นหนังสือตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคสอง ที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา อาศัยเหตุผลดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คำแถลงการณ์ร่วมฯ ลงวันที่ 18 มิ.ย. 50 เป็นหนังสือสัญญา ที่อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ ทั้งยังมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง จึงต้องรับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคสอง" คำวินิจฉัยกลาง ระบุ


 


"อนุพงษ์" ย้ำทหารไม่ปฏิวัติ


พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีปราสาทพระวิหารถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกว่า เป็นห่วงเรื่องการตีความทำให้เกิดกระแสทำให้เกิดความบาดหมางระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน ดังนั้นจะต้องค่อย ๆ ใช้เหตุผล และใช้หลักกฎหมายเป็นเครื่องตัดสิน ส่วนที่ให้สมาชิก 7 ประเทศเข้ามาบริหารจัดการร่วมกันในพื้นที่พิพาทนั้น เป็นเรื่องไกลตัวของกองทัพบก แต่เป็นเรื่องระหว่างประเทศรัฐบาลจะต้องดำเนินการ หากพูดไปและเป็นประเด็นผูกมัดกองทัพบก และตนเอง จึงไม่ขอแสดงความเห็น



เมื่อถามว่า เจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติงานตามแนวชายแดนจะดำเนินการอย่างไรต่อไป พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ปัญหาพวกนี้ไม่ใช่เพิ่งมี ซึ่งกองทัพมีแนวทางในการปฏิบัติตามแนวชายแดนมานานแล้ว คือจะต้องมีความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านฉันท์มิตรไม่เป็นศัตรูกัน การกระทำใด ๆ ตามแนวชายแดนไม่ว่าจะเห็นหน่วยทหารของเรา หรือของกัมพูชา จะกระทำในลักษณะที่เป็นมิตรกัน ให้กลไกของประเทศเป็นเครื่องตัดสินปัญหาต่าง ๆ ถ้าเป็นแนวพรมแดนก็จะมีคณะกรรมการปักปันเขตแดนเป็นผู้ดำเนินการ เมื่อมีเขตแดนแน่นอนแล้วปัญหาที่อื่นก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น



เมื่อถามว่า มีข้อห่วงใยที่ประเทศไทยจะเสียเปรียบพื้นที่ทับซ้อนนั้น พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องตนที่จะแสดงความเห็น เพราะจะผูกพันกับตนเอง และประเทศชาติ พูดอะไรออกไปอาจจะไปค้าน หรือมีผลกับประเทศชาติ ไม่น่าจะเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องไปพูด เมื่อถามถึงกรณีที่ พล.อ.ปฐมพงษ์ เกสรศุกร์ ประธานคณะที่ปรึกษาพิเศษกองบัญชาการกองทัพไทย ขึ้นเวทีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อเรื่องดังกล่าว พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ไม่มีความเห็น  ต้องไปถาม พล.อ.ปฐมพงษ์  ไม่ใช่เรื่องของกองทัพบก ไม่เคยพูดคุยกับ พล.อ.ปฐมพงษ์ ทราบจากสื่อมวลชนเท่านั้น และไม่ได้อยู่ในฐานะไปพูดกับท่านได้ เพราะท่านไม่ได้อยู่ในกองทัพบก และท่านก็อาวุโสกว่าตน จึงไม่อยากแสดงความเห็น



เมื่อถามว่า กองทัพพยายามบีบรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีให้แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนมีกระแสข่าวการปฏิวัติเกิดเกิดขึ้น พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า พูดทุกครั้ง และยืนยันว่าการเมืองจะต้องแก้ไขด้วยการเมือง ซึ่งขณะนี้ก็ดำเนินการไปตามขั้นตอนอยู่แล้ว การปฏิวัติไม่น่าจะส่งผลดีกับประเทศชาติโดยรวม สำหรับทหารขอให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีการปฏิวัติ ไม่ทราบว่าใครจะปฏิวัติ เมื่อถามว่า มีขบวนการสร้างข่าวให้เกิดความหวาดระแวงในกองทัพ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ขออย่าให้ประชาชนเกิดความวิตก



เมื่อถามว่า กำลังพลสามารถขึ้นเวทีปราศรัยโจมตีรัฐบาลได้หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ไม่ขอพูด เพราะจะเป็นประเด็นกับผู้ที่เดินทางไปร่วมชุมนุม



"สมัคร" โยนวิบากกรรมเกิดจาก รธน.


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 09.00 น. วานนี้ (9 ก.ค.) นายสมัคร ได้เดินทาง ไปเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม โดยมี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.คอยต้อนรับ


 


ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯจะตัดสินใจเมื่อไหร่ นายสมัครย้อนถามว่า ทำไมต้องตัดสินใจ เมื่อถามอีกว่า ดูแล้วสถานการณ์มีปัญหาหรือไม่ นายสมัครกล่าวว่า ก็ปกติธรรมดา ต่อข้อถามว่าแล้วนายกฯจะพูดเมื่อไร นายสมัครกล่าวว่า วันอาทิตย์ค่อยฟังอีกที อาทิตย์ที่แล้วดูหรือเปล่า รายการสนทนาประสาสมัคร


 


ส่วนกรณีส.ว.ยื่นถอดถอนนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ กรณีเขาพระวิหาร นายกฯวิตกหรือไม่ นายสมัครหันมาย้อนถามกลับ ว่า "แล้วคุณวิตกหรือเปล่า"ผู้สื่อข่าวตอบว่า ไม่ นายสมัครจึงกล่าวว่า "งั้นผมก็ไม่วิตก"


 


ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในช่วงเริ่มการประชุม ก.ตร. นายสมัคร ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า สถานการณ์ทุกอย่างดำเนินต่อไป เป็นเหมือนการทดลองรัฐธรรมนูญ ปัญหาทุกอย่างเกิดจากรัฐธรรมนูญชัดเจน อย่างมาตรา 237 (กรณียุบพรรคหากกรรมการบริหารพรรคทุจริตเลือกตั้ง) ถ้าไม่มีวรรค 2 ก็ไม่มีเรื่อง มาตรา 190 ถ้าไม่มีวรรค 2 ก็ไม่มีคำวินิจฉัย นี่ยังมีอีกหลายมาตรา อยากให้ อาจารย์เก่งๆ ที่เคยร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เขาเรียกว่า ดีที่สุด มาช่วยวิจารณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นหน่อย เพราะมันทำให้เสียบรรยากาศการบริหารประเทศของตน จึงอยากไปให้ถึงจุดสุดท้ายว่าควรแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่


 


กระทั่งเวลา 11.30 น. นายสมัครจึงเดินทางกลับ โดยปฏิเสธที่จะตอบทุกคำถาม ถึงการพิจารณาปรับ ครม.ในตำแหน่งของนายนพดล เพื่อแสดงความรับผิดชอบ  


 


77 ส.ว.ยื่นฟัน "นพดล-ครม."


นายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา แกนนำ 77 ส.ว.กล่าวถึงความคืบหน้า ในการยื่นเรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษ นายสมัคร พร้อม ครม.และนายนพดล ต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้ส่งเรื่องไปยังป.ป.ช. ตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 275 ว่า ตอนนี้กำลังร่างคำร้องอยู่ซึ่งจะระบุถึงการที่รัฐมนตรี ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 และทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เรื่องการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และจะพยายามยื่นต่อประธานวุฒิสภาให้ทันวันที่ 11 กรกฎาคม


         


ทั้งนี้ ต้องดูคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ และมติครม.เกี่ยวกับเรื่อง ปราสาทพระวิหารประกอบ จึงจะทราบว่า นอกจาก รมว.ต่างประเทศแล้ว จะกล่าวโทษ ไปถึง ครม.ทั้งคณะหรือไม่ รวมถึงจะนำข้อมูลดังกล่าว มาพิจารณาว่า จะระบุข้อกล่าวหา รวมไปถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 119 และมาตรา 120 ว่าด้วยเรื่อง การกระทำการใดๆ เพื่อราชอาณาจักรหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรตกไปอยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐต่างประเทศ หรือเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป หรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะมีส.ว.มากกว่า 77 คน ร่วมลงชื่อ


 


"พีระพันธ์" ลุยอาญา "นพดล-ครม."


นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติ ครม. กรณีเขาพระวิหารขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 190 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้ดำเนินการถอดถอนนายนพดลที่คาดว่าจะส่งชื่อ ส.ส.1 ใน 4 ต่อประธานวุฒิสภาฯ ได้ภายในวันที่ 11 ก.ค.นี้


 


"นอกจากนี้จะดำเนินการคดีอาญา แก่ นายนพดล และครม.ทั้งชุด รวมทั้งผู้สนับสนุนด้วย ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 157 120 และ 199 ซึ่งชัดเจนว่า บุคคลเหล่านี้มีพฤติกรรมจงใจกระทำผิด ดังนั้น จะมีโทษ เช่น จำคุก จำคุกตลาดชีวิต และประหารชีวิต โดยตนจะรวบรวมข้อมูลส่งข้อมูลให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สั่งฟ้องโดยเร็วที่สุด"


 


ปชป.ยื่นถอดถอน"นพดล"วันนี้


นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ และ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน(วิป) เปิดเผยว่าวันนี้(10 ก.ค.) ได้นัดกับนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เพื่อยื่นถอดถอนนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ในเวลา 14.30 น. ที่อาคารวุฒิสภา โดยรายละเอียดของการถอดถอนจะชี้ให้เห็นใน 3 ประเด็น คือ 1. กรณีการลงนามใน แถลงการร่วมไทย-กัมพูชา และการดำเนินการก่อนที่นายนพดล จะไปลงนาม ซึ่งได้มีการทักท้วงกันมาเป็นระยะๆ แล้วจากบุคคลหลายฝ่าย แต่นายนพดลไม่ใส่ใจยับยั้งหรือหยุดการกระทำ ซึ่งถือว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรค 2 และนายนพดลยังมีการให้สัมภาษณ์ตอบโต้เรื่อยมา 2.นายนพดล ถือว่าเป็นนักกฎหมาย รู้กฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นอย่างดี แต่กลับไปลงนามในสัญญาร่วม ถือว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ และ3. การลงนามในข้อตกลงเมื่อเดือน พ.ค. ถือว่ามีเหตุจูงใจพิเศษเป็นการส่อพิรุธที่พบในภายหลัง ซึ่งเป็นการยืนยันว่าการดำเนินการทุกอย่างมีเจตาฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ


 


ป.ป.ช.พร้อมพิจารณาถอดถอนครม.


นายกล้านรงค์ จันทริก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)กล่าวถึงการถอดถอนคณะรัฐมนตรีของ ส.ว.ว่า การถอดถอนรัฐมนตรี ส.ว.จะต้องยื่นเรื่องไปที่ประธานวุฒิสภา หากประธานตรวจสอบแล้วว่าคำร้องถูกต้องมีพยานหลักฐานที่ชัดเจน ประธานก็สามารถ ส่งเรื่องมายัง ป.ป.ช. หลังจากนั้น ป.ป.ช.ก็ดำเนินการโดยตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ขึ้นมา อย่างเช่น กรณีของนายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ หลังจากนั้น ป.ป.ช.ก็จะตั้งคณะกรรมการไต่สวนขึ้นมา ต่อจากนั้นก็จะส่งหนังสือแจ้งไปยังผู้ถูกถอดถอนทุกคน และผู้ถูกถอดถอนก็จะต้องนัดกับคณะอนุไต่สวนฯว่าจะชี้แจง หรือไม่ หลังจากนั้นคณะกรรมการไต่สวนก็จะวินิจฉัยเมื่อวินิจฉัย เห็นว่ามีมูล ก็ส่งเรื่องกลับไปยัง ประธานวุฒิสภา เพื่อให้ลงมติให้ได้เสียง 3 ใน 5 ของสมาชิกวุฒิสภา


 


สำหรับกรณีการทุจริตโครงการท่ออุโมงค์ระบายน้ำ สมัย นายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าฯกทม.นั้น นายกล้านรงค์ กล่าว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มาจากสื่อ ขณะนี้ยังไม่มีมีคนมาร้องเรียน และป.ป.ช.ก็ยังไม่มีมูล แต่ขณะนี้ให้เจ้าหน้าที่เตรียมข้อมูลและยกเรื่องนี้ขึ้นมาตรวจสอบ หากได้ข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์ ในวันพฤหัส ที่ 10 ก.ค.นี้ ก็สามารถยกขึ้นมาพิจารณาได้ทันที


 


ปัดจีบพรรคร่วมเปลี่ยนขั้ว


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่าการไม่ยื่นถอดถอน ครม.ทั้งคณะไม่เกี่ยวกับการรักษาไมตรีเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล แต่แกนนำพรรคและทีมกฎหมาย ได้ดูในข้อกฎหมายและการทำงานที่เคร่งครัดพอสมควร เช่น เวลาเราพูดเรื่อง การถอดถอน ครม. ตามความเป็นจริงเราไม่สามารถยื่นถอดถอนทั้งคณะได้ เพราะต้องยื่นถอดถอนรัฐมนตรีทั้ง 30 กว่าคน ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากต้องบรรยายว่า เขาฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญอย่างไร ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าวันนั้นรัฐมนตรีคนนั้นอยู่ในที่ประชุมหรือไม่ ดังนั้น จึงไม่ง่ายที่จะไปถอดถอน เพราะไม่มีบทบัญญัติเรื่องการถอดถอน ครม. มีแต่ถอดถอนรัฐมนตรีแต่ละคน และการถอดถอนต้องเป็นเรื่องจงใจฝ่าฝืน ไม่ใช่แค่ทำผิด ถ้าทำผิดตนสามารถยื่นได้เลย เพราะครม.ผิดรัฐธรรมนูญแน่นอน อยู่แล้ว เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว แต่การถอดถอนต้องส่อว่าจงใจ


        


" ไม่มีเรื่องการรักษาไมตรีกับพรรคร่วมรัฐบาล ที่มีบางคนในพรรคไปพูด เรื่องเปลี่ยนขั้วก็เป็นความเห็นส่วนตัว จุดยืนของผมและของพรรคคือ ไม่มีการเรียกร้อง เรื่องนี้ เราก็ทำหน้าที่ตรวจสอบของเราต่อไป"


 


ส่วนที่นายสมัคร ระบุว่าไม่สามารถลาออกทั้งครม.ได้เพราะจะทำให้เกิด สุญญากาศทางการเมือง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตามกฎหมายจะมีทางออกอยู่ตลอด และไม่อยากให้นักการเมืองคนไหนคิดว่าถ้าขาดตัวเองแล้วบ้านเมืองจะอยู่ไม่ได้เพราะมันไม่จริงส่วนที่นายกรัฐมนตรี บอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้บกพร่องนั้น ขอให้บอกมาว่า บกพร่องตรงไหน เพราะถ้าบกพร่องเพราะคนไม่ปฏิบัติตามคงไม่ใช่เพราะนั่นคือความบกพร่องของบุคคลที่ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญต่างหาก ที่ผ่านมาไม่เห็นว่ารัฐธรรมนูญจะบกพร่องตรงไหนที่รัฐบาลทำงานไม่ได้มีแต่รัฐบาลได้ละเมิดรัฐธรรมนูญมาตรา190 ไปแล้วทั้งที่มีคนทักท้วงไปแล้วการละเมิดตรงนั้นจึงเป็นปัญหาบกพร่องส่วนบุคคลมากกว่า


 


"เติ้ง" ปัดครม.ไม่เกี่ยว ลอย "นพดล"


นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่ายังไม่ได้หารือกับพรรคร่วมรัฐบาล และยังไม่ได้พบนายสมัคร จึงยังไม่ได้พูดกันแต่อย่างใด สำหรับกรณีที่คณะกรรมการมรดกโลกมีมติให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชานั้นตนอยากแสดงความเห็นว่า เรื่องนี้ นายนพดล ต้องรับผิดชอบ ส่วนจะรับผิดชอบอย่างไรนั้นก็แล้วแต่ตัวท่าน ส่วน ครม.ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะพิจารณาตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศที่รายงานเข้ามา ซึ่งยืนยันว่า ไม่ต้องเอาเรื่องนี้เข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฏร เพราะว่า ครม.ไม่ทราบเรื่องอะไร


 


สำหรับปัญหาที่นายยงยุทธ ได้รับใบแดงจนอาจนำไปสู่การยุบพรรคพลังประชาชนนั้น นายบรรหาร กล่าวว่า ขึ้นตอนยังอีกหลายเดือน ทุกอย่างเป็นไปตามระบบกระบวนการ อะไรจะเกิดก็เกิด บ้านเมืองเป็นอย่างนี้จะทำไงได้  ต่างฝ่ายต่างไม่ยอม บ้านเมืองก็เป็นอย่างนี้ สงสารประเทศไทยรวมถึงสื่อด้วย พวกคุณด้วยป้อนคำถามดีๆ สื่อเองก็มีส่วนด้วย เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่าเสถียรภาพของรัฐบาลยังบริหารประเทศต่อไปได้ นายบรรหาร กล่าวว่า "ผมไม่ขอตอบเรื่องนี้" ส่วน การปรับ ครม.จะสามารถช่วยคลี่คลายสถานการณ์ทางการเมืองลงได้หรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า "ผมไม่ตอบ" พร้อมกับเดินหนี


 


"ปราสาทพระวิหาร"เป็นมรดกโลกไม่กระทบการค้าชายแดน


ด้านนายทวีวัฒน์ เมฆธวัชชัยกุล ผู้ช่วยนายด่านศุลกากรคลองใหญ่ จ.ตราด เปิดเผย ว่า จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา เรื่องการขึ้นมรดกโลกของปราสาทพระวิหาร ทำให้ชาวไทย-ชาวกัมพูชา มีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกัน อันอาจจะส่งผลกระทบในเรื่องการค้าชายแดนด้านไทย-กัมพูชา จ.ตราดที่มีจุดผ่านแดน ถาวรที่บ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด และมีการค้าขายผ่านท่าเรือเพื่อการส่งออกไปยังกัมพูชาด้วยจากสถิติ มูลค่าการค้าชายแดนในปีงบประมาณ 2550 (ตุลาคม 2550-กันยายน 2551)


         


ทั้งนี้ พบว่าในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมามีมูลค่า การค้ากว่า 9,000 ล้านบาท เหลือประมาณ 1,000 ล้านบาท/เดือน ซึ่งในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะมีมูลค่าเกิน 14,000 ล้านบาท/เดือน ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปี 2549 ที่มีจำนวน 14,000 ล้านบาท จำนวน 10% หรือ 15,400 ล้านบาท และเป็นไปตามเป้าหมายที่เติบโต 10% และผลกระทบเรื่องความขัดแย้งยังไม่ปรากฏให้เห็นในขณะนี้


 


"ผมว่าคงไม่กระทบอะไรเพราะยังมีการขนส่งสินค้าอย่างต่อเนื่อง แต่ 1 หรือ 2 เดือนอาจจะลดไปบ้าง เพราะเหตุผลเรื่องการเลือกตั้งในกัมพูชา หรือการที่ช่วงนี้มีมรสุมการส่งสินค้าทางเรืออาจจะได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติได้ เรือขนาดเล็กจึงไม่กล้านำเรือออกไป อย่างไรก็ตามก็สามารถส่งทางบกผ่านถนนสาย 48 ได้ ซึ่งเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ยังมีปัญหาเรื่องการจัดเก็บภาษีของฝั่งกัมพูชาที่ยังไม่แน่นอน รวมทั้งภาษีเถื่อนที่เหตุให้ผู้ประกอบการต้องรอการตัดสินใจไปก่อน แม้จะมาขอข้อมูลกับด่านศุลกากรคลองใหญ่มาหลายราย แต่ก็คงต้องมีการจัดระบบการขนส่งอีกระยะ"


         


เรียบเรียงจาก : ผู้จัดการและแนวหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net