Skip to main content
sharethis

18 ส.ค. 51 องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ "ซูดาน: หลายร้อยคนถูกจับกุมโดยไม่ชอบ และ 109 คน ต้องเผชิญ ชะตากรรมภายใต้ศาลกำมะลอเนื่องมาจากการจู่โจมเมื่อเดือนพฤษภาคม" กล่าวโทษรัฐบาลซูดานในการจับกุมประชาชนหลายร้อยคน รวมไปถึงแม่และลูกน้อยวัยเก้าเดือน โดยไม่มีข้อหา หรือแม้กระทั่งการอนุญาตให้ปรึกษาทนายความ ในขณะที่รัฐบาลกำลังพยายามยัดตัวผู้ต้องสงสัยเข้าสู่ศาลกำมะลออีก 109 คน เนื่องจากเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการเข้าจู่โจมด้วยอาวุธของขบวนการเคลื่อนไหว JEM (Justice and Equality Movement: ขบวนการเพื่อความยุติธรรมและความเสมอภาค) เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ณ ชานเมืองของกรุงคาร์ทูม


 






 


แถลงการณ์


องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล


18 สิงหาคม 2551


 


ซูดาน: หลายร้อยคนถูกจับกุมโดยไม่ชอบ และ 109 คน ต้องเผชิญ


ชะตากรรมภายใต้ศาลกำมะลอเนื่องมาจากการจู่โจมเมื่อเดือนพฤษภาคม


 


วันนี้ (18 ส.ค.) องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวโทษรัฐบาลซูดานในการจับกุมประชาชนหลายร้อยคน รวมไปถึงแม่และลูกน้อยวัยเก้าเดือน โดยไม่มีข้อหา หรือแม้กระทั่งการอนุญาตให้ปรึกษาทนายความ ในขณะที่รัฐบาลกำลังพยายามยัดตัวผู้ต้องสงสัยเข้าสู่ศาลกำมะลออีก 109 คน เนื่องจากเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการเข้าจู่โจมด้วยอาวุธของขบวนการเคลื่อนไหว JEM (Justice and Equality Movement: ขบวนการเพื่อความยุติธรรมและความเสมอภาค) เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ณ ชานเมืองของกรุงคาร์ทูม


 


ผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การจู่โจมในกรุงคาร์ทูมเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ยังคงถูกควบคุมตัวในสถานที่ที่ไม่เปิดเผยอย่างไม่รู้ชะตากรรม ผู้ถูกคุมขังหลายคนถูกจับกุมโดยไม่มีมูลที่ชอบด้วยกฎหมาย และองค์การแอมเนสตี้ฯ ได้รับรายงานจากปากคำผู้ที่ถูกปล่อยตัวออกมาถึงการทรมานและการกระทำทารุณกรรม และเกรงว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ถูกจับกุมอยู่ในขณะนี้จะถูกซ้อมทรมานหรือถูกอุ้มหายในที่สุด


 


คำกล่าวโทษขององค์การแอมเนสตี้ฯ เกิดขึ้นหลังจากผู้ต้องสงสัยจำนวน 8 คนซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นสมาชิกขบวนการ JEM ถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิตโดยคำพิพากษาของศาลพิเศษเพื่อการต่อต้านการก่อการร้ายแห่งซูดานเมื่อวานนี้ คำตัดสินดังกล่าวมาจากการสอบสวนที่ดำเนินการด้วยกระบวนการที่ไม่ได้มาตรฐานความยุติธรรมระหว่างประเทศ โดยมีการตัดสินให้ลงโทษประหารชีวิตผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การโจมตีเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม เป็นจำนวน 38 คน


 


"ไม่อาจมีคำนิยามใดสำหรับศาลพิเศษเพื่อการต่อต้านการก่อการร้ายแห่งซูดาน นอกเสียจากความยุติธรรมที่จอมปลอม" นางทาวันดา ฮอนโดรา รองผู้อำนวยการองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศซูดาน กล่าว "นักโทษที่ถูกตัดสินประหารชีวิตเมื่อวานนี้ บางคนได้พบทนายความเพียงแค่ครั้งเดียวในระหว่างการดำเนินคดี ในขณะที่หลายคนบอกว่าเขาต้องทนทุกข์ทรมานจากการถูกซ้อมในระหว่างที่ไม่สามารถติดต่อกับใครได้ และพวกเขายังถูกบังคับให้ยอมรับสารภาพว่าตนกระทำความผิด"


 


"เห็นได้ชัดว่า การพิจารณาคดีของศาลที่เกิดขึ้นเป็นไปโดยขาดความยุติธรรม และในขณะนี้รัฐบาลกำลังพยายามดำเนินการแบบเดียวกันกับคนอีกจำนวนมาก เราจะเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าความยุติธรรมได้อย่างไร" นางทาวันดา ฮอนโดรา กล่าว


 


เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา ทนายความของนักโทษกล่าวกับองค์การแอมเนสตี้ฯว่า ศาลปฏิเสธคำร้องขอให้สอบสวนถึงข้อกล่าวหาว่ามีการซ้อมทรมานและทำทารุณกรรมต่อนักโทษ รวมทั้งปฏิเสธคำอุทธรณ์เพื่อให้ มีการวินิจฉัยทางการแพทย์ ทั้งๆ ที่รอยแผลจากการถูกทารุณกรรมยังคงปรากฏอย่างชัดเจนบนร่างกายของนักโทษเหล่านั้นในระหว่างที่มีการไต่สวนต่อหน้าศาล"


 


ทนายจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คดีทั้งหมดต่อศาลพิเศษฯ ภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดแล้ว ทั้งนี้ คำพิพากษาถึงที่สุดจะถูกตัดสินโดยศาลอุทธรณ์พิเศษฯ ซึ่งคาดว่าจะมีคำพิพากษาออกมาภายในไม่กี่สัปดาห์นี้ และหลังจากมีคำพิพากษาถึงที่สุด ประธานาธิบดีจะต้องลงนามในคำพิพากษาเพื่อให้มีการดำเนินการประหารชีวิตต่อไป


 


"รัฐบาลซูดานมีหน้าที่ที่จะต้องสอบสวนอาชญากรรมและเอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ แต่กระบวนการหาตัวผู้กระทำความผิดนั้นจะต้องเป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งจะให้หลักประกันความยุติธรรมในการพิจารณาคดี" นางทาวันดา ฮอนโดรา กล่าว "เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลซูดานระงับการประหารชีวิตนักโทษเหล่านั้น และดำเนินการพิจารณาคดีใหม่ให้เป็นไปตามกฎหมายของซูดานโดยทันที"


 


นอกจากนั้น องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลซูดานเปิดเผยสถานที่สอบสวนผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมจากเหตุการณ์วันที่ 10 พฤษภาคม และดำเนินการพิจารณาคดีให้เกิดความยุติธรรมอย่างทันท่วงที มิฉะนั้นรัฐบาลต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมดโดยทันที ทั้งนี้ รัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้นักโทษพบทนายความและครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ และต้องจัดให้มีการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม


 


ข้อมูลเบื้องต้น


 


เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2551 ขบวนการ JEM (the Justice and Equality Movement: ขบวนการเพื่อความยุติธรรมและความเสมอภาค) ได้เข้าโจมตี ณ ชานเมืองของกรุงคาร์ทูม


 


หลังจากเกิดเหตุการณ์การโจมตีไม่กี่สัปดาห์ เจ้าหน้าที่ตำรวจซูดาน และกองกำลังรักษาความปลอดภัยได้เข้าจับกุมประชาชนหลายร้อยคน องค์การแอมเนสตี้ฯ ได้รับรายงานว่า มีการวิสามัญฆาตกรรมเกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงที่มีการจับกุมนั้น


 


ศาลพิเศษเพื่อการต่อต้านการก่อการร้ายแห่งซูดานจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม เพื่อที่จะพิพากษาลงโทษผู้ต้องสงสัยว่าเข้าร่วมการโจมตีในกรุงคาร์ทูม และคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นคำพิพากษาลำดับที่ 4 ที่ตัดสินโดยศาลพิเศษฯ นี้


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net