Skip to main content
sharethis

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาเรื่อง "ชี้ชะตาประเทศ จับตาผู้นำใหม่" เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา โดย นายสุจิต บุญบงการ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่าพรรคพลังประชาชน (พปช.) ยังอ้างประเพณีว่า มีเสียงมากจึงมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาล โดยร่วมมือกับพรรคอื่นและถ้าพรรคเล็กๆ ร่วมมือกับ พปช. โอกาสจะเสนอชื่อคนของ พปช.มีสูง


 


ซึ่งขณะนี้โอกาสที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้า พปช. ที่จะได้รับการเสนอชื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีสูง ขณะที่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรค พปช. แม้จะเป็นคนเก่งแต่ยังอ่อนอาวุโส แต่เชื่อว่านายสมชายคงไม่สามารถแก้วิกฤตที่เกิดจากการแบ่งขั้วได้ เพราะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมองว่า ยังเป็นนอมินีเหมือนเดิมการต่อต้านจึงมีอยู่ต่อไป และนายกฯคนใหม่ คงจะปล่อยสถานการณ์เป็นอย่างนี้ต่อไปสักพัก และถ้าถึงจุดยุบสภาก็จะยุบเพื่อเอาคะแนนเสียงเลือกตั้งใหม่


 


ด้าน รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งว่า ควรตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ เพื่อตัดเงื่อนไขความรุนแรง และนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง โดยการตั้งรัฐบาลและนายกฯใหม่ ต้องอยู่บนพื้นฐานคลี่คลายวิกฤตการณ์การเมือง อาจเทียบเคียงได้กับรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่เข้ามาแล้วแก้รัฐธรรมนูญ 4 มาตรา และโยกย้ายนายทหารที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามประชาชน จากนั้นก็ยุบสภาเลือกตั้งใหม่


 


"รัฐบาลเฉพาะกิจนี้ นายกฯไม่ควรมาจากพรรคพลังประชาชน และไม่ควรมาจากพรรคประชาธิปัตย์ เพราะถ้ามาจากพรรคพลังประชาชน เงื่อนไขของความรุนแรงจะยังคงมีต่อไป พันธมิตรยังชุมนุมต่อ หรือถ้ามาจากพรรคประชาธิปัตย์ ความขัดแย้งก็ยังมีอยู่ เพราะอีกฝ่ายอาจจะไม่ยอม ถ้าจะตัดเงื่อนไขความรุนแรง นายกฯควรจะมาจาก ส.ส.ของพรรคอื่น คล้ายกับเป็นคนกลางแต่เป็นพรรคอื่น เพราะมาตรา 171 วรรคสอง กำหนดให้นายฯต้องเป็น ส.ส." รศ.ดร.ปริญญากล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net