Skip to main content
sharethis

ที่มา : http://blogazine.prachatai.com/user/sumrubkonjon/post/1274


 


 


ตามที่เราทราบโดยทั่วกัน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่10 (พ.ศ.2550-2554) จะเน้นพื้นที่การพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ ได้จัดทำแผนพัฒนาภาคใต้ต่างๆ


                1. การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคใต้
                2. การพัฒนาพื้นที่  5  จังหวัดชายแดนภาคใต้
                3. แผนงานพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจสามฝ่าย (อินโดนีเชีย-มาเลเชีย-ไทย)


               


โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard: SSB) เป็นแผนยุทธศาสตร์ที่ถูกกล่าวขานกันมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาสิบๆ ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ยุคสมัยท่านชาติชาย ชุณหะวัณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ทำการอนุมัติโครงการนี้ ซึ่งครอบคลุ่มพื้นที่ 5 จังหวัดบริเวณภาคใต้ตอนกลางประกอบไปด้วยจังหวัดกระบี่ ภูเก็ต พังงา สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช รัฐบาลได้ริเริ่มดำเนินการขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2532 โดยมีแนวคิดที่จะก่อสร้างเป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงระหว่างทะเลฝั่งอันดามันกับฝั่งอ่าวไทย (Land bridge) หรือแลนด์บริดจ์ ด้วยการสร้างท่าเรือน้ำลึก ถนน ทางรถไฟ ท่อส่งน้ำมัน และท่อส่งก๊าซ เพื่อให้เกิดเส้นทางการขนส่งในระดับนานาชาติเส้นทางใหม่ที่มีระยะทางสั้นกว่าเดิม


               


แผนแม่บทเพื่อการพัฒนาพื้นที่  5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วยจังหวัดสตูล สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ยะลา สำหรับพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างอยู่ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทย (IMT-GT) หรือที่รู้จักกัน สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ เส้นทางที่จะสร้างเป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงระหว่างทะเลฝั่งอันดามัน กับฝั่งอ่าวไทย หรือแลนด์บริดจ์


               


กระบี่-ขนอม เป็นเส้นทางแรกที่เชื่อมโยงทางฝั่งทะเลอันดามัน และทางฝั่งอ่าวไทย ซึ่งที่รู้จักกันเป็นถนน SSB 44 ถนนสายนี้พร้อมที่จะว่างท่อส่งก๊าซ และพร้อมที่จะรองรับอุตสาหกรรมเหล็ก ปิโตรเคมีและพลังงาน ตามแผนหลักของแผนพัฒนาเซาเทิร์นซีบอร์ด


               


ทับละมุ-สิชล โครงการเส้นทางยุทธศาสตร์พลังงาน (Strategic Energy Landbridge) และโครงการจัดตั้งคอมเพล็กซ์ปิโตรเคมี หรือ SELB ทางชายฝั่งทะเลอันดามันกินพื้นที่ทับละมุ จังหวัดพังงา และทางฝั่งอ่าวไทยกินพื้นที่ของอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็เป็นการพัฒนา "สะพานเศรษฐกิจ" และถือว่าเป็นโครงการหลักตามแผนพัฒนาเซาเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งเส้นทางนี้ได้ขับเคลื่อนในช่วงยุคสมัยนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ประมาณเดือนกันยายน 2546 และโครงการนี้ต้องชะงักเพราะเกิดภัยพิบัติสึนามิ


               


ปากบารา-สงขลา โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ทางฝั่งทะเลอันดามัน เชื่อมโยงกับท่าเรือน้ำลึกจังหวัดสงขลาทางด้านอ่าวไทย เพื่อให้เป็นประตูการค้าฝั่งทะเลอันดามัน ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ (Logistics Master Plan) โครงการนี้กำลังได้รับความสนใจในตอนนี้ หลังจากกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่บุโบย จังหวัดสตูล เมื่อปี 2540 และได้ทำการศึกษาทบทวนกันใหม่ เพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ปากบาราเปรียบเทียบกับพื้นที่บริเวณบุโบย และเมื่อปี 2546 แล้วพบว่าบริเวณพื้นที่ปากบารา อำเภอละงู มีความเหมาะสมมากกว่า


               


เพื่อที่จะพัฒนาท่าเรือน้ำลึกบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน ให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางทะเลของภาคใต้ที่เชื่อมโยงกับการขนส่งระหว่างภูมิภาคต่างๆ ของโลก รวมทั้งพัฒนาพื้นที่รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งหลายรูปแบบเพื่อส่งเสริมการลงทุนและกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค


               


เราจะเห็นได้ว่าแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของรัฐ ที่มีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นตามมาหรือเกือบจะทุกโครงการที่เกิดขึ้นมักจะส่งผลกระทบต่อชุมชน ทรัพยากรในชุมชน และสภาพแวดล้อมโดยรอบ แต่เมื่อมีการคัดด้านขึ้นมาก็จะถูกมองว่าเป็นการคัดค้านของคนส่วนน้อย ขัดขวางการพัฒนาและความเจริญของประเทศ ทั้งๆ ที่บุคคลส่วนน้อยเหล่านี้เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ดังกรณีโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และยังมีอีกหลายโครงการที่ต้องประสบปัญหาแบบนี้


               


ในส่วนกรณีท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่เชื่อว่าจะกลายเป็น สะพานเศรษฐกิจ สำหรับเชื่อมโยงระหว่างทะเลฝั่งอันดามันกับฝั่งอ่าวไทย หรือแลนด์บริดจ์ และเพื่อที่ให้เป็นประตูการค้าระดับโลก สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2548 ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี กระทรวงคมนาคม รายงานโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันจัดทำแม่บทการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ (Logistics Master Plan) ขึ้น เพื่อที่จะเปิดตลาดยุโรป ตะวันออกกลาง และทวีปแอฟริกา เป็นทางตรงไปสู่ช่องแคบมะละกา ซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อน สำหรับชุมชนหลอมปืน ชุมชนปากบาราในขณะนี้


 


ข้อมูลโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา


 


โครงการจะเกิดขึ้นแถวบริเวณชาดหาดปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งประมาณ 4-5 กิโลเมตร โดยจะมีการถมที่ลงไปในทะเลเพื่อให้เป็นเกาะ ขนาดพื้นที่ กว้าง 430 เมตร และยาว 1,100 เมตร หรือ 292 ไร่ และมีการสร้างสะพานเป็นถนน 4 ช่องจราจร ขนาดกว้างของเสา 25 เมตร สูงจากระดับน้ำ 2 เมตร ในบริเวณช่วงกลางสะพานจะสูง 4.5 เมตร เพื่อที่จะให้เรือลอดผ่านไปได้ ต้องขุดร่องน้ำลึกลงไปอีกประมาณ 14 เมตร ปากร่องน้ำกว้าง 180 เมตร ด้วยข้อมูลของโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา เป็นท่าเรือขนาดใหญ่ระดับนานาชาติ สามารถที่จะรองรับเรือสินค้าที่มีน้ำหนัก 50,000-70,000 ตัน ภายในบริเวณที่ตั้งท่าเรือน้ำลึกก็จะประกอบไปด้วยลานกองสิน้า ตู้คอนเทนเนอร์เพื่อรองรับสินค้าที่จะบรรจุลงไป สถานีบรรจุตู้สินค้า อาคารซ่อมบำรุง เครื่องมืออุปกรณ์ขนถ่ายสินค้า อาคารศุลกากร และสำนักงานเป็นต้น และหลังจากได้เปิดใช้ไปแล้วสักระยะหนึ่งประมาณ 5 ปี ก็จะต่อเติมเพื่อรองรับการขยายตัวที่จะเกิดขึ้นภายใน 25 ปี หลังจากสร้างเสร็จจะคืนทุนกลับมา นอกจากนี้พร้อมกับจะสร้างถนนเชื่อมระหว่างท่าเรือน้ำลึกปากบารากับท่าเรือน้ำลึกสงขลา เพื่อการขนส่งสินค้าทางบก และสร้างทางรถไฟจากอำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา มาเชื่อมกับท่าเรือน้ำลึกปากบารา เพื่อขนส่งสินค้าทางรางด้วย โครงทั้งหมดนี้อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี


วิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน


 


ด้วยโครงการที่จะเกิดขึ้นในชุมชนปากน้ำ ชุมชนหลอมปืน และชุมชนโดยรอบที่ต้องเจอปัญหาอยู่ในตอนนี้ ถือได้ว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่มาก และขนาดของท่าเรือน้ำลึกคาดว่าน่าจะกินเนื้อที่อันอุดมสมบูรณ์ของอ่าวปากบาราเกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นที่หากินของชาวบ้านในหน้ามรสุม ซึ่งบริเวณดังกล่าวชาวบ้านจะเรียกกันว่า "ซุปเปอร์มาเก็ต" ของชุมชนแห่งนี้


 


ซุปเปอร์มาเก็ตแห่งนี้สามารถที่จะเลี้ยงชีวิตครอบครัวชาวประมงพื้นบ้านในบริเวณโดยรอบในหน้ามรสุมประมาณ 28 หมู่บ้าน โดยมีเรือประมงชายฝั่ง 500 กว่าลำ แล่นเข้า แล่นออกบริเวณดังกล่าว


 


หากโครงการนี้เกิดขึ้นวิถีชีวิตชาวบ้านต้องเปลี่ยนไป ที่เห็นได้ชัดเรื่องการทำมาหากิน การประกอบอาชีพ จะทำการประมงต่อไปก็ทำไม่ได้ อาจจะต้องอพยพครัวเรือนด้วยซ้ำเพราะว่าหลังจากการสร้างท่าเรือเสร็จ ก็จะเกิดนิคมอุสาหกรรมตามมาซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเป็นจุดไหน


 


ทรัพยากรของชุมชนก็ต้องหายไปด้วย แหล่งเพาะพันธุ์ปลาบริเวณป่าโกงกางหน้าอ่าว บริเวณแนวเดียวกันกับเกาะกลางทะเล โครงการขนาดใหญ่แบบนี้ต้องส่งผลกระทบไปยังแหล่งท่องเที่ยวความสวยงามทางด้านทรัพยากรในพื้นที่อุทยานหมู่เกาะเภตราก็จะค่อยๆ หมดไป จนในที่สุดก็ไม่เหลือความสวยงามให้เห็น       


 


"ผมอยากให้ภาครัฐเปิดเผยข้อมูลมากกว่าที่ผ่านมา ชาวบ้านหรือชุมชนสามารถที่จะรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการที่จะเกิดขึ้นในหมู่บ้านมากกว่านี้ ข้อมูลการสำรวจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ข้อมูลเกี่ยวกับชุมชน เช่นจำนวนเรือของชาวบ้านที่ตรงกับความเป็นจริงไม่ใช่จาก 200 กว่าลำ (ยังไม่ร่วมเรือประมงของหมู่บ้านรอบนอก) กลายเป็น 80 ลำ และอาชีพของชาวบ้านที่ถูกต้องเพราะชาวบ้านที่นี้ประกอบอาชีพประมงเป็นหลักไม่ใช่ค้าขายเป็นหลัก และผมเองรู้ว่าโครงการที่จะเกิดมันมีผลกระทบแน่ๆ ผลกระทบทางด้านอาชีพ ที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรของชุมชน วิถีชีวิตของชุมชน และที่สำคัญผลกระทบทางด้านจิตใจ เพราะว่าเราเห็นตัวอย่างทางโทรทัศน์จากกรณีโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย จังหวัดสงขลา จากเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาผุด จังหวัดระยอง เหมือนเราเห็นอนาคตของตัวเองอยู่ข้าง ผมไม่อยากให้มัน(ท่าเรือน้ำลึก)เกิดขึ้นที่ปากบาราเลยนายยายา ตรุรักษ์  (บังยา)  กล่าว


 


ชุมชนจะอยู่อย่างไร?


 


ทะเลไม่ใช่เพียงแค่เป็นแหล่งน้ำเค็มเท่านั้น แต่มันเป็นขุมทรัพย์และมรดกของคนที่นี้ สืบทอดกันมาไม่รู้กี่ชั่วอายุคนมาแล้ว และคงจะสืบทอดกันต่อไป ถ้าไม่ใครคิดจะทำลายทะเลแห่งนี้


 


หลังจากได้ลงพื้นที่และทราบข้อมูลของโครงการคร่าวๆ รู้สึกว่าชุมชนแห่งนี้น่าเป็นห่วง ถ้าหากโครงการเกิดขึ้นคำว่า "ชุมชน" คงไม่เหลือให้เห็นอีกแล้ว วิถีชีวิตแบบประมงพื้นบ้านคงหายไป แต่ก็นั้นแหละถ้าหากพวกเรามั่วแต่นั่งดูนอนดู แล้วใครจะมาช่วยเราพวกเรา ต้องมาช่วยกันแล้วคำว่า "ชุมชน" จะกลับมาเป็นของชาวบ้านอีกครั้ง


 


ในส่วนของโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ยังหาข้อยุติไม่ได้แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 ตามมาตราที่ 67 ได้รองรับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถ้ามีโครงการใดที่มีผลกระทบต่อประชาชน หรือชุมชน ประชาชนและชุมชนมีสิทธิ์ที่จะประเมิน และหาแนวทางรวมกันกับองค์กรหรือหน่วยงานที่จะมาเกี่ยวข้อง ถ้าหน่วยงานหรือองค์กรนั้นไม่รับฟังความคิดหรือแนวทางของชาวบ้าน ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะฟ้องได้ เหมือนกับกรณีของชาวสะกอม จังหวัดสงขลา


 


สิ่งที่คิดว่าน่าจะทำก่อนโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา


1. อยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบหันกลับไปดูโครงการที่ผ่านๆ มา ว่ามันส่งผลอะไรบ้าง ต่อชาวบ้าน ต่อชุมชน และประเทศชาติได้ผลประโยชน์คุ้มกับการลงทุนหรือเปล่า เช่นกรณีเขตนิคมอุตสาหกรรม มาบตาพุด จังหวัดระยอง กรณีโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา


2. เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการรับฟังข้อมูล และการขับเคลื่อนของโครงการว่าไปถึงขั้นตอนไหนแล้ว ก่อนที่จะสร้างท่าเรือ อยากให้รัฐมาฟังเสียงของชาวประมงพื้นบ้านด้วยอย่างน้อยก็จะได้รู้ว่า พวกเราเดือดร้อนอย่างไร และต้องการแนวทางแบบไหน เพื่อที่จะเดินด้วยกันได้ อย่ามองว่าชาวประมงพื้นบ้าน หรือชาวบ้านชอบประท้วง


 


 


 


 


แหล่งข้อมูล


แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่10 (พ.ศ.2550-2554) ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)


 


เวทีระดมความคิดเห็นการศึกษาประเมินผลกระทบทางสุขภาพ กรณีโครงการท่าเทียบเรือปากบารา เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2551 (เอกสารสรุปการประชุม)


 


กรอบแนวคิดการพัฒนาภาคใต้ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับแผนงานพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาใต้, มิถุนายน 2551 (เอกสารประชาสัมพันธ์)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net