Skip to main content
sharethis


พูดถึง "ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน" แม้แต่ในภาคใต้เองก็มีน้อยคนที่จะทราบถึงเรื่องนี้ ทั้งที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงไม่ว่าจากฝ่ายไหนก็แล้วแต่


 


ในส่วนของประเทศไทยเอง ซึ่งเป็นประเทศภาคีสมาชิกอยู่ด้วย กำลังจัดทำร่างรายงานขึ้นในโอกาสเฉลิมฉลอง 60 ปี แห่งปฏิญญาดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา คณะกรรมการิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่วมกับสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ได้จัดสัมมนาเรื่อง "สิทธิของประชาชนในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน" ขึ้นที่โรงแรมเจบี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา


 


โดยครั้งนั้น ดร.วีระ สมบูรณ์ หนึ่งในคณะผู้จัดทำร่างรายงาน "ศักดิ์ศรีและความยุติธรรมสำหรับเราทุกคน : เสียงของเราที่ได้ยินได้รู้ในเมืองไทย" (Dignity and Justice for All : Our Voices are Heard in Thailand) ได้นำเสนอร่างรายงายดังกล่าวด้วย โดยมีเนื้อหาในข้อที่ 8 ที่เกี่ยวข้องกับกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


นั่นคือ กรณีการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2547 ซึ่งเขาเป็นทนายความนักสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน โดยรับว่าความให้กับผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนที่จะถูกอุ้มหายไปจนวันนี้


 


ต่อไปนี้เป็น เนื้อหาในข้อดังกล่าว


.........................


 


 


 


ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาอันมีประสิทธิผล


จากศาลที่มีอำนาจแห่งรัฐต่อการกระทำอันล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน


ซึ่งตนได้รับตามรับธรรมนูญหรือกฎหมาย


 


 


ความยุติธรรม : มิติที่ขาดหายในมาตรการเยียวยาของรัฐ


ในปัจจุบันสังคมไทยมีกลไกที่มุ่งช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงมากขึ้น เช่น ในปี 2545 มีการตั้งกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สังกัดกระทรวงยุติธรรม ต่อมารัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ (กยต.)ภาระหน้าที่ประการหนึ่งขององค์กรทั้งสองนี้คือ ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่เหยื่อผู้ถูกละเมิดสิทธิ แน่นอนว่าเงินเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของการเยียวยา แต่ไม่ควรเป็นเพียงปัจจัยเดียวที่รัฐมีให้กับเหยื่อ ขณะที่การแสวงหาความยุติธรรมให้กับเหยื่อกลับไม่ได้รับการใส่ใจอย่างที่ควรจะเป็น


 


การหายตัวไปของสมชาย นีละไพจิตร


เป็นเวลากว่า 4 ปีแล้วที่ทนายความนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน สมชาย นีละไพจิตร ได้หายสาบสูญไปตั้งแต่วันที่12 สิงหาคม พ.ศ. 2547 แต่ครอบครัวของเขาที่ประกอบด้วยคุณอังคณา และลูกๆ อีก 5คน ยังไม่มีโอกาสได้เห็นความยุติธรรมจากภาครัฐ ครอบครัวของเขาและผู้คนในสังคมเชื่อว่าเป็นฝีมือการอุ้มฆ่าของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ไม่พอใจต่อการที่ทนายสมชายช่วยเหลือผู้ต้องหาชาวมุสลิม ในปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนศาลยกฟ้องไปหลายราย


 


แม้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5นายที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของทนายสมชายจะถูกดำเนินคดีในความผิดร่วมกันปล้นทรัพย์และข่มขืนใจผู้อื่น แต่ไม่มีการตั้งข้อหาลักพาตัวหรือฆาตกรรม เนื่องจากการสืบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่มีการสืบหาพยานหลักฐานที่เพียงพอต่อการพิสูจน์ว่าทนายสมชายได้เสียชีวิตแล้ว ผลคือศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่12 มกราคม พ.ศ.2549 ให้หนึ่งในผู้ต้องหามีความผิด และถูกตัดสินให้จำคุก 3 ปี ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 4 คนถูกยกฟ้องเพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอ


 


ความยุติธรรมคือการเยียวยาที่ดีที่สุด


บุคคลภายนอกคงยากที่จะเข้าถึงความทุกข์ของครอบครัวนีละไพจิตรต่อการหายตัวไปของผู้นำครอบครัวอันเป็นที่รักของพวกเขา หากการจากไปคือความตายที่ทุกคนประจักษ์ เวลาอาจเป็นเครื่องรักษาบาดแผลในใจได้ แต่การจากไปโดยไม่มีโอกาสได้ล่ำลา ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นแน่นี้ เวลาหรือการรอคอยกลับยิ่งสร้างความทุกข์ทรมานใจให้กับพวกเขามากยิ่งขึ้น


 


ผู้นำรัฐบาลในขณะนั้น พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร คงต้องการแสดงให้เห็นว่าตนมีน้ำใจ ช่วยบรรเทาทุกข์ยากที่ครอบครัวนี้ต้องสูญเสียคนที่ตนรักไป จึงเสนอให้เงินช่วยเหลือแก่พวกเขา แต่คุณอังคณาปฏิเสธไม่รับ ต่อมา นายจาตุรนต์ ฉายแสง ในฐานะประธานคระกรรมการนโยบายและอำนวยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ได้ติดต่อขอมอบเงินเยียวยาจำนวน 1 แสนบาท แต่คุณอังคณาก็ปฏิเสธที่จะรับไว้เอง และมอบเงินดังกล่าวให้แก่คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ พลเอกสนธิ  บุญยรัตกลิน ประธาน คมช. เคยเสนอให้เงินสนับสนุนการศึกษาแก่ลูก เธอปฏิเสธเช่นกัน อย่างไรก็ตาม คุณอังคณา ยินดีรับความช่วยเหลือจากองค์อโชกา ที่ได้มอบรางวัล ASOKA Fellowship ประจำปี 2550 ให้แก่คุณอังคณาในฐานะที่ทนายสมชายเป็นสมาชิกของสภาทนายความ ทางสภาฯ ได้ให้ทุนการศึกษาแก่ลูกๆของเธอที่ยังเรียนอยู่ระดับปริญญาตรี


 


เหตุผลสำคัญที่คุณอังคณาปฏิเสธที่จะรับเงินจากรัฐบาลไทย ทั้งๆ ที่ครอบครัวของเธอก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร เพราะเธอวิตกว่าเมื่อรับเงินแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐมักมีทัศนคติว่าเมื่อทางครอบครัวได้รับความช่วยเหลือไปแล้ว ก็ควรยุติการต่อสู้คดีแล้ว และเจ้าหน้าทีรัฐก็จะไม่สนใจติดตามคดีอีกต่อไป สำหรับคุณอังคณา เงินไม่ใช่สิ่งที่คนในครอบครัวต้องการมากที่สุด แต่ความยุติธรรมและความจริงต่างหากที่พวกเขาต้องการ ผู้ที่ละเมิดต่อสิทธิในชีวิตของคุณสมชายควรถูกลงโทษตามกฎหมายบ้านเมือง หากขาดซึ่งความยุติธรรมแล้ว ก็ยากที่บาดแผลของพวกเขาจะได้รับการเยียวยาอย่างแท้จริง


 


กระนั้นก็ตาม ตลอดระยะเวลาของการต่อสู้เพื่อทวงถามความยุติธรรมให้กับทนายสมชายและครอบครัวของตน คุณอังคณาไม่เพียงต้องคอยติดตามและกระตุ้นการสอบสวนและดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด แต่ตัวคุณอังคณา รวมทั้งพยานบุคคลที่ชี้ตัวจำเลย ยังต้องประสบกับการข่มขู่คุกคามให้ยุติการต่อสู้อีกด้วย


 


กำลังใจจากองค์กรนอกรัฐไทย


แง่นี้ คุณอังคณากล่าวว่าตนได้รับความช่วยเหลืออย่างมากจากคณะทำงานด้านผู้สูญหายของสหประชาชาติ(UNWGE) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(AHRC) สถานทูตของสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร ที่คอยช่วยทวงถามความคืบหน้าในคดีทนายสมชายมาทางรัฐบาลไทยอยู่เสมอ อีกทั้ง UNWGEยังรับกรณีทนายสมชายเป็นคดีบุคคลสูญหายของตนอีกด้วย นอกจากนี้ก็มี องค์กรนิติกรสากล(International Jurist Commission)องค์กรสันติวิธีสากลา(Non-violence International)สมาพันธ์เอเชียเพื่อต่อต้านกรณีบุคคลสูญหาย(Asian Federation Against Involuntary  Disappearances)องค์กรนิรโทษกรรมสากล(Amnesty International)ในส่วนของประเทศไทย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การดูแลของ รศ.สุริชัย หวันแก้ว ได้ช่วยเหลือในด้านการรณรงค์เพื่อให้คนสนใจการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีทนายสมชายอยู่บ่อยครั้ง


 


ความช่วยเหลือที่คุณอังคณาและลูกๆได้รับจากองค์กรต่างๆ เหล่านี้ ได้ช่วยกระตุ้นให้เจ้าที่หน้าที่ของไทยให้ความสนใจกับคดีคุณสมชายมากขึ้น และปฏิบัติต่อครอบครัวนีละไพจิตรอย่างยุติธรรมมากขึ้น เช่นUNWGE ขอให้ทางการจัดความคุ้มครองให้แก่คนในครอบครัวนีละไพจิตร นอกจากนี้ พวกเขายังเป็นกำลังใจที่ทำให้ครอบครัวนีละไพจิตรรู้สึกว่าตนไม่ได้ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว แต่ยังมีคนอีกไม่น้อย ที่แม้ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ก็พร้อมที่จะแสดงน้ำใจและช่วยเหลือพวกเขา องค์กรเหล่านี้ยังให้คำแนะนำด้านกฎหมายและแนวทางการต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ประชาคมในประเทศไทยอีกด้วย


 


ประสบการณ์ของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้ครอบครัว ทำให้คุณอังคณากลายมาเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่สำคัญคนหนึ่งในสังคมไทย เธอได้รับรางวัลด้านสิทธิมนุษยชนจากหลายองค์กรในต่างประเทศ ต่อมาเธอได้ตั้งคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ โดยมีจุดประสงค์เฝ้าสังเกตการณ์คดีในศาล เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ต้องหาได้รับความยุติธรรมในกระบวนการพิจารณาคดี


 


ในวาระครบรอบ 60 ปีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน คุณอังคณาเห็นว่าองค์กรที่เกี่ยวข้องจักต้องผลักดันหลักการต่างๆในปฏิญญาในทางปฏิบัติให้ได้ โดยมุ่งไปที่การแก้ไขระบบความยุติธรรมในสังคมไทยที่มีปัญหาอยู่มากมาย ทั้งในแง่ทัศนคติ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐมักขาดการเคารพสิทธิมนุษยชนของพลเมือง ทั้งยังเชื่อในการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา มองผู้ปฏิบัติงานด้านสิทธิมนุษยชนเป็นศัตรู มีวัฒนธรรมที่ปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล ฯลฯ และในแง่ระบบ ยังไม่มีกลไกที่สามารถตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่น่าเชื่อถือและเป็นกลางอย่าแท้จริง


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net