Skip to main content
sharethis

 








สถานการณ์ในประเทศพม่า



ตำรวจพม่าปล่อยตัวผู้สื่อข่าวที่กักตัวไว้นานกว่าสองเดือน


ตำรวจพม่าปล่อยตัวผู้สื่อข่าวของนิตยสารฉบับหนึ่งที่กักตัวไว้นานเกือบสองเดือน เพราะสงสัยว่าจะเป็นผู้ให้ข่าวแก่เว็บไซต์ของชาวพม่าพลัดถิ่น


 


ปัจจุบันหนังสือพิมพ์รายวันและสื่ออิเล็กทรอนิกที่เป็นทั้งของรัฐบาลและเอกชนในพม่าจะต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด ทำให้คนจำนวนมากต้องหันไปพึ่งข่าวที่ไม่ได้ผ่านการตรวจจากภายนอกประเทศ ทั้งทางเว็บไซต์ สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม และวิทยุคลื่นสั้น


 


นายซอ มินท์ ตาน หัวหน้าผู้สื่อข่าวของฟลาวเวอร์ นิวส์ เจอร์นัลได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันจันทร์ที่ 20 ตุลาคม 2551 หลังจากตำรวจลงความเห็นว่าเขาไม่ได้ให้ข้อมูลแก่เวบไซต์เดอะ
อิระวดีซึ่งเป็นของชาวพม่าพลัดถิ่น เขาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 1 กันยายนในข้อหากระทำผิดกฎหมายอิเลกทรอนิกส์ ซึ่งควบคุมการสื่อสารอิเลกทรอนิกทุกรูปแบบและมีบทลงโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี


 (สำนักข่าวไทย วันที่ 23/10/2551)


 


ศาลพม่าสั่งจำคุกนักการเมืองพรรคฝ่ายค้าน  


ศาลพิเศษเมืองมัณฑะเลย์ของพม่า มีคำตัดสินจำคุกนักการเมืองฝ่ายค้านจำนวน 6 คน ซึ่งถูกจับกุมเมื่อครั้งร่วมเดินขบวนประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว


 


นายเนียน วิน โฆษกพรรคพันธมิตรแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ของนางออง ซาน ซูจี เปิดเผยว่า ศาลได้พิพากษาว่าบุคคลทั้ง 6 มีความผิดฐานยั่วยุและส่งเสริมให้สาธารณชนเกิดความแตกแยก พร้อมตัดสินจำคุกเป็นเวลาระหว่าง 2 - 13 ปี


 


ญาติของนักการเมืองที่ถูกตัดสินคดีคนหนึ่ง เปิดเผยว่า ทางการพม่าได้มีการสอบสวนนักการเมืองเหล่านี้ก่อนที่จะนำตัวส่งไปยังศาลพิเศษ เพื่อเริ่มต้นพิจารณาคดีเมื่อเดือนสิงหาคม โดยศาลไม่อนุญาตสมาชิกในครอบครัวเข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดี


 


โฆษกพรรคพันธมิตรแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของพม่าระบุด้วยว่า การตัดสินดังกล่าวไม่มีความเป็นธรรมและขัดต่อหลักกฎหมาย


 


เหตุการณ์ประท้วงครั้งใหญ่เมื่อปีที่แล้ว ลุกลามขึ้นจากความไม่พอใจต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันแพง และการเรียกร้องประชาธิปไตยจากรัฐบาลทหารพม่า จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 31 คน และมีการจับกุมผู้ร่วมชุมนุมประท้วงจำนวนหลายพันคน ในจำนวนนี้มีพระสงฆ์ นักการเมือง และนักศึกษารวมอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก ซึ่งองค์กรสิทธิมนุษยชนในพม่าระบุว่า ขณะนี้รัฐบาลทหารพม่าได้ควบคุมตัวนักโทษทางการเมืองไว้มากกว่า 2,100 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ประท้วงเกือบ 1,000 คน


(ศูนย์ข่าวแปซิฟิค วันที่ 25/10/2551)


 


นายพลตัมราบอ ผู้นำแห่งชาติกะเหรี่ยงเคเอ็นยูคนใหม่


เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม สภาครองเกรส ขององค์กรเคเอ็นยู.ได้เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ หลังจากที่นายพาโด้ บาติน ประธานาธิบดีเคเอ็นยู.ได้เสียชีวิตด้วยโรคชรา โดยการเลือกตั้งดังกล่าว ที่ประชุมสภครองเกรสมีมติให้เลือกพลเอกตัมราบอ รองประธานาธิบดี เป็นประธานาธิบดี และให้นายเดวิด ตากาบอ ผู้ช่วยเลขาธิการเคเอ็นยู. เป็นรองประธานาธิบดี


 


ส่วนตำแหน่งที่สำคัญที่สุดอีกตำแหน่งหนึ่งคือ นางซี โพราเส่ง นักเคลื่อนไหวการต่อสู้เพื่อสตรี ได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการเคเอ็นยู. แทนนายพาโด้ มาชา อดีตเลขาธิการที่ถูกยิงเสียชีวิตในอำเภอแม่สอด


 


นโยบายของเคเอ็นยู.ยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์คือ การต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าต่อไป โดยยึดหลักการต่อสู้ด้วยวิถีทางการเมือง และการมีกองกำลังติดอาวุธเพื่อป้องกันตนเอง ส่วนนโยบายการเจรจากับฝ่ายพม่าเพื่อสันติภาพนั้นในที่ประชุมยังไม่ได้คุยกัน


 


สำหรับนางซี โพราเส่งนั้น นับเป็นเลขาธิการสตรีคนแรกของเคเอ็นยู. โดยได้รับรางวัล Perdita Huston Human Rights Award เมื่อเดือนมิถุนายน ปีพ.ศ.2550 ในฐานะที่ช่วยเหลือให้ผู้หญิงต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเท่าเทียมกันในพม่า นอกจากนี้ยังได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรสตรีสากลให้เข้ารับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพเมื่อปี 2549 อีกด้วย


(คมชัดลึก วันที่ 28/10/2551)








การค้าชายแดน




เตรียมเปิดจุดผ่อนปรนน้ำเพียงดิน สนับสนุนการค้าชายแดนไทย-พม่า


นายวันชัย สุทธิวรชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า ได้เชิญเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อพิจารณาความพร้อมเปิดจุดผ่อนปรนบ้านน้ำเพียงดิน ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอนและตรวจดูพื้นที่ตั้งหน่วยงานต่าง ๆ ในการตรวจสินค้าและสิ่งของอื่นๆที่จะมีการนำเข้ามาในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผ่านจุดผ่อนปรนบ้านน้ำเพียงดิน พร้อมทั้งดูพื้นที่สำหรับเก็บสินค้าที่มีการนำเข้ามาในราชอาณาจักรไทย


 


จากการตรวจดูพื้นที่และความพร้อมในการเปิดจุดผ่อนปรนบ้านน้ำเพียงดิน ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอนสรุปในเบื้องต้น จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสินค้านำเข้า ประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากร เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด พาณิชย์จังหวัด เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัด และฝ่ายทหารจากหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 17 ให้มาปฎิบัติหน้าที่บริเวณพื้นที่ตั้งสถานีตำรวจภูธรบ้านน้ำเพียงดิน ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอนอยู่ห่างจากชายแดนไทย-พม่า( ฝั่งไทย) ประมาณ1 กิโลเมตรในการตรวจสินค้าที่นำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน


 


ส่วนพื้นที่เก็บสินค้าที่นำเข้ามาจากประเทศพม่าใช้พื้นที่ตรงข้าม สภอ.บ้านเพียงดินบนเนื้อที่ 1-2 ไร่โดยให้สำนักงานโยธาธิการและฝังเมืองจังหวัดแม่ฮ่องสอนนำเครื่องจักรปรับพื้นที่อย่างเร่งด่วน ซึ่งคาดว่าราวเดือนพฤศจิกายน 2551 จังหวัดแม่ฮ่องสอนจะสามารถประกาศเปิดจุดผ่อนปรนบ้านน้ำเพียงดินได้เพื่อสามารถทำการค้าและการท่องเที่ยวกับประเทศพม่าได้อย่างแน่นอน


 


สำหรับบริเวณที่จะประกาศเปิดจุดผ่อนปรนบ้านน้ำเพียงดิน ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอนอยู่ห่างจากทางหลวงแผ่นดิน 108 แม่ฮ่องสอน-แม่สะเรียงแยกขวามือบริเวณศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดแม่ฮ่องสอนไปทางทิศตะวันตกประมาณ 17 กิโลเมตรสภาพถนนลาดยางและบางช่วงเป็นถนนลูกรังขณะนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้นำเครื่องจักรเข้าไปปรับผิวการจราจรเพื่อเตรียมรองรับเปิดจุดผ่อนปรนบ้านน้ำเพียงดิน


 


ทางด้านนายวรการ มหาวงค์ นายด่านศุลกากรแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ช่องทางบ้านน้ำเพียงดิน ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ปัจจุบันเป็นด่านพรมแดนศุลกากรอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประกาศเปิดเป็นจุดผ่อนปรนก็เป็นเรื่องที่ดีที่สามารถประกอบการค้าชายแดนได้ทันที เพราะจังหวัดแม่ฮ่องสอนยังใช้อำนาจศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านด้านพม่า จ.แม่ฮ่องสอนและเมื่อเปิดจุดผ่อนปรบบ้านน้ำเพียงดิน ดังกล่าวแล้วจะทำให้สามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มมากขึ้น จะเห็นได้ว่าจุดผ่อนปรนบ้านห้วยผึ้ง ต.ห้วยผา อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอนมีการนำเข้าสิ่งประดิษฐ์ ระหว่างเดือนเมษายน-สิงหาคม 2551 จำนวน 13 ครั้ง จำนวน 57,437 ชิ้นราคาประเมิน 5,010,561 บาท อากร 369,320 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 377,209 บาท รวมค่าภาษีอากร 746,529 บาท


(คมชัดลึก วันที่ 22/10/2551)


 


 


ลูกค้าพม่านิยมเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์เนมจากไทย


นายโก เลี่ยง (KO LIENG) อดีตประธานหอการค้าจังหวัดเกาะสอง ประเทศพม่า เปิดเผยถึงสถานการณ์การค้าชายแดนด้านจังหวัดระนอง-เกาะสองในขณะนี้ว่า อยู่ในสถานการณ์ที่ดีมาก ไม่มีปัญหาใดๆ เข้ามากระทบ ผู้คนทั้ง 2 ฝั่งต่างเดินทางติดต่อค้าขายกันอย่างคึกคัก และมีสินค้าหลายๆตัวที่มีแนวโน้มที่จะขยายตัวสูงอาทิ สินค้าอุปโภค-บริโภค รวมถึงสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้าง


 


กลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้นในขณะนี้คือในกลุ่มของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ก่อนหน้านี้มีการชะลอตัวอันเป็นผลมาจากวิกฤติภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในประเทศพม่าทำให้ผู้คนต่างชะลอการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยหันไปซื้อสินค้าที่จำเป็นก่อน


 


สำหรับรสนิยมในสินค้านั้น ปัญหาด้านคุณภาพของสินค้าจีนแดง ส่งผลให้ประชาชนชาวพม่าเริ่มหันกลับมามองหาสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยเฉพาะใน 4 ค่ายหลัก คือพานาโซนิค, เจวีซี, โซนี่ และซัมซุง เพราะที่ผ่านมาลูกค้าจำนวนมากต่างผิดหวังกับสินค้าของจีนที่อาศัยแต่ราคาถูกเป็นกลยุทธ์จูงใจ


 


กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ก่อนหน้านี้สินค้าจากจีนเข้ามาตีตลาด โดยเน้นกลยุทธ์ด้านราคา แต่ปรากฏว่าเมื่อผู้ซื้อซื้อไปใช้แล้วปรากฏว่าไม่ทนทาน เสียง่าย ซ้ำการซ่อมแซมก็ไม่สามารถทำได้ ไม่เหมือนกับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศไทยที่แม้ว่าราคาจะสูงกว่า 2-3 เท่าตัว แต่เมื่อเทียบมาตรฐาน และความคุ้มค่าแล้ว สินค้าจากไทยจะดีกว่ามาก การซ่อมแซมก็สามารถทำได้ง่าย มีอะไหล่เปลี่ยนให้ได้ทันที ส่งผลขณะนี้สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจากไทยเริ่มกลายเป็นสินค้าที่นิยมในกลุ่มคนพม่าอีกครั้งทั้งทีวี, เครื่องเสียง, เครื่องเล่นวีซีดี ฯลฯ"


 


สำหรับคนในระดับซีบวกขึ้นไปโดยเฉพาะผู้คนที่อยู่ในเขตพื้นที่ทางภาคใต้ย่านตะนาวศรี, มะริด, ทวาย, เกาะสอง จะหันมานิยมสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจากไทยกว่า 60% ส่วนคนระดับซีลงมายังมีปัญหาเรื่องรายได้ก็จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีนใช้ไปก่อน แต่หากมีเงินเพียงพอก็จะเปลี่ยนเป็นสินค้าไทยทันที


 


ขณะนี้ทำให้ในหลายพื้นที่เริ่มมีตัวแทนจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าจากไทยเปิดให้บริการเพิ่มขึ้น โดยมีทั้งชาวพม่าเองเป็นผู้ลงทุน รวมถึงกลุ่มคนไทยที่เข้าไปลงทุนเองก็มี ส่วนผู้คนในแถบภาคกลางจะนิยมสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าของพม่าเองโดยเฉพาะทีวียี่ห้อ ยัมมา สตาร์ เป็นยี่ห้อที่นิยมมาก นอกจากนี้ยังมียี่ห้อมิตซูบิชิอีกยี่ห้อเป็นที่นิยมในภาคกลาง ส่วนสินค้าจากจีนแดงก็ยังมีอิทธิพลในตลาดพม่าสูง แต่คนพม่าเริ่มมีการแบ่งเกรดสินค้าที่ชัดเจนมากขึ้น


 


ด่านศุลกากรจังหวัดระนอง เปิดเผยถึงสถิติสินค้านำเข้า-ส่งออก ทางด่านศุลกากรระนอง โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นโดยในช่วงเดือนสิงหาคมมีสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่ผ่านด่านศุลกากรระนองทั้งสิ้น 8,424 กก. คิดเป็นมูลค่า1,346,461 บาท ส่วนเดือนกันยายนที่ผ่านมามีสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ส่งออกทั้งสิ้น 6,730 กก. คิดเป็นมูลค่า 1,493,460 บาท โดยคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ส่งออกไปยังประเทศพม่าเฉพาะที่ด่านศุลกากรจังหวัดระนองไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบาท หากรวมที่มีการลักลอบส่งโดยไม่ผ่านพิธีการทางด่านศุลกากรคาดว่าไม่น่าจะต่ำกว่า 70-80 ล้านบาท


 (ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 30/10/2551)









แรงงานข้ามชาติ



สหรัฐห่วงไทยจ้างแรงงานผิดกฎหมายจำนวนมาก


นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการเข้าพบของ นายมาร์ค เทเลอร์ เจ้าหน้าที่ประสานงานอาวุโสด้านการรายงานและด้านการเมือง ของกรมการค้ามนุษย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่า กรมการค้ามนุษย์ สหรัฐอเมริกา เป็นห่วงสถานการณ์การจ้างแรงงานไทย เนื่องจากได้สำรวจพบว่าประเทศไทยมีการใช้แรงงานผิดกฎหมายจำนวนมาก เช่น การใช้แรงงานเด็ก การใช้แรงงานข้ามชาติ การกดขี่ลูกจ้าง เป็นต้น ซึ่งกระทรวงแรงงานก็ยอมรับว่าปัญหาการใช้แรงงานอย่างผิดกฎหมายมีอยู่จริง และเป็นเรื่องที่กระทรวงแรงงานจำเป็นต้องเร่งเข้าไปดูแล ควบคุมให้มีการจ้างแรงงานอย่างถูกกฎหมายอย่างเร่งด่วน


 


ขณะนี้ได้มีการแก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2551 และ พ.ร.บ.การปราบปรามการค้ามนุษย์ ทั้งนี้เพื่อให้มีความสอดคล้องและควบคุม ลดจำนวนการจ้างงานผิดกฎหมายอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ตนและผู้บริหารกระทรวงแรงงาน กำลังเดินหน้ามอบนโยบายพร้อมขับเคลื่อนให้เจ้าหน้าที่ทั้งส่วนกลางและประจำจังหวัดทั่วประเทศให้เข้าไปดูแล ตรวจสอบสถานประกอบการ การจ้างงาน สิทธิ สวัสดิการของลูกจ้างผู้ใช้แรงงาน โดยเร่งรัดให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด


 


ปัญหาต่างๆเราไม่ได้ละเลยหรือนิ่งเฉย พยายามทำมาตลอด แต่ว่าด้วยความที่มีโรงงาน สถานประกอบการจำนวนมากกว่า 300,000 แห่ง จึงมีนายจ้างจำนวนไม่น้อยที่พยายามหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น อยากได้แรงงานราคาถูก เลยใช้แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย กดขี่ ขูดรีดแรงงาน เป็นต้น อันนี้เรายอมไม่ได้ ก็พยายามสั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเอาจริง เอาจังกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ


 


สิ่งที่ทางสหรัฐอเมริกากังวลเป็นห่วงประเทศไทย ก็คือ การจัดการแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเรื่องนี้ยอมรับว่าเป็นเรื่องใหญ่และทราบว่ายังมีแรงงานที่ยังหลบหนีเข้าเมืองมาทำงานอย่างผิดกฎหมายอยู่ไม่น้อย ดังนั้นสิ่งที่จะต้องทำต่อไปนี้คือทำให้ผู้ที่อยู่ในประเทศขึ้นทะเบียนทั้งหมด ส่วนที่ยังไม่เข้ามา ต้องควบคุมไม่ให้เข้ามา ให้เจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่เข้าไปสำรวจ ควบคุม จำนวนลูกจ้าง นายจ้าง ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการให้ถูกกฎหมายทั้งหมด ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งก็คือการพิสูจน์สัญชาติ โดยขณะนี้กระทรวงแรงงานได้พิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติ 2 สัญชาติแล้ว 106,991 คน ประกอบด้วยสัญชาติลาว 56,326 คน กัมพูชา 50,665 คน ส่วนพม่ายังอยู่ระหว่างการเตรียมการ ซึ่งทางการพม่าได้มีการขอให้ประเทศไทยสนับสนุนงบประมาณในการเปิดจุดให้บริการพิสูจน์สัญชาติทั้ง 3 จุด ซึ่งอยู่ระหว่างหารือในรายละเอียด คาดว่าจะสามารถพิสูจน์สัญชาติได้ในเร็ววันนี้


 (กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 22/10/2551)


 


กรมการจัดหางานเสนอขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติรอบใหม่


นายพิชัย เอกพิทักษ์ดำรง อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากการสำรวจความต้องการของกรมการจัดหางาน พบว่านายจ้าง สถานประกอบการต้องการจ้างแรงงานข้ามชาติทั้งสิ้น 1,312,170 คน จากมติครม.เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2550 มีแรงงานข้ามชาติมาจดทะเบียนและต่ออายุใบอนุญาตทำงาน จำนวน 501,570 คน ซึ่งยังมีความต้องการแรงงานอยู่อีก 810,600 คน ทางกรมการจัดหางานดำเนินการเร่งพิสูจน์สัญชาติ และนำเข้าแรงงานข้ามชาติตามเอ็มโอยู แต่ก็ยังไม่เพียงพอ และยังมีความล่าช้า เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงเสนอให้มีการเปิดจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติรอบใหม่ ภายใต้ความสมดุลระหว่างการรักษาความมั่นคงภายใน และการดูแลสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน


 


สำหรับสาระสำคัญของการเสนอขอเปิดจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติรอบใหม่ คือ


1.เพื่อให้นายจ้างมีความรับผิดชอบต่อการจ้างแรงงานข้ามชาติ โดยนายจ้างต้องรายงานการคงอยู่ของแรงงานข้ามชาติทุก 3 เดือน หรือเมื่อมีการเลิกจ้าง และหากนายจ้างประสงค์จะจ้างแรงงานข้ามชาติต่อ ให้นำตัวไปพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จ เนื่องจากจะไม่ต่ออายุใบอนุญาตทำงานเมื่อครบกำหนดวันที่ 28 ก.พ.2553


 


2.แรงงานข้ามชาติที่ได้รับใบอนุญาตทำงานแล้วจะเปลี่ยนนายจ้างไม่ได้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็น โดยให้เวลาแรงงานข้ามชาติ 7 วันดำเนินการหานายจ้างใหม่ หากไม่สามารถหานายจ้างใหม่ได้ภายในกำหนดเวลา จะต้องถูกส่งกลับ


 


3.ให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับหน่วยงานภายในจังหวัดดำเนินการจัดตั้งศูนย์คุ้มครองสิทธิประโยชน์แก่แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในระบบ


 


ขณะนี้นโยบายดังกล่าวอยู่ระหว่างการรอเสนอความคิดเห็นต่อคณะกรรมการบริหารแรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมือง(กบร.)เพื่อเสนอครม.พิจารณาต่อไป


(ข่าวสด วันที่ 23/10/2551)


 



กรมการจัดหางานชี้แจง ยังไม่มีการเก็บเงินกองทุน


จากที่มีข่าวว่ากรมการจัดหางานจะเริ่มเก็บเงินกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 โดยกำหนดให้นายจ้างเก็บเงินลูกจ่างต่างด้าว (สัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา) ที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในตำแหน่งกรรมกรและผู้รับใช้ในบ้าน กลุ่มใบอนุญาตทำงานสีชมพู กลุ่มที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ และกลุ่มที่นำเข้าตามข้อตกลง (MOU) ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนในอัตราเท่าๆ กันทุกเดือนติดต่อกัน ไม่เกิน 6 เดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปนั้น


 


กรมการจัดหางานของชี้แจงว่า ขณะนี้กรมการจัดหางานอยู่ในขั้นตอนพิจารณากฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง และวางแนวทางการปฏิบัติงานให้มีความชัดเจน ซึ่งตามที่มีข่าวว่ากรมการจัดหางานเริ่มมีการเก็บเงินกองทุนเพื่อการส่งแรงงานต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง


 (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 26/10/2551)


 







ต่างประเทศ




 


เลขาธิการสหประชาชาติผิดหวังรัฐบาลพม่า เหตุจากปฏิรูปการเมืองล้มเหลว


เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2551 นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แสดงความผิดหวังกับรัฐบาลพม่าในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็น เนื่องจากรัฐบาลพม่าไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอของยูเอ็นที่ให้มีการปฏิรูปการเมืองเพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตย


 


นายบัน คี มุน กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายที่รัฐบาลทหารพม่าไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของยูเอ็นและนานาประเทศเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของพม่าและเดินหน้าให้มีพัฒนาการในเรื่องการเมือง โดยเลขาธิการยูเอ็นออกมาแสดงความผิดหวังภายหลังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งยูเอ็นเรียกร้องให้เลขาธิการยูเอ็นกดดันพม่าให้ปฏิรูปการเมือง หลังเกิดเหตุการณ์ทหารพม่าปราบปรามผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปีที่ผ่านมา


 


ทั้งนี้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งยูเอ็น และนายอิบราฮิม กัมบารี ทูตพิเศษของเลขาธิการยูเอ็น เรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าปล่อยตัวนักการเมืองฝ่ายค้าน รวมถึงนางออง ซาน ซูจี ผู้นำต่อประชาธิปไตย และเรียกร้องให้เจรจากับฝ่ายค้าน อย่างไรก็ตาม นายบัน คี มุน แสดงความหวังว่ารัฐบาลพม่าจะเริ่มปฏิบัติตามข้อเสนอของยูเอ็น


 


ขณะเดียวกันองค์กรบรรเทาทุกข์ไอซีจีในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม กล่าวว่า การเพิ่มความช่วยเหลือจากต่างประเทศภายหลังพม่าถูกพายุนาร์กีสพัดถล่มจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีในพม่า


            (มติชน วันที่ 22/10/2551)


 


ฮิวแมนไรทส์วอทช์เรียกร้องผู้นำอาเซมกดดันพม่าให้ปรับปรุงสิทธิมนุษยชน


นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียของฮิวแมนไรทส์วอทช์ กล่าวว่า เวทีอาเซมเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศสมาชิกจะใช้กดดันพม่าให้ปฏิรูปการเมืองและเคารพเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ผู้นำอาเซมไม่สามารถเลือกที่จะนิ่งเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าได้อีกต่อไป


 


ฮิวแมนไรท์สวอทช์ ระบุด้วยว่า สหภาพยุโรป (อียู) ควรกดดันจีนในฐานะเจ้าภาพการประชุมและหลายประเทศในเอเชียที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพม่าเช่น อินเดีย สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เพราะที่ผ่านมาอียูพยายามกดดันพม่าผ่านเวทีอาเซมแต่หากประเทศสำคัญในเอเชียไม่ร่วมมือก็ยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในพม่าได้


 (สำนักข่าวไทย วันที่ 23/10/2551)


 



ครบรอบ 13 ปี ที่อองซาน ซูจี ถูกกักตัวในบ้านพัก


ในโอกาสที่วันที่ 24 ตุลาคม 2551 เป็นวันที่นางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้าน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพวัย 63 ปีถูกคุมขังอยู่ในบ้านพักครบ 13 ปีในช่วงระยะเวลา 19 ปีที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศสหรัฐออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าปล่อยตัวเธอพร้อมกับนักโทษการเมืองอีกกว่า 2 พันคน โดยทันที


 


โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ โรเบิร์ต วู้ด บอกว่าตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา นางซูจี ต้องอดทนกับการจองจำที่มิชอบด้วยกฎหมาย และเธอยังเปี่ยมไปด้วยความหวัง และแรงบันดาลใจที่จะไขว่คว้าหาสันติภาพ และประชาธิปไตยมาสู่พม่า


 


สหรัฐสนับสนุนความพยายามของสหประชาชาติในการผลักดันให้รัฐบาลทหารพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมือง และปฏิรูปประชาธิปไตย และว่าการปล่อยตัวนางซูจีจะเป็นก้าวแรก ที่ทำให้พม่ากลับมารวมกลุ่มกับประชาคมโลก พร้อมกันนี้สหรัฐจะร่วมมือกับยูเอ็นและนานาประเทศเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าเจรจากับนางซูจี และชนกลุ่มน้อย เพื่อนำสู่การเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยอย่างแท้จริง


 


ส่วนนายเส่ง วิน หัวหน้ารัฐบาลพม่าพลัดถิ่น และนายจาเหร็ด เจนเซอร์ ทนายความของนางซูจี ออก แถลงการณ์ระบุว่า การกักตัวนางซูจีเป็นเครื่องเตือนใจที่สำคัญสำหรับช่วงเวลาสั้นที่ประชาชนชาวพม่าได้รับรู้ถึงเสรีภาพ โดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของซูจี ชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2533 และมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมภายใต้การนำของนายเส่ง วิน นอกจากนี้แถลงการณ์ยังระบุว่า ซูจีเป็นคนเดียวที่คว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพขณะถูกกักตัวเรือนจำ


(คมชัดลึก วันที่ 24/10/2551)


 


 


..............................................................


Newsline เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการวิจัยไทย (Thai Research) มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี (Peaceway Foundation) เป็นการรวบรวมข่าวภาษาไทย พร้อมทั้งการนำเสนอบทความภาษาไทยเกี่ยวกับประเทศพม่า และผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย เพื่อให้ผู้คนในสังคมไทยได้รับรู้ ตระหนักถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพม่า และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและรณรงค์ให้เกิดสันติภาพที่แท้จริงในประเทศพม่าต่อไป


 


ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการวิจัยไทย และโครงการอื่นๆติดตามได้ที่ www.burmaissues.org และสามารถอ่านข่าวย้อนหลังได้ที่


www.oknation.net/blog/burmaissuesnewsline


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net