Skip to main content
sharethis

 



 


วานนี้ (10 ธ.ค.) เวลาประมาณ 9.30.ลานพระรูปทรงม้า สมัชชาคนจน 7 เครือข่าย ประกอบด้วย เครือข่ายเขื่อน เครือข่ายป่าไม้ เครือข่ายที่ดิน เครือข่ายเกษตรเครือข่ายผู้ป่วย เครือข่ายสลัม และเครือข่ายประมง กว่า 500 คน ได้มารวมตัวกันเนื่องในโอกาส "วันสิทธิมนุษยชนสากล ครบรอบ 13 ปี สมัชชาคนจน และวันรัฐธรรมนูญ" เพื่อร่วมประกาศเจตนารมณ์ประชาธิปไตย เนื่องในวันการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในระบบประชาธิปไตย


 


กลุ่มผู้ชุมนุมได้ร่วมเดินขบวนรณรงค์จากลานพระรูปทรงม้า ไปยังบริเวณอาคารสำนักงานสหประชาชาติ และได้มีการติดต่อยื่นหนังสือต่อองค์การสหประชาชาติเนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปีสิทธิมนุษยชนสากล เรียกร้องให้มีการทำงานอย่างเข้มข้นขึ้นเพื่อให้หลักการสิทธิมนุษยชนได้รับการรองรับและนำไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง โดยการยื่นหนังสือในครั้งนี้มีนางวู ฮานนา (Ms. Wu Hannah) เจ้าหน้าที่ในส่วนงานด้านสิทธิมนุษยชน องค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย เป็นผู้รับเรื่อง


 


การพูดคุยกับกลุ่มสมัชชาคนจน นางวูรับว่าจะมีการส่งเรื่องนี้ไปยังหน่วยงานของที่รับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชน ในสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติต่อไป


 


นอกจากนี้ที่บริเวณหน้าอาคารสำนักงานสหประชาชาติ นางสมบุญ ศรีคำดอกแค ประธานสภากลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย หนึ่งในเครือข่ายของสมัชชาคนจน ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนอ่าน "คำประกาศของสมัชชาคนจน" ระบุเนื้อหาว่า เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากลวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งถือเป็นวันครบรอบ 60 ปีแห่งการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน


 


เมื่อ 60 ปีที่ผ่านมา ที่ประชุมใหญ่แห่งสหประชาชาติได้มาประชุมกันที่ Pallais de Chaillot ณ กรุงปารีสเพื่อรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและประกาศว่าหลักการสิทธิมนุษยชนดังกล่าวเป็นสิทธิสำหรับประชาชนทุกคนในทุกประเทศ หลักการดังกล่าวได้ถือว่าเป็นบรรทัดฐานสำหรับแนวคิดสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการยอมรับแม้แต่ในรัฐที่ได้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน


 


ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนประกอบด้วยมุมมองของโลกในเรื่องเสรีภาพ ความยุติธรรมและสันติภาพและรองรับในประเด็นเรื่องสิทธิพลเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สิทธิทางสังคมและสิทธิทางวัฒนธรรม ซึ่งทั้งหมดนี้เราถือว่าเป็นหลักการสิทธิมนุษยชนที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้จากศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ถือว่าเป็นฐานรากที่สำคัญของโลก


 


อย่างไรก็ตาม 60 ปี หลังการประกาศรับรองปฏิญญาสากลดังกล่าวโดยประชาคมนานาชาตินั้น ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละวันในพื้นที่ต่างๆในโลกปัจจุบันกลับห่างไกลจากภาพอุดมคติที่เป็นฐานของปฏิญญาสิทธิมนุษยชนตรงกันข้ามการยอมรับแนวคิดสิทธิมนุษยชนสากลที่ปรากฏในปี 2551 (ค..2008) นี้ยังเป็นเพียงความคาดหวังที่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ


 


แน่นอน ความเป็นจริงที่โหดร้ายดังกล่าวที่ปรากฏขึ้นทั่วโลกนั้นมักเกิดขึ้นกับกลุ่มคนผู้ด้อยโอกาสในสังคม ผู้ที่ไม่สามารถปกป้องตนเอง ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในกรณีของประเทศไทยนั้น ภาพสะท้อนของกลุ่มผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการไม่ยอมรับหลักการสิทธิมนุษยชนและการไม่ได้รับความยุติธรรมนั้นสามารถดูได้สมาชิกของสมัชชาคนจน


 


สมาชิกสมัชชาคนจนประกอบด้วยเครือข่าย สมัชชาคนจนเป็นการรวมกลุ่มของกลุ่มผู้ด้วยโอกาสในสังคมที่ได้ผลกระทบเป็นระยะเวลานานจากเส้นทางการพัฒนาที่ล้มเหลวของรัฐไทย กลุ่มคนเหล่านี้ประกอบด้วยเครือข่ายผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตป่าและชุมชนพื้นเมืองที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิชุมชนและสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการยังชีพ เครือข่ายชาวนาผู้ไร้ที่ดินและชาวนาจนที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิในการดำรงชีวิตและความมั่นคงในที่ดิน เครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนโดยปราศจากสิทธิในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในโครงการดังกล่าว


 


เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านผู้กำลังเผชิญหน้ากับการสูญเสียวิถีในการดำรงชีวิตของตน เครือข่ายผู้ใช้แรงงานที่เจ็บป่วยที่สิทธิในสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานของพวกถูกละเมิดอย่างโหดเหี้ยม เครือข่ายชาวนาที่ต่อสู้ในการยืนยันถึงอธิปไตยทางอาหารโดยผ่านการเกษตรที่ยั่งยืน และเครือข่ายสลัมและกลุ่มคนไร้บ้านที่ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิในที่อยู่อาศัยและสิทธิในการตั้งถิ่นฐานและยังคงต้องต่อสู้กับอันตรายจากการไล่รื้ออยู่ตลอดเวลา


 


ผลจากความเดือนร้อนของสมัชชาคนจนที่ยังคงถูกละเมิดและไม่ได้รับการเหลียวแลแก้ไขจากรัฐทำให้สมาชิกของสมัชชายังต้องพบกับความทุกข์ยากจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนสากล และสะท้อนถึงการทำงานที่ยังคงต้องดำเนินการต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหาของคนจนและการประกันหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นในสังคมไทย


 


ขณะเดียวกันการต่อสู้ของสมัชชาคนจนยังได้ข้อเท็จที่ว่ามีเพียงการสมานฉันท์และเอกภาพในการต่อสู้ร่วมกันของขบวนการประชาชนเท่านั้นจึงจะทำให้ปัญหาการละเมิดหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนได้รับการกล่าวถึง ประสบการณ์ของสมัชชาคนจนนั้นชี้ให้เห็นว่าสิทธิในการถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีพสิทธิชุมชนสิทธิพลเมืองในการเข้าไปมีส่วนร่วม สิทธิแรงงานและสิทธิในที่อยู่อาศัยล้วนประสบความสำเร็จจากการที่กลุ่มผู้ด้อยโอกาสลุกขึ้นต่อสู้ร่วมกัน


 


วันนี้เนื่องในวาระครบรอบ 60 ปี ของการเฉลิมฉลองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เราสมัชชาคนจนขอเรียกร้องต่อสหประชาชาติให้ทำงานเพิ่มขึ้นเพื่อทำให้หลักการสิทธิมนุษยชนได้รับการรองรับและนำไปสู่ปฏิบัติการที่แท้จริง เรายังของวิงวอนให้ขบวนการของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทั่งโลกจงมีเอกภาพและมีความสมานฉันท์ในการร่วมกันต่อสู้เพื่อแก้ไขปัญหาที่พวกเราประสบอยู่ ที่เป็นผลมาจากระบบและกลไกสถาบันที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของพวกเรา พวกเราจะต้องร่วมกันต่อสู้เพื่อให้บรรลุถึงการทำให้สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิของประชาชนทุกคนในทุกหนทุกแห่ง


 


จากการพูดคุย นายบุญ แซ่วุ้ง เครือข่ายชุมชนรักษ์เทือกเขาบรรทัด กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ปัจจุบันคนจนถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนก็ไม่สามารถเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ได้เลย ซึ่งชาวบ้านในเทือกเขาบรรทัด ได้รับความเดือดร้อนโดนข้อหาคดีเกี่ยวกับที่ดินทำกิน ต้องชดใช้เงินเป็นล้าน ซึ่งขนาดผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่สามารถช่วยเหลือได้ ซึ่งพวกเขาอ้างว่าอยู่นอกเหนืออำนาจของเขา จะเห็นได้ว่าการเมืองบ้านเรามันยังรวมศูนย์ ไม่กระจายสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง เรื่องการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานจึงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา


 


นายบุญ ยังกล่าวอีกว่า เรากำลังสร้างความเป็นรูปธรรม ในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้น ทุกวันนี้อำนาจทุกอย่างรวมศูนย์อยู่ที่ศูนย์กลาง ปัญหาการไม่เหลียวแลคนจนจึงเกิดขึ้นเรื่อยๆ


 


จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนที่ต่อไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อประกาศเจตนารมณ์ เนื่องในวันรัฐธรรมนูญและอ่านแถลงการณ์เกี่ยวกับทิศทางการแก้ไขปัญหาคนจน ตามแนวทางประชาธิปไตย โดยนางประทิน เวคะวากยานนท์ ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค ทำหน้าที่เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์


 


แถลงการณ์ 13 ปี สมัชชาคนจน และ 60 ปีสิทธิมนุษยชนสากล "สร้างประชาธิปไตยที่กินได้ ปกป้องและรักษาสิทธิมนุษยชน" ระบุว่า ตลอดระยะเวลา 13 ปี ที่ผ่านมา สมัชชาคนจนและขบวนการภาคประชาชนต้องต่อสู้กับการแย่งชิงฐานทรัพยากร ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน ปล้นสิทธิของชุมชน เพื่อปกป้องรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ สู้บนสิทธิบนพื้นฐานทรัพยากรของชุมชน การเคลื่อนไหวเรียกร้องของสมัชชาคนจนไม่ว่าครั้งใดก็ตาม จึงเป็นการสะท้อนถึงความบกพร่องของระบบประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี เป็นการบอกว่าคนจนหมดความอดทนต่อการเอารัดเอาเปรียบ และความอยุติธรรมที่สังคมดำรงอยู่


 


ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน คนจนได้ถูกมองว่า เป็นรากเหง้าปัญหาของประชาธิปไตย เพราะคนจนเป็นเหยื่อของงประชานิยมและนักการเมืองที่ซื้อเสียง เพราะคนจนเป็นโง่ และงก ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและความจริงเหมือนคนในเมืองที่มีการศึกษาดี ซึ่งทำให้มีข้อเสนอการสร้างการเมืองใหม่ที่มุ่งเอาอำนาจออกจากคนจน ดังนั้น สมัชชาคนจนจึงมีท่าทีต่อปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันดังต่อไปนี้


 


1. หัวใจของการเมืองภาคประชาชนก็คือ ปัญหาความไม่เป็นธรรมและความอยุติธรรมของสังคม ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ดำรงอยู่ จนทำให้สมัชชาคนจนและขบวนการภาคประชาชนปรากฏตัวขึ้น ไม่ใช่ปัญหาที่คนในเมืองและผู้มีการศึกษามองและประณามคนจนว่าเป็นสาเหตุและต้นตอของปัญหา เพราะเป็นคนโง่ งก ด้วยการเป็นเหยื่อนักเลือกตั้ง และนโยบายประชานิยม จึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดประณามคนจน


 


2. ขอคัดค้านการแก้ปัญหาด้วยการละเมิดต่อหลักนิติธรรม และวิธีการนอกระบบทุกรูปแบบ ที่ไม่ส่งเสริมการสร้างและจรรโลงประชาธิปไตย และจะสร้างปัญหาสังคมการเมืองในระยะยาว 3.ขอคัดค้านการสร้างการเมืองใหม่ และการปฏิรูปประชาธิปไตยที่มุ่งอำนาจออกไปจากประชยาชน คนธรรมดาและอำนาจของคนจน จริงอยู่ว่าระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน และระบบตัวแทนผ่านการเลือกตั้งมีปัญหา แต่การทำให้ประชาธิปไตยแบบตัวแทนเพียงพอและเข้มแข็งจะต้องเป็นการถ่ายโอนอำนาจมาสู่ชุมชนและสู่คนจนและประชาชนธรรมดา เพื่อสามารถจัดการชีวิตสาธารณะด้วยตัวเองมากขึ้น


 


"สุดท้าย การย่างเข้าสู่ปีที่ 13 ของสมัชชาคนจน พวกเรายังเชื่อมั่นว่าจะไม่มีความยากจนในสังคมที่ยุติธรรม ดังนั้น ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้ พวกเราขอยืนยันว่า การสร้างประชาธิปไตยจะต้องไปในทิศทางที่ถ่ายโอนอำนาจมาสู่ประชาชนคนธรรมดาและคนจน ไม่ใช่ประชาธิปไตยของชนชั้นนำและผู้ดี และจะต้องเป็นประชาธิปไตยที่กินได้ มุ่งแก้ไขปัญหาความเป็นธรรมและความอยุติธรรมของสังคม และเป็นการเมืองที่เห็นหัวคนจน ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน" นางประทินกล่าว         


 


ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นกิจกรรม กลุ่มผู้ชุมนุมได้เดินทางไปร่วมงาน พิธีมอบรางวัล "วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ สำหรับวิทยานิพนธ์เพื่อคนจน" ซึ่งจัดโดย สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับกองทุนวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


 


 


คำประกาศของสมัชชาคนจน


 


 


ปีนี้ เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล วันที่ ๑๐ ธันวาคม ซึ่งถือเป็นวันครบรอบ ๖๐ ปีแห่งการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เมื่อ ๖๐ ปีที่ผ่านมา ที่ประชุมใหญ่แห่งสหประชาชาติได้มาประชุมกันที่ Pallais de Chaillot ณ กรุงปารีสเพื่อรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและประกาศว่าหลักการสิทธิมนุษยชนดังกล่าวเป็นสิทธิสำหรับประชาชนทุกคนในทุกประเทศ หลักการดังกล่าวได้ถือเป็นบรรทัดฐานสำหรับแนวคิดสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการยอมรับแม้แต่ในรัฐที่ได้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน


 


ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนประกอบด้วยมุมมองของโลกในเรื่องเสรีภาพ ความยุติธรรมและสันติภาพ และรองรับในประเด็นเรื่องสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สิทธิทางสังคมและสิทธิทางวัฒนธรรม ซึ่งทั้งหมดนี้เราถือว่าเป็นหลักการสิทธิมนุษยชนที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้จากศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ถือว่าเป็นฐานรากที่สำคัญของโลก อย่างไรก็ตาม ๖๐ ปีหลังการประกาศรับรองปฏิญญาสากลดังกล่าวโดยประชาคมนานาชาตินั้น ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละวันในพื้นที่ต่างๆในโลกปัจจุบันกลับห่างไกลจากภาพอุดมคติที่เป็นฐานของปฏิญญาสิทธิมนุษยชน ตรงกันข้ามการยอมรับแนวคิดสิทธิมนุษยชนสากลที่ปรากฏในปี ๒๕๕๑ (ค.ศ. ๒๐๐๘) นี้ยังเป็นเพียงความคาดหวังที่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ


 


แน่นอน ความเป็นจริงที่โหดร้ายดังกล่าวที่ปรากฏขึ้นทั่วโลกนั้นมักเกิดขึ้นกับกลุ่มคนผู้ด้อยโอกาสในสังคม ผู้ที่ไม่สามารถปกป้องตนเอง ผู้ทีตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในกรณีของประเทศไทยนั้น ภาพสะท้อนของกลุ่มผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการไม่ยอมรับหลักการสิทธิมนุษยชนและการไม่ได้รับความยุติธรรมนั้นสามารถดูได้จากสมาชิกของสมัชชาคนจน


 


สมาชิกสมัชชาคนจนประกอบด้วยเครือข่าย ๗ เครือข่าย สมัชชาคนจนเป็นการรวมกลุ่มของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคมที่ได้ผลกระทบเป็นระยะเวลายาวนานจากเส้นทางการพัฒนาที่ล้มเหลวของรัฐไทย กลุ่มคนเหล่านี้ประกอบด้วยเครือข่ายผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตป่าและชุมชนพื้นเมืองที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิชุมชนและสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการยังชีพ เครือข่ายชาวนาผู้ไร้ที่ดินและชาวนาจนที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิในการดำรงวิถีชีวิตและความมั่นคงในที่ดิน เครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนโดยปราศจากสิทธิในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในโครงการดังกล่าว เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านผู้กำลังเผชิญหน้ากับการสูญเสียวิถีในการดำรงชีวิตของตน เครือข่ายผู้ใช้แรงงานที่เจ็บป่วยที่สิทธิในสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานของพวกเขาถูกละเมิดอย่างโหดเหี้ยม เครือข่ายชาวนาที่ต่อสู้ในการยืนยันถึงอธิปไตยทางอาหารโดยผ่านการเกษตรที่ยั่งยืน และเครือข่ายชาวสลัมและกลุ่มคนไร้บ้านที่ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิในที่อยู่อาศัยและสิทธิในการตั้งถิ่นฐานและยังคงต้องต่อสู้กับอันตรายจากการไล่รื้ออยู่ตลอดเวลา


 


ผลจากความเดือดร้อนของสมัชชาคนจนที่ยังคงถูกละเลยและไม่ได้รับการเหลียวแลแก้ไขปัญหาจากรัฐทำให้สมาชิกของสมัชชายังต้องพบกับความทุกข์ยากจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน สภาพความอยุติธรรมเหล่านี้เป็นเครื่องชี้ถึงความล้มเหลวของรัฐไทยในการเคารพอย่างจริงใจต่อหลักการสิทธิมนุษยชนสากล และสะท้อนถึงการทำงานที่ยังคงต้องดำเนินการต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหาของคนจนและการประกันหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นในสังคมไทย


 


ขณะเดียวกัน การต่อสู้ของสมัชชาคนจนยังได้รองรับข้อเท็จจริงที่ว่ามีเพียงการสมานฉันท์และเอกภาพในการต่อสู้ร่วมกันของขบวนการประชาชนเท่านั้นจึงจะทำให้ปัญหาการละเมิดหลักการขั้นพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนได้รับการกล่าวถึง ประสบการณ์ของสมัชชาคนจนนั้นชี้ให้เห็นว่าสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ สิทธิชุมชน สิทธิพลเมืองในการเข้าไปมีส่วนร่วม สิทธิแรงงานและสิทธิในที่อยู่อาศัยล้วนประสบความสำเร็จจากการที่กลุ่มผู้ด้อยโอกาสลุกขึ้นต่อสู้ร่วมกัน


 


วันนี้ เนื่องในวาระครบรอบ ๖๐ ปีของการเฉลิมฉลองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เราสมัชชาคน ขอเรียกร้องต่อสหประชาชาติให้ทำงานเพิ่มขึ้นเพื่อทำให้หลักการสิทธิมนุษยชนได้รับการรองรับและนำไปสู่ปฏิบัติการที่แท้จริง เรายังขอวิงวอนให้ขบวนการของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทั่วโลกจงมีเอกภาพและมีความสมานฉันท์ในการร่วมกันต่อสู้เพื่อแก้ไขปัญหาที่พวกเราประสบอยู่ที่เป็นผลมาจากระบบและกลไกเชิงสถาบันที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของเรา พวกเราจะต้องร่วมกันต่อสู้เพื่อให้บรรลุถึงการทำให้สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิของประชาชนทุกคนในทุกหนทุกแห่ง


 


๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๑


 


 


 


 


 


แถลงการณ์


13 ปี สมัชชาคนจน และ 60 ปี สิทธิมนุษยชนสากล


"สร้างประชาธิปไตยที่กินได้ ปกป้องและรักษาสิทธิชุมชน"


ณ มุดประชาธิปไตย วันที่ 10 ธันวาคม 2551


-------------------------------------------


 


ตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา สมัชชาคนจนและขบวนการภาคประชาชนต้องต่อสู้กับการแย่งชิงฐานทรัพยากร ดิน น้ำป่า ทะเล ซึ่งเป็นละเมิดสิทธิชุมชน ปล้นสิทธิของชุมชนด้วยการสร้างเขื่อนปิดแม่น้ำไม่รู้กี่สาย และทำกินถิ่นฐานถูกน้ำท่วมทำลาย การต่อสู้เพื่อปกป้องที่ดินทำกินและป่า ทำให้พวกเราหลายคนโดนกฎหมายยัดเยียดข้อหาบุกรุกทำลาย เครือข่ายประมงพื้นบ้านยังต่อต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรชายฝั่งที่อาศัยเป็นสภาพการดำรงชีพ พี่น้องในเมืองซึ่งเป็นแรงงานราคาถูกและไร้สวัสดิการ ยังต้ออยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานซึ่งก่อมลพิษร้ายและขูดรีดร่างกาย พี่น้องคนสลัมยังต้องเผชิญกับการไล่รื้อเพื่อนำที่ดินไปใช้เชิงพาณิชย์ ฯลฯ


 


การเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจนจึงเป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ สู้เพื่อสิทธิบนฐานทรัพยากรของชุมชนบนฐาน และปัจจัยพื้นฐานสำหรับการดำรงชีพ การเคลื่อนไหวเรียกร้องของพวกเราครั้งใดก็ตาม จึงเป็นภาพสะท้อนถึงความบกพร่องของระบอบประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี เป็นการบอกว่า คนจนหมดความอดทนต่อการเอารัดเอาเปรียบ และความอยุติธรรมในสังคมที่ดำรงอยู่


 


ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน คนจนได้ถูกมองว่า เป็นรากเหง้าปัญหาของประชาธิปไตย เพราะคนจนเป็นเหยื่อของประชานิยมและนักการเมืองที่ซื้อเสียง เพราะคนจนเป็นโง่ และงก ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและความจริงเหมือนคนในเมืองที่มีการศึกษาดี ซึ่งทำให้มีข้อเสนอการสร้างการเมืองใหม่ที่มุ่งเอาอำนาจออกจากคนจน


 


ดังนั้น สมัชชาคนจนจึงมีท่าทีต่อปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันต่อไปนี้


 


1.เราเห็นว่า หัวใจของการเมืองภาคประชาชนก็คือ ปัญหาความไม่เป็นธรรมและความอยุติธรรมของสังคมซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ดำรงอยู่ จนทำให้สมัชชาคนจนและขบวนการภาคประชาชนปรากฏตัวขึ้น ไม่ใช่ปัญหาที่คนในเมืองและผู้มีการศึกษามองและประณามคนจนว่าเป็นสาเหตุและต้นตอของปัญหา เพราะเป็นคนโง่ งก ด้วยการเป็นเหยื่อนักเลือกตั้งและนโยบายประชานิยม เราจึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดประณามคนจน


 


2.เราขอคัดค้านการแก้ปัญหาด้วยการละเมิดต่อหลักนิติธรรม และวิธีการนอกระบบทุกรูปแบบ ที่ไม่ส่งเสริมการสร้างและจรรโลงประชาธิปไตย และจะสร้างปัญหาสังคมการเมืองในระยะยาว


 


3.เราขอคัดค้านการสร้างการเมืองใหม่ และการปฏิรูปประชาธิปไตยที่มุ่งเอาอำนาจออกไปจากประชาชนคนธรรมดาและอำนาจของคนจน จริงอยู่ว่า ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน และระบบตัวแทนผ่านการเลือกตั้งมีปัญหา แต่การทำให้ประชาธิปไตยแบบตัวแทนเพียงพอและเข้มแข็งจะต้องเป็นการถ่ายโอนอำนาจมาสู่ชุมชน และสู่คนจนและประชาชนธรรมดา เพื่อสามารถจัดการชีวิตสาธารณะด้วยตัวเองมากขึ้น


 


สุดท้าย การย่างก้าวเข้าสู่ปีที่13 ของสมัชชาคนจน พวกเรายังเชื่อมั่นว่าจะไม่มีความยากจนในสังคมที่ยุติธรรม ดังนั้น ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้ พวกเราขอยืนยันว่า การสร้างประชาธิปไตยจะต้องไปในทิศทางที่ถ่ายโอนอำนาจมาสู่ประชาชนคนธรรมดาและคนจน ไม่ใช่ประชาธิปไตยของชนชั้นนำและผู้ดี และจะต้องเป็น ประชาธิปไตยที่กินได้ มุ่งแก้ไขปัญหาความเป็นธรรมและความอยุติธรรมของสังคม และเป็น การเมืองที่เห็นหัวคนจน ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน


 


ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน


สมัชชาคนจน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net