Skip to main content
sharethis


 


วานนี้ (17 ธ.ค.51) สมาพันธ์วิทยุชุมชนฅนอีสาน ร่วมกับ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดการนำเสนองานวิชาการ เรื่อง การมีส่วนร่วมในงานวิทยุชุมชนพื้นที่อีสาน ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของสมาพันธ์วิทยุชุมชนฅนอีสาน มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และสถาบันชุมชนอีสาน ภายใต้การสนับสนุนจาก มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ (HBF) ณ ห้องดอกจาน 3 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี


 


ดร.นำใจ อุทรักษ์ ในนามคณะกรรมการสมาพันธ์วิทยุชุมชนคนอีสาน นำเสนองานวิชาการ เรื่องการมีส่วนร่วมในงานวิทยุชุมชนพื้นที่อีสานโดยกล่าวว่า การศึกษาในครั้งนี้คาดหวังให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานเครือข่ายวิทยุชุมชน บนพื้นฐานการจัดการองค์ความรู้การมีส่วนร่วมในงานวิทยุชุมชน และสังคมได้เข้าใจถึงวิทยุชุมชนที่เป็นของชุมชน เพื่อชุมชน โดยชุมชน มากขึ้น


 


เริ่มต้นการศึกษาคณะผู้วิจัยร่วมจากสมาพันธ์วิทยุชุมชนฅนอีสาน มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และสถาบันชุมชนอีสาน ร่วมกันคัดเลือกสถานีวิทยุที่เป็นตัวอย่างในการมีส่วนร่วมจากหลายๆ ภาคส่วนที่แตกต่างกัน ได้พื้นที่ตัวอย่างในการศึกษาจำนวน 5 พื้นที่ ประกอบด้วย 1.วิทยุชุมชนคนนาทอง จ.มหาสารคาม 2.วิทยุชุมชนชาวธาตุพนม จ.นครพนม 3.วิทยุชุมชนคนภูไท จ.อุดรธานี 4.วิทยุเด็กและเยาวชนจังหวัดเลย จ.เลย และ 5.วิทยุชุมชนพระพุทธศาสนา จ.สุรินทร์


 


จากนั้นทำการศึกษาด้วยวิธีการสัมภาษณ์กลุ่ม และการสัมภาษณ์เชิงลึกบุคคลเกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของชุมชน นอกจากนั้นยังมีการประชุมร่วมกันเพื่อมาร่วมให้ข้อมูลเพิ่มเติม และแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผลการศึกษาเบื้องต้น ทั้งนี้ระยะเวลาในการศึกษาอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม - พฤศจิกายน ปี 2551


 


ดร.นำใจ กล่าวให้ข้อมูลด้วยว่า วิทยุชุมชนในประเทศไทยเกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และกฎหมายลูก คือพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 ซึ่งปัจจุบันถูกแก้ไขโดยรัฐบาล โดยมีความไม่โปร่งใสในส่วนของที่มา ของคณะกรรมการจัดสรรคลื่นความถี่ หรือข้อกำหนดเดิมที่รัฐจัดสรรคลื่นความถี่ร้อยละ 20 ให้ประชาชนใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ


 


ภายใต้หลักการ วิทยุชุมชนเป็นของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน ดำเนินการโดยใช้รูปแบบอาสาสมัคร และไม่แสวงหากำไรทางธุรกิจ  ในปี พ.ศ. 2545 วิทยุชุมชนต้นแบบ 100.75 กาญจนบุรี ซึ่งถือว่าเป็นวิทยุชุมชนแห่งแรก จึงเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการ ด้วยการขยายความรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการฝึกอบรมเกี่ยวกับการดำเนินงานวิทยุชุมชน ให้แก่ประชาชนผู้สนใจอย่างต่อเนื่อง จากนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน และนักพัฒนาองค์กรเอกชน


 


ทั้งนี้ ในช่วง พ.ศ. 2547 รัฐบาลโดย กรมประชาสัมพันธ์ อนุญาตให้วิทยุชุมชนสามารถมีโฆษณาได้ ส่งผลให้วิทยุชุมชนจากประมาณ 500 สถานี ปัจจุบันเพิ่มเป็นกว่า 4,000 สถานี และนโยบายนี้มีผลกระทบอย่างยิ่งต่อวิทยุชุมชนที่ดำเนินตามหลักการวิทยุชุมชน เพราะสาธารณชนเกิดความสับสนว่าวิทยุชุมชนคืออะไร โดยที่วิทยุชุมชนที่ดำเนินการตามหลักการที่ชุมชนเป็นเจ้าของ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง ก็ยังคงดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านมายังไม่เป็นที่รับรู้ในสังคมวงกว้าง


 


"งานศึกษาฯ ชิ้นนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะศึกษาการมีส่วนร่วมในงานวิทยุชมชนของท้องถิ่นอีสาน เพื่อให้วิทยุชุมชน และทุกภาคส่วนตระหนักว่า วิทยุชุมชนที่ดำเนินตามหลักการของชุมชน เพื่อชุมชน และโดยชุมชนนั้น สามารถดำเนินงานได้จริง ท่ามกลางอุปสรรคปัญหามากมาย" ดร.นำใจกล่าว


 


ผลการวิจัยยืนยันการมีส่วนร่วมเกิดขึ้นได้จริงใน "วิทยุชุมชนของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน"


 


ด้าน นายพูลสมบัติ นามหล้า คณะกรรมการสมาพันธ์วิทยุชุมชนคนอีสาน ผู้นำเสนออีกคนหนึ่ง กล่าวว่า แม้ว่าวิทยุชุมชนจะเป็นรูปแบบหนึ่งของสื่อภาคประชาชน ที่ชุมชนเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ  โดยมีเป้าหมายและดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะของชุมชน โดยไม่แสวงหากำไร ในทางธุรกิจและผลประโยชน์ทางการเมือง แต่รัฐก็พยายามเข้ามาควบคุมผ่านช่องทางกฎหมายและการอ้างความมั่นคงของภาครัฐ พยายามที่จะดึงสิทธิและอำนาจคืนจากประชาชน


 


จากข้อมูลของเครือข่ายวิทยุชุมชนภาคตะวันตกและคณะในปี 2551พบว่า การรัฐประหารในเดือนกันยาน 2549 ได้มีการออกข้อตกลงและสั่งการ สถานีวิทยุชุมชน 17 จังหวัดภาคเหนือ ให้สถานีวิทยุชุมชนถ่ายทอดเสียงคำสั่ง แถลงการณ์ของ คปค.(คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข) ทุกครั้งที่มีประกาศ งดเปิดสายหน้าไมค์และให้สถานีวิทยุที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนหรือส่งข้อมูลกับสำนักประชาสัมพันธ์เขตให้ดำเนินการโดยเร็ว


 


นายพูลสมบัติ กล่าวต่อมาถึงการทำการวิจัยในครั้งนี้ว่า มาจากความเชื่อที่ว่าชุมชนสามารถจัดการการสื่อสารโดยใช่วิทยุชุมชนได้ ในฐานะผู้ปฎิบัติการที่เก่งที่สุด และการวิจัยครั้งนี้มองว่าชุมชนถูกเอาเปรียบ เบียดขับจากพื้นที่ทางสังคมโดยสื่อกระแสหลัก โดยมีสื่ออย่างวิทยุชุมชนเป็นสื่อแรกที่สามารถเข้าไปอยู่ในบ้านของประชาชนได้ อีกทั้งวิทยุเองไม่ได้เป็นเพียงสื่อทางเดียว สามารถสื่อได้สองทาง มีการแลกเปลี่ยนแบบสองทาง สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนในชุมชน และสร้างการมีส่วนร่วมได้


 


โดยคำถามในการวิจัย มี 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.ชุมชนมีแนวความคิดและกระบวนการในการก่อตั้งวิทยุชุมชนอย่างไร 2.ชุมชนได้มีส่วนร่วมอย่างไรบ้างในการดำเนินการวิทยุชุมชน และ3.คณะกรรมการวิทยุชุมชนใช้องค์ความรู้ท้องถิ่นในการดำเนินงานวิทยุชุมชนอย่างไร


 


นายพูลสมบัติกล่าวถึงผลการศึกษาว่า การก่อกำเนิดวิทยุชุมชนพื้นที่ภาคอีสานมาจากผลของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 กระตุ้นให้ชุมชนได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ในระยะเริ่มแรกชุมชนมีการระดมทุนกันเองในการก่อรูปร่างของวิทยุชุมชนขึ้นมา อาทิ เช่น การทำผ้าป่าสามัคคี คณะกรรมการผู้ก่อตั้งระดมทุนภายในกันเอง ขอจากกัลยาณมิตร มีบางวิทยุชุมชนที่ได้งบประมาณจากกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (SIF)


 



 


โดยมีแนวคิดในการก่อตั้งตามสภาพปัญหาของท้องถิ่นและความต้องการใช้สื่อตามสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทำให้เนื้อหารายการมีองค์ประกอบที่หลากหลายทั้งการเกษตรกรรม ธรรมะ การพัฒนากลุ่ม ข่าวสาร ประเพณีวัฒนธรรม สิทธิเสรีภาพ ผู้หญิง เด็กและสุขภาพ ฯลฯ และนอกจากเนื้อหาที่หลากหลายยังมีรูปแบบหลากหลาย ทั้งการอ่านข่าว การวิเคราะห์ข่าว การจัดรายการคู่ การบรรยาย การสัมภาษณ์


 


นายพูลสมบัติกล่าวต่อมาถึงช่วงเวลาการเปิดและปิดสถานีว่า มีการออกแบบที่สัมพันธ์สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนอีสาน คือมีการกำหนดช่วงเวลาออกอากาศที่สะดวกในการรับฟัง และเอื้ออำนวยให้นักจัดรายการ ด้วยการไม่ทำให้นักจัดรายการเสียงานหลักไป โดยยกตัวอย่างถึง วิทยุเด็กและเยาวชนจังหวัดเลย ซึ่งมีกลุ่มผู้จัดรายการส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน จึงกำหนดช่วงเวลาเปิดสถานี 17.00 น.และปิดในเวลา 21.00 น. ส่วนสถานีวิทยุชุมชนชาวธาตุพนมเปิดสถานีในช่วงเช้า 05.00 น และจะไปปิดช่วง 14.00 น. และจะไปเปิดอีกครั้งเวลา 16.30-19.00 น. ในช่วงเย็นที่ทุกคนกลับเข้าบ้านแล้ว พร้อมที่จะฟังวิทยุอีกครั้งหนึ่ง


 


นอกจากนี้ในสถานที่ตั้งของวิทยุชุมชนทั้ง 5 แห่งมีความหลากหลายของจุดที่ตั้ง และทั้งหมดตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะประโยชน์หรือพื้นที่ส่วนกลาง ไม่ได้เป็นที่ของคนใดคนหนึ่ง ซึ่งมีนัยบ่งบอกถึงการเป็นสมบัติสาธารณะ ซึ่งเป็นไปตามอุดมการณ์วิทยุชุมชน "ของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน"


 


นายพูลสมบัติกล่าวต่อมาว่า การที่วิทยุชุมชนสามารถยืนหยัดอยู่ได้เพราะว่ามีกลุ่มแกนนำหลักที่ทำงานอย่างหนักในการทำให้วิทยุชุมชนพึ่งตนเองได้และประสานความร่วมมือกับหลายภาคส่วน ตลอดถึงการระดมทุนมาส่งเสริมสนับสนุนวิทยุชุมชน และเห็นได้ถึงบทบาทการมีส่วนร่วมของสตรีทั้งในระดับเข้าถึง เช่นการเป็นผู้ฟัง ผู้สนับสนุนทุน และในระดับนโยบายหรือการตัดสินใจ เช่น การเป็นผู้จัดรายการ การเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นกรรมการ แม้ว่าในสัดส่วนผู้หญิงที่มีรายชื่อเป็นคณะกรรมการมีน้อย แต่ก็เล็งเห็นถึงความสำคัญ


 


 


 


ส่วนปัญหาของวิทยุชุมชน นายพูลสมบัติกล่าวว่า วิทยุชุมชนมีปัญหาด้านทุนและทรัพยากรเป็นหลักเพราะวิทยุชุมชนไม่ได้เป็นรูปแบบทุนนิยมหรือมีรายได้จากรับโฆษณาสินค้า ปัญหาต่อมาคือเรื่องปัญหาคลื่นแทรกคลื่นทับ หลังจากรัฐปล่อยให้มีการจัดตั้งวิทยุชุมชนที่มีโฆษณาและกระจายเสียงเกินกว่าเกณฑ์ทางเทคนิคที่รัฐกับภาคประชาชนเคยตกลงกันไว้ ปัญหาด้านบุคลากรด้านเทคนิคก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ชุมชนท้องถิ่นที่มีคนที่มีความรู้เรื่องนี้น้อยและไม่มีค่าตอบแทน


 


การทำงานวิทยุชุมชนเป็นรูปแบบอาสาสมัคร เมื่อผู้จัดรายการบางคนได้รับการยอมรับจากผู้ฟังแล้วก็ตีจากไปอยู่กับวิทยุชุมชนที่มีโฆษณาและมีค่าตอบแทน ผู้จัดรายการขาดข้อมูลใหม่ ๆ มานำเสนอ ประชาชนยังไม่รู้สึกว่าวิทยุชุมชนมีความสำคัญกับตนเอง ประชาชนไม่รู้สึกเป็นเจ้าของ ปล่อยให้กรรมการหลักหรือแกนนำหลักเป็นผู้รับภาระอันหนักหน่วง การแทรกแซงของรัฐยังมีอยู่เสมอด้วยวาทะกรรมเก่า ๆ คือความมั่นคงของรัฐและมีการรุกราน ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพทั้งรูปแบบกฎหมายและอำนาจที่ไม่เป็นธรรม


 


ในส่วนของข้อเสนอแนะนายพูลสมบัติกล่าวว่า ในอนาคตข้างหน้าควรศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action research) โดยมุ่งศึกษาในเรื่องการพัฒนารูปแบบและเนื้อหาของวิทยุชุมชน รูปแบบการสื่อสารวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อสาธารณะ และเรื่องบทบาทชายหญิงในวิทยุชุมชน


 


ข้อเสนอแนะในเชิงปฏิบัติการ คือ 1.สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ 2.พัฒนาศักยภาพคณะกรรมการ นักจัดรายการ รวมทั้งประชาชนในชุมชน 3.นำเอาเรื่องราวเกี่ยวกับท้องถิ่นมานำเสนอ 4.การระดมทุนที่จะสามารถให้วิทยุชุมชนยืนอยู่ได้ 5.การสร้างกลไกระดับชุมชนเพื่อเป็นกลไกทางด้านการสื่อสารให้กับกลุ่มต่างๆ ในชุมชน 6.การสร้างกลไกระดับเครือข่ายทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติเพื่อที่จะสามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ ทั้งด้านความคิด ด้านนโยบายและกฎหมาย ในเชิงรูปธรรม


 


"เราจะต้องต่อสู้ต่อไป ในการจี้ให้รัฐในสิทธิต่อชุมชน ให้ทุนวิทยุชุมชนในการดำเนินการ และทำให้วิทยุชุมชนเป็นสื่อท้องถิ่นที่เป็นสมบัติของท้องถิ่นโดยที่รัฐไม่เข้าไปแทรกแซง" นายพูลสมบัติกล่าว


 


นักวิชาการแนะสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนอย่างแท้จริง พร้อมย้ำติดตามนโยบายรั


 


นายธีระพล อันมัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีกล่าวว่า การนำเสนอครั้งนี้เป็นการนำเสนอสิ่งที่ดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วม และทำให้เกิดความเข้าใจต่อวิทยุชุมชนที่ไม่ใช่อะไรก็ได้ แต่มีที่มา มีอุดมการณ์ และเป้าหมายที่ชัดเจนในการจัดตั้ง ซึ่งถ้าจะพูดถึงวิทยุชุมชนต้องพูดถึงหลักการประชาธิปไตย ที่ว่าเป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน โดยต้องยึดหลักตรงนี้ให้มั่น


 


นายธีระพล กล่าวต่อมาว่า สื่อวิทยุของไทยมีพัฒนาการยังไม่ถึงร้อยปี และมีจุดเริ่มต้นเป็นของรัฐ บริหารโดยรัฐ เพื่อตอบสนองอุดมการณ์ชาตินิยมของรัฐ ตั้งแต่ในช่วงปี 2520-2530 ต่อมาในช่วงปี 2530-2546 สื่อวิทยุกระแสหลักถูกเปลี่ยนไปอยู่ในมือของทุนเอกชนมากขึ้น กลายเป็นเครื่องมือของทุนเพื่อการค้า และแม้แต่ อสมท.(องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย) ก็เกิดขึ้นมาเพราะเห็นว่าวิทยุสามารถทำการค้าได้ โดย อสมท.ทำหน้าที่เป็นเจ้าของคลื่น และให้เอกชนเช่าเหมาคลื่นดำเนินการขายโฆษณา แสวงหากำไร


 


ในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ปี 35 คนถูกปิดกันข้อมูล ทั้งทีวี วิทยุ สื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือรับใช้ใครบางคน ทำให้รู้สึกว่าต้องมีสื่อที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชนอย่างแท้จริง จึงเกิด ไอทีวี ที่ปัจจุบันนี้เป็น TPBS ในฐานะทีวีสาธารณะ แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ก็ต้องผ่านการถือครองทั้งจากราชการ ทุน และทุนราชการเป็นนับสิบปี


 


ในส่วนของวิทยุชุมชน นายธีระพลกล่าวว่า เมื่อมีการเปิดให้ประชาชนใช้สิทธิในการเป็นเจ้าของช่องทางในการสื่อสารก็เกิดปากฎการณ์ที่งอกงาม เพราะมีวิทยุชุมชนอุดมการณ์ ไม่แสวงหาผลกำไรทางธุรกิจ หรืออำนาจทางการเมือง แต่ปัญหาก็ตามมาเมื่อมีการเปิดให้มีการโฆษณาได้ในวิทยุชุมชน โดยที่อุดมการณ์เดิมไม่ถูกประกาศออกมาในวงกว้าง ทำให้วิทยุชุมชนถูกบิดเบือน นอกจากนี้ยั้งทำให้คนที่มีอุดมการณ์ไขว้เขวไปจากแนวทางเดิม


 


อีกทั้ง กระบวนการรัฐที่ลักลั่น ผิดพลาด ก็ทำให้กระบวนการตามกฎหมายที่จะมารองรับสิทธิของประชาชนมีความล่าช้าไป แต่ที่ผ่านมาก็ได้มีความพยายามในการก่อกำเนิดวิทยุชุมชนอย่างแท้จริงขึ้นมา ด้วยความเชื่อว่าสื่อมีอิทธิพล มีอำนาจ สิ่งที่สื่อพูดมีความสำคัญ วิทยุชุมชนจึงถูกในในฐานะเป็นเครื่องมือปลดปล่อยจากการเป็นทาส ด้วยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้ประชาชน และเป็นช่องทางและพื้นที่สำหรับเด็กในการแสดงออก


 


"ทำให้เด็กมีพื้นที่ ทำให้พระมีพื้นที่ ทำให้ชาวนามีพื้นที่ ทำให้เกษตรกรมีพื้นที่ ที่จะประกาศ หรือบอกความทุกข์ บอกความอัดอันตันใจ บอกสิ่งดีงามของตัวเอง วิทยุชุมชนมันคือพื้นที่ของคนที่ไร้เสียง อยากเปล่งเสียง ต้องได้เปล่ง อยากพูดต้องได้พูด พูดในสิ่งที่มันจะทำให้เราได้เรียนรู้กันและกัน" นายธีระพลกล่าว พร้อมเสนอว่าวิทยุชุมชนจากการศึกษาที่ 5 พื้นที่น่าจะมีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานซึ่งกันและกัน เพื่อเรียนรู้แลกเปลี่ยนข้อมูล


 


นายธีระพล กล่าวต่อมาถึงข้อเสนอต่องานวิจัยว่า การมีส่วนร่วมในการสื่อสารของวิทยุชุมชน และความเป็นเจ้าของในช่องทางการสื่อสารของประชาชน เป็นสิ่งที่น่าจะมีการศึกษาเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมในตรงนี้ โดยยกตัวอย่างในเรื่องการได้รับประโยชน์ ทั้งประโยชน์จากการฟังเพลง หรือจากการได้รับฟังเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ โดยเริ่มจากมีการเลือกรับฟังข้อมูลจากแหล่งดังกล่าว


 


ส่วนการขยายการมีส่วนร่วมในเรื่องบทบาทของผู้หญิง นายธีระพลเสนอให้มีการนำพลังของผู้หญิงมาเป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนวิทยุชุมชนให้มากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะในฐานะผู้ฟัง


 


ในช่วงระยะเวลาที่กระบวนการจัดสรรคลื่นใกล้เป็นจริงขึ้นมา ท่ามกลางสภาวการณ์ที่มีทั้งวิทยุชุมชนที่แท้จริงและวิทยุชุมชนที่อ้างว่าเป็นวิทยุชุมชนปะปนกันอยู่ในสังคม การทำให้มองเห็นภาพการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างเข้มข้น หลากหลาย และสามารถอธิบายได้ จะมีส่วนช่วยยืนยันในการเป็นเจ้าของช่องทางการสื่อสารของชุมชนเพื่อการพิจารณาในการจัดสรรคลื่น


 


"ต้องทำให้การมีส่วนร่วมเกิดขึ้นจริง อย่างให้มีส่วนร่วมเฉพาะในชื่อ" นายธีระพลกล่าว


 


นายธีระพล กล่าวถึงข้อเสนอต่อมาว่า นอกจากการทำให้วิทยุของชุมชนดำเนินการอยู่ได้ พร้อมๆ กันนั้นประกอบการวิทยุชุมชนจะต้องตระหนักถึงนโยบายที่กำลังเดินหน้าไปเรื่อยๆ เพราะปัจจุบันมีการปรับปรุงกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ปี พ.ศ.2543 และในการจัดสรรคลื่นความถี่มีคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ทั้งตัวแทนจากการเมือง วิชาชีพ ภาคธุรกิจ สื่อ นักวิชาการ เอ็นจีโอ รวมทั้งตัวแทนสื่อภาคประชาชน ดังนั้น กฎเกณฑ์ที่ออกมาจะทำให้สามารถมั่นใจได้หรือไม่ว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ตามที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ จะสามารถรักษาไว้ให้วิทยุชุมชนได้ และ 20 เปอร์เซ็นต์นี้ จะมีเพื่อวิทยุชุมชนที่แท้จริง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ หรือไม่แสวงหาอำนาจทางการเมือง ได้หรือไม่


 


"หนึ่งก็คือว่าเราต้องยืนยันว่า 20 เปอร์เซ็นต์นี้ต้องเป็นของเรา เราที่เป็นวิทยุชุมชน ที่เป็นประชาธิปไตย ของชุมชน โดยชุมชนเพื่อชุมชน ไม่เกี่ยว กับผลประโยชน์ทางธุรกิจไม่เกี่ยวกับอำนาจทางการเมือง มันต้องประกาศให้ชัดแบบนี้ด้วย แล้วก็ต้องให้เค้ารู้ด้วยว่าเรามีจริง ด้วยการทำของเรา การทำจริงในพื้นที่ของเรานี่แหละ ใครมาถาม ทุกคนที่ฟังเราสามารถยืนยันได้ ตอบได้ ว่านี่ของจริง" นายธีระพลกล่าว


 


นอกจากนี้นายธีระพลยังเสนอด้วยว่า ควรมีการเอาจริงเอาจังกับกระบวนการสรรหาบุคคลที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการสรรหา และคณะกรรมการจัดสรรคลื่นความถี่ด้วย เพราะไม่สามารถมั่นใจได้ว่าคนที่จะมาดูแลวิทยุชุมชนจะเข้าใจวิทยุชุมชนได้จริงๆ


 


"ถ้าพูดคำว่าก็ช่างเขา เขาจะทำอะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่คิดว่าเป็นของเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มันจะเป็นของเราไหม ผมไม่แน่ใจ"


 


"อย่าคิดว่าคลื่นที่เรามีอยู่จะเป็นของเราต่อไป ถ้าเราไม่ยืนหยัดในหลักการในแนวทางของเรา แล้วก็ไม่ระดมการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ผมไม่ได้ขู่นะครับ ผมอยากจะเดาใจของผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะรัฐซึ่งไม่เคยสูญเสียสิทธิที่จะประกาศอะไรออกมา ถึงวันหนึ่งเราจะได้ส่วนแบ่ง การที่เราจะได้มามันคงไม่ได้ง่ายๆ" นายธีระพลกล่าวทิ้งท้าย


 


ความคิดจากคนทำวิทยุชุมชน


 


นาวาเอกทวีศักดิ์ สุภานันท์ หนึ่งในคณะผู้ริเริ่มวิทยุชุมชนคนภูไทกล่าวว่า การมีส่วนร่วมของชุมชนในการทำวิทยุชุมชนคล้ายกับการมีส่วนร่วมในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งแม้ว่าจะเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2475 แต่ขณะนี้ก็ยังเห็นได้ว่าประชาชนยังไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่จริง ดังนั้นการมีส่วนร่วมหรือการสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของในตรงนี้จึงต้องอาศัยเวลา อีกทั้ง วิทยุชุมชนมันมีลักษณะเป็นนามธรรมไม่เหมือนกับป่าชุมชมชนที่มีลักษณะการมีส่วนร่วมและการเป็นเจ้าของที่เป็นรูปธรรมกว่า และนอกจากสื่ออย่างวิทยุชุมชนแล้วในชุมชนยังมีสื่อกระแสหลักต่างๆ ที่ส่งถึงบ้านตลอด 24 ชั่วโมงอยู่ด้วย


 


ทั้งนี้เป็นหน้าที่ของแกนนำวิทยุชุมชนที่ต้องเป็นผู้ให้ และทำให้ชุมชนได้เห็น ให้เวลาชุมชนได้มีกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง แล้วการมีส่วนร่วมก็จะเข้ามา ซึ่งก็ต้องขอให้คนทำวิทยุชุมชนอดทน และมีความเชื่อมั่น แม้ว่าชั่วชีวิตหนึ่งนี้อาจไม่ได้เห็น แต่เชื่อว่าเยาวชนรุ่นต่อไปจะได้มาเรียนรู้จากสิ่งที่คนรุนเราได้ทำไว้   


 


ด้านนายวีรพล เจริญธรรม ผู้ริเริ่มวิทยุชุมชน เด็กและเยาวชนจังหวัดเลยกล่าวว่า การริเริ่มทำวิทยุชุมชนของเด็กเกิดจากความต้องการของคนในชุมชนที่จะแก้ปัญหาเด็กมีพฤติกรรมเกเร ซึ่งไม่ใช่การจับเด็กแยกกลุ่มเด็กดีและเด็กเกเร แต่หากิจกรรมเพื่อให้เด็กได้ทำร่วมกัน เป็นการดึงเอาเด็กที่มีความสนใจให้มาเรียนรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ แม้ว่าในช่วงแรกการตอบรับจากคนฟังจะไม่ดีนัก แต่เมื่อเด็กได้ฝึกฝนตัวเองก็มีการสร้างเสริมทักษะมากขึ้น ช่วยพัฒนาเด็กให้เป็นคนมีความคิดและกล้าการนำเสนอ  


 


"เครื่องเสียได้ เสียแล้วก็ซ่อม แต่คนเสียไม่ได้ เพราะมันซ่อมไม่ได้" นายวีรพลเล่าถึงความคิดที่ให้เด็กทดลองทำรายการวิทยุชุมชน ทั้งที่มีการท้วงติงว่าจะทำให้อุปกรณ์ในการทำวิทยุซึ่งมีราคาแพงได้รับความเสียหาย


 



 


..................................................................


 


หมายเหตุ:


"สมาพันธ์วิทยุชุมชนฅนอีสาน" เกิดจากการที่ผู้แทนแต่ละสถานีวิทยุชุมชนร่วมกับผู้ประสานงานวิทยุชุมชนในระดับจังหวัดยังได้รวมตัวกันเป็น เพื่อเป็นองค์กรประสานงานระหว่างวิทยุชุมชนในระดับชาติและวิทยุชุมชน 39 สถานีในภาคอีสาน โดยได้ทำข้อตกลงเป็นกติกาเบื้องต้น ในรูปแบบการดำเนินกิจกรรมตาม"ข้อบังคับสมาพันธ์วิทยุชุมชนฅนอีสาน" ซึ่งมีเป้าหมายว่า จะมีการจัด "สมัชชาสมาพันธ์วิทยุชุมชนฅนอีสาน" ขึ้นเมื่อมีความพร้อม


 


 


 


รายละเอียดโดยย่อของสถานีวิทยุชุมชนทั้ง  5 แห่ง


 


วิทยุชุมชนคนนาทอง  บ้านแบก ม.7 ต.นาทอง อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2544 มีคนหลักคือ นายมงคล บริสุทธิ์ เป็นแกนนำในการก่อตั้ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการก่อตั้งจากสำนักงานกองทุนการลงทุนเพื่อสังคม (SIF) และจัดผ้าป่าระดมทุนมีเป้าหมายในระยะเริ่มต้นคือการสื่อสารข้อมูลให้กับเกษตรกรเกี่ยวกับพิษภัยจากสารสารเคมีและสารพิษ


 


วิทยุชุมชนชาวธาตุพนม หมู่บ้านพัฒนาชาติไทย ต.อุ่มเหม้า อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เป็นหมู่บ้านที่ทางราชการจัดสรรเพื่อรองรับให้กับกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยหรือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2548 มีนายเข็มพร เชื้อตาหมื่น เป็นแกนนำหลัก ที่ได้ศึกษาและฟังแนวคิดของ อาจารย์เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ที่ประชาชนสามารถเป็นเจ้าของสถานีวิทยุชุมชนได้ตามกรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2540 ประกอบกับตนเองเชื่อว่า การได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารถือเป็นสิทธิและเสรีภาพจึงได้จัดประชุมชาวบ้านเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและตั้งสถานี ทุนที่ได้ มาจากการระดมทุนภายในชุมชนทั้งหมด


 


วิทยุชุมชนคนภูไท วัดป่าโพนพระเจ้า ต.นายูง อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2546 มีพระครูศาสนกิจสุนทร (พระ) นายบุญมี มาพร (ชาวบ้าน) นาวาเอกทวีศักดิ์ สุภานันท์ (ทหาร) เป็นคณะผู้ริเริ่ม ด้วยจุดประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสารงานเครือข่ายธนาคารหมู่บ้านในพื้นที่ตำบลนายูง เดิมเป็นชื่อวิทยุชุมชนคนนายูง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อใหม่ให้ดูกว้างขึ้นเป็นวิทยุชุมชนคนภูไท ได้รับทุนจากการระดมในชุมชนและองค์การบริหารส่วนตำบลในช่วงแรก


 


วิทยุชุมชน เด็กและเยาวชนจังหวัดเลย บ.แฮ่ ต.กุดป่อง อ.เมือง จ.เลย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2546 จากความคิดริเริ่มของ นายวีรพล เจริญธรรม ที่มีความสนใจที่จะพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนเพื่อให้หลีกพ้นไปจากปัญหาสังคม จากกลุ่มเด็กที่ผู้ใหญ่มองว่ามีพฤติกรรมเกเร ก้าวร้าวชอบมั่วสุมมาเป็นผู้จัดรายการวิทยุ ช่างเทคนิค และเป็นผู้นำ โดยได้รับทุนช่วงแรกจากกัลยาณมิตรที่รู้จัก


 


วิทยุชุมชนพระพุทธศาสนาวัดดอกจานรัตนาราม ต.ทับใหญ่ อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2547 โดยเห็นว่าเรื่องรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 โดยมีพระอธิการภูชิต ยสินฺธโร เป็นแกนหลัก เริ่มแรกได้ยืมเงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ของชุมชน 150,000 บาทเพื่อมาซื้อเครื่องส่งวิทยุและต่อมามีการทอดผ้าป่าสามัคคี และมีองค์การบริหารส่วนตำบลทับใหญ่อนุมัติงบประมาณให้ทุกปี มีเป้าหมายที่ชัดเจนตั้งแต่แรกว่าเพื่อเผยแพร่ธรรมะแก่ประชาชน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net