Skip to main content
sharethis

20 เม.. 52 - นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย แถลงข่าว "หลีกเลี่ยงไม่ให้วิกฤตบานปลาย"ว่า การสลายการชุมนุมในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา อาจทำให้การชุมนุมยุติแต่ไม่สามารถแก้วิกฤตการเมืองได้ และจะทำให้ วิกฤตมันลงลึกต่อไป โดยน่าจะบานปลายมากขึ้น เพราะการสลายการชุมนุมครั้งนี้รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินไปแล้ว จึงมีการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงนั้น การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ไม่มีเหตุผลเพียงพอเพราะเหตุการณ์ กทม.ในตอนนั้น ปัญหาที่ผิดกฎหมายคือชุมนุมปิดถนน ส่วนความรุนแรงอื่นๆเกิดหลังจากประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ทั้งสิ้น


"การสลายการชุมนุมในครั้งนี้ ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ควรจะเป็นและไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้งคำวินิจฉัยของศาลปกครองที่เคยระบุไว้ในช่วงพันธมิตรล้อมรัฐสภาเมื่อวันที่ 7ต.ค.2551 เพราะมาตรการและขั้นตอนเหล่านั้น ปปช.นำไปเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐของรัฐบาลชุดที่แล้วฉะนั้นการสลายการชุมนุมในครั้งนี้รัฐบาลใช้ทหารที่มีอาวุธครบมือรวมทั้งรถถังเข้าขนาบข้าง มันไม่ใช่สลายแต่มันเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุและรัฐบาลทำผิดเสียเองโดยเป็นต้นเหตุทำให้เกิดการบาดเจ็บ สูญหายและมีข้อถกเถียงว่ามีคนตายหรือไม่ รัฐบาลบอกว่าไม่มีใครตาย หรือ ผบ.ทบ.ก็บอกว่าเอาชีวิตเป็นเดินพันในเรื่องนี้นั้น มันบิดเบือนและเบนประเด็น เพราะจะมีคนตายหรือไม่ ต้องมีการตรวจสอบการใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมที่มีความเสียหายตามมาจากการสลายการชุมนุมที่ผิดวิธี ถือว่าเป็นความผิดสมบูรณ์โดยไม่ต้องรอให้ประชาชนเสียชีวิต"นายจาตุรนต์ กล่าว


นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การสลายการชุมนุมครั้งนี้ไม่ว่าจะมีคนตาย หรือไม่ก็มีความผิดแล้ว หากพิสูจน์แล้วว่ามีคนตายจะผิดมากขึ้น ไม่ใช่ว่าพิสูจน์แล้วไม่มีคนตายแล้วจะไม่ผิดนั้น มันไม่ใช่ เพราะ พ.ร.ก.ฉบับนี้ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย.โดย ครม.ไม่ได้อนุมัติเห็นชอบ ฉะนั้นการกระทำตั้งแต่วันที่15เม.ย.จนถึงการประชุม ครม.วันที่17เม.ย.นั้นมีข้อสงสัยว่ารัฐบาลใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้โดยผิดกฎหมาย ปัญหาเหล่านี้เกิดข้อสงสัยหวาดระแวง โกรธแค้นและมองว่ารัฐบาลกระทำผิดกฎหมายเสียเอง ตนขอเสนอว่ารัฐบาลควรตั้งกรรมการที่มีความน่าเชื่อถือขี้นมาตรวจสอบการกระทำทั้งหมด หากพบว่าผู้ใดกระผิดตั้งแต่เจ้าหน้าที่รัฐ-นายกฯก็ต้องดำเนินคดีลงโทษเพื่อที่จะขจัดความหวาดระแวง ให้เกิดความเป็นธรรม และไม่ให้การสลายการชุมนุมครั้งที่ผ่านมาเป็นบรรทัดฐานการสลายการชุมนุมของประชาชนในครั้งต่อๆไปที่น่าจะเกิดขึ้นอีกมาก หากใช้วิธีนี้ต่อไปจะมีความเสียหายอย่างไม่สิ้นสุด


นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การสลายการชุมนุมครั้งนี้ ถือว่าสองมาตรฐานนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯพูดว่าทหารเป็นกลางไม่มีการกระทำสองมาตรฐานนั้น มันคือการแก้ตัวแบบข้างๆคูๆเพราะสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทหารมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องรักษากฎหมาย แต่ตอนนั้นทหารไม่ปฏิบัติและมีการอ้างว่าฝ่ายการเมืองควรรับผิดชอบโดยตรงกับการแก้ปัญหานั้น ในวันนี้นายกฯไม่ควรแก้ตัวแทนทหาร หากนายกฯทำแบบนี้นั้น ถือว่าเป็นการร่วมมือกระทำสองมาตรฐาน


"นายกฯ ทำงานสองมาตรฐานอีกเรื่องนั่นคือสมัยพันธมิตรฯชุมนุม นายกฯเคยเตือนว่าการสลายการชุมนุมนั้นไม่ทำให้เรื่องจบแต่ครั้งนี้นายกฯกลับทำเสียเอง นายกฯสั่งจับแกนนำคนเสื้อแดงอย่างแข็งขันจริงจัง แต่แต่งตั้งนายกษิต ภิรมย์ เป็นรมว.ต่างประเทศ เท่ากับส่งสัญญาณให้เจ้าหน้าที่เข้าใจว่าการยึดทำเนียบและสนามบินนั้นไม่มีความผิด แกนนำไม่ต้องรับโทษเพราะไม่ผิด แต่ปัจจุบันนี้คนชุมนุมปิดถนนก็โดนจัดการเด็ดขาด มีการตั้งรางวัลนำจับ เมื่อเป็นแบบนี้นายกและผู้นำเหล่าทัพกระทำสองมาตรฐานชัดเจนและเป็นปัญหาที่ร้ายแรงสุด" นายจาตุรนต์ กล่าว


นายจาตุรนต์กล่าวว่า ขอเสนอว่า 1 รัฐบาลต้องหยุดไล่ล่าปราบปรามที่เกินความจำเป็นอย่างทิ่เป็นอยู่โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เพราะคนปิดถนนและสนามบินต่างจังหวัดในคราวที่พันธมิตรฯชุมนุมนั้นยังไม่มีการตั้งข้อหาเลย แต่คราวนี้นายกฯบิดเบือน โดยการออกหมายจับนั้นต้องมาจากศาล แต่กรณีข้างต้นแม้แต่การตั้งข้อหายังไม่มีเลย นายกฯจะอ้างว่ารอหลักฐานนั้น มันไม่มีเหตุผลเพราะกรณีคนเสื้อแดงแค่มีภาพถ่ายก็ตั้งรางวัลนำจับแล้ว 2 รัฐบาลต้องหยุดควบคุมและแทรกแซงสื่ออย่างน่าเกลียด ดั่งที่กระทำในวันนี้ และควรให้โอกาสให้ฝ่ายอื่นๆใช้สื่อบ้าง วันนี้รัฐบาลปิดสื่อที่ไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย แต่ปิดสื่อที่เสนอความจริงและความเห็นที่ไม่ตรงกับรัฐบาล3รัฐบาลต้องยกเลิก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทันที เพราะมันมีแต่โทษ ไม่มีประโยชน์ รัฐบาลบอกว่า ตอนนี้ยังมีการชุมนุมอยู่ และจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ หากมีข้ออ้างแบบนี้ แสดงว่ารัฐบาลต้องใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ตลอดไปและต้องประกาศพื้นที่ควบคุมทั่วประเทศ พ.ร.ก.ฉบับนี้ไม่มีทางแก้ปัญหา และควรใช้กฎหมายปกติ รวมทั้งเคารพยินยอมการชุมนุมโดยสันติที่ไม่ถือว่าเป็นความวุ่นวาย


ส่วนกรณีที่นายกฯบอกว่าจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมโดยไม่รวมคดีอาญานั้น นายจาตุรนต์กล่าวว่า นายกฯพูดเรื่องนี้โดยความตั้งใจจริงที่จะแสดงความต้องการนิรโทษกรรมให้พันธมิตรฯ และไม่ใช่ต้องการแก้ปัญหาการเมืองโดยแท้จริง ตนรับความไม่ยุติธรรมจากการรัฐประหารและอำนาจเผด็จการมาแล้ว ขอแสดงความเห็นว่ายังไม่ควรนิรโทษกรรมแก่ผู้ใดในตอนนี้ การนิรโทษกรรมหรือไม่นั้นควรได้รับการพิจารณาหลังแก้รัฐธรรมนูญและเลือกตั้งใหม่ไปแล้ว โดยมอบให้รัฐบาลและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งพิจารณา ตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งหากจะนิรโทษกรรมเพื่อให้ทุกเรื่องเจ๊ากันไปเพราะมันทำลายหลักนิติธรรมของประเทศ พันธมิตรฯทำผิดกฎหมายร้ายแรงและทำประเทศเสียหาย แล้วจะนำมารวมกับนักการเมืองที่โดนกฎหมายเผด็จการทำลายนั้นไม่ได้ ส่วนคนเสื้อแดงนั้นไม่ได้ทำผิดร้ายแรงเท่าพันธมิตรฯ แม้คนบางส่วนไปทำผิดกฎหมายที่ต้องพิสูจน์โดยนิติวิทยาศาสตร์และต้องตัดสินตามข้อเท็จจริง


ส่วนกรณีที่นายกฯบอกว่าจะให้ทุกฝ่ายช่วยกันคิดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญนั้น นายจาตุรนต์กล่าวว่า นายกฯไม่ต้องรีบพูดก็ได้ วันนี้นายกฯควรจัดการเรื่องการสลายการชุมนุมและยกเลิก พ.ร.ก.ก่อนดีกว่า ไม่ใช่นำเรื่องนี้มากลบกระแส เพราะการแก้รัฐธรรมนูญนั้น หากจะดำเนินการก็ต้องหารือร่วมกัน ตนเชื่อว่าหากรัฐบาลและรัฐสภาเป็นผู้แก้นั้น ก็ไม่มีประโยชน์ใดๆเพราะทุกฝ่ายย่อมจะแก้ไขให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง ฝ่ายที่เห็นว่าไม่เป็นประชาธิปไตยก็อยากให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้ แต่กลุ่มพันธมิตรฯคงไม่เห็นด้วย ฉะนั้น ทุกฝ่ายควรหารือด้วยความจริงใจ ไม่ใช่นำรัฐธรรมนูญมากลบกกระแสเรื่องราวในวันนี้ หรือจะแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราไปก่อนเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ให้เร็วที่สุดแล้วค่อยมาหารือร่วมกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับก็ได้


ที่มาเรียบเรียงจาก: เว็บไซต์แนวหน้า, เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net