Skip to main content
sharethis

จากโครงการวิจัยการสื่อสารสุขภาพในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ปี 2549 เกิดการสื่อสารสุขภาพชาวไทใหญ่ในเชียงใหม่หลากกลุ่มหลายรูปแบบ ปัจจุบันนักวิจัยและนักสื่อสารสุขภาพไทใหญ่ร่วมกันถ่ายทอดประสบการณ์และรับฟังความเห็นเพื่อต่อยอดกลุ่ม “นักสื่อสารสุขภาพไทใหญ่ในพื้นที่เชียงใหม่” ให้มีบทบาทเป็นกลไกร่วมแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขแรงงานข้ามชาติมากขึ้น

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมสถานบริการวิชาการนานาชาติ (IC) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการประชุมก่อตั้งกลุ่มนักสื่อสารสุขภาพไทใหญ่ในพื้นที่เชียงใหม่

โดยก่อนหน้านี้ในปี 2549 แผนงานวิจัยระบบสื่อสารสุขภาพสู่ประชาชน (รสส.) นำโดยประธานแผนงานคือ รศ.ดร.โคทม อารียา ได้สนับสนุนทุนให้กับโครงการวิจัย “การศึกษาและพัฒนาการสื่อสารสุขภาพในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ กรณีศึกษากลุ่มแรงงานไทใหญ่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่” มี อ.ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง นักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ซึ่งได้ดำเนินการเป็นเวลา 8 เดือนนั้น ทำให้ได้ทราบถึงความเป็นมาของแรงงานไทใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ ระบบการสื่อสารสุขภาพที่ดำเนินการไปแล้วโดยภาครัฐ เอกชนและชุมชน ปัญหาอุปสรรคในการสื่อสารสุขภาพและแนวทางที่ควรจะพัฒนา

และในปี 2551 แผนงานวิจัย รสส.ได้ให้การสนับสนุนให้ดำเนินการด้านการสื่อสารสุขภาพในกลุ่มแรงงานไทใหญ่ต่ออีกเป็นเวลา 10 เดือน ภายใต้ชื่อโครงการวิจัย “การพัฒนานักสื่อสารสุขภาพไทใหญ่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่” โดยวางน้ำหนักงานวิจัยไปที่การค้นหาตัวบุคคลากรซึ่งเป็นแรงงานไทใหญ่พัฒนาขึ้นมาเป็น “นักสื่อสารสุขภาพไทใหญ่” ฝึกฝนผ่านประสบการณ์การจัดกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเช่น การจัดงาน “เวทีสื่อสารสุขภาพไทใหญ่” ซึ่งสื่อสารสู่กลุ่มเป้าหมาย ในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ และอำเภอโดยรอบ ได้แก่ อ.สันกำแพง อ.ดอยสะเก็ด อ.สันทราย อ.สารภี อ.หางดง และ อ.แม่ริม มีการจัดตลาดนัดสุขภาพไทใหญ่ในเขตพื้นที่ อ.ฝาง แม่อาย และไชยปราการ การจัดรายการวิทยุชุมชนใน 3 สถานีหลัก ได้แก่ มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (แมพ) ทาง FM 99 MHz, คลื่นสุขภาพหรรษา สถานีอนามัยทุ่งข้าวพวง อ.เชียงดาว FM 102.75 และจุดปฏิบัติการวิทยุชุมชนเวียงมะลิกา โรงพยาบาลแม่อาย FM 104.5

และยังได้ส่งเทปไปออกรายการเพิ่มเติมยัง จุดปฏิบัติการวิทยุชุมชนเมืองแหง วัดกองลม อ.เวียงแหง FM 89 MHz และ จุดปฏิบัติการวิทยุชุมชนโอทอปแม่โจ้ อ.สันทราย FM 90.50 MHz พร้อมกันนั้นก็มีการผลิตละครวิทยุเพื่อสนับสนุนการจัดรายการวิทยุด้วย

ในปี 2552 กลุ่มนักสื่อสารสุขภาพไทใหญ่ได้รวมกำลังกันจัดงาน “เวทีสื่อสารสุขภาพไทใหญ่ปีที่ 2” ขึ้นเมื่อ  7 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันเข้าพรรษา ณ วัดกู่เต้า อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยมีการแสดงละครเวทีเรื่อง”ฟ้าหลังฝน” ซึ่งดัดแปลงจากบทละครวิทยุซึ่งออกอากาศไปแล้ว ภายใต้การกำกับการแสดงโดยโครงการละครชุมชน “กั๊บไฟ” และทางกลุ่มมีแผนจะแสดงละคร “ใบขับขี่กับแรงงานข้ามชาติ” เพื่อรณรงค์ลดอุบัติเหตุในการขับขี่รถจักรยานยนต์ ในวันออกพรรษานี้ด้วย

นักวิจัยและนักสื่อสารสุขภาพไทใหญ่ จึงจัดประชุมหารือกันในวันที่ 16 ก.ย. ดังกล่าว เพื่อหาแนวทางพัฒนาองค์กรและบุคลากรให้เป็นมืออาชีพ เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการองค์กรสมัยใหม่ เพื่อให้มีบทบาทเป็นกลไกเข้าร่วมแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขมากขึ้น

 

ต้องไม่มองประเด็นแรงงานแต่ด้านความมั่นคงด้านเดียว

โดยนายแสงเมือง มังกร จากมูลนิธิแมพ เสนอแนะแนวทางการสื่อสารสุขภาพว่า ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีสื่อเพื่อสื่อสารสุขภาพกับแรงงานไทใหญ่มากมาย มีสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อบุคคล 5-6 ปีมานี้ มีสื่อวิทยุที่เข้าถึงแรงงานไทใหญ่อย่างกว้างขวาง เป็นไปได้ไหมว่าจะสามารถทำให้แรงงานที่เป็นผู้ฟังมาเป็นผู้ผลิตสื่อ อย่างที่มูลนิธิแมพดำเนินงานคือไม่ใช่เป็นผู้ผลิตสื่อแล้วป้อนสื่อ แต่ยังต้องดึงศักยภาพของผู้ฟังสื่อด้วย

นอกจากนี้ยังหวังว่านักสื่อสารสุขภาพไทใหญ่กลุ่มต่างๆ จะได้ประสานกันในอนาคต อาจมีการผลิตสื่อข้ามจังหวัด และทำให้สื่อของแต่ละกลุ่มที่ผลิตออกมาเข้าสู่กลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน

นายแสงเมือง กล่าวด้วยว่า ผู้ใช้แรงงานมีส่วนสำคัญ แต่ภาคแรงงานมักถูกสังคมมองอย่างมีมายาคติ แต่เดิมสังคมอาจไม่เห็นด้วยที่เราทำสื่อ แต่เราต้องอธิบายให้เขารับรู้ว่าเราทำอะไร ตอนที่มูลนิธิแมพเริ่มทำสื่อในปี 2546 ภาครัฐ เอกชน ก็ไม่เห็นด้วย แต่มูลนิธิก็สามารถให้คำตอบสังคมว่าเรากำลังทำอะไร คือนักสื่อสารสุขภาพต้องสื่อสารสองทาง ไม่ใช่มองเรื่องแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องความมั่นคงด้านเดียว

น.ส.แสงภู สวยคำ จากกลุ่มแสงไสฟิงเง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ร่วมงานอาสาสมัครนักสื่อสารสุขภาพไทใหญ่ด้วย กล่าวว่า สุขภาพเป็นเรื่องของคนทุกคน การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทใหญ่ของกลุ่ม ก็หวังให้ผู้รับสื่อมีความสุข ถือว่าเป็นการสื่อสารสุขภาพให้สุขภาพจิตมีความสุขเช่นกัน

 

จากชมรมวัฒนธรรมสู่การสื่อสารสุขภาพแรงงานครบวงจร

นายบุญเลิศ จันทร์สุวรรณ เลขานุการชมรมไทใหญ่ อ.ฝาง แม่อาย ไชยปราการ กล่าวถึงประสบการณ์ตั้งชมรมไทใหญ่ อ.ฝาง แม่อาย ไชยปราการ ว่าเริ่มตั้งแต่นโยบาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้แรงงานข้ามชาติจากที่อยู่แบบใต้ดินมาจดทะเบียน จึงมีความคิดตั้งชมรมเผยแพร่วัฒนธรรม เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2547 ชมรมไปเอานโยบายขึ้นทะเบียนแรงงานของรัฐบาลที่มีอยู่แล้ว กับการตั้งชมรมด้านวัฒนธรรมมาผสมกลมกลืนกัน คนเชื้อสายไทใหญ่ที่เป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะมาช่วยเหลือพี่น้องชาวไทใหญ่ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างไร ก็เป็นที่มาของการมารวมกลุ่มกัน มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการศึกษา วัฒนธรรม แรงงาน สวัสดิการ สังคมสงเคราะห์ เรียกว่า หากเสียชีวิตจะช่วยเหลืออย่างไร เกิดช่วยเหลืออย่างไร โดยเริ่มก่อตั้งชมรมมีสมาชิกกว่าหนึ่งหมื่นหกพันคน แต่จำนวนสมาชิกก็ขึ้นๆ ลงๆ ปัจจุบันสมาชิกจริงๆ ไม่ถึงหมื่น แต่ก็มีหลายพันคน คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ช่วย เพราะหากมีอะไรก็จะประสานช่วยเหลือกัน

บุญเลิศ กล่าวว่า นอกจากเรื่องสุขภาพแล้ว ชมรมไทใหญ่ อ.ฝาง แม่อาย ไชยปราการ ยังดูแลในเรื่องสังคมเคราะห์ด้วยหากมีแรงงานข้ามชาติเสียชีวิต ไม่มีญาติ ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ซึ่งเป็นสมาชิกชมรมก็จะช่วยกันลงขัน หาโลง หาที่เผาศพ ถือว่าเรื่องทุกข์ร้อนจะมาที่ชมรมหมด

เลขานุการชมรมไทใหญ่ อ.ฝาง แม่อาย ไชยปราการ ยังกล่าวถึงลักษณะเคลื่อนตัวของประชากรแรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ว่า ถ้าเป็นแรงงานในตัวเมืองเชียงใหม่อาจย้ายถิ่นฐานบ่อย แต่ถ้ามาทำงานที่อำเภอฝางแล้วปักหลักก็จะอยู่ประจำ อย่างสวนส้มบางแห่ง แรงงานอยู่มานานหลายสิบปีจนมีลูกหลาน และสามารถสื่อการกับคนในพื้นที่ได้เนื่องจากมีประเพณีวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน

 

พุทธศาสนากับความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม

พระมหาวชิระ วชิระยาโน กล่าวถึงการตั้งกลุ่มชมรมรวมพี่น้องไตว่า ชมรมก่อตั้งมา 2 ปี เนื้อการศึกษาและการเผยแพร่วัฒนธรรมไตหรือไทใหญ่ มีการสอนภาษาไทใหญ่ ภาษาไทเขิน และภาษาไทย ให้กับ ‘พี่น้องไต’ หรือชาวไทใหญ่ใน จ.เชียงใหม่ โดยสอนเป็นรุ่นที่สองแล้ว นอกจากนี้ยังมีโครงการสอนระบบการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) โดยมีชาวไทใหญ่มาเรียนตั้งแต่ชั้น ป.1 – ป.6 กว่า 130 คนแล้ว

นอกจากงานเผยแพร่พระพุทธศาสนาแล้ว ทางชมรมยังออกไปสอนหนังสือให้พี่น้องชาวไทใหญ่ตามแคมป์ก่อสร้าง เข้าไปสอนภาษาไทย เพราะคนงานชาวไทใหญ่คามแคมป์จะไม่ได้เรียนหนังสือ ย้ายที่ทำงานไป ชมรมก็จะนำอุปกรณ์การศึกษาไปแจก มีอาหารแห้งก็จะเอาไปแจก นอกจากนี้ก็มีการจัดรายการวิทยุทางสถานีวิทยุมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตเชียงใหม่ เป็นเวลา 1 ชั่วโมง เริ่มเวลา 21.00 น. ทุกวัน

 

การดำเนินงานไม่ควรช้าหรือเร็วเกินไป เพื่อให้เครือข่ายตามทัน

นายอ่องเท จายแสง ประธานสหพันธ์คนงานข้ามชาติ กล่าวว่าสหพันธ์ดังกล่าวตั้งเมื่อ 10 ธ.ค. 2551 เป็นกลุ่มของผู้ใช้แรงงานหลากหลายอาชีพ ตั้งขึ้นเพราะอยากเห็นการรวมตัวของแรงงาน อยากผลักดันให้มีกลุ่มของผู้ใช้แรงงานเองที่มีศักยภาพในการให้ความช่วยเหลือสมาชิก

อ่องเทกล่าวถึงเป็นเรื่องการตั้งกลุ่มนักสื่อสารสุขภาพไทใหญ่ จ.เชียงใหม่ ว่า คนที่จะมารับผิดชอบงานในกลุ่มต่างเป็นคนที่มีงานที่รับผิดชอบอยู่แล้ว หากมีกลุ่มนักสื่อสารสุขภาพไทใหญ่ แม้จะเป็นงานจิตอาสา แต่การดำเนินการของกลุ่มควรไม่เร็ว-ไม่ช้าเกินไป เพื่อให้สมาชิกติดตามสถานการณ์กันทัน ไม่วางแผนงานกันไว้มากๆ จนคนที่รับผิดชอบไม่สามารถดำเนินงานตามแผนงานได้

 

ระบุสถานพยาบาลท้องถิ่นยังไม่กล้าจ้างล่ามอาสาสมัครเหตุยังไม่พบหนังสือคำสั่ง

นายพูลเกียรติ ลี้ตระกูล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขโรงพยาบาล อ.ฝาง เสนอว่า กลุ่มแรงงานข้ามชาติ แบ่งการเข้ามาสามประเภท หนึ่ง เข้ามาถูกต้องตามกฎหมาย สอง เป็นผู้ติดตามกลุ่มที่หนึ่งเข้ามา สาม เข้ามาโดยไม่มีระบบแรงงานรองรับ

แรงงานกลุ่มแรก นักสื่อสารสุขภาพสามารถเข้าถึงง่าย การสื่อสารสุขภาพไม่มีปัญหา เหมือนกลุ่มที่สอง แต่กลุ่มที่สาม การสื่อสารสาธารณสุขยังเข้าไม่ถึงกัน ส่วนสภาพการทำงานของนักสื่อสารสุขภาพ ฝ่ายนักสื่อสารสุขภาพเป็นฝ่ายให้ ไม่มีพระเดชพระคุณ ถ้าการดำเนินงานไม่มีประเด็นเชิงความมั่นคงก็ไม่มีปัญหาในสายตาของฝ่ายความมั่นคง

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขผู้นี้กล่าวว่า ในพื้นที่ อ.ฝาง มีอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนชายแดน (อสชช.) เป็นนักสื่อสารสุขภาพที่เป็นแรงงานไทใหญ่ ทำหน้าที่ล่ามแปลภาษาไทใหญ่ในสถานพยาบาลในพื้นที่ ซึ่งโครงการนี้องค์กร SHEILD เป็นผู้สนับสนุน แต่ในเดือนพฤษภาคมปี 2553 โครงการนี้จะสิ้นสุดลง จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการติดต่อเจ้าของสวน หรือสถานพยาบาลในพื้นที่รับอาสาสมัครเหล่านี้เข้าทำงาน เพื่อให้ทำหน้าที่ต่อไป โดยนายพูลเกียรติกล่าวด้วยว่าแต่ขณะนี้สถานพยาบาลยังไม่กล้ารับอาสาสมัครเหล่านี้เข้าทำงานแล้วจ้างด้วยเงินของสถานพยาบาลเอง เพราะยังไม่เห็นหนังสือสั่งการ หนังสือระเบียบการจ้างของราชการที่ระบุว่ามีอำนาจทำได้

นายพูลเกียรติเสนอความเห็นกรณีที่จะมีการตั้งกลุ่มนักสื่อสารสุขภาพไทใหญ่ว่า หากจะตั้งเป็นกลุ่มหรือชมรมโดยไม่จดทะเบียนก็จะทำให้การดำเนินงานคล่องตัว ส่วนถ้าจะจดทะเบียนก็ต้องดูช่องทาง ที่สำคัญชมรมหรือองค์กรที่ตั้งมาต้องมีแผนงาน มีทิศทางการทำงานหลัก และแนวทางการทำงานต้องสอดคล้องกับงบประมาณที่มี เพราะหากงบประมาณเกิดติดขัด การดำเนินงานก็ลำบาก

 

ข้ามผ่านมุมมองเชิงความมั่นคง

นายแสงเมือง มังกร จากมูลนิธิแมพ กล่าวถึงบรรทัดเรื่องความมั่นคงว่าอยู่ตรงไหนสำหรับเรื่องสื่อสารสุขภาพ โดยรัฐอาจมองความมั่นคงเป็นหลัก แต่นักสื่อสารสุขภาพต้องดูว่าจะมีมุมมองแบบไหน สำหรับเรื่องสุขภาพ เพราะโรคที่หายไปบางโรคจะกลับมา ตนคิดว่าเรื่องนี้ต้องให้ความรู้แรงงาน เรื่องไข้หวัด 2009 คงไม่เลือกว่าคุณเป็นใคร หรือมาจากประเทศไหน แต่การให้ความรู้พื้นฐานกับคนงานจะนำไปสู่การป้องกันตัวเองจากโรค เพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาด

นายแสงเมืองกล่าวด้วยว่า มุมมองของรัฐต่อเรื่องการสื่อสารสุขภาพมีทั้งบวกและลบ มุมองบวกคือมองเรื่องความจำเป็นต้องมีล่าม อย่างมูลนิธิแมพก็เข้าไปทำงานเรื่องล่ามสำหรับแรงงานที่โรงพยาบาลนครพิงค์ คิดว่าหน่วยงานของรัฐมีความต้องการบุคลากรประเภทนี้ แต่อาจมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ

สำหรับนักสื่อสารสุขภาพแล้ว ต้องสื่อสารกับสังคมว่า โรคที่หายไปแล้วตอนนี้กลับมาเราจะทำอย่างไร สำหรับเรื่องเศรษฐกิจ หนึ่ง แรงงานข้ามชาติมาแย่งงานคนไทยจริงไหม สอง ถ้าไม่มีแรงงานจะอยู่กันอย่างไร เรื่องนี้เราในฐานะนักสื่อสารสุขภาพ จำเป็นด้วยไหมว่าเราต้องสื่อสารว่าความเท็จจริงเป็นอย่างไร นอกจากเรื่องสุขภาพ

 

ต้องสื่อสารสุขภาพตรงจุด

นายพรศักดิ์ หมื่นตา ประธานกลุ่มแรงงานสามัคคี (WSA) กล่าวว่ากลุ่มตั้งมาได้ 2 ปี จากการสนับสนุนของมูลนิธิ MAP กลุ่มจะสนับสนุนผู้ใช้แรงงานที่ด้อยโอกาส ที่เข้าไม่ถึงเรื่องกฎหมายและถูกเอารัดเอาเปรียบ การดำเนินงานที่ผ่านมามีทั้งเรื่องที่ประสบความสำเร็จไปแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินงาน

นายพรศักดิ์กล่าวถึงการตั้งกลุ่มสื่อสารสุขภาพไทใหญ่ว่า การสื่อสารเป็นเรื่องยากที่กว่าจะสื่อสารกันรู้เรื่อง ที่ว่ายากเพราะแรงงานกับกฎหมายกับภาครัฐยังไม่เข้าถึงกัน เห็นไม่ตรงกัน เพราะแรงงานไทใหญ่เพิ่งออกจากบ้านมาทำงานใหม่ๆ ไม่เคยรู้เรื่องสุขภาพ กฎหมาย ยังเห็นเป็นเรื่องไม่สำคัญ แต่เขาจะคำนึงถึงเรื่องปากท้อง การทำงานเป็นหลัก บางทีคนงานป่วยก็ไม่ไปหาหมอ เห็นว่าไม่ได้เป็นอะไร ดังนั้นขอให้กลุ่มนักสื่อสารสุขภาพเข้าถึงแรงงานจริงๆ และทำให้เกิดประโยชน์กับแรงงาน

ประธานกลุ่มแรงงานสามัคคียังเสนอด้วยว่า การสื่อสารไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน หรือสื่อระดับบุคคล ต้องทำให้การสื่อสารสุขภาพตรงจุด ที่ผ่านมาการทำงานของกลุ่มแรงงานสามัคคีบางทีก็เกิดความเข้าใจไม่ตรงจุดระหว่างกลุ่มกับสมาชิก เช่น การแนะนำเรื่องการร้องเรียนการถูกนายจ้างเอาเปรียบ แรงงานบางคนก็มาแจ้งกับกลุ่มก่อนทางกลุ่มจึงแนะนำให้ไปแจ้งกับสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ถ้าเขามีปัญหาอีกครั้งแล้วสามารถไปแจ้งเองได้ถือว่ากลุ่มสื่อสารตรงจุด แต่ถ้าครั้งที่สอง ครั้งที่สาม ยังกลับมาแจ้งที่กลุ่มแสดงว่าการสื่อสารที่ผ่านมายังไม่ตรงจุด หากกลุ่มนักสื่อสารสุขภาพสามารถสื่อสารได้ตรงจุด การตั้งกลุ่มก็ไม่ถือเป็นเรื่องยาก

 

สังคมไทยยังมองแรงงานข้ามชาติอย่างที่อยากเห็น ไม่ใช่อย่างที่ ‘เขา’ เป็น

นายแสงเมือง มังกร จากมูลนิธิแมพ กล่าวว่า หากเปรียบชุมชนแรงงานไทใหญ่ที่ อ.ฝางกับตัวเมืองเชียงใหม่แล้ว ชุมชนของแรงงานที่ อ.ฝางมีตัวตน ส่วนที่เชียงใหม่เป็นชุมชนไร้ตัวตน เพราะชุมชนของแรงงานที่ อ.ฝาง ไม่ได้อยู่กระจัดกระจายแบบที่เชียงใหม่ ในเชียงใหม่มีนักสื่อสารสุขภาพหลายกลุ่ม และพยายามผลักดันสื่อของชุมชนเข้ามาเยอะ เพราะฉะนั้นชุมชนที่ไร้ตัวตนในเชียงใหม่ก็มีความซับซ้อนอยู่ มีปัญหาในการจัดการมากกว่าที่ อ.ฝาง เช่นเรื่องต่ออายุบัตรอนุญาตทำงานของแรงงาน ในสังคมชนบทจะมีการจัดการที่ง่ายกว่า แต่ในชุมชนเมืองการจัดการสลับซับซ้อนกว่า นายแสงเมืองเล่าว่า มีหลายปีก่อนมีแรงงานเสียชีวิตในพื้นที่สนามกีฬา 700 ปี แต่เป็นเรื่องยากมากในการจัดการศพ การออกใบมรณะบัตรก็เป็นเรื่องยากมาก การจะฌาปนกิจศพก็ยากมากเพราะเป็นแรงงานไร้ตัวตน ต้องมีการติดต่อแพทย์ประจำตำบล และการติดต่อเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อแก้ไขปัญหา

นายแสงเมืองกล่าวว่า แรงงานไทใหญ่ใน จ.เชียงใหม่ มีหลายกลุ่มแต่การจัดการร่วมกันยังไม่มี ในอนาคตสำหรับการตั้งกลุ่มนักสื่อสารสุขภาพ การวางกลยุทธ์การทำงานจะต้องชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะมีคำถามมากมาย เพราะประเด็นจะครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการออกใบเกิด ใบรับรองการศึกษา การทำบัตรแรงงาน ในส่วนที่ตนทำงานเป็นนักสื่อสารสุขภาพแรงงานพบว่า บางทีแรงงานเองก็ไม่ได้รับสื่อที่เป็นเรื่องสุขภาพ แต่ถ้าชุมชนมีการจัดกิจกรรมเช่นคอนเสิร์ต กลุ่มนักสื่อสารสุขภาพจะสามารถจัดกิจกรรมร่วมกับเขาได้ไหม ถ้าเขาเสียเงินมาดูคอนเสิร์ตจะสามารถมีงบประมาณมาจัดสื่อสารสุขภาพให้กับแรงงานด้วยได้หรือไม่

แสงเมืองกล่าวด้วยว่า สังคมไทยยังมองแรงงาน มองผู้ไร้รัฐ อย่างที่เขาทราบ อย่างที่เขาอยากเห็น แต่สังคมยังไม่เข้าใจอย่างที่แรงงานเป็น การทำให้แรงงานสามารถผลิตสื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนจึงเป็นเรื่องจำเป็น เราจึงต้องวางรากฐานของคนที่จะเข้ามาในจุดนี้ ถ้าสื่อสารจนสังคมยอมรับถือว่าเป็นความสามารถของกลุ่ม และถือเป็นการสื่อสารสองทางด้วย

ส่วนสถานะทางกฎหมายที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับ ก็ต้องทำงานเชิงประเด็นไปด้วยกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์และบรรลุวัตถุประสงค์ อย่างเวลามูลนิธิแมพจัดรายการวิทยุ วันหนึ่งได้รับโทรศัพท์ยี่สิบสามสิบสายแทบจะต้องปิดโทรศัพท์ แต่มีคนโทรศัพท์เพื่อสอบถามเรื่องสุขภาพน้อยมาก ส่วนใหญ่ถามเรื่องต่อบัตรอนุญาตทำงาน การพิสูจน์สัญชาติ ดังนั้นนักสื่อสารสุขภาพต้องหาวิธีนำเสนอเพื่อให้เขาสนใจและตอบสนอง ถ้าการสื่อสารเรื่องสุขภาพสามารถเสริมไปพร้อมกับเรื่องวัฒนธรรม และสามารถอธิบายอคติด้านความมั่นคงด้วยจะเป็นเรื่องที่ดีมาก

โดยการประชุมสิ้นสุดในเวลา 15.30 น. โดยนักวิจัยและนักสื่อสารสุขภาพไทใหญ่ จะหารือแนวทางการตั้งกลุ่มนักสื่อสารสุขภาพไทใหญ่ใน จ.เชียงใหม่ อีกครั้งในเดือนตุลาคม
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net