Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แวดวงสิทธิมนุษยชนในเมืองไทยเต็มไปด้วยเสียงซุบซิบตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เกี่ยวกับข้อกล่าวหาเรื่องการคุกคามทางเพศ ที่มีขึ้นในองค์กรสิทธิมนุษยชนของไทย ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี ข่าวดังกล่าวรั่วไหลมาถึงสาธารณชนในวงกว้างเมื่อเว็บไทยเอ็นจีโอเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับเหยื่อการคุกคามทางเพศ ซึ่งกำลังดิ้นรนต่อสู้เพื่อร้องขอความเป็นธรรม

ต่อมา เริ่มมีข่าวลือแพร่สะพัดออกไปว่า มีนักสิทธิมนุษยชนอาวุโสบางท่านพยายามที่จะทำให้เรื่องดังกล่าวเงียบลง

เรื่องอื้อฉาวประทุขึ้นอีกในเวลาต่อมาบนหน้าเว็บเอียงซ้ายอย่างประชาไทwww.prachatai.com และเป็นที่ดึงดูดความสนใจเป็นอย่างมากที่กลุ่มนักกิจกรรมและองค์กรที่เกี่ยวข้องออกแถลงการณ์เมื่อวันอังคารที่แล้ว เรียกร้องความเป็นธรรม และกระตุ้นให้มีการนำหลักสิทธิมนุษยชนมาใช้ในระดับบุคคล รวมถึงตระหนักว่าการคุกคามทางเพศเป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง

นักวิจารณ์ทั้งหลายแสดงความไม่พอใจเป็นอย่างมาก โดยกล่าวว่า นักสิทธิมนุษยชนอาวุโสคนใดที่กำลังคิดหรือกำลังพยายามที่จะปฏิเสธความถูกต้อง, ความโปร่งใส และความรับผิดชอบควรจะตระหนักว่า กำลังทำในสิ่งที่เป็นอันตรายต่อวิชาชีพของตนเองที่ต้องยึดเอาผลประโยชน์ของผู้อื่นเป็นที่ตั้ง

มีการเรียกร้องแอคติวิสต์รุ่นอาวุโสในองค์กรที่เกิดเรื่องดังกล่าว ตลอดจนในแวดวงสิทธิมนุษยชนทั่วไป ให้ออกมาจัดการกับกรณีที่เกิดขึ้นนี้อย่างเหมาะสม และแล้วก็มีการออกคำชี้แจงจากองค์กรที่ว่าอย่างทันทีทันใดเพื่อยุติการคาดเดาไปต่างๆ นานา และการวิพากษ์วิจารณ์ที่มีอย่างหนาหู

คำชี้แจงที่ออกมาในสัปดาห์ที่ผ่านมากล่าวว่า ผู้กระทำผิดได้รับการลงโทษ และยื่นใบลาออกจากตำแหน่งแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม เป็นต้นไป และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการติดตามสอดส่องต่อไป

ถึงกระนั้น การคุกคามทางเพศที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคตก็ควรได้รับการพิจารณาลงโทษด้วยวิธีการที่โปร่งใสและสมเหตุสมผล

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากองค์กรสิทธิมนุษยชนมักจะเรียกร้องให้ผู้อื่นแสดงความรับผิดชอบและมีความโปร่งใส บัดนี้ ถึงคราวของตนเองที่จะพิสูจน์ว่าไม่มีสองมาตรฐาน

ตามคำแนะนำของบุคคลภายนอกที่เป็นที่เคารพนับถือบางท่าน เห็นว่า องค์กรสิทธิฯ ควรจะสร้างแบบอย่างบางอย่างขึ้นมา อย่างในกรณีของเหยื่อการคุกคามรายนี้ สิทธิในความเป็นส่วนตัวของเธอควรได้รับความเอาใจใส่ต่อไปอีก
 
ผู้กระทำผิดน่าจะจำเป็นต้องได้รับการประณามอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน เนื่องจากนี่ไม่ใช่เป็นเพียงการป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำความผิดขึ้นอีกในอนาคตเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างมาตรฐานความโปร่งใสและความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นในสังคม

นี่อาจจะครั้งแรก แต่ก็เป็นเรื่องจำเป็น ถ้าหากองค์กรสิทธิมนุษยชนปรารถนาที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าด้วยความโปร่งใส รับผิดชอบ และมีมาตรฐานเพียงหนึ่งเดียวมากยิ่งขึ้น

การที่เรื่องยุ่งเหยิงเงียบไปเองโดยไม่ได้ทำอะไรมากนักจะทำให้องค์กรเจ้าของปัญหานั้น และแม้แต่วงการสิทธิมนุษยชนทั้งหมดโดยภาพรวมด่างพร้อย ด้วยข้อกล่าวหาว่าสองมาตรฐาน

การเรียกร้องในอนาคตของพวกเขาให้กลุ่มและบุคคลอื่นๆ มีความรับผิดชอบและโปร่งใสจะไม่ได้รับความเชื่อถืออีกต่อไป ถ้าหากพบว่ามีความผิดจริง ผู้ที่กระทำการละเมิดควรถูกเปิดเผยชื่อออกมาให้สาธารณชนรับรู้ และถูกประณามอย่างเปิดเผย เพื่อเป็นแบบอย่างของความโปร่งใสและความรับผิดชอบ สำหรับใช้จัดการกับกรณีที่คล้ายคลึงกันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

คณะกรรมการที่รู้เรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อหลายเดือนก่อน แต่ไม่ได้จัดการอะไรเลยจำเป็นต้องออกมาอธิบายว่า ทำไมพวกเขาถึงเพิกเฉยต่อปัญหาการคุกคามทางเพศดังกล่าว

สุดท้าย แต่สำคัญไม่น้อยก็คือ ความมั่นคงในการทำงานของเหยื่อไม่ควรได้รับผลกระทบจากกรณีที่เกิดขึ้นนี้เลย และองค์กรเองก็จำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นว่า เจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ที่ทนทุกข์ทรมานจากการคุกคามทางเพศจะสามารถออกมาฟ้องร้องต่อผู้กระทำผิดได้โดยอิสระ และที่จริงแล้วควรได้รับการสนับสนุนให้กำลังใจด้วยซ้ำ

กรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ เหยื่อได้ลาออกจากงานแล้ว ถ้าหากพบว่าผู้กระทำผิดได้กระทำผิดจริงโดยปราศจากข้อสงสัย เหยื่อก็ควรได้กลับเข้ามาทำงานใหม่ หรือไม่ก็ควรได้รับการชดเชย

นอกจากนี้ ผู้ที่รับผิดชอบในการจัดการกับกรณีนี้จำเป็นต้องมั่นใจว่า พวกเขาไม่ได้ติดกับดักการเมืองเรื่องเสื้อเหลืองเสื้อแดง หรือจำเป็นต้องทำอะไรสักอย่างให้บางคนบางกลุ่มเชื่อว่า กรณีนี้เป็นการคุกคามทางเพศตามที่มีการกล่าวหาจริง

เนื่องจากมีผู้ที่เข้าไปโพสต์ในเว็บการเมืองอย่างประชาไทบางคนกำลังตั้งข้อสังเกตแล้วว่า เรื่องนี้มีการเมืองเรื่องเสื้อเหลืองเสื้อแดงเข้ามาเกี่ยวข้อง

ดังนั้น เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่องค์กรเจ้าของปัญหาต้องออกมาอธิบายเรื่องราวต่อสาธารณชนให้ชัดเจน ถึงแม้ว่าผู้กระทำผิดอาจจะเป็นผู้สนับสนุนของฝ่ายหนึ่ง

ข้อกล่าวหาเรื่องการคุกคามทางเพศควรจะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาให้จริงจังกว่านี้ในทุกสาขาอาชีพ แต่นักสิทธิมนุษยชนทั้งหลายพึงจำไว้ว่า พวกเขาจำเป็นต้องสร้างแบบอย่างที่ดีให้แก่สังคม

 

ที่มา: http://www.nationmultimedia.com/2009/12/05/opinion/opinion_30118025.php

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net