ศาลให้ประกัน ส.ก.พรรคก้าวไกล ตีราคา 1 เเสน พร้อมเงื่อนไขห้ามยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน ห้ามออกนอกประเทศ หลังโดน ตร.ฝากขังข้อหาอนาจาร - 'มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล' ชี้ต้องให้ภาคประชาชนร่วมตรวจสอบด้วย
13 ก.ค. 2565 เว็บไซต์ข่าวสด รายงานว่าที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆ นำตัวนายอานุภาพ ธารทอง อายุ 38 ปี สก.พรรคก้าวไกล ผู้ต้องหาฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยขู่เข็ญด้วยประการใด โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้บุคคลนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น มาฝากขังครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน 13-24 ก.ค. 65เนื่องจากต้องสอบพยานอีก 6 ปาก และรอตรวจผลพิมพ์มือผู้ต้องหา
พฤติการณ์กล่าวคือ ก่อนเกิดเหตุ เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2565 ผู้ต้องหาได้พา ผู้เสียหายพร้อมพวกรวม 4 คน ขึ้นไปที่ห้องพักย่าน เขตสาทร กรุงเทพมหานคร ในช่วงเวลาประมาณ 21.00-23.00 ขณะที่อยู่ในห้องดังกล่าว ผู้ต้องหาได้ชักชวน ผู้เสียหายกับพวกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในระหว่างนั้น ผู้ต้องหาได้เข้ามานั่งใกล้ชิดผู้เสียหาย ทำการใช้มือขวาโอบตัว จากนั้นขณะผู้เสียหายเข้าห้องน้ำ ผู้ต้องหาได้ติดตามเข้าไป กอด หอม หลังเกิดเหตุผู้ต้องหาได้พาผู้กล่าวหากับพวกไปส่งยังบ้านพัก ภายหลังผู้เสียหายได้ติดต่อไปยังบุคคลที่รู้จัก พาผู้กล่าวหามาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ประสงค์ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาถึงที่สุด
ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฎิเสธ การกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 20 ) พ.ศ.2550
ศาลพิจารณาคำร้องแล้วอนุญาตฝากขังได้ ต่อมาผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดขอปล่อยชั่วคราว โดยศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวนได้ หากผิดสัญญาประกันให้ปรับ 100,000 บาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล' ชี้ต้องให้ภาคประชาชนร่วมตรวจสอบด้วย
มติชนออนไลน์ รายงานว่านายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า สิ่งสำคัญเวลาเกิดกรณีอย่างนี้คือ การตอบสนองของพรรคต่อการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนเป็นสิ่งจำเป็น ฉะนั้นการที่พรรคก้าวไกลออกมาแถลงข่าวแสดงความรับผิดชอบอย่างรวดเร็ว อีกทั้งบอกว่าจะจัดการอย่างไร และจะคุ้มครองผู้เสียหาย เบื้องต้นถือว่าใช้ได้
ทั้งนี้ ที่พรรคบอกว่ามีกลไกแก้ปัญหาของพรรคอยู่แล้ว และมีคณะกรรมการวินัย พรรคควรแจ้งว่ามีรายชื่อคณะกรรมการใครบ้าง ประชุมวันไหน ผลประชุมเป็นอย่างไร คือรายงานตลอดว่าทำอะไร มีความคืบหน้าอย่างไร นี่จะทำให้ประชาชนรับรู้และตรวจสอบได้ อย่าทำเหมือนบางที่ที่บอกว่าตั้งคณะทำงานแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่รู้ว่าเรื่องไปถึงไหน
และส่วนตัวยังอยากเสนออีกว่า พรรคควรเปิดให้คนนอกพรรคได้ร่วมตรวจสอบกรณีดังกล่าวด้วย อย่างภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง หรือนักวิชาการที่เชี่ยวชาญ เพื่อแสดงให้เห็นว่านี่เป็นการที่ตรวจสอบโปร่งใส เป็นกลางจริงๆ จะไม่มีการช่วยเหลือกัน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเลือกผม แต่เป็นภาคประชาชนคนอื่นๆ อย่างชื่อคุณนัยนา สุภาพึ่ง ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ ซึ่งเคยเข้าไปช่วยเหลือเคสลักษณะนี้หลายเคสแล้ว
นายจะเด็จกล่าวอีกว่า ส่วนการที่พรรคบอกว่าจะคุ้มครองผู้เสียหาย อยากให้พรรคประสานหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อเข้ามาช่วยเหลือผู้เสียหาย เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ดูแลด้านเด็ก รวมถึงผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักจิตวิทยา เข้าไปดูแลด้านจิตใจเด็กผู้เสียหาย ขณะเดียวกันพรรคต้องมีมาตรการที่ไม่ให้ผู้กระทำเข้าไปวุ่นวายกับผู้เสียหาย จนอาจเกิดความหวาดกลัว เนื่องจากผู้กระทำเป็นนักการเมือง
“จริงๆ หากเห็นหลักฐานการกระทำขนาดนี้ เขาควรพิจารณาตัวเอง ถึงการเป็นสมาชิกพรรค และตำแหน่งที่ได้เข้ามาเพราะเครดิตพรรค เขาไม่ควรปฏิเสธ ควรยอมรับความจริง และแสดงสปิริตก่อน ไม่ใช่ให้ตรวจสอบผลชี้ออกมาว่าผิดจริง แล้วค่อยพิจารณาตัวเอง อย่างนี้ยิ่งทำให้เขาดูไม่ดี” นายจะเด็จกล่าว และว่า
สิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์ ก็อยากฝากพรรคการเมืองควรยกเป็นกรณีศึกษา ในการจัดทำกลไก ไกด์ไลน์ให้ชัดเจนถึงการคุกคามทางเพศของบุคลากรพรรค จะต้องจัดการอย่างไร รวมถึงจัดอบรมบุคลากรในพรรค ให้เข้าใจเรื่องนี้ด้วย เพราะนักการเมืองมีอำนาจค่อนข้างสูง ปัญหาคุกคามทางเพศ ข่มขืนก็มาจากการกระทำของผู้มีอำนาจเหนือกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ จะได้ไม่เกิดการคุกคามทางเพศในอนาคต