Skip to main content
sharethis

‘สาทิตย์’แจงกรณี นปช.กล่าวหาบิดเบือนข่าว แค่หาเหตุชุมนุม ระบุสถานการณ์ปกติ แต่มีมาตรการรับมือ ด้านโฆษก กอ.รมน.ชี้พร้อมควบคุมสถานการณ์ ส่วนวิทยุชุมชน แนะรัฐเคารพสิทธิ

เมื่อเวลา 15.00 น. ของวันนี้ (18 ก.พ. 2553) ที่ทำเนียบรัฐบาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันและขั้นตอนปฏิบัติงานของคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ความมั่นคง (คตม.) โดยมีตัวแทนผู้ประกอบการเคเบิลทีวี วิทยุชุมชน วิทยุภาคธุรกิจ และวิทยุชุมชนเพื่อความมั่นคงเข้าร่วมกว่า 50 คน

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ในฐานะที่ตนทำหน้าที่กำกับดูแลด้านสื่อจึงต้องการชี้แจงว่า สถานการณ์ในขณะนี้เป็นปกติ แต่มีการสร้างกระแสบิดเบือนข่าวสารเพื่อสร้างเงื่อนไขการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) อย่างไรก็ตามรัฐบาลจะพยายามดำเนินการภายใต้หลักสิทธิเสรีภาพทางการเมือง การชุมนุมสามารถกระทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย และรัฐบาลเองได้กำหนดมาตรการไว้แล้ว ทั้งก่อนและหลังการพิจารณาคดียึดทรัพย์อดีตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 26 กุมภาฯนี้

ด้าน พล.ต.ดิฏฐพร ศศะสมิต โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ได้ชี้แจงมาตรการของรัฐบาลว่า จะมุ่งเน้นการป้องกันก่อนเกิดเหตุ หากมีเหตุจะรีบยับยั้งโดยใช้หลักเมตตาธรรม คุณธรรม และประชาธิปไตย โดยจะใช้ตำรวจเป็นหลักในการดำเนินการไม่ใช่ทหาร กำหนดมาตรการจากเบาไปถึงหนัก สมควรแก่เหตุ และจะกำชับเจ้าหน้าที่ให้อดทนอดกลั้นอย่างถึงที่สุด โดยให้ระลึกเสมอว่าเป็นคนไทยด้วยกัน เพื่อธำรงไว้ซึ่งอำนาจรัฐ

ส่วนแนวทางรักษาความสงบได้แบ่งเป็นสามขั้นคือ หนึ่ง ใช้กฎหมายปกติในขีดความสามารถของตำรวจ แต่แบ่งเป็นสองระดับคือ ใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจล้วนๆ กับการสนธิกำลังเข้ากับทหาร สอง หากสถานการณ์ยกระดับความรุนแรงจะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง และสาม หากรุนแรงจะประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ภายหลังปิดการประชุม น.ส.อรทัย ทวีแก้ว กองเลขาฯ สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ ได้เข้ายื่นข้อเสนอให้กับ รมต.ประจำสำนักนายกฯ  โดยกล่าวว่า ขณะนี้ไม่มีหน่วยงานใดออกมาทำหน้าที่กำกับดูแลวิทยุชุมชนซึ่งควรต้องเร่งรัด กทช.ให้ออกใบอนุญาตควบคู่กับสร้างแนวทางกำกับดูแลกันไป เพราะหากรัฐบาลรอจนสถานการณ์ไม่ปกติและเข้ามาเร่งรัดก็อาจถูกมองว่าแทรกแซงสื่อได้ ซึ่งทำให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย หันไปหารือกับอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ถึงกรณีนี้

ทั้งนี้ในแถลงการณ์ได้เสนอว่า ให้รัฐบาลอดทนอดกลั้นต่อความเห็นที่แตกต่าง และคำนึงถึงหลักสิทธิเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญ หากมีการจับกุมวิทยุชุมชนที่ยั่วยุให้ใช้ความรุนแรง ต้องแสดงความผิดชัดเจนตามกฎหมาย มีขั้นตอนที่โปร่งใส และให้ กทช. เร่งรัดกระบวนการการออกใบอนุญาตวิทยุชุมชนเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในการกำกับดูแล อันเป็นสภาวะที่เอื้อให้มีการใช้วิทยุชุมชนเป็นเครื่องมือทางการเมือง ทั้งยังเสนอว่า ให้ผู้ที่เห็นแตกต่างจากรัฐ ทั้งวิทยุชุมชน วิทยุธุรกิจท้องถิ่น หรือกระทั่งวิทยุที่จัดตั้งโดยภาคการเมือง ตระหนักถึงขอบเขตของการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองด้วย

 

 
แถลงการณ์ สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ
เรื่อง การกำกับดูแลวิทยุชุมชนในสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมือง
 
 
จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ทวีความเข้มข้นมากขึ้น และคาดการณ์ว่าอาจมีการใช้ความรุนแรงโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่จะมีการตัดสินคดียึดทรัพย์ อีกทั้งการที่รัฐบาลอ้างว่ามีการใช้สถานีวิทยุชุมชนเป็นเครื่องมือในการปลุกระดมมวลชน นัดหมายชุมชุม รวมถึงยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ยิ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับทุกฝ่ายในสังคม
 
สหพันธ์วิทยุชมชนแห่งชาติ (สวชช.) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชน และยึดมั่นหลักการเรื่องสิทธิและเสรีภาพการสื่อสารของประชาชนมาโดยตลอด มีความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง และไม่ต้องการให้มีการใช้ความรุนแรงในสังคมไทยเพียงเพราะมีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน อีกทั้งการที่รัฐบาลกล่าวอ้างว่ามีการใช้วิทยุชุมชนเป็นเครื่องมือเพื่อยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงนั้น อาจนำไปสู่การใช้อำนาจรัฐเพื่อปิดกั้นสิทธิในการสื่อสารและการแสดงออกทางความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างของประชาชนได้ ซึ่งย่อมขัดต่อหลักการของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ จึงขอเสนอแนวทางต่อทุกฝ่ายดังนี้
 
1.) ขอให้รัฐบาลอดทนอดกลั้นต่อความเห็นที่แตกต่าง โดยให้คำนึงถึงหลักสิทธิ เสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ หากรัฐบาลพบว่ามีการใช้วิทยุชุมชนสื่อสารเนื้อหาที่ยั่วยุให้ใช้ความรุนแรง การจับกุมดำเนินคดีที่จะเกิดขึ้นต้องมีความผิดชัดเจนตามกฎหมาย มีขั้นตอนที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นมาตรฐานเดียวกัน  
 
2.) ขอให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เร่งรัดกระบวนการการออกใบอนุญาตวิทยุชุมชน เพราะในระหว่างที่ยังไม่มีสถานีใดได้รับใบอนุญาต ย่อมเกิดช่องว่างในการกำกับดูแล อันเป็นสภาวะที่เอื้อให้มีการใช้วิทยุชุมชนเป็นเครื่องมือทางการเมือง
 
3.) ขอให้ บุคคล คณะบุคคล หรือชุมชน ที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐและดำเนินการวิทยุชุมชนขนาดเล็ก ทั้งวิทยุชุมชน วิทยุธุรกิจท้องถิ่น หรือกระทั่งวิทยุที่จัดตั้งโดยภาคการเมืองก็ตาม ตระหนักถึงขอบเขตของการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองภายใต้กฎหมายเป็นสำคัญ
 
สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ (สวชช.)
18 กุมภาพันธ์ 2553
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net