ภาคประชาชนส่งแถลงการณ์ถึงอาเซียนในประเด็นทุนข้ามชาติในพม่า

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 53 ที่ผ่านมาองค์กรภาคประชาชนได้ส่งจดหมายและแถลงการณ์ถึง ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน เรื่องประเด็นทุนข้ามชาติในพม่า: ภัยคุกคาม ความรับรู้และการแก้ปัญหาในกรอบอาเซียน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

21 กันยายน 2553

ถึง ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ
เลขาธิการอาเซียน
กรุงจาร์กาตาร์ อินโดเนเซีย

เรื่อง แถลงการณ์ถึงอาเซียนในประเด็นทุนข้ามชาติในพม่า: ภัยคุกคาม ความรับรู้และการแก้ปัญหาในกรอบอาเซียน

เรียน ท่านเลขาธิการอาเซียน

ในวันที่ 18 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา กลุ่มภาคประชาชนอาเซียนได้จัดให้มีการสัมมนาเรื่อง “ทุนข้ามชาติในพม่า: ภัยคุกคาม ความรับรู้และการแก้ปัญหาในกรอบอาเซียน” ขึ้นที่กรุงเทพ ประเทศไทย การสัมมนาครั้งนี้ มีกลุ่มภาคประชาสังคมผู้สนใจในประเด็นอาเซียนและประเด็นพม่าเข้าร่วม อีกทั้งยังมีสมาชิกวุฒิสภาของไทย กลุ่มนักวิชาการและสื่อมวลชนเข้าร่วมด้วย

การสัมมนาครั้งนี้มีจุดประสงค์หลักคือ

* เพื่อชี้ให้เห็นผลกระทบของการลงทุนข้ามประเทศในโครงการขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติขนาดใหญ่ในประเทศพม่า ซึ่งเป็นประเด็นที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ไม่เป็นที่ตระหนักและยังไม่มีการกล่าวถึงกันในหมู่สาธารณชน
* เพื่อเรียกร้องให้ผู้นำของชุมชนอาเซียน ผู้สนับสนุน และองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภายในภูมิภาคและภายนอก ให้ความสนใจอย่างจริงจังในการคุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค
* เพื่อส่งสารถึงอาเซียนและผู้นำ และสื่อสารกับสาธารณะในช่วงของการประชุมมหกรรมภาคประชาชนอาเซียนที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม
และ
* เพื่อสนับสนุนการเกิดขึ้นของเสาสิ่งแวดล้อมในกรอบอาเซียน ซึ่งเป็นข้อเสนอของภาคประชาชน

แนบมาพร้อมกับจดหมายนี้ คือแถลงการณ์ของภาคประชาชนจากการสัมมนาดังกล่าว พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในฐานะที่เป็นผู้นำอาเซียน ท่านจะตระหนักว่าโครงการขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติขนาดใหญ่ เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางอาหารและวิถีชีวิตของประชาชนจำนวนนับล้านในภูมิภาค ประเด็นการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ในพม่าจึงจำเป็นต้องได้รับการทบทวน หรือหยุดหากจำเป็น เพื่อให้วิถีชีวิตของประชาชน ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพจะยังคงอยู่ได้

เราเชื่อว่า การหาความเป็นไปได้ในการทบทวนโครงการทางเศรษฐกิจของพม่า โดยเฉพาะการลงทุนข้ามประเทศ ให้เป็นไปตามกฎบัตรอาเซียน เป็นไปตามแนวทางสิทธิมนุษยชน และให้รายได้ต่อประชาชนของประเทศ นับถือความยุติธรรมต่อแรงงาน และรักษาสิ่งแวดล้อม ย่อมเป็นภาระกิจที่สำคัญของผู้นำอาเซียน เราจึงขอเรียกร้องให้ท่านให้การสนับสนุนการเกิดขึ้นของเสาสิ่งแวดล้อมในอาเซียน ซึ่งเราเชื่อว่าจะเป็นหนทางหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

ขอขอบคุณที่ท่านให้ความสนใจในประเด็นที่ได้กล่าวมา และเราหวังว่าท่านจะตอบสนองข้อเสนอของเราอย่างจริงจัง

ขอแสดงความนับถือ

Thai Action Committee for Democracy in Burma (TACDB)
Shan Women Action Network (SWAN)
Pa-O Youth Organization
Arakan Oil Watch
Human Rights Foundation of Monland
Burma River’s Network (BRN)
Karen Environmental and Social Action Network (KESAN)
Arakan Rivers Network (ARN)
Back Pack Health Worker Team (BPHWT)
EarthRights International (ERI)
Ethnic Community Development Forum (ECDF)
Friends of Burma (FOB)
Kayan New Generation Youth (KNGY)
Kuki Students Democratic Front (KSDF)
Students and Youth Congress of Burma (SYCB)
Indonesian Solidarity for Burma (SIB)
Ta’ang Students and Youth Organization (TSYO)
Towards Ecological Recovery and Regional Alliance (TERRA)
International Rivers (IR)
Living River Siam (SEARIN)

 

แถลงการณ์ถึงอาเซียน

ทุนข้ามชาติในพม่า: ภัยคุกคาม ความรับรู้และการแก้ปัญหาในกรอบอาเซียน

กันยายน 2553

 

เรา ในนามขององค์กรภาคประชาชนซึ่งร่วมลงนามในแถลงการณ์ฉบับนี้ มีความห่วงใยอย่างยิ่งยวดต่อสถานการณ์การลงทุนข้ามชาติในประเทศพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการเขื่อนพลังน้ำขนาดใหญ่เพื่อผลิตไฟฟ้า โครงการเหมืองแร่ โครงการขุดเจาะน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งสร้างผลกระทบมหาศาลต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โครงการเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติ ซึ่งไม่มีกระบวนการปรึกษาหารือกับชุมชนในพื้นที่ อีกทั้งยังคุกคามต่อดุลยภาพของระบบนิเวศ ความมั่นคงของมนุษยชาติ สร้างผลเสียต่อวิถีการดำรงชีพของชุมชนท้องถิ่น และมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายกรณี

 

ณ ขณะนี้ มีโครงการเขื่อนมากกว่า 20 โครงการที่กำลังดำเนินการก่อสร้างบนแม่น้ำสายสำคัญในพม่า ซึ่งรวมถึงแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำอิระวดี มากกว่า 30 บริษัทเป็นผู้ลงทุนจากประเทศจีน สำหรับโครงการบนลำน้ำสาละวิน นักลงทุนจากไทย พม่า และจีนกำลังวางแผนก่อสร้างอย่างน้อย 6 เขื่อน รวมถึงเขื่อนท่าซางและเขื่อนฮัตจี ซึ่งจะผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อขายให้กับโครงข่ายระบบไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid) ทั้งนี้ มีข้อมูลอย่างชัดเจนว่าการสร้างเขื่อนในพม่าก่อให้เกิดการบังคับการโยกย้ายถิ่นฐานและเป็นภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

 

ผู้เกี่ยวข้องในโครงการเหล่านี้ จำนวนหนึ่งมาจากประเทศในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ซึ่งมีบทบาทในโครงการการสำรวจและและขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในประเทศพม่า จากกรณีโครงการก๊าซยาดานาและเยตากุน ซึ่งเป็นแหล่งเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยถึง 20 เปอร์เซ็นต์ โครงการดังกล่าวที่ทำให้เกิดการสูญเสียที่ดินทำกิน ขับไล่ผู้คนออกจากท้องถิ่น มีการบังคับใช้แรงงาน การทำร้ายร่างกาย หรือแม้กระทั่งก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิต เช่นเดียวกัน กรณีที่บริษัทจากเกาหลีใต้ อินเดีย และจีนลงทุนก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันได้ทำให้เกิดการสูญเสียวิถีการดำรงชีพ ตลอดจนความรุนแรงหลากหลายรูปแบบ

 

การทำเหมืองขนาดใหญ่ ทั้งเหมืองถ่านหิน เหล็ก และแร่ชนิดอื่นๆ รวมถึงอัญมนีต่างๆ โดยนักลงทุนต่างชาติได้ทำลายพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญต่อการเกษตรและอุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งนี้ บริษัทจากประเทศไทยได้วางแผนที่จะนำเข้าลิกไนต์จำนวน 1.5 ล้านตันทุกปีต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 30 ปีจากเหมืองมายกก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังมีการปะทะต่อสู้ในรัฐฉานตะวันออก ในขณะเดียวกัน บริษัทจากประเทศรัสเซียและอิตาลีได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงการเหมืองเหล็กขนาดใหญ่ที่จะต้องขับไล่คนนับพันจากถิ่นฐานที่อยู่อาศัย และจะสร้างมลพิษปนเปื้อนแหล่งน้ำการเกษตรใกล้กับเมืองตองยี (Taunggyi) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐฉาน

 

ปัจจุบันนี้ ประเทศที่มีการลงทุนในประเทศพม่าในลำดับต้นๆ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ จีน และอังกฤษ กล่าวคือ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2531-2551 ภาคเอกชนไทยลงทุนในพม่ารวมทั้งสิ้น 59 โครงการ มูลค่าการลงทุนสะสม คิดเป็น 7.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 47 ของมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมดของพม่า โดยไทยมีมูลค่าการลงทุนในพม่าสูงเป็นอันดับที่ 1 รองลงมา คือ สหราชอาณาจักร จำนวน 50 โครงการ มูลค่า 1,861 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 3 คือ สิงคโปร์ จำนวน 71 โครงการ มูลค่า 1,520.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะเดียวกัน ประเทศจีนก็กำลังมีบทบาทที่น่าจับตามองสำหรับการลงทุนในพม่า โดยในเดือนมกราคมปี 2552 มีรายงานว่าการลงทุนของจีนมีมูลค่าถึง 1,800 ล้านดอลลาร์

 

ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์หลักจากโครงการการลงทุนเหล่านี้คือรัฐบาลทหารพม่าและนักลงทุนต่างๆ ในขณะที่ประชาชนพม่ามีส่วนในผลประโยชน์เหล่านี้น้อยมาก อันเนื่องมาจากในประเทศพม่า ยังไม่มีกลไกใดๆ ที่จะสร้างการตรวจสอบได้และความโปร่งใสของโครงการ ในขณะที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของโครงการกลับเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่โครงการ ซึ่งนับเป็นผู้ที่มีความอ่อนแอมากที่สุด ตัวอย่างเช่น กลุ่มผู้หญิง และกลุ่มชนเผ่าต่างๆ ทั้งนี้ ผลกระทบดังกล่าวจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงการหลั่งไหลของผู้ลี้ภัยและผู้อพยพยเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย

การลงทุนข้ามชาติที่ถั่งโถมเข้าไปเป็นจำนวนมหาศาลนั้นเป็นการคุกคามอันใหญ่หลวงต่อความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความมั่นคงด้านสังคมของภูมิภาค หากนานาชาติและโดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนเอง ไม่สามารถมองเห็นภัยคุกคามดังกล่าวแล้ว และยังคงสนับสนุนกระบวนการลงทุนเหล่านี้ต่อไป การจะบรรลุเป้าหมายของ ประชาคมอาเซียนภายในปี 2558 ภายใต้เสายุทธศาสตร์หลัก 3 เสา อันได้แก่ ด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งระบุไว้ในปฎิญญาอาเซียน ในเดือนตุลาคม ปีพ.ศ 2546 นั้นคงจะเป็นสิ่งเป็นไปได้ยาก 

เป้าประสงค์ดังกล่าวจะเป็นจริงได้ต่อเมื่ออาเซียนมีการทบทวนแผนการค้าและการลงทุนที่เข้มข้น โดยจำเป็นต้องตระหนักถึงความแตกต่างทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน และสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งสร้างผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรธรรมชาติของภูมิภาคร่วมกัน ดังนั้น เราจึงร่วมให้การรับรองการเรียกร้องเสาหลักสิ่งแวดล้อมให้เป็นเสายุทธศาสตร์ที่สี่ของอาเซียน เพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญและความเชื่อมโยงระหว่างกันของวิถีการดำรงชีวิตของประชาชน สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ เสายุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมจะมีขอบเขตในการจัดการปัญหาหลักๆ ในสามประเด็นต่อไปนี้ ได้แก่ โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ทำให้เกิดการสูญเสียสิ่งแวดล้อมและวิถีการดำรงชีวิตท้องถิ่น ประเด็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพ

ดังนั้น เรา ซึ่งเป็นกลุ่มภาคประชาสังคมและเครือข่ายประชาชนขอเรียกร้องให้ผู้นำประชาคมอาเซียน ผู้นำประเทศคู่เจรจา และองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องนั้น ตระหนักและให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาที่เกิดจากการลงทุนข้ามชาติในประเทศพม่าอย่างเร่งด่วนเพื่อให้เป้าประสงค์ซึ่งระบุไว้ในกฎบัตรอาเซียนในด้านสิทธิมนุษยชนและการปกป้องสิ่งแวดล้อมสามารถบรรลุได้จริง  

ในโอกาสที่การประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน (ASEAN People’s Forum) ระหว่างวันที่ 24-26 เดือนกันยายนที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนามกำลังจะมาถึง เราขอเรียกร้องให้อาเซียน:

·         พัฒนากรอบกฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการกำหนดให้บรรษัทต่างๆ มีความรับผิดชอบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนในโครงการที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้า เหมืองแร่ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

·         พัฒนากรอบแนวคิดสำหรับอุตสาหกรรมขุดเจาะในอาเซียน ซึ่งระบุแนวทางให้กับประเทศสมาชิกในการกำกับดูแลทรัพยากรถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และแร่ต่างๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของประชาชน และการตรวจสอบได้อย่างแท้จริง  ตลอดจนเพื่อให้เกิดนโยบายที่เหมาะสมซึ่งส่งเสริมความยั่งยืนของระบบนิเวศน์ สนับสนุนสิทธิทางด้านสังคมและวัฒนธรรม โดยยึดมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ดีที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

เราเชื่อว่าอาเซียนและประเทศเพื่อนบ้านจะสามารถมีบทบาทหลักในการส่งเสริมสันติภาพและวิถีการดำรงชีวิตที่ยั่งยืนของประชาชนนับล้านในประเทศพม่า ตลอดจนปกป้องระบบนิเวศน์

 

องค์กรร่วมลงนาม:  

Thai Action Committee for Democracy in Burma (TACDB)

Shan Women Action Network (SWAN)

Pa-O Youth Organization

Arakan Oil Watch

Human Rights Foundation of Monland

Burma River’s Network (BRN)

Karen Environmental and Social Action Network (KESAN)

Arakan Rivers Network (ARN)

Back Pack Health Worker Team (BPHWT)

EarthRights International (ERI)

Ethnic Community Development Forum (ECDF)

Friends of Burma (FOB)

Kayan New Generation Youth (KNGY)

Kuki Students Democratic Front (KSDF)

Students and Youth Congress of Burma (SYCB)

Indonesian Solidarity for Burma (SIB)

Ta’ang Students and Youth Organization (TSYO)

Towards Ecological Recovery and Regional Alliance (TERRA)

International Rivers (IR)

Living River Siam (SEARIN)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท