ซีรีส์ สื่อใหม่กับความขัดแย้งทางการเมือง ตอน 7: สื่อออนไลน์เปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองไทย

"ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์" นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มองสื่อออนไลน์จะเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมือง และยากที่รัฐบาลจะต่อสู้เพราะไม่ว่าจะปิดอย่างไรก็เปิดใหม่ได้เสมอ ... มันไม่มี “เขตแดน” ไม่มี “สัญชาติ” ไม่มี “เชื้อชาติ” ไม่มี “อำนาจอธิปไตย”

 

 
ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ส่งผลให้ ‘สื่อทางเลือก’ หรือ ‘นิวมีเดีย’ มี รูปแบบที่หลากหลายและนับวันจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อินเทอร์เน็ต เครือข่ายทางสังคมออนไลน์ เคเบิลทีวี หรือวิทยุชุมชน จนกระทั่งช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาซึ่งประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ก็ทำให้ยากที่ใครจะปฏิเสธได้ถึงนัยสำคัญที่มีต่อสังคมไทย กระทั่งเป็นที่จับตารอการทำความเข้าใจและอธิบาย
 
ขณะเดียวกัน สื่อสารมวลชนไทยกระแสหลักเองก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงการทำ หน้าที่ตลอดช่วงความขัดแย้งดังกล่าว ไม่เพียงแต่การตั้งคำถามถึงจริยธรรม จรรยาบรรณ จุดยืน ตลอดจนท่าทีที่มีต่อความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนต่างๆ ในบริบทของการแบ่งแยกขั้วแบ่งแยกข้างทางการเมือง จนนำไปสู่วิกฤติความน่าเชื่อถือของสื่อ และเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้ช่องทางและการสื่อสารใหม่ๆ มีผู้ใช้เติบโตอย่างก้าวกระโดด และถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนความคิดและความเคลื่อนไหวทางการ เมืองอย่างไม่เคยมีมาก่อน
 
ประชาไท สัมภาษณ์นักคิด นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน และนักปฏิบัติการสื่อออนไลน์ 12 คน เพื่อร่วมถกเถียงในประเด็นดังกล่าว ซึ่งจะนำเสนออย่างต่อเนื่อง โดยความสนับสนุนของมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ ซึ่งบท
สัมภาษณ์อย่างละเอียดจะนำเสนอเป็นรูปเล่มต่อไป
 

 

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ เป็นนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผ่านประสบการณ์การเป็นข้าราชการประจำกระทรวงการต่างประเทศ จากนั้นเบนความสนใจสู่การเป็นนักวิชาการ โดยปัจจุบันเป็นนักวิชาการประจำศูนย์อาเซียนศึกษา, สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งประเทศสิงคโปร์ (ASEAN Studies Centre, Institute of Southeast Asian Studies, Singapore)

ชื่อของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ อาจจะไม่คุ้นหูนักสำหรับผู้อ่านสื่อภาคภาษาไทย แต่เขาคือนักวิชาการเจ้าของบทวิเคราะห์และบทความเกี่ยวกับการเมืองไทยที่น่าสนใจซึ่งถูกผลิตออกมาอย่างต่อเนื่องในภาคภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนใหญ่แล้วเป็นบทวิเคราะห์เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทยที่ขัดแย้งยืดเยื้อ และปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

ภาคหนึ่ง: ไทยในบริบทอาเซียน
ประชาไทพูดคุยกับเขาในฐานะนักวิชาการซึ่งนำเสนอมุมมองต่อความขัดแย้งทางการเมืองไทยในกรอบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเขามองว่าหากกวาดตาไปทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน หรือแม้แต่ในอาณาบริเวณอื่นของโลก ปัญหาเสรีภาพในการสื่อสารและความขัดแย้งทางการเมืองไทย ก็มีเพื่อนร่วมทางอยู่จำนวนมาก เพราะทุกๆ ที่ย่อมมีประเด็น “ต้องห้าม”

“ที่นี่ (สิงคโปร์) ก็ลำบากเหมือนกัน ทุกที่ๆ มี Taboo (เรื่องต้องห้าม) พูดแบบสั้นๆ ก็คือมีขอบเขตและข้อจำกัดในการเสนอข่าว และรัฐบาลสิงคโปร์ก็ยอมรับว่าเสรีภาพของสื่อมวลชนในสิงคโปร์ไม่เทียบเท่าประเทศอื่น ทั้งนี้ก็เพราะว่า รัฐบาลเป็นเจ้าของสื่อ ก็เลยเข้ามามีบทบาทโดยตรง”

ดังนั้น ในกรณีประเทศไทย จึงไม่ได้ Unique (เป็นกรณีพิเศษ) มันเกิดในประเทศอื่นๆ เช่นกัน รวมถึงในประเทศที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย ในหลายๆ ประเทศก็มีปัญหาเสรีภาพในการแสดงความเห็น และก็เหมือนกันในภูมิภาคเอเชียด้วยกันเอง ไม่ต้องถึงขนาดไปเทียบกับพม่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเสรีภาพค่อนข้างจำกัด ซึ่งก็น่าเสียดายว่าก่อนหน้านี้ ประเทศไทยของเราเคยมีช่วงที่เสรีภาพเบ่งบานมาก”

เสรีภาพที่เคยคิดว่าเรามีนั้นเป็นแค่ภาพลวงตา
แม้ไทยจะไม่ใช่กรณีพิเศษ แต่สิ่งที่น่าเสียใจสำหรับสังคมไทยก็คือ เราเคยมีเสรีภาพมาก่อน

“เสรีภาพทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นของไทยเบ่งบานอย่างค่อนข้างชัดเจนในยุคทศวรรษ 1990 หลังพฤษภาทมิฬ และมีรัฐธรรมนูญ 2540 เอาเข้าจริงก็คือช่วงรัฐบาลประชาธิปัตย์ ช่วงนั้นเรามีเสรีภาพพอสมควร สื่อแสดงความคิดเห็นได้ตรงไปตรงมา ไม่ถูกครอบงำโดยรัฐเท่าไหร่ แต่จะมองเพียงปัจจัยภายในประเทศอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองปัจจัยต่างประเทศด้วยว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่เพิ่งพ้นยุคสงครามเย็น ประชาธิปไตยเบ่งบานทั่วโลก ก็เป็นผลอันหนึ่งที่ทำให้เกิดการเบ่งบานของเสรีภาพ เป็นกระบวนการพัฒนาทางประชาธิปไตย เราถึงมีบุคคลอย่างคุณทักษิณที่เข้ามาพร้อมกับกระแสประชาธิปไตย คุณทักษิณเข้ามาในช่วงแรก ก็ดูเหมือนว่าประชาธิปไตยของไทยดำเนินไปด้วยดี แต่ต่อมา ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เราคาดหวัง ในบางด้าน คุณทักษิณทำได้ดีกว่ารัฐบาลชุดนี้ และก็มีที่แย่กว่ารัฐบาลชุดนี้ แต่ที่แน่ๆ คุณทักษิณก็ครอบงำสื่อเช่นกัน”

เพียงอีกหนึ่งทศวรรษให้หลัง ประเทศไทยก็หวนกลับมาเผชิญกับความเป็นจริงอีกด้านอย่างรวดเร็ว

“ก็น่าเศร้าตรงที่ว่าไทยเคยเป็นประเทศที่เป็นแม่แบบประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งสม่ำเสมอ อาจจะมีรัฐประหารบ้าง แต่วิถีโดยทั่วไปเป็นวีถีที่สะท้อนความเป็นประชาธิปไตย สื่อมวลชนก็มีเสรีภาพมากพอสมควร แต่สถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นมันชี้ให้เราเห็นว่าที่เราคิดว่ามีนั้นเป็นแค่ภาพลวงตา ที่เราเชื่อว่ามันมีสิ่งที่เรียกว่าเป็นประชาธิปไตยนั้น จริงๆ แล้วอาจจะไม่มี แล้วการแก้ไขคงทำไม่ได้เพียงข้ามคืน และผมก็คิดไม่ออกว่าทางออกของปัญหาอยู่ที่ใด ในเมื่อเราไม่รู้มันจะแก้ไขตรงไหน เราก็ไม่รู้ว่าสื่อจะมีทางออกยังไง อาจจะถูกบีบมากขึ้น พอถูกบีบมากขึ้นก็อาจจะเลยเถิดไปมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ในสายตาของนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผู้นี้ เขาเชื่อว่าประเทศไทยยังมีทางออก และสิ่งที่ยืนยันก็คือกระบวนการต่อสู้ทางการเมืองที่ดำรงอยู่ ซึ่งเปิดกว้างให้กับคนในทุกชนชั้นเข้ามามีส่วนร่วมและได้แสดงบทบาทมากขึ้น

“ผมไม่อยากมองในแง่ลบ ผมอยากมองในแง่บวกว่าการต่อสู้ที่ดำเนินอยู่นี้ นอกเหนือจากเป็นการต่อสู้เพื่ออำนาจทางการเมืองของคนบางกลุ่ม ผมคิดว่าก็เป็นสัญญาณของประชาธิปไตยอีกแบบหนึ่งซึ่งมีการพัฒนา เพราะว่าอย่างน้อยๆ คนที่มักถูกเรียกว่าเป็นคนชนบทได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ได้เข้ามาร่วมในขบวนการมากขึ้นในการสนับสนุนหรือต่อต้านรัฐบาลไม่ว่าจะเหลืองหรือแดงก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย และผมคิดว่าในที่สุดแล้วมันอาจจะนำพาเราไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น มันอาจจะลำบากทุลักทุเลบ้าง ดูอย่างกรณีอินโดนีเซีย ในปี 1997 ตอนที่ระบอบซูฮาร์โตล่มสลาย ประชาธิปไตยมาถึงทางตันจริงๆคอร์รัปชั่นสูง และทหารก็เข้ามาวุ่นวายทางการเมืองมาก แต่ใครจะเชื่อว่า 13 ปีต่อมา อินโดนีเซียตอนนี้เป็นประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในภูมิภาคนี้ ฉะนั้นปัญหาก็อยู่ที่ว่าจะหาทางออกได้ไหม และจะหาทางออกได้เร็วแค่ไหน จะมีอุปสรรคแค่ไหน ผมคิดว่าประเทศไทยยังมีทางออกแม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะปั่นป่วนมากมายแค่ไหนก็ตาม มองประเทศไทยก็อย่ามองแต่แง่ลบอย่างเดียว ผมคิดว่ายังมีแสงไฟที่จะทำให้เราออกจากอุโมงค์”
 

มองในแง่อาเซียน ไทยสูญเสียการเป็นผู้นำอย่างสิ้นเชิง
จากแม่แบบประชาธิปไตย และครั้งหนึ่งเคยมีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน แต่สภาพปัจจุบันของไทย เราสูญเสียความเป็นผู้นำ ด้วยปัญหาการเมืองภายในที่รุมเร้า

“เป็นเรื่องผลของการเมืองภายในและการเมืองระหว่างประเทศ เพราะว่ารัฐบาลนี้ให้ความสนใจแค่เพียงความอยู่รอดของตัวเอง จึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับการต่างประเทศ อันนี้ก็เป็นกฏธรรมชาติ จะสนใจการเมืองระหว่างประเทศก็ต่อเมื่อจะใช้การเมืองระหว่างประเทศมาเป็นเครื่องมือของการเมืองภายใน ยกตัวอย่างเช่น การใช้กรณีเขาพระวิหาร ซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องความขัดแย้งทวิภาคีโดยตรงเท่าไหร่ แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประเด็นการเมืองภายใน ซึ่งเป็นประโยชน์กับรัฐบาลชุดนี้

“แต่ถ้ามองในอาเซียน ไทยไม่ได้แสดงบทบาทนำ คุณอภิสิทธิ์เพิ่งเดินทางกลับจากพม่า ก็เหมือนเดิม คือไม่ได้พูดเรื่องเลือกตั้งเท่าไหร่ ก็เข้าใจว่าไม่มีสิทธิ์ที่จะพูด เพราะว่าตานฉ่วยก็คงจะบอกว่าแล้วประเทศคุณมีประชาธิปไตยจริงหรือเปล่า ถึงจะมาสอนเรา หากมองด้วย irony ประเทศพม่าจะมีเลือกตั้งก่อนประเทศไทยด้วยซ้ำ

“แล้วผมคิดว่าสิ่งที่น่าเสียใจก็คือคุณอภิสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์คุณทักษิณไว้เยอะ ที่ว่าใช้นโยบายต่างประเทศมากอบโกยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งทางส่วนตัวหรือของประเทศก็ตามโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงการส่งเสริมประชาธิปไตยหรือสิทธิมนุษยชน แต่ตอนนี้ประชาธิปัตย์ก็ทำเหมือนกัน หลังจากคุณอภิสิทธิ์เดินทางกลับจากพม่า ก็พูดเรื่องจะส่งเสริมการค้าชายแดนและการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็เป็นนโยบายที่มีความชอบธรรม และเป็นผลประโยชน์ระหว่างประเทศ แต่ก็น่าจะทำให้มีสัดส่วนสมดุลกับสิ่งที่เราเชื่อมั่นยึดถือ”

และเขาเชื่อว่าปัญหาทางการเมืองไทยอาจจะฉุดประเทศที่เคยมีเสรีภาพแห่งนี้ให้ดำดิ่งไปอีก

“ผมหวังว่า ช่วงตกต่ำของไทยคงจะไม่ตกต่ำตลอด เพราะถ้าตกตลอดก็จะกลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว (Failed State) เรายังมีโครงสร้างที่แม้จะไม่สมบูรณ์แบบแต่ก็ยังสามารถพยุงไว้ได้อยู่ โครงสร้างเหล่านั้นได้แก่ การมีส่วนร่วมของประชาชน การที่ประชาชนเริ่มเข้าใจบทบาททางการเมืองของตนเองมากขึ้น การที่มีการตรวจสอบถ่วงดุลมากขึ้น ความพยายามในการสร้างความโปร่งใสในขบวนการทางการเมืองมากขึ้นโดยเฉพาะผ่านทางสื่อออนไลน์ ผมว่าโครงสร้างเหล่านี้ยังพยุงไทยไว้อยู่ และนี่คือความจริง เพราะว่าหากเรามองในแง่ลบมันก็ไม่ส่งเสริมให้เราหาทางออก การเมืองนอกจากมีความจริงแล้วยังมีเรื่องทางจิตวิทยาด้วย”

ภาค 2: สื่อออนไลน์เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมือง
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ปวินมองว่ายังมีแสงสว่างนำทางสู่ปลายอุโมงค์ ก็คือสื่อออนไลน์ที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างหลากหลายและกว้างขวาง นำมาสู่การตรวจสอบถ่วงดุลกันทางการเมือง เป็นแผ่นฟ้าที่กว้างใหญ่ชนิดที่ผู้มีอำนาจไม่อาจปิดกั้นได้ด้วยฝ่ามือแม้จะทรงอำนาจเพียงใดก็ตาม

“สื่อออนไลน์เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทั้งหมด ก่อนหน้านี้ การแสดงความเห็นทางการเมืองต้องทำโดยการออกมาเดินบนท้องถนน ต้องใส่เสื้อสีนี้ คุณต้องถือธงชาติ เพื่อให้เห็นว่าเกิดการรวมตัวทางการเมือง ซึ่งแน่นอนว่าก็ยังมีอยู่ แต่สื่อออนไลน์ทำให้มันไม่จำกัดอยู่แค่นั้นแล้ว มันเป็นศูนย์รวมที่ไม่อยู่ในรูปกายภาพ แต่เป็นจิตภาพ (spiritual) และบางทีการรวมตัวแบบจิตภาพนี้มีพลังมากกว่าเพราะมันรวมเอาภาวะอารมณ์ของคน มันทำให้คนซึ่งอาจจะไม่กล้าที่จะแสดงความเห็นทางการเมืองในรูปกายภาพ ได้เข้ามามีส่วนร่วมโดยผ่านสื่อออนไลน์ และมันก็ทำง่าย รวมตัวกันง่าย ไม่ต้องใช้งบประมาณเยอะ มันเคลื่อนไหวได้ง่าย และสะท้อนให้ความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เมื่อเรามีแล้วทำไมเราถึงจะไม่ใช้ประโยชน์จากมัน สื่อออนไลน์จึงมีผลในการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมือง และมันยากที่รัฐบาลจะต่อสู้ด้วย เพราะหากจะต่อสู้กันที่ราชประสงค์มันเห็นตัวบุคคล มีการลอบสังหารกันได้ เห็นว่ามีกี่หมื่นกี่พันคน รู้ว่าจะปิดทางออก ทางเหนือหรือใต้ แต่การต่อสู้ออนไลน์ ถ้าจะปิดเซิร์ฟเวอร์เขาก็เปิดใหม่ได้”

ปวินมองว่าสื่อออนไลน์เข้ามามีส่วนกำหนดวาระทางสังคมการเมืองสูงมากขึ้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่ และประเทศไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าอาจหลีกเลี่ยงได้บ้างในประเทศอื่น เช่น ประเทศที่มีการปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์ หรือมีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช หรือประเทศที่เป็นเผด็จการ

“ผมก็ยังเชื่อว่าประเทศไทยไม่ใช่เผด็จการ มันจึงอาจเป็นเรื่องยากที่สังคมไทยปัจจุบันจะปิดกั้นสื่อออนไลน์ หรืออินเทอร์เน็ต

“ผมคิดว่าสื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้นมาก ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มันมีความขัดแย้งมากในสังคมไทย แต่ละฝ่ายพยายามควบคุมสื่อในทุกแขนง เพื่อให้สื่อแสดงข้อคิดเห็นให้ตรงกับแนวทางที่ตนต้องการ ผมไม่ได้พูดถึงแต่รัฐบาลอย่างเดียว ผมคิดว่าฝ่ายค้านก็ทำเช่นเดียวกัน มีความพยายามของตัวเล่นทางการเมืองที่พยายามมีอิทธิพลเหนือสื่อพวกนี้ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้สื่อพวกนี้เข้ามามีอิทธิพล มีบทบาท”

ไม่มี “เขตแดน” ไม่มี “สัญชาติ” ไม่มี “เชื้อชาติ” ไม่มี “อำนาจอธิปไตย”
การส่งเสริมให้สื่อออนไลน์มีบทบาทไม่ว่าด้วยฝ่ายรัฐหรือฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามรัฐ ไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือ เมื่อตัวเล่นทางการเมืองเหล่านี้พยายามปิดกั้นสื่อออนไลน์ไม่ให้เข้ามามีบทบาทในบางเรื่อง ภายใต้อิทธิพลที่มีอยู่ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหลายที่มีอยู่ สื่อโทรทัศน์ วิทยุ แต่สื่อออนไลน์กลับเป็นสื่อเดียวที่มีสื่อควบคุมลำบาก

“เพราะออนไลน์มันไปทุกแขนง ผมใช้คำว่า มันไม่มี “เขตแดน” ไม่มี “สัญชาติ” ไม่มี “เชื้อชาติ” ไม่มี “อำนาจอธิปไตย” คุณจะเป็นใครมาจากไหนก็สามารถมีบทบาท เข้ามาแสดงความคิดเห็นได้ และคุณไม่จำเป็นต้องอยู่อาศัยอยู่ในเมืองไทย จะอยู่ที่ไหนก็ได้”

และแม้จะพยายามยื่นมือของกฎหมายภายในประเทศเข้าไปจับ และยึดเสรีภาพออนไลน์นั้นไว้ แต่ปวินมองว่า ข้อจำกัดของรัฐทำให้ก้าวไปจัดการไม่ได้ทั้งหมดอย่างที่ต้องการ

“ถ้าพูดในกรอบรัฐบาลก็ทำได้ แต่แค่ส่วนเดียวเท่านั้น ผมเคยเขียนบทความตั้งคำถามว่า รัฐบาลต้องปิดอีกกี่เว็บไซต์เพื่อจะให้แน่ใจว่าศัตรูของรัฐบาลได้หมดสิ้นไป...มันเป็นไปไม่ได้ ปิดเว็บหนึ่ง พรุ่งนี้มีอีกสิบเว็บไซต์เกิดขึ้นใหม่ และผมคิดว่าจำกัดบทบาทของสื่อออนไลน์โดยการปิดเว็บไซต์ไม่ใช่เป็นทางออก มันเหมือนกับที่ผมเคยตั้งคำถามเช่นกันว่า เอกสารที่วางอยู่บนโต๊ะโดยปกติแล้วไม่มีใครสนใจ แต่พอไปจัดประเภท ว่าเป็นเอกสารลับเฉพาะมันมีแต่คนอยากสนใจอยากอ่าน กรณีของเว็ปไซต์ก็เช่นกัน หากอยู่เฉยๆ อาจไม่ค่อยมีคนสนใจ แต่เมื่อไปจัดประเภทว่ามันเป็นอันตรายต่อ – อะไรก็ตาม- จะอ้างว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เป็นภัยต่อบางสถาบันหรือองค์กรของสังคมไทย พอบล็อคเว็บไซต์ คนก็อยากรู้ขึ้นมาทันที อย่างเว็บ wikileaks ตอนยังไม่ปิดไม่ค่อยมีคนเข้า แต่พอไปปิด คนเข้าเยอะมากเพราะอยากรู้ว่าอะไรเป็นอะไร และอะไรที่มันรั่วออกมา และที่รัฐบาลคิดว่าปิดได้ มันก็ไม่จริง เพราะคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันนี้ ฝ่ายค้านทั้งหมด ที่ต่อต้านรัฐบาลก็ไม่ได้โง่ รู้เทคโนโลยี สามารถจะ unblock และเข้าถึงสื่อต่างๆ นั้นได้”

สื่อออนไลน์ช่วยสร้างความโปร่งใส ไม่ใช่แค่ในส่วนของรัฐบาลแต่ของสถาบันอื่นๆ ด้วย
และหากจะมองแบบโปรสื่อออนไลน์สักหน่อย ปวินก็เห็นด้วยว่า สื่อออนไลน์ทำให้กระบวนการของฝ่ายค้าน หรือขบวนการที่อ้างอิงตัวเองว่าเป็น “ประชาธิปไตย” สามารถมีช่องทาง หรือเปลี่ยนสมรภูมิรบ

“ข้อดีมีอยู่มาก ที่ผมเห็นเลยคือมันทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้นในกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย จากการที่รัฐบาล ฝ่ายค้าน เคยเล่นการเมือง Behind the scene แต่พอมันกลายมาเป็นประเด็นออนไลน์ ทุกคนสามารถเข้าถึง ส่วนหนึ่งสื่อออนไลน์จึงช่วยสร้างความโปร่งใส ไม่ใช่แค่ในส่วนของรัฐบาลแต่ของสถาบันอื่นๆ แต่ก่อนเราไม่รู้เรื่องเลย แต่ในปัจจุบันเรารู้มากขึ้นและทำให้เกิดระบบตรวจสอบซึ่งกันและกัน ทำให้คนที่คิดว่าตัวเองกำลังถูกจับตาโดยสังคมออนไลน์ต้องทำตัวให้ดีขึ้น ทำให้ตัวให้เป็นที่ยอมรับในสังคมมากขึ้น

“แต่มันก็เป็นดาบสองคม สื่อออนไลน์อาจกลายเป็นเครื่องมือในการทำลายฝ่ายตรงข้าม และเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมาก คนที่อ่านออนไลน์รับรู้ประเด็นใหม่เข้ามาทุกวันๆ ไม่ใช่ทุกคนที่อ่านแล้วคิดและวิเคราะห์ลึกซึ้ง ฉะนั้น ก็ยอมรับว่ามีบางคนที่มองแบบฉาบฉวย และเชื่อง่ายเกินไป

“แล้วคนก็มีรสนิยมที่ต่างกัน บางคนที่พร้อมจะเชื่อเรื่องนี้อยู่แล้ว พออ่านก็เชื่อเลย สมมติว่า หากใครก็ตามที่ไม่ชอบรัฐบาลชุดนี้ พอไปอ่านเจอว่ารัฐบาลชุดนี้ทำอะไรไม่ดี ไม่ชอบธรรม โดยธรรมชาติมนุษย์ก็จะเชื่อเลย โดยไม่มีการวิเคราะห์ก่อนว่าข้อมูลนี้จริงเท็จแค่ไหน ตรวจสอบได้ไหม แหล่งข้อมูลคืออะไร”

ข้อมูลที่ไม่ถูกคัดกรองนี้เองที่เขาเห็นว่าเป็นจุดอ่อนของสื่อออนไลน์ เมื่อเทียบกับสื่อกระแสหลัก แต่...ก็ไม่ได้อ่อนด้อยกว่ากันมากนัก

“ผมว่ามันอาจไม่แตกต่างกันมากเท่าไร เหตุผลหนึ่งคือ สื่อทั้งหมดที่มี สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อทีวี สื่อวิทยุ มันก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือเหมือนกัน เพียงแต่ว่ามันยังมีขอบเขต แต่เว็บไซต์มันไม่มีขอบเขต คนที่โพสต์ข้อมูลไม่รู้ว่าเป็นใครเลยด้วยซ้ำในบางกรณี แต่ในสื่ออื่นมันต้องมีความแน่ชัดมากกว่านั้น จึงทำให้โอกาสที่สื่ออื่นๆ จะถูก exploited (แสวงประโยชน์) อาจจะน้อยกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้ถูก exploited เลยนะ เพราะผมคิดว่าสื่อโทรทัศน์ทั้งหมดตอนนี้มันเป็นเครื่องมือของภาครัฐ”

ประชาชนถูกเปิดตาแล้ว
เราถามย้ำเขาอีกครั้ง ที่เขาบอกว่าการที่สื่อออนไลน์เปิดให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ เช่น สถาบันทหาร หรือสถาบันอื่นก็ตามแต่ ฯลฯ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง แล้วจะส่งผลให้เกิดการปรับตัวนั้น หากมองดูสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว เขาเห็นว่าผู้ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มีการปรับตัวไปในทิศทางนั้นหรือ

“เป็นคำถามที่ดีมาก ปรับตัวหรือเปล่าผมไม่รู้ แต่รู้แน่ๆ คือมันเปิดตาประชาชน มันช่วยสร้างความตระหนักรู้ (awareness) และจิตสำนึก (consciousness) ให้ประชาชนเข้ามามีบทบาท มาแสดงความเห็น ในประเด็นที่ตัวเองไม่เคยได้รับโอกาสให้แสดงความเห็น ส่วนจะแสดงความเห็นผิดหรือถูก จะส่งผลให้คนพวกนี้ปรับตัวหรือเปล่ามันเป็นขั้นต่อไป แต่ ณ จุดนี้มันเปิดตาประชาชน ซึ่งในที่สุดแล้วจะส่งผลต่อการปรับตัวของสังคมไทย เพราะสังคมไทยมันถูกปิดกั้นมาตลอด พูดเรื่องนี้ได้ พูดเรื่องนี้ไม่ได้ โดยไม่ได้อธิบายว่าทำไมพูดเรื่องนี้ไม่ได้ แต่สื่อออนไลน์เปิดทั้งหมดไม่ว่าหัวข้อไหนก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น สถาบันทหาร ในอดีตคนทั่วไปอาจจะไม่อยากพูดถึงสักเท่าไร พูดไป หรือไปวิจารณ์มากๆ ก็ไม่รู้จะเจ็บตัวหรือเปล่า หรืออาจมีผลกระทบกับตัวเองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่สื่อออนไลน์เปิดโอกาสให้เราวิพากษ์วิจารณ์อย่างเสรีมากขึ้น ไม่รู้จะอธิบายมากกว่านั้นอย่างไร แต่จะตอบคำถามที่ว่ามันส่งผลให้รัฐบาลปิดบังมากขึ้นไหม มันก็จริง วิจารณ์มากก็ทำให้รัฐบาลปิดมากขึ้น เหมือนมันเป็นวัฏจักร”

ฝืนความเปลี่ยนแปลงไปได้อีกไม่นาน
ปวินวิเคราะห์ว่า ความเปลี่ยนแปลงของสื่อออนไลน์นั้นเป็นภาวะที่ดำเนินไปกับปัจจัยนอกประเทศ ดังนั้นแล้ว รัฐบาลจะฝืนไม่รับรู้คงเป็นไปได้ยาก

“ผมคิดว่าตราบใดก็ตามที่รัฐบาลยังขาดวุฒิภาวะ (immature) ไม่ยอมรับว่าสังคมไทยมันเกิดการเปลี่ยนแปลง –แล้วผมก็คิดว่าเขายังไม่ยอมรับว่ามันมีการเปลี่ยนแปลง- ผมก็ไม่แปลกใจที่มีรายงานหนึ่งที่บอกว่ารัฐบาลปิดไป 113,000 เว็บไซต์ อันนี้ไม่แปลกใจเลย และรัฐบาลก็จะปิดมากขึ้น ไอ้อันที่ปิดไปแล้วก็ตายไป ก็คงไม่มีใครจะพยายามไป unblock มัน หมายความว่าเขาทำเว็บใหม่ดีกว่า แล้วรัฐบาลก็ปิดกันต่อไป ก็ดูว่าเกมนี้ใครจะชนะ แต่ผมก็คิดว่าเขาจะทำอย่างนี้ไปได้ไม่นาน เพราะสังคมไทยมันเป็นสังคมที่มีการเติบโตไปกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งภายในประเทศและการเติบโตในภูมิภาค รัฐบาลก็ทำด้านหนึ่งที่รัฐบาลทำได้”

สภาวะการไล่ปิดสื่อออนไลน์นั้น ล้อไปกับการไล่บี้คุกคามสื่อต่างประเทศในประเทศไทยด้วย ซึ่งปวินเห็นว่านี่คือการคุกคามสื่อครั้งใหญ่ของรัฐไทย

“กรณีของประชาไทแตกต่างจากเว็บไซต์อื่น เพราะมันเป็น mainstream ไม่ได้เป็นเหมือนบล็อกไร้สาระ หรือบล็อกของปัจเจกบุคคล ที่ไม่ได้มีผู้ตามมาก ผมคิดว่าพอปิดไปแล้วน่าจะมีความพยายามจะเปิดขึ้นมาอีก และรัฐบาลตอนนี้ก็เผชิญกระแสต่อต้านเยอะ ไม่อย่างนั้นคงไม่ปล่อยตัวคุณจีรนุช (เปรมชัยพร) และหลังๆ รัฐบาลก็ทำเลยเถิด ไม่ใช่แค่สื่อออนไลน์ แต่ไปครอบงำสื่อต่างชาติ บังคับให้เขาต้องรายงานข่าวที่ไม่ทำให้รัฐเสียภาพลักษณ์ แล้วก็สื่อต่างชาติเองก็ถูกข่มขู่ ไม่ว่าจะเป็นการถูกจับกุม หรือถูกขับออกนอกประเทศ ถ้ารายงานอย่างนี้จริงๆ แล้วถูกหาว่าส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ มันก็กลายเป็นว่าสื่อต่างประเทศพวกนี้ก็ต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง ผลก็ตกอยู่กับผู้อ่าน ผู้ฟัง ว่าจะไม่ได้ข้อมูลที่แท้จริง เพราะเขาจะรายงานเฉพาะส่วนที่เขารายงานได้เท่านั้น เพราะถ้ารายงานเกินไปกว่านั้น ตัวเองก็ตกอยู่ในปัญหา ถ้าจะรายงานอย่างเต็มที่ก็ต้องออกไปรายงานในต่างประเทศ ซึ่งก็ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์จริง”

เขาเคยระบุว่าอำนาจรัฐที่เข้ามาจัดการกับสื่อออนไลน์รวมถึงสื่ออื่นๆ นั้น นอกจากจะไม่แก้ปัญหาแล้วยังทำให้ความขัดแย้งร้าวลึกขึ้น ทว่าหากมองในอีกด้านหนึ่งในแง่มุมของรัฐและสื่อกระแสหลักของไทย ผู้ที่ต้องร่วมรับผิดชอบอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นแหล่งแพร่ความขัดแย้งก็คือสื่อออนไลน์นั้นเอง เราถามประเด็นนี้กับเขา และเขาปฏิเสธสมมติฐานดังกล่าวอย่างแข็งขัน

“สมมติฐานที่เพิ่งพูดไปนี่ผมต่อต้านอย่างมาก หมายความว่าต้องปิดสื่อออนไลน์ใช่ไหม แล้วความขัดแย้งจะหมด ซึ่งผมคิดว่าไม่จริง ในประเทศที่สื่อมีเสรีอย่างค่อนข้างเต็มที่อย่างสหรัฐอเมริกา มันก็ไม่ได้หมายความว่าจะส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง ความขัดแย้งมันไม่ได้เกิดมาจากสื่อ มันอาจถูกขยายตัวโดยสื่อ แต่ถ้าคนไปบอกว่าสื่อทำให้เกิดความขัดแย้ง แสดงว่าเขาไปดูที่ปลายปัญหาไม่ได้ดูที่ต้นปัญหา แล้วผมคิดว่าคนที่พูดนี่นอกจากจะไม่เป็นธรรมแล้วยังไม่พอ เขาดูจะไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองที่แท้จริงด้วย จริงๆ แล้ว ต้นเหตุของปัญหาอยู่ตรงไหนต้องมองตรงนั้นก่อน บทบาทสื่อคืออะไร คือการแสดงข้อเท็จจริง แต่สื่อเดี๋ยวนี้มันไม่ได้แสดงข้อเท็จจริงอย่างเดียว มันมาพร้อมกับความเห็น ทีนี้ความเห็นมันจะตรงกับที่คนอยากฟังหรือไม่อยากฟังมันก็อีกเรื่องหนึ่ง ถ้าไปตรงกับคนที่ไม่อยากฟัง เขาก็คิดว่าสื่อเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง แต่พอฟังในสิ่งที่ตัวเองอยากฟัง ก็คิดว่าสื่อทำถูกต้อง มันมีส่วนในการขยายตัวของปัญหา แต่การไม่ใช้สื่อเลยขณะที่มีปัญหาอยู่ แล้วไม่มีการถกเถียงกันในที่สาธารณะ เราจะทำยังไงกับปัญหา จะให้มันแก้ด้วยตัวมันเองหรือ หรือจะให้ปัญหามันแก้โดยคนสองสามคนที่มีอำนาจ โดยที่ประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิแสดงความเห็น เราจะปล่อยให้เป็นอย่างนั้นหรือ แล้วเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าถ้าทำอย่างนั้นปัญหาจะไม่บานปลาย”

สื่อออนไลน์ กลางเขาควายของวุฒิภาวะระหว่างผู้มีอำนาจและประชาชน
ปวินพูดตั้งแต่ช่วงต้นๆ ว่าหากผู้มีอำนาจ หรือรัฐบาลมีวุฒิภาวะเพียงพอก็ต้องยอมรับและปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่อีกปัญหาคือ แล้วเขาจะบอกได้อย่างไรว่าคนใช้สื่อซึ่งเป็นประชาชนทั่วๆ ไปจะมีวุฒิภาวะเพียงพอสำหรับพื้นที่เสรีภาพที่เปิดกว้าง

“ผมบอกตรงๆ ว่าผมไม่รู้ว่าสังคมไทยมีวุฒิภาวะมากน้อยเพียงใด แต่ผมไม่มีข้อสงสัยเลยนะครับว่าคนไทยพร้อมที่จะเปิดตัวเองและก็เรียนรู้ แต่ผมคิดว่ามันอาจจะต้องใช้เวลามากกว่านี้ คือการทำให้คนมีวุฒิภาวะนี่เป็นเรื่องระยะยาว (Long-term Process) ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ภายในสองเดือนสามเดือน เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการให้การศึกษา การพัฒนาทางการเมือง แต่ที่ผมกังวลอย่างหนึ่งคือว่า พอคนใช้ประโยชน์ออนไลน์แล้วไม่มีวุฒิภาวะอาจจะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นได้ เพราะเวลาที่คนอ่านแล้วไม่ได้ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนได้ก็อาจจะตกเป็นเครื่องมือ แต่มันเป็นกระบวนการระยะยาว ต้องเริ่มที่จุดใดจุดหนึ่งก่อน มันอาจจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ต้องปล่อยให้มีความผิดพลาด มันต้องเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว มันไม่สามารถจะกดสวิตช์ได้ ที่ผมเห็นว่าเป็นการขาดวุฒิภาวะมากที่สุดก็คือ บางคนอาจจะไม่ชอบบางสถาบัน ก็คงไม่มีใครห้ามความคิดได้ แต่น่าจะแสดงความเห็นแบบมีเหตุผลว่าไม่ชอบเพราะอะไร ผมเห็นในหลายบล็อก ไม่ชอบแล้วใช้คำโจมตีที่รุนแรง แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะไปห้ามได้เพราะสังคมไทยก็ไม่ใช่สังคมสิงคโปร์ที่มีคนแค่ห้าล้านคนที่สามารถจะควบคุมความเคลื่อนไหวของคนได้ง่ายกว่า ประเทศไทยหกสิบกว่าล้านคน ร้อยพ่อพันแม่ หลายเผ่าพันธุ์ การศึกษาต่างกัน การตอบสนองก็ต่างกัน”

การใช้กฎหมายเหวี่ยงแห -สัญญาณแห่งการสิ้นอำนาจควบคุม
ปวินกล่าวถึงกระบวนการปิดกั้นพื้นที่ออนไลน์ และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเขาเองก็ยอมรับว่ากังวลเป็นการส่วนตัวเช่นกัน แต่การที่รัฐบาลไม่สามารถหากลไกหรือกรอบอื่นๆ มาจัดการกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง แต่หันไปหากฎหมายที่ถูกนำมาใช้อย่างตีขลุม ขาดความชัดเจน สำหรับเขาแล้ว นี่คือสัญญาณแห่งการสิ้นหวังของผู้ถืออำนาจ

“เมื่อผู้อยู่ในอำนาจไม่สามารถหากลไกหรือกรอบอื่นๆ มาจัดการกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง รวมถึงการดึงบางสถาบันมาใช้เป็นเครื่องมือ ซึ่งกลายเป็นดาบสองคม ผู้มีอำนาจอาจจะอ้างว่าทำเพื่อปกป้องสถาบันหนึ่งๆ แต่การที่เอากฎหมายคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ ทำให้กลายเป็นว่าสถาบันนั้นๆ เข้ามาอยู่ในกระบวนการทางการเมือง ถูกดึงมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง และก็อีกประการก็คือ เมื่อรัฐบาลใช้กฎหมาย ผู้ที่ใช้คิดว่าตัวเองมีอำนาจ (power) เพราะตัวเองสามารถใช้กฎหมายนี้จัดการกับฝ่ายตรงข้าม แต่จริงๆ แล้วส่อให้เห็นว่าไม่ใช่อำนาจหรอก แต่เป็นอาการที่เรียกว่า Desperation (กระเสือกกระสน) คือรู้ว่าต่อไปนี้จะควบคุมลำบากและเมื่อควบคุมลำบากก็เลยใช้กฎหมายนี้พยายามดึงไว้ แต่ก็คงดึงไว้ได้ไม่นาน แต่มันก็กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองไป น่าเสียดาย โดยเฉพาะผมคิดว่าการตีความว่าใครดูหมิ่นใคร มันตีความลำบาก แต่ข้อดีคือคนเริ่มพูดกันมากแล้ว แต่ประตูจะเปิดเลยเป็นไปไม่ได้ แต่มันก็กำลังเปิดทีละนิดๆ รัฐบาลมีกลไกทำอะไรได้ก็ทำไป แต่ถ้าจะปิดประตูคงไม่ได้”

ข้อเสนอรัฐบาล: ลดการใช้กฎหมาย ใช้วิธีการสื่อสารมากกว่า
พูดในแบบอดีตนักการทูต ซึ่งต้องมีประตูเปิดให้คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย ปวินยังมองว่ารัฐบาลมีทางออกที่จะเผชิญหน้ากับความขัดแย้งด้วยวิธีที่นุ่มนวลและแฟร์ นั่นก็คือ หันมาเล่นเกมแข่งขันสื่อสารกับประชาชนผ่านพื้นที่ออนไลน์ ซึ่งเป็นทางเลือกที่น่าเลือกกว่าการใช้เครื่องมือทางกฎหมายคุกคามผู้ที่เห็นต่าง

“ผมคิดว่าเกมที่ดีกว่านี้ก็คือรัฐบาลก็ปล่อยให้ฝ่ายค้านใช้สื่อออนไลน์เล่นไป ตัวเองก็ใช้สื่อของตัวเองไปฟาดฟันกันในไซเบอร์เสปซ เล่นกันแบบแฟร์ และฟรี ดีกว่าการไปปิด ทำไมรัฐบาลไม่ใช้สื่อของตัวเองให้เป็นประโยชน์ในการพยุงสถานะ และข้อกล่าวหาบางอย่างอย่าไปใส่ใจมาก ไม่งั้นกลายเป็นว่ารัฐบาลลงเล่นในทุกเรื่อง”
และสำหรับโครงการที่รัฐบาลเริ่มดำเนินไปบ้างแล้วเช่น ลูกเสือไซเบอร์ ปวินเห็นว่าเป็นทางเลือกที่ดี – ดีกว่าการใช้กฎหมายไล่จับกุม

“ก็ส่งเสริมประชาธิปไตย ถ้าใครต่อต้านรัฐบาลก็ให้เว็บไซต์รัฐบาลโจมตีกลับ แต่ก็ต้องทำได้ตราบเท่าที่ไม่ไปส่งเสริมให้มีการใช้ความรุนแรง ผมว่ามันก็เป็นสิ่งที่ดี ก็ทำให้เห็นว่าสังคมไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และรัฐบาลก็ควรใช้แนวทางนี้มานานแล้ว เพราะว่าสื่อออนไลน์ก็เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ รัฐบาลควรจะใช้สื่อออนไลน์ในแง่ที่สร้างสรรค์ บ่นแต่ว่าไม่สามารถเข้าถึงคนที่อยู่ภาคเหนือและภาคอิสาน ก็ทำไมไม่ใช้เว็บไซต์ในการเข้าถึงเขา และถ้าคนเหนือหรือคนอิสานขาดโครงสร้างพื้นฐานในการเข้าถึงสื่อออนไลน์ คุณก็ต้องไปสร้างให้เขา เพราะโครงสร้างพื้นฐานไม่ใช่แค่รองรับผลประโยชน์ในการเข้าถึงของรัฐบาลเท่านั้นแต่เป็นการลงทุนระยะยาวด้วย แล้วปัจจุบันนี้การส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานทำได้ง่าย มันใช้แค่ระบบดาวเทียม ไม่ต้องวางสายใต้ดินอะไรให้วุ่นวาย”

แต่รัฐบาลจะทำก็ต้องก้าวข้ามความหวาดกลัวชาวบ้านก่อน

“ก็อย่างที่บอก หากรัฐบาลซึ่งเป็นคนที่กุมอำนาจรัฐไม่สามารถทำได้ หรือเข้าถึงประชาชนได้ ผมคิดว่ารัฐบาลขาดประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ มีการพูด joke ในแวดวงวิชาการว่า คุณอภิสิทธิ์จะไปภาคเหนือหรือภาคอิสานต้องใช้วีซ่า ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลชุดนี้กับประชาชนในภูมิภาคดังกล่าว โดยสรุป การต้องสร้างสาธารณูปโภคก็อาจจะต้องเป็นแผนระยะยาว รัฐบาลน่าจะเริ่มต้นด้วยการใช้สื่อออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ในการสร้างความเข้าใจระหว่างรัฐบาลกับคนที่อยู่ภาคเหนือภาคอิสาน จะสำเร็จหรือไม่ก็อีกเรื่อง แต่รัฐบาลต้องพยายาม”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท