Skip to main content
sharethis

31 พ.ค. 54 – เมื่อเวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมวรรณไวทยากร ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย จัดเสวนาในหัวข้อ “การก่อการร้าย กับขบวนการภาคประชาชนของโลกมุสลิม” โดยมีวิทยากรคือ ดร.อิมติยาซ ยูซุฟ จากบัณฑิตวิทยาลัยคณะปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ พันเอกธีรนันท์ นันทขว้าง รองผู้อำนวยการกองการเมือง วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร กองบัญชาการกองทัพไทย และดร.ศราวุฒิ อารีย์ นักวิจัยประจำศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดยศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ศ.ดร.ธเนศ ได้กล่าวถึงจุดประสงค์การจัดงานในครั้งนี้ว่าเพื่อเป็นการนำเสนอประชาธิปไตยของที่อื่น เพื่อสรุปบทเรียน และนำมาสู่การทำความเข้าใจประชาธิปไตยในประเทศไทยให้ดีขึ้น และเปรียบกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใน ‘อาหรับสตรีท’ และ‘ราษฎรดำเนิน’ ที่ดูเหมือนจะหยุดนิ่งเป็นเวลายาวนาน แต่สุดท้ายก็เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่นำโดยประชาชนได้ ลักษณะเด่นของภูมิภาคตะวันออกกลาง ดร.อิมติยาซเริ่มต้นด้วยการอธิบายถึงระบอบการปกครองในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีสองแบบหลักๆ คือ แบบสาธารณรัฐเผด็จการ (Republican Dynasty) เช่น ในอียิปต์ ลิเบีย เยเมน และซีเรีย และระบอบกษัตริย์อำนาจนิยม (Authoritarian Monarch) เช่น ในซาอุดิอารเบีย นอกจากนี้ยังมีลักษณะเด่นที่แตกต่างออกไปจากภูมิภาคอื่น คือประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และมีการแบ่งแยกกันระหว่างสองนิกายหลัก คือ ซุนหนี่ และชีอะห์ ซึ่งแตกต่างจากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตรงที่ในอุษาคเนย์การนับถือศาสนามีหลากหลาย และความแตกต่างผูกโยงกับชาติพันธุ์มากกว่า เช่น ความเป็นมาเลย์มุสลิม ความเป็นคริสต์ของชาวฟิลิปปินส์ เป็นต้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเทศสมาชิกในองค์กรการประชุมอิสลามหรือ OIC (Organization of the Islamic Conference) จากทั้งหมด 57 ประเทศ มีเพียง 5 ประเทศเท่านั้นที่ถือได้ว่าเป็นประชาธิปไตย คือ ตุรกี บังคลาเทศ ปากีสถาน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย กระแสความเปลี่ยนแปลงในโลกอาหรับปี 2011 นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาท่านนี้ยังกล่าวต่อไปว่า ในยุคนี้ ภูมิภาคตะวันออกกลางได้เข้าสู่ยุคหลังอิสลาม (Era of Post-Islamism) อันเป็นยุคที่ขบวนการภาคประชาชนไม่ได้เกี่ยวโยงกับศาสนาอิสลามเป็นหลักอีกต่อไป ซึ่งแตกต่างจากก่อนหน้านี้ กล่าวคือ ในช่วงทศวรรษที่ 1940 หลังจากที่รัฐต่างๆในตะวันออกกลางได้รับเอกราช ก็ได้กลายมาเป็นรัฐที่มีระบอบการปกครองหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบรัฐฆราวาส-ชาตินิยม รัฐสังคมนิยม รัฐอำนาจนิยม และในขณะเดียวกัน ก็เกิดกลุ่มขบวนการอิสลามและเรียกร้องให้มีการปกครองแบบรัฐอิสลาม เช่น กลุ่มภราดรภาพมุสลิมในอียิปต์ และกลุ่มมูจาฮีดิน ซึ่งได้กลายขบวนการภาคประชาชนหลักๆ ของตะวันออกกลางนับแต่นั้นเป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม จากการลุกฮือของประชาชนในโลกอาหรับและแอฟริกาในช่วงต้นปี 2011 เราจะพบว่าสาเหตุในการเรียกร้องครั้งนี้มีแรงจูงใจมาจากเรื่องปากท้องของประชาชน ความมั่นคงในชีวิต ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามน้อยลงหรือไม่มีเลย และกลุ่มที่มีบทบาทหลัก คือเยาวชนคนหนุ่มสาว ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับข้อมูลข่าวสารจากภายนอกผ่านทางโซเชียลมีเดีย และเนื่องจากประชากรกว่าครึ่งของคนกลุ่มนี้ไม่มีงานทำซ้ำยังอดอยากหิวโหยเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของประเทศ ทำให้พวกเขากลายมาเป็นผู้ที่มีบทบาทนำในการลุกฮือระลอกใหม่ของตะวันออกกลางไปโดยปริยาย โดยได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ในท้องถิ่น เช่น การเผาตัวตายของคนขายผลไม้ในตูนีเซีย มากกว่าจากแรงกระตุ้นจากภายนอก หรือความขัดแย้งระหว่างนิกายซุนหนี่-ชีอะห์ที่ผู้นำในประเทศอำนาจนิยมมักกล่าวอ้าง และจากการลุกฮือในระลอกนี้ ก็ยังเกิดกระแสความคิดใหม่ๆ เช่นในเรื่องปรัชญาอิสลาม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กฎหมายชารีอะห์ สิทธิผู้หญิง เสรีภาพในการคิดอ่าน และความคิดแบบสมัยใหม่ เป็นต้น ‘สองมาตรฐาน’ ของชาติตะวันตก เป็นที่ชัดเจนว่าชาติตะวันตกก็ได้เข้ามามีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเฉพาะในการให้ความช่วยเหลือประเทศที่มีการเปลี่ยนผ่าน เช่น อียิปต์ และตูนีเซีย ดังจะเห็นจากการที่สหรัฐให้ความช่วยเหลือในด้านแผนการฟื้นฟูประเทศ และส่งตัวแทนไปเจรจาทางการทูตกับผู้นำขบวนการภาคประชาชนในสองประเทศดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ดร.อิมติยาซกล่าวว่าการให้ความช่วยเหลือแก่ชาติเหล่านี้เป็นไปอย่างเลือกปฏิบัติโดยมีผลประโยชน์เรื่องน้ำมันและการนิยามความหมายของ”ประชาธิปไตย”ตามความหมายของสหรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ต้องการเปลี่ยนระบอบให้เป็นรัฐฆราวาส หรือไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงเลยเพราะอาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน เนื่องจากหากประเทศตะวันตกซื้อขายน้ำมันจากรัฐในระบอบอำนาจนิยม จะสามารถซื้อได้ในราคาถูกกว่าจากรัฐที่เกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากราคาน้ำมันจะสูงขึ้นเพราะผูกอยู่กับราคาตลาด นอกจากนี้ การจะตัดสินว่าจะช่วยเหลือให้ประเทศใด ยังขึ้นอยู่กับเหตุผลทางด้านความมั่นคงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์อีกด้วย อิสลามกับประชาธิปไตย ดร. อิมติยาซได้ให้แง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับอิสลามและประชาธิปไตย โดยกล่าวว่าศาสนาอิสลามมีคำสอนที่เป็นหนึ่งเดียว แต่การนำไปปฏิบัติในแต่ละที่ย่อมมีความแตกต่างตามวัฒนธรรม เช่นเดียวกันกับประชาธิปไตยที่มีคอนเซปต์สากลหากแต่การนำไปใช้ปฏิบัติก็มีความหลากหลาย โดยในตะวันออกกลางก็ได้มีการนำเอากระบวนการที่เรียกว่า “การจัดการแบบปรึกษาหารือ” (Consultative Management) มาใช้เพื่อจัดการทางการเมือง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นประชาธิปไตยแบบอิสลาม นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงศาสนาอิสลามกับการเมืองว่า หากศาสนาอิสลามต้องการดำรงอุดมการณ์ตนเองให้มีตำแหน่งแห่งที่ในทางการเมือง จำเป็นจะต้องให้มีความสมดุลระหว่างสองด้าน และให้มีแนวทางเศรษฐกิจและการปฏิรูปสังคมที่ชัดเจน เพื่อให้พรรคการเมืองอิสลามในประเทศต่างๆดำรงอยู่และสามารถแข่งขันในทางการเมืองได้ ขบวนการภาคประชาชน ผู้ร้าย หรือฮีโร่? พลเอกดร.ธีรนันท์ นันทขว้าง กล่าวถึงการที่คนส่วนใหญ่ได้รับข้อมูลจากสื่อตะวันตกโดยเฉพาะในโลกฮอลลีวู้ดที่มักนำเสนอว่าสหรัฐเป็นพระเอกในขณะเดียวกันก็ปั้นให้ผู้อื่นเป็นผู้ร้าย อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงจะพบว่า สหรัฐฯมักเป็นผู้ที่มีวาระซ่อนเร้นในการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก และตนมองว่าการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในแถบตะวันออกกลางส่วนใหญ่เป็นไปโดยสันติเพื่อเรียกร้องปัจจัย 4 ในชีวิตมากกว่าที่จะเป็นการก่อการร้าย ดังเช่นในตูนีเซีย และอียิปต์ “หากมองในทัศนะผมซึ่งทำงานด้านความมั่นคง ถ้าจะเรียกกลุ่มพลังประชาชนในตะวันออกกลางที่เกิดขึ้นนั้น น่าจะเป็นเรื่องของความไม่สงบมากกว่า คำว่า Insurgency หรือการก่อความไม่สงบ สะท้อนถึงความไม่พอใจในระบอบการปกครองและต้องการความเปลี่ยนแปลง” นอกจากยังได้อธิบายสาเหตุของการลุกฮือของประชาชนในครั้งนี้ว่ามีปัจจัยที่สำคัญ 2 อย่าง คือ การที่คนหนุ่มสาวได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากทางตะวันตกผ่านทางโซเชียลมีเดีย และเกิดแรงจูงใจนำไปสู่การเรียกร้อง ประกอบกับปัญหาช่องว่างระหว่างยุค (generation gap) เนื่องจากคนรุ่นใหม่เติบโตมากับอินเตอร์เน็ตและได้รับรู้ข้อมูลใหม่ๆอันขัดแย้งกับการปกครองในระบอบเก่าที่ซึ่งผู้ปกครองถืออำนาจอย่างยาวนาน จากนั้น ดร.ศราวุฒิ อารีย์ นักวิจัยประจำศูนย์มุสลิมศึกษาจากจุฬาฯ ได้อภิปรายถึงข้อสรุปจากงานเขียนที่ชื่อ “The Arab Uprising: Causes, Prospects and Implication” [1] โดยได้วิเคราะห์สาเหตุของกระแสการเปลี่ยนแปลงในโลกตะวันออกกลางว่าเป็นผลมาจากปัจจัยสามด้าน คือทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการที่ผู้นำใกล้ชิดกับตะวันตกเกินไปจนทำให้ประชาชนรู้สึกเสียศักดิ์ศรี ซึ่งนำไปสู่การลุกฮือครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในประเทศที่ไม่ผลิตน้ำมัน เนื่องจากประเทศที่ผลิตน้ำมันเริ่มมีการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจจากบนลงล่างอย่างค่อยเป็นค่อยไปจึงทำให้ไม่เกิดการปฏิวัติ เช่น ในโมร็อกโก จอร์แดน อนาคตของภูมิภาคตะวันกลาง ดร.ศราวุฒิได้วิเคราะห์จากบทความเพิ่มเติมว่า ในอนาคต ภูมิภาคตะวันออกกลางจะมีระบบเศรษฐกิจการเมืองในรูปแบบใหม่ที่เปิดกว้างทางสิทธิเสรีภาพมากขึ้น และเอื้อให้กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆเข้าสู่ระบบการเมือง เช่น กลุ่มภราดรภาพมุสลิมได้มีการตั้งพรรคเมืองเพื่อเข้าสู่ระบบรัฐสภาในอียิปต์ นอกจากนี้คาดว่าดุลยภาพทางการเมืองจะเปลี่ยนไป โดยสหรัฐฯจะมีอิทธิพลในภูมิภาคน้อยลง และจะเกิดภาวะ “สงครามเย็นอาหรับ” ซึ่งเป็นภาวะที่ประเทศที่เปลี่ยนแปลงเป็นระบอบใหม่จะพยายามเปลี่ยนแปลงประเทศอื่นๆให้เปลี่ยนไปด้วย ในขณะที่ประเทศที่ยังอยู่ในระบอบเก่าก็จะพยายามคงสถานะเดิมไว้ให้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอื่นๆที่นับว่าเป็นผลดี เช่น คาดว่าจะเกิดความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆในภูมิภาคให้เป็นเอกภาพมากขึ้นโดยใช้หลัก Pan Arabism ซึ่งแต่ก่อนจะถูกใช้โดยชนชั้นนำ แต่บัดนี้จะถูกใช้เพื่อนำไปสู่ความเป็นเอกภาพที่นำโดยประชาชน อีกทั้งการก่อการร้ายในภูมิภาคนี้ก็คาดว่าจะน้อยลงด้วยเนื่องจากการกีดกันช่องทางทางการเมืองและการกดขี่สิทธิเสรีภาพลดน้อยลง ทำให้แนวร่วมของการก่อร้ายลดลงตามลำดับ และท้ายที่สุดคาดว่าจะทำให้กระบวนการสันติภาพในตะวันออกกลางดีขึ้นด้วย อ้างอิง: Timo Behr and Mika Aaltola. The Arab Uprising: Causes, Prospects and Implication. ดาวน์โหลดได้จาก http://www.upi-fiia.fi/en/publication/174/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net