Skip to main content
sharethis

มันโซร์ สาและ เครือข่ายประชาสังคม 23 องค์กร ร่วมกับเครือข่ายการเมืองภาคพลเมืองเพื่อท้องถิ่น คณะกรรมการภาคประชาสังคม สภาพัฒนาการเมือง และสภาประชาสังคมชายแดนใต้ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเวทีการแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการ (Academic Core Group) และการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น มีสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า พร้อมด้วยศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ร่วมสนับสนุนด้านวิชาการ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2554 ที่ห้องมะปราง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นายมันโซร์ สาและ รองประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้การผลักดันการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษปัตตานีมหานคร ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งครอบคลุม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ยังอยู่ในระหว่างการร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการปัตตานีมหานคร คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายเดือนกันยายน 2554 จากนั้นจะมีการลงลายมือชื่อยื่นต่อรัฐสภา พร้อมกับร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร ภายในปี 2555 เนื่องจากเกรงว่าถ้าเสนอเฉพาะร่างฯ ปัตตานีมหานครฉบับเดียว อาจจะมีการเข้าใจผิดว่า เป็นเขตปกครองตนเอง นายมันโซร์ ชี้แจงต่อไปว่า การเคลื่อนไหวเรื่องปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษปัตตานีมหานคร เป็นการเคลื่อนไหวภายใต้แนวคิดท้องถิ่นจัดการตนเองร่วมกับพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ 40 จังหวัด แยกเป็น ภาคเหนือ 10 จังหวัด มีจังหวัดเชียงใหม่รวมอยู่ด้วย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15 จังหวัด ภาคตะวันออก 5 จังหวัด และภาคใต้อีก 6 จังหวัด มีจังหวัดปัตตานี จังหวัดภูเก็ต จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น นายมันโซร์ ชี้แจงอีกว่า สำหรับรูปแบบการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นแนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี จัดโครงสร้างการบริหารออกเป็น 2 ส่วนคือ ฝ่ายบริหารและสภานิติบัญญัติ มีผู้ว่าราชการปัตตานีมหานคร มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง วาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี มีอำนาจหน้าที่ในการบริหาร กำหนดนโยบาย คือ เขตพื้นที่การปกครอง ปัตตานีมหานคร หมายถึง พื้นที่ครอบคลุมจังหวัดปัตตานี มีรองผู้ว่าราชการฯ เป็นชาวไทยพุทธ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 “ในฝ่ายบริหารจะมีข้าราชการท้องถิ่น ที่มาจาการการแต่งตั้งของผู้ว่าราชการปัตตานีมหานคร ประกอบด้วย ปลัดปัตตานีมหานคร ทำหน้าที่บริหารราชการประจำ ผู้อำนวยการเขต ทำหน้าที่ประสานงานกับสภาเขต มีจำนวน 37 คน มาจากการแต่งตั้งของผู้ว่าราชการปัตตานีมหานคร หัวหน้าแขวง ทำหน้าที่ประสานงานกับสภาเขต กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีจำนวน 290 คน” นายมันโซร์ กล่าว นายมันโซร์ ชี้แจงรายละเอียดฝ่ายนิติบัญญัติว่า จะประกอบด้วย สมาชิกสภาปัตตานีมหานคร วาระการดำรงตำแหย่ง 4 ปี ทำหน้าที่เสนอและพิจารณาข้อบัญญัติท้องถิ่น ตั้งกระทู้ถาม ตั้งคณะกรรมการท้องถิ่นด้านต่างๆ มีจำนวน 31 คน มาจากการเลือกตั้งตามเขตพื้นที่ 25 เขต และกลุ่มผู้นับถือศาสนาพุทธ 3 คน ศาสนาอื่น 1 คน สตรี 1 คน และผู้พิการ 1 คน นอกจากนี้ยังมีสมาชิกสภาเขต มีหน้าที่จัดทำแผนพัฒนาเขตพื้นที่ จัดสรรงบประมาณพัฒนาเขต มีจำนวนอย่างน้อยเขตละ 7 คน มาจากการเลือกตั้งจากเขตพื้นที่ นายมันโซร์ ชี้แจงด้วยว่า กลไกที่แตกต่างไปจากการปกครองท้องถิ่นอื่นๆ คือ สมาชิกสภาประชาชน ทำหน้าที่เสนอแนะ ตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินงานของผู้ว่าราชการปัตตานีมหานคร และสภาปัตตานีมหานคร พร้อมจัดทำรายงานประจำปี เสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิต่อสภาปัตตานีมหานคร เพื่อเป็นกรรมาธิการด้านต่างๆ แนะนำรายชื่อผู้ที่สภาปัตตานีมหานครเห็นว่า มีความเหมาะสมจะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการปัตตานีมหานคร ด้วยกระบวนการปรึกษาหารือ มีสมาชิกจำนวน 51 คน มาจากการเลือกตั้งของกลุ่มอาชีพ กลุ่มวัฒนธรรม องค์กรประชาสังคมที่จดแจ้งกับปลัดปัตตานีมหานคร “ภายใต้โครงสร้างนี้ ข้าราชการส่วนภูมิภาคจะยังคงอยู่ แต่อาจจะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทตามความเหมาะสม บทบาทของกองทัพ การคลัง และการต่างประเทศ ยังคงเหมือนเดิม ปัตตานีมหานครยังคงขึ้นกับรัฐไทย ซึ่งเป็นรัฐเดี่ยวแบ่งแยกไม่ได้เหมือนเดิม” นายมันโซร์ กล่าว

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net