Skip to main content
sharethis
16 สิงหาคม 2555  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีจดหมายเปิดผนึก เรื่อง ข้อเสนอแนะต่อข้อยกเว้นในมาตรา ๓ ตามร่างพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ....  รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  โดยมีเนื้อหาดังนี้
 
จดหมายเปิดผนึก
 
เรื่อง ข้อเสนอแนะต่อข้อยกเว้นในมาตรา ๓ ตามร่างพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ...
 
สืบเนื่องจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้รับข้อร้องเรียนจากภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ... ซึ่งผ่านการพิจารณามีมติเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๕ และเตรียมการที่จะเสนอเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาในขั้นตอนต่อไป โดยเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีเนื้อหาสาระในบางประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา ๓ ที่กล่าวถึง “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” หมายความว่า การกระทำหรือไม่กระทำการใดอันเป็นการแบ่งแยก กีดกัน หรือจำกัดสิทธิประโยชน์ใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมโดยปราศจากความชอบธรรม เพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือเพศหญิงหรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลทางวิชาการ ทางศาสนา หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ” ทั้งนี้ การกำหนดข้อยกเว้นดังกล่าวนี้หลายฝ่ายมีข้อวิตกกังวลว่าจะเป็นการนำไปสู่การเลือกปฏิบัติโดยผลทางกฎหมายได้ในอนาคต
 
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงได้จัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นเรื่อง “ข้อยกเว้นในมาตรา ๓ ตามร่างพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ...” เลือกปฏิบัติ?” โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้แทนชุมชน รวมถึงประชาชนทั่วไปสนใจเข้าร่วมประชุมกว่า ๑๗๐ คน ซึ่งจากการแสดงความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุม สรุปเป็นประเด็นหลักๆ ได้ ๓ ประเด็น ดังนี้
 
๑) ควรมีการทบทวนประเด็นข้อยกเว้นในมาตรา ๓ แห่งร่างพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ... อย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงหลักแนวคิดความเท่าเทียมเสมอภาคที่เป็นกติกาสากล ประกอบกับบริบทวัฒนธรรมของสังคมไทย เพื่อป้องกันการเลือกปฏิบัติหรือการเอารัด    เอาเปรียบ และไม่เป็นการเปิดช่องให้ผู้บังคับใช้กฎหมายสามารถใช้ดุลพินิจมากเกินไป    
 
๒) การร่างกฎหมายนโยบายสาธารณะเพื่อสร้างสรรค์ให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข หน่วยงานที่รับผิดชอบควรจัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคม 
 
๓) ควรมีการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่ประเทศไทยได้รับภายหลังจากการนำเสนอรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศต่อที่ประชุมคณะทำงาน Universal Periodic Review (UPR) สมัยที่ ๑๒ ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔    ณ นครเจนีวา โดยเสนอให้ประเทศไทยมีการทบทวนร่างพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ และยกเลิกข้อยกเว้นต่างๆ ในกฎหมายดังกล่าวซึ่งอนุญาตให้มีการเลือกปฏิบัติ รวมทั้งให้เร่งรัดการยกร่างและรับรอง พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ เพื่อก่อให้เกิดการส่งเสริมและความเสมอภาคทางเพศอย่างแท้จริง ทั้งนี้เป็นไปตามหลักการแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW)
 
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมเสมอภาคของบุคคลไว้ในมาตรา ๓๐ ดังนี้
 
“บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย และ ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้
 
มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้น เพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
 
และในบันทึกเจตนารมณ์แนบท้ายมาตรา ๓๐ มีการระบุว่า เพื่อกำหนดหลักความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติแก่บุคคลที่มีความแตกต่าง รัฐมีหน้าที่ในการขจัดอุปสรรคและส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น โดยไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม อันเป็นหลักการสำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”
 
จากที่กล่าวมาข้างต้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้พิจารณาแล้ว เห็นควรเสนอไปยังผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย อันได้แก่ รัฐบาล คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา คณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และอื่นๆ ขอให้พิจารณาทบทวนยกเลิกข้อความที่เป็นข้อยกเว้นตามมาตรา ๓ ในร่างพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. .... เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นช่องว่างในการเลือกปฏิบัติ และส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมระหว่างเพศอย่างแท้จริงต่อไป
 
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๕

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net