Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ทุนนิยมต้องอาศัยระบบตลาดที่มีการควบคุมให้เกิดความแน่นอนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อทำให้เกิดความมั่นคงในการค้า การลงทุน และระงับข้อพิพาท

การสร้างความมั่นคงในกิจกรรมทางเศรษฐกิจระดับตลาดภายในต้องอาศัยกฎหมายของรัฐ และต้องสร้างเสถียรภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจระดับตลาดโลกหรือข้ามชาติโดยอาศัยกฎหมายระหว่างประเทศ

ดังนั้นทุนนิยม คือ เหตุผลหลักในการผลิตแรงงานผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายออกมาสู่ตลาดแรงงาน นักกฎหมายจึงมีหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนกลไกตลาดแบบทุนนิยม โดยเป็นทั้งผู้สร้างและผู้ใช้กฎหมายเอกชนทางเศรษฐกิจ และมหาชนทางเศรษฐกิจ ที่มีระบบตลาดและเสรีภาพในทางเศรษฐกิจเป็นหัวใจหลัก

แม้ไทยมิได้เป็นอาณานิคม? แต่อิทธิพลของระบบกฎหมาย และเนื้อหาของกฎหมายแบบตะวันตกมีอย่างเข้มข้น เนื่องจากเป็นต้นทางของระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์จึงกลายเป็นต้นแบบหลักในการร่างกฎหมาย สร้างกระบวนการต่างๆ ตามมา เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจและสร้างตลาดที่มีกติกาสอดคล้องกันไปทั้งระบบ

โรงเรียนสอนกฎหมายที่กระจายอยู่ในรัฐต่างๆ ทั่วโลกซึ่งเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมจึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องออกแบบหลักสูตรให้รองรับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจข้ามชาติ หรือเลียนแบบรูปแบบการดำเนินธุรกิจต่างๆ เข้ามาในชาติ เช่น การซื้อขาย บริการ ลงทุน ขนส่ง ประกันภัย ฯลฯ

อย่างไรก็ดี กฎหมายก็มีวัตถุประสงค์ที่รัฐสมัยใหม่สร้างขึ้นเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพของบุคคลนับตั้งแต่เกิดการสถาปนารัฐสมัยใหม่ ซึ่งมีหน้าที่ในการคุ้มครองมิให้บุคคลทั้งหลายละเมิดสิทธิกันจนกระทั่งบานปลายกลายเป็นความรุนแรง ทำให้กลไกตลาดชะงักงัน วัฏจักรทางเศรษฐกิจหยุดลง และระบบทุนนิยมทำงานไม่ได้

ความเป็นธรรมเป็นประเด็นหลักของการพูดถึงการประกันสิทธิของบุคคลอย่างเสมอภาคในระบบเศรษฐกิจ แต่ความเป็นธรรมเป็นนามธรรมที่ต้องแปลงให้เกิดรูปธรรม บังคับใช้จริง และประกันสิทธิได้

กฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจสร้างขึ้นมาเพื่อกิจกรรมระดับเศรษฐกิจมหภาค เพื่อกำกับผู้เล่นทางเศรษฐกิจมิให้ทำลายตลาด บิดเบือนกลไกการแลกเปลี่ยนอย่างเป็นธรรม เป็นเครื่องมือผลักดันให้กงล้อแห่งการแข่งขันอย่างเป็นธรรมยังหมุนไป

ส่วนกฎหมายเอกชนทางเศรษฐกิจจะใช้ในระดับเศรษฐกิจจุลภาค เพื่อควบคุมพฤติกรรมของบุคคลและนิติบุคคลมิให้เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น เป็นเครื่องมือรักษาที่ยืนในระบบเศรษฐกิจมิให้บุคคลถูกเบียดขับออกไป

วิชากฎหมายที่สอนในโรงเรียนสอนกฎหมายตะวันตกเองก็ได้มีการปรับเปลี่ยนให้ทันกับความต้องการของสังคมโดยชั่งน้ำหนักระหว่างการขับเคลื่อนระบบทุนนิยมด้วยการคุ้มครองสิทธิของเอกชนที่มีอำนาจขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และรักษาความเป็นธรรมให้ผู้ที่ด้อยกว่าแต่จะต้องมีที่ยืนในระบบตลาดเช่นกัน

หากพิเคราะห์ถึงคำอธิบายวิชากฎหมายทางเศรษฐกิจที่สอนกันในหลักสูตรโรงเรียนสอนกฎหมายตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายทรัพย์สิน กฎหมายพาณิชย์ กฎหมายการลงทุน กฎหมายป้องกันการผูกขาด หรือแม้กระทั่งวิชานิติกรรมสัญญา จะพบถึงการเน้นเนื้อหาในเชิงวิพากษ์ถึงความเป็นธรรมในการคุ้มครองคู่กรณีไว้ด้วยเสมอ มิได้มีลักษณะการอธิบายเพียงว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจควรมีรูปแบบใดเพื่อให้สมบูรณ์ตามกฎหมาย

ยิ่งถ้าพินิจจากตำราและงานวิจัยของอาจารย์ผู้สอนในวิชาเหล่านั้นจะเห็นทิศทางของการนำหลักศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มาเชื่อมโยงอธิบายเหตุผลของกฎหมาย และแนวทางที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ของสังคมแห่งยุคสมัย โดยที่มีพื้นฐานความคิดประการหนึ่ง คือ กฎหมายต้องปรับตามหรือออกแบบให้ส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการรักษาสิทธิธรรมให้แก่ประชาชน

หากสำรวจประวัติความเป็นมาของอาจารย์และนักวิจัยที่โรงเรียนสอนกฎหมายคัดเลือกเข้ามาจะยิ่งเห็นประวัติการศึกษาและทำงานแบบเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่นมากขึ้นเรื่อยๆ  จนกลายเป็นทิศทางหลักในการคัดเลือกบุคลากร ผลักดันดันงานวิจัย ตำรา หรือการออกแบบหลักสูตรเพื่อนำไปโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อดึงดูดนักเรียนโดยเฉพาะในระดับสูงกว่าปริญญาตรี ให้เข้ามาแสวงหาความท้าทายทางวิชาการและออกไปผจญภัยในโลกวิชาการที่กว้างขวางออกไป

ยิ่งไปกว่านั้น บุคคลที่สำเร็จการศึกษาก็ย่อมกลายเป็นผู้ขยายฐานความรู้ทางกฎหมายที่เชื่อมโยงกับศาสตร์อื่นไปสู่สถาบันอื่นๆ  ที่บุคลากรเหล่านั้นสำเร็จการศึกษาไป กลายเป็นการปักธงนำให้กับสถาบันเหล่านั้นเหนือสถาบันอื่น

อย่างไรก็ดี อาจมีข้อท้วงติงว่าเหตุใดจึงมองข้ามการผลิตนักศึกษากฎหมายออกไปทำงานภาคปฏิบัติ เช่น ผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ หรือที่ปรึกษา ซึ่งอาจต้องเน้นตัวบทและขั้นตอนทางกฎหมายที่เป็นอยู่ โรงเรียนกฎหมายชั้นนำก็อาจคิดถึงการสร้างความสามารถในการชี้นำและกำหนดทิศทางสังคม หรือแม้กระทั่งวิชาชีพ มากกว่าการผลิตคนไปรับใช้องค์กรกฎหมาย หรือเป็นเพียงสถาบันที่เดินตามสิ่งที่องค์กรวิชาชีพกำหนด

สิ่งที่น่าชื่นชมอยู่ตรงที่โรงเรียนสอนกฎหมายเหล่านั้นตัดสินใจเลือก “เป็นอิสระ” และหลุดพ้นจากการครอบงำขององค์กรวิชาชีพ เนื่องจากความจำเป็นในการสร้างตำแหน่งแห่งที่ของโรงเรียนสอนกฎหมายเหล่านั้นในระดับโลก รวมถึงการกำหนดบทบาทของสถาบันการศึกษาในรัฐหรือประชาคมระหว่างประเทศ

หากโรงเรียนสอนกฎหมายมีเพียงหน้าที่ผลิตแรงงานกฎหมายเข้ารับใช้องค์กรก็จะไม่อาจสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย เนื่องจากการรอให้องค์กรวิชาชีพกฎหมายปรับตัวก็อาจต้องใช้เวลาเพราะองค์กรเหล่านั้นยังคงต้องทำงานประจำไปทุกเมื่อเชื่อวันและสูญเสียประสาทสัมผัสต่อความเปลี่ยนแปลงสังคม

บทบาทของโรงเรียนสอนกฎหมายระดับโลกจึงอยู่ในลักษณะการศึกษาวิจัยให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง แล้วนำข้อเสนอแนะให้กับองค์กรวิชาชีพ หรือฝ่ายการเมืองที่มีส่วนในการสร้างกฎหมายและบังคับใช้กฎหมาย ปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เลื่อนไถลไปตลอดเวลา ซึ่งรักษาความเป็นแนวหน้าในทางวิชาการและนำสังคม

ความสำคัญในการพยายามสร้างองค์ความรู้ผ่านงานวิจัยและงานวิชาการอันเป็นอิสระจากองค์กรวิชาชีพแต่ตอบสนองสังคมอีกประการ คือ ผลงานวิจัย ตำรา และโครงการทั้งหลายซึ่งมีลักษณะเป็นการค้นหาความเปลี่ยนแปลง ความไม่ลงรอยระหว่างกฎหมายกับสังคม แล้วคิดค้นและพัฒนาแนวทางใหม่ๆ ออกมาแก้ไขนั้น กลายเป็นผลคะแนนในการไต่บันไดฝันสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการระดับโลก เนื่องจากบุคคลภายนอกสถาบันคงไม่อาจทราบได้ว่าสถาบันนั้นสอนดีอย่างไร แต่กลับรับรู้คุณภาพของโรงเรียนสอนกฎหมายนั้นได้ผ่านผลงานวิชาการรูปแบบต่างๆ ที่ผลิตออกสู่สายตาชาวโลก

สิ่งที่ สกอ. หรือ มหาวิทยาลัยไทยกำลังทำอยู่ คือ ผลักดันให้มหาวิทยาลัยและคณะวิชาทั้งหลายกลายเป็น "มหาวิทยาลัยวิจัย" ก็ดูจะสอดคล้องกับทิศทางในการโฆษณาประชาสัมพันธ์สถาบัน เพื่อดึงคนเข้ามาสมัครเรียนกับมหาวิทยาลัย หรือเป็นน้ำหนักในการจัดสรรงบประมาณเพื่อมาดำเนินกิจกรรมของมหาวิทยาลัย หรือคณะวิชาต่อไป แต่สิ่งที่พึงระวังให้มาก คือ เกณฑ์และตัวชี้วัดทั้งหลาย ซึ่งนำไปสู่การให้คะแนนและจัดวางสถาบันต่างๆ ลงบนอันดับโลกนั้น “ใครเป็นผู้กำหนด”

หากมองต้นทางที่มีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยจะพบว่า มีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยหลายสำนัก ทั้งที่เป็นสถาบันเกี่ยวกับวิชาการ องค์กรธุรกิจทางการศึกษา หรือสำนักข่าว ผลที่ได้ออกมาจากการจัดอันดับก็แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่น่าแปลกใจเป็นอย่างมาก คือ ไม่น่าจะมีเกณฑ์ไหนซึ่งนำเอาลักษณะอุดมการณ์ชาตินิยมของตนเข้าไปชี้วัดสถาบันการศึกษาของชาติตนเพื่อแข่งกับสถาบันอื่นๆ ในระดับโลก

ยิ่งหากมองเฉพาะโรงเรียนสอนกฎหมายที่เป็นส่วนหนึ่งของสายสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ยิ่งน่าแปลกใจ หากนำเกณฑ์ของสายวิทยาศาสตร์มาใช้วัด เพราะการวิจัยทางสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์ มีความซับซ้อน เชื่อมโยงกับสังคม และมีเงื่อนไขทางสังคมในการตอบปัญหาบางประการของสังคมเสมอ มิได้จำกัดอยู่ในห้องทดลองหรือปัจจัยคงที่

บทความนี้ไม่ลงย่อยในรายละเอียด เกณฑ์ การวัด หรือผลงานว่าควรเลือกใช้แบบใด วิธีใด แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า แต่ละมหาวิทยาลัย ต้องพยายามดูจุดแข็งจุดอ่อนซึ่งเป็นต้นทุนในการแข่งขันของตนเสียมากกว่า เพื่อวางตำแหน่งโรงเรียนสอนกฎหมายให้เป็นที่ดึงดูดใจต่อนักศึกษา นักวิจัย หรือนักวิชาการในระดับระหว่างประเทศที่จะมาเรียน มาร่วมทำวิจัย หรือแลกเปลี่ยนบุคลากร

สิ่งที่โรงเรียนสอนกฎหมายและบุคลากรที่เกี่ยวข้องต้องคิดให้หนัก คือ โลกกำลังชี้ว่าการทำงานวิชาการด้านกฎหมายต้องออกนอกตัวบทและมุ่งไปสู่บริบททางสังคมและความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ได้สร้างความเหลื่อมล้ำทางอำนาจซึ่งเป็นที่มาของ “ความไม่เป็นธรรม” แล้วพยายามแสวงหาแนวทางที่ปฏิบัติได้จริง โดยลงลึกในรายละเอียดว่าต้องเปลี่ยนวิธีการผลักดันกฎหมาย นโยบาย และการบังคับตามอย่างไร และสามารถสรุปสังเคราะห์ขึ้นเป็นทฤษฎีหรือหลักการใหม่ที่มางานวิจัยรองรับ และมีอัตลักษณ์ของท้องถิ่นซึ่งแตกต่างและเป็นที่ปรารถนาในตลาดโลก

โรงเรียนสอนกฎหมายที่เป็นชายขอบในประเทศไทย ก็อาจพลิกเป็นโรงเรียนสอนกฎหมายที่มีจุดดึงดูดระดับโลก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net