Skip to main content
sharethis
กลุ่มผู้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวเดินหน้าคืนรางวัลแก่ ปตท.ด้าน ‘นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์’ โพสต์ FB ระบุขออภัย ‘อานันท์ ปันยารชุน’ หลังได้รับการติดต่อให้ทบทวนการคืนรางวัล เผยอยากมอบกลับให้รางวัลทำหน้าที่เตือนใจองค์กรให้รีบทำในสิ่งที่เหมาะสม
 
ที่มาภาพ: คนอนุรักษ์
 
วันนี้ (2 ส.ค.56) ผู้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวจำนวนหนึ่งเดินทางไปยัง หน้าสำนักงานใหญ่ ปตท.ถนนวิภาวดี เพื่อนำถ้วยรางวัลคืนให้แก่ ปตท.จากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วจากท่อส่งน้ำมันกลางทะเลของบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีจีซี ในเครือ ปตท.ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้ลุกลามบานปลายกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตในอ่าวไทย
 
นายเข็มทองและนางอาริยา โมราษฎร์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มเด็กรักป่า เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว ปี 2546 นัดหมายไปคืนถ้วยรางวัล ตั้งแต่เวลา 06.00 น.จากนั้นนายเข็มทองและนายโอ๊ค Kata Mahakayiได้ร่วมอดอาหารและน้ำเป็นเวลา 9 ชั่วโมง และร่วมทำกิจกรรมทางสัญลักษณ์โดยการใช้ศิลปะการตัดแปะ เพื่อส่งข้อความไปยัง ปตท.ก่อนคืนถ้วยรางวัลลูกโลกสีเขียวแก่ผู้แทนของ ปตท.ในเวลาประมาณ 16.00 น.
 
นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รางวัลลูกโลกสีเขียว ปี 2550 เป็นผู้นำแถลงแสดงเจตนารมณ์ของผู้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวที่นำถ้วยรางวัลคืนให้แก่ ปตท.
ที่มาภาพ: คนอนุรักษ์
 
 
แถลงการณ์คืนรางวัลลูกโลกสีเขียว

เนื่องจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค. 2556 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ และประชาชนในพื้นที่ โดยที่ทางกลุ่ม ปตท. ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์อย่างโปรงใส และยังขาดแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน สะท้อนถึงทัศนคติและหลักการบริหารขององค์กรที่ไม่ได้นำหัวใจ CSR เข้ามาอยู่ในการประกอบการทางธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ มาโดยตลอด พวกเรา กลุ่มผู้ประสงค์จะคืนรางวัลลูกโลกสีเขียว จึงขอคืนรางวัลดังกล่าว เนื่องจากไม่ต้องการทีส่วนร่วมในการสร้างภาพสีเขียวขององค์กร ทังนี้ ทางกลุ่มยังชื่นชมการดำเนินงานของคณะกรรมการสถาบันลูกโลกสีเขียว ซึ่งมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
 
- เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมผลงานสร้างสรรค์ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เป็นที่สนใจและเกิดการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง
 
- เพื่อเป็นเวทีให้โอกาสและเป็นกำลังใจแก่ผู้ที่ศึกษา หรือ ปฏิบัติงานด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
- เพื่อรวบรวมและเผยแพร่องค์ความรู้ในด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
-เพื่อกระตุ้นให้สังคมสนใจและให้ความสำคัญด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
 
- เพื่อก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์ ทั้งในด้านแนวคิด ทัศนคติ และแนวทางปฏิบัติ นำไปสู่การมีส่วนร่วมของประชาชนในด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรราชาติและสิ่งแวดล้อม
 
จากวัตถุประสงค์ดังกล่าว พวกเราอยากให้เจตนารมณ์ขอบงสถาบันฯ ได้เข้าไปอยู่ในอยู่ในหัวใจการทำงานของกลุ่ม ปตท. อย่างจริงจัง โดยเริ่มจากการให้ข้อมูลแก่สาธารณะอย่างโปร่งใส โดยเฉพาะผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน และระบบนิเวศโดยรอบ รวมทั้งจัดการแก้ปัญหาอย่างโปร่งใส่โดยเร่งด่วนที่สุด

ทั้งนี้ การมอบรางวัลลูกโลกสีเขียวคืนครั้งนี้ เป็นความตั้งใจที่ต้องการให้กลุ่ม ปตท.ได้ปรับปรุงการดำเนินงานอย่างจริงจังและจริงใจ โดยไม่มุ่งเน้นการปกป้องภาพลักษณ์ของลักษณ์ขององค์กร อย่างที่เคยเป็นมา
 
ลงชื่อ... กลุ่มผู้คือรางวัลลูกโลกสีเขียว 
2 สิงหาคม 2556
 
 
 
ทั้งนี้ ล่าสุดมีผู้แสดงเจตนาขอคืนรางวัลลูกโลกสีเขียว แก่ ปตท.จำนวน 13 ราย ประกอบด้วย

1. นายรังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ 
อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทบุคคล เมื่อปี พ.ศ.2550

2. นายเข็มทอง โมราษฎร์ และนางอาริยา โมราษฎร์ 
ผู้ก่อตั้งกลุ่มเด็กรักป่า จ.สุรินทร์ 
ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทบุคคล เมื่อปี พ.ศ.2546

3. หนังสือพิมพ์ พลเมืองเหนือ รายสัปดาห์ 
(นางอัจฉราวดี บัวคลี่ สำนักเครือข่ายสื่อพลเมือง Thai PBS อดีต บก.) 
ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทสื่อมวลชน เมื่อปี พ.ศ.2550

4. นางสาวแม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา 
ผู้เขียน สารคดี “เขา ป่า นา เล : บันทึกที่หล่นหายในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา”
ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทงานเขียน (ดีเด่น) เมื่อปี พ.ศ.2550

5. กลุ่มเยาวชนอาสาสมัครปางแฟน จ.เชียงใหม่
ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทกลุ่มเยาวชน เมื่อปี พ.ศ.2548

6. พระอาจารย์ยงยุทธ ทีปโก วัดปางงุ้น ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ 
ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทบุคคล เมื่อปี พ.ศ.2552

7. นิตยสาร โลกสีเขียว มูลนิธิโลกสีเขียว
ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทสื่อมวลชน เมื่อปี พ.ศ.2549

8. นายจารุพงษ์ จันทรเพชร 
เจ้าของงานเขียน เรื่อง “ต้น เอ๋ย ต้นไม้” 
ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทงานเขียน (ดีเด่น) เมื่อปี พ.ศ.2549

9. นายเพชร มโนปวิตร
ผู้เขียน สารคดี “นกแต้วแล้วท้องดำ…บนเส้นทางแห่งการสูญพันธุ์?”
ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทงานเขียน (ดีเด่น) เมื่อปี พ.ศ.2546

10. นิตยสาร มนต์รักแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม
ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทสื่อมวลชน เมื่อปี พ.ศ.2552

11. นิตยสาร สารคดี
ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทสื่อมวลชน เมื่อปี พ.ศ.2549

12. นางสาวพิณประภา ขันธวุธ 
เจ้าของงานเขียน หนังสือรวมนิทาน "อาณาจักรขยะหรรษา" 
ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทงานเขียน (ดีเด่น) เมื่อปี พ.ศ.2552

13. นายธนกร ฮุนตระกูล และนางสาวสายสิริ ชุมสาย ณ อยุธยา 
แห่งโรงแรมบ้านท้องทราย เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี
ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทบุคคล เมื่อปี พ.ศ.2552
 
ขณะที่ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ใช้ชื่อในเฟซบุ๊กว่า Rungsrit Kanjanavanit โพสต์ข้อความผ่านหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัว และหน้าเพจกลุ่มคืนรางวัลลูกโลกสีเขียว ปตท. โดย ระบุข้อความขออภัยนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่โทรศัพท์มาหาให้ทบทวนการคืนรางวัลดังกล่าวหลังทราบข่าว โดยยังยืนยันทำตามเจตนาเดิม
 
วันนี้หัวใจหนักอึ่ง

ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน โทรมาหา หลังทราบข่าวว่าผมจะคืนรางวัลลูกโลกสีเขียวกับ ปตท.ท่านเป็นผู้ที่ผมให้ความเคารพรักอย่างยิ่งมาโดยตลอด

ท่านขอให้ผม แยกระหว่าง รางวัลและคณะกรรมการลูกโลกสีเขียว กับ ปตท.เนื่องจาก คณะกรรมการลูกโลกสีเขียว ทำงานเป็นอิสระ กับ ปตท อย่างสิ้นเชิง ท่านเตือนว่าการ การประท้วง ปตท ของผม จะดึง สถาบันลูกโลกสีเขียว เช้ามาเกี่ยวข้อง จะทำให้ท่าน คณะกรรมการฯ และสิ่งที่คณะกรรมการฯ เพียรสร้างมาหลายปี เช่น เครือข่าย อนุรักษ์ ชุมชน เสียหาย จนอาจทำให้โครงการนี้ล้มเลิกไป

ผมเรียนท่านว่า ผมเสียใจอย่างมากที่การตัดสินใจของผมมีผลต่อคณะกรรมการฯขนาดนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมคาดไม่ถึง 

ผมรู้สึกหนักอึ้ง 

จากการตั้งใจที่ทำเพื่อความสบายใจของตนเอง ตอนนี้มีคนร่วมคืนรางวัลหลายท่านและกลายเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบไปไกลกว่าที่ตนคาดไว้ และเกิดผลข้างเคียงที่ตนขาดไม่ถึง

แต่หลังจากไตร่ตรองอีกครั้ง ผมยังมองเห็นว่า แม้ การทำงานของคณะกรรมการ ลูกโลกสีเขียว จะเป็นอิสระ จาก ปตท.แต่เนื่องจาก ปตท. ใช้ รางวัลลูกโลกสีเขียว เป็น เครื่องมือสำคัญในการสร้างภาพ ความรับผิดชอบต่อ สิ่งแวดล้อมและชุมชน ของบริษัท ในขณะที่ สำนึกนี้ กลับขาดหายไปในเนื้องานและกระบวนการดำเนินธุรกิจของบริษัท ผมจึงมองว่า ผมไม่อาจ แยก รางวัลลูกโลกสีเขียว ออกจาก ปตท.ได้ 

ผมขอนำที่ ดร.สรณรัขฏ์ กาญจนะวณิชย์ พี่สาวเขียนไว้ดังนี้ “แม้ว่าเป้าหมายและการดำเนินงานของรางวัลลูกโลกสีเขียวจะเป็นงานที่เราเคารพและตระหนักในแรงงานแรงใจที่คณะกรรมการและทีมงานลูกโลกฯ ได้ทุ่มเทลงไปเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานหลายปี และเราคงเคารพนับถือการทำงานและตัวบุคคลเหล่านั้นไม่เสื่อมคลาย และเราขอยืนยันว่าการตัดสินใจคืนรางวัลไม่ได้เป็นการลดคุณค่าการทำงานของทีมงานนี้”

และสิ่งที่คุณ อัจฉราวดี บัวคลี่ กล่าวไว้ “ด้วยความเคารพและภูมิใจในการตัดสินใจของกรรมการทุกท่าน ที่ตัวเองเชื่อมั่นว่าปรารถนาดีต่อการมอบรางวัล และด้วยเหตุนี้คิดว่ารางวัลมีความหมาย จึงอยากส่งมอบกลับให้รางวัลได้ทำหน้าที่เตือนใจองค์กรให้รีบทำในสิ่งที่เหมาะสมกับเจตนาที่ทุกฝ่ายอยากให้เป็น”

ผมกราบขออภัย ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน และคณะกรรมการรางวัลลูกโลกสีเขียว ด้วยความเคารพอย่างที่สุด อีกครั้ง 

ผมจำเป็นต้องยืนยันเจตนาเดิมครั

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net