Skip to main content
sharethis

เรื่องของการสอดแนมไม่ได้มีแค่โครงการของหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯ เท่านั้น ในการประท้วง Occupy ก็เคยมีการกล่าวถึงเสา SkyWatch ซึ่งคอยสอดส่องการชุมนุม และยังมีบริษัทเอกชนหลายแห่งที่เสนอเครื่องมือช่วยสอดแนมแก่ผู้บังคับกฏหมายในประเทศต่างๆ

28 ต.ค. 2556 หลังจากกรณีการเปิดโปงเอกสารของหน่วยงานข่าวกรองสหรัฐฯ โดยเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ทำให้หน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐฯ และหน่วยงานสอดแนมอยู่ภายใต้การตรวจสอบอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงมีกลุ่มองค์กรอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง คือองค์กรเอกชนที่ช่วยเหลือเรื่องการสอดแนมให้กับหน่วยงานของทางการ หน่วยงานด้านกลาโหม และกลุ่มบรรษัทต่างๆ ทั้งในประเทศสหรัฐฯ และต่างประเทศ

นิตยสารโรลลิ่งสโตนนำเสนอเรื่องของหน่วยงานเอกชนที่ให้ความด้านการสอดแนม โดยอิริค คิงส์ หัวหน้านักวิจัยขององค์กรเฝ้าระวังด้านสิทธิความเป็นส่วนตัวไพรเวซีอินเตอร์เนชันแนล (Privacy International) กล่าวว่ากลุ่มบริษัทเอกชนเหล่านี้ต่างได้รับผลประโยชน์ทั้งด้านการเงินและในแง่ของอำนาจ โดยที่บริษัทให้บริการด้านการสอดแนมต่างโฆษณาตัวเองว่าพวกเขาสามารถให้ความช่วยเหลือต่อเจ้าหน้าที่ทางการในการใช้ผลิตภัณฑ์ของพวกเขาสอดส่องการประท้วงและฝูงชนกลุ่มใหญ่ด้วยวิธีการสอดแนมกิจกรรมทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก

เคนเนธ ลิปป์ ผู้สื่อข่าวที่เข้ารับฟังการประชุมของสมาคมอธิบดีกรมตำรวจนานาชาติในเมืองฟิลาเดลเฟีย เมื่อวันที่ 19-23 ต.ค. ที่ผ่านมากล่าวว่าหัวข้อหลักที่พูดกันในที่ประชุมช่วงสัปดาห์นั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับสื่อโซเชียลมีเดีย โดยมีการหารือกันเพื่อกำหนดนโยบายในแง่ที่จะหลีกเลี่ยงข้อจำกีดจากศาล คือการหลีกเลี่ยงไม่ต้องอาศัยมาตรการออกหมายค้น

โรงลิ่งสโตนกล่าวว่า การสอดแนมประชาชนเป็นวงกว้างโดยไม่มีกระบวนการสืบสวนอย่างตรงไปตรงมาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ อิริค คิงส์กล่าวว่าการสอดแนมหมู่ไม่ว่าที่ใดก็ตามมักจะมีลักษณะเดียวกับการสอดแนมของของสำนักงานความมั่นคงสหรัฐฯ (NSA) คือการ 'เก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมด'

มีการยกตัวอย่างโฆษณาทางยูทูบของบริษัท NICE ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ของพวกเขาสามารถใช้เก็บภาพวีดิโอการประท้วงโดยมีนักวิเคราะห์คอยเก็บข้อมูลว่าแหล่งประท้วงมีความหนาแน่นมากเพียงใด นอกจากนี้ยังมีระบบการเก็บข้อมูลเสียงทั้งข้อมูลสื่อสารแบบดิจิตอลทางอินเตอร์เน็ตและข้อมูลการสื่อสารทางวิทยุ โดยข้อมูลมัลติมีเดียทั้งหมดนี้จะถูกนำมาเรียบเรียงใหม่ตามช่วงลำดับเวลาของเหตุการณ์

 

ในบทสัมภาษณฺ์ของประธานฝ่ายความปลอดภัยของ NICE เปิดเผยว่ามีการใช้ระบบของ NICE ในระบบขนส่งมวลชนของนิวเจอร์ซีย์ และที่อนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ ทางด้านซาร่า เปรโต โฆษกของ NICE กล่าวว่าพวกเขามีลูกค้าหลายพันรายจากทั่วโลก โดยเป้าหมายของพวกเขาคือการรักษาความปลอดภัยให้กับผู้คนรวมถึงการปกป้องทรัพย์สิน มีการร่วมมือกับองค์กรของรัฐภายใต้กรอบของกฎหมายในรัฐนั้นๆ

อีกบริษัทหนึ่งคือไบรท์แพลนเน็ต มีโปรแกรมที่เรียกว่า 'บลูเจย์' (BlueJay) ซึ่งมีการโฆษณากับเจ้าหน้าที่ทางการว่าเป็น "โปรแกรมตรวจจับอาชญากรรมทางทวิตเตอร์" ที่ให้ตำรวจสามารถสอดส่องบัญชีผู้ใช้และแฮ๊ชแท็ก โดยในหน้าโฆษณามีการกล่าวถึงแฮ๊ซแท็ก #Gunfire #Protest และ #Meth (ย่อมาจาก Methamphetamine แปลว่ายาบ้า)

ในเอกสารโฆษณาอีกฉบับหนึ่งบอกว่าบลูเจย์สามารถใช้สอดส่องงานกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก เหตุจลาจล การสื่อสารของกลุ่มแก็งค์ บุคคลผู้มีแนวโน้มก่ออาชญากรรม รวมถึงสามารถติดตามผู้ที่กรมตำรวจต้องการได้

ส่วนบริษัทที่ชื่อ 3i:Mind มีผลิตภัณฑ์ชื่อ OpenMIND ซึ่งเป็นระบบให้ข้อมูลเบื้องต้นและสอดส่องการชุมนุม โปรแกรมนี้จะทำการค้นหาเว็บเพจ เว็บไซต์ซเชียลเน็ตเวิร์ก เว็บล็อก กระดานข่าว และแหล่งอื่นๆ ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับการชุมนุม เช่นบอกว่าเป็นการชุมนุมที่มีลักษณะเป็นไปอย่างสงบหรือรุนแรง ผู้เข้าร่วมมีพื้นเพแบบใด โดยมีการพยายามระบุตัวนักกิจกรรมที่เป็นแกนนำทั้งในโลกจริงและโลกออนไลน์แล้วเก็บข้อมูลของพวกเขาไว้ นอกจากนี้ยังทำการสอดส่องการชุมนุมได้ตามเวลาจริงและส่งสัญญาณเตือนเมื่อมีการยกระดับเหตุการณ์

โดยทาง 3i:Mind ได้ยกตัวอย่างว่าผลิตภัณฑ์ของพวกเขาจะช่วยเตือนเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อการชุมนุมทางการเมืองกลายเป็นเหตุรุนแรงและมีการพยายามเข้ายับยั้งสถานการณ์ก่อนที่ความรุนแรงจะเกิดขึ้น

ไมมีข้อมูลว่ามีหน่วยงานหรือรัฐบาลของประเทศใดใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัท 3i:Mind บ้าง แต่ทางบริษัทก็มีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์นี้ในงานแสดงสินค้าและในการประชุมของกลุ่มตำรวจ

มีผลิตภัณฑ์อีกชิ้นหนึ่งซึ่งผู้ประท้วง 'ยึดวอลล์สตรีท' (Occupy Wall Street) น่าจะรู้จักดีคือเครื่องที่เรียกว่า 'สกายวอทช์' (SkyWatch) ของบริษัท FLIR ซึ่งเป็นเสาเคลื่อนที่บรรจุคนได้ราวสองคน ในโบรชัวร์กล่าวว่าสกายวอทช์มีความสามารถในการสอดแนมได้หลายแง่ จากการใช้กล้องหรือเรดาร์รวมถึงการปรับแต่งอื่นๆ ตามความต้องการ ซึ่งหน่วยงานตำรวจของนิวยอร์คยังคงตั้งเครื่องสกายวอทช์นี้อยู่ที่มุมของสวนสาธารณะซัคคอตติซึ่งเคยเป้นแหล่งชุมนุมของกลุ่ม Occupy

โรลลิ่งสโตนกล่าวว่าเมื่อพิจารณาจากเนื้อหาโฆษณาเหล่านี้แล้วทำให้ตำรวจในพื้นที่สหรัฐฯ มีความเป็นทหารมากขึ้น และมีความเป็นไปได้ว่าทางกรมตำรวจสหรัฐฯ จะใช้งบประมาณไปกับการปฏิบัติการสอดแนมข้อมูลมากขึ้น ซึ่งเป็นการปฏิบัติเกินอำนาจดั้งเดิมของผู้บังคับกฏหมาย

เคด ครอกฟอร์ด ประธานโครงการเทคโนโลยีเพื่อเสรีภาพของสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (ACLU) กล่าวว่าสิ่งที่ทำให้โครงการสอดแนมเป็นเรื่องอันตรายในอเมริกามีอยู่สองประการ ประการแรกคือการทุ่มงบประมาณลงไปในโครงการ 'ความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ' (homeland security) ทำตำรวจในหลายรัฐสั่งซื้อเทคโนโลยีการสอดแนมได้ ประการที่สองคือการที่เทคโนโลยีในปัจจุบันกำลังนำหน้ากฏหมายเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว

"หลังจากได้เครื่องมือหรูๆ ชิ้นใหม่แล้ว ตำรวจก็ได้แทรกซึมลงไปในกลุ่มคนที่พวกเขาสอดแนมมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนรายได้ต่ำ ชุมชนคำผิวสี และกลุ่มต่อต้านรัฐบาล" เคด ครอกฟอร์ดกล่าว

ในแง่ทางกฏหมายก็ยังไม่มีการตัดสินแน่ชัดได้ว่าตำรวจสามารถใช้วิธีการเช่นนี้ได้หรือไม่ โดยนักกฏหมายจากโครงการเพื่อเสรีภาพและความมั่นคงแห่งชาติ ไฟซา ปาเทล กล่าวว่าถึงแม้ข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ให้สาธารณะได้เห็นอย่างโพสท์ของทวิตเตอร์และเฟซบุ๊คจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่ 4 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา (มาตราที่กล่าวถึงการห้ามจับกุมหรือตรวจค้นโดยไม่มีหมายค้นหรือไม่มีเหตุผลอันสมควร) แต่อาจจะมีการตั้งคำถามด้านกฏหมายหากมีการรวบรวมข้อมูลจำนวนมากในวงกว้างโดยเฉพาะในแง่ข้อมูลทางการเมือง, ศาสนา หรือทางเชื้อชาติ ซึ่งอาจนำไปใช้ในทางที่ละเมิดกฏหมายรัฐธรรมนูญได้

ทางด้านฝ่ายตำรวจ โฆษกของสำนักงานตำรวจฟิลาเดลเฟียกล่าวว่าสำนักงานตำรวจของพวกเขาไม่ต้องพึ่งพาบริการจากบริษัทเอกชนเพราะมีกล้องวงจรปิดของตนเอง แต่เมื่อถามถึงซอฟท์แวร์ที่ใช้ประมวลผลข้อมูลจำนวนมากโฆษกได้ต่อเรื่องนี้ให้กับสำนักงานรองนายกเทศมนตรีแต่ก็ไม่มีการตอบกลับ ส่วนสำนักงานตำรวจลอสแองเจลลิสหลังจากถูกถามว่าได้ใช้โปรแกรมสอดแนมการชุมนุมหรือไม่ก็ตอบอีเมลล์กลับมาเพียงว่า "พวกเราไม่ทราบในเรื่องนี้" โดยไม่มีการลงชื่อ

ส่วนสำนักงานตำรวจอื่นๆ ในสหรัฐฯ ไม่มีการตอบกลับคำขอสัมภาษณ์หลังจากนิตยสารโรงลิ่งสโตนได้พยายามติดต่อไปยังสำนักงานตำรวจในนิวยอร์กซิตี้, ลอสแองเจลลิส, ชิคาโก้, พิลาเดลเฟีย และวอชิงตันดีซี

 

เรียบเรียงจาก

Meet the Private Companies Helping Cops Spy on Protesters, Common Dreams, 25-10-2013

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net