Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เธอแสดงบทผู้หญิง ในพื้นที่ของผู้ชาย คือ พื้นที่แห่งช้างเท้าหน้า จึงต้องทนกับกระแสอคติในสังคมที่นิยมให้ชายเป็นใหญ่ ตั้งแต่ครัวเรือนจนถึงระดับชาติ การอดทนในครั้งนี้ของเธอ คือ ภาวะผู้นำอย่างหนึ่งที่สำคัญ ความอดทนของเธอในครั้งนี้ คือ บรรทัดฐานใหม่ของสังคม

“เราก็เลือกเป็นผู้ที่ถูกบอกว่า รัฐบาลอ่อนแอ ..... ดีกว่าที่เราจะมาบอกว่าเรากำหนดDeath line เพื่อที่จะขอคืนพื้นที่ และสุดท้ายผลออกมาคือพี่น้องประชาชนเจ็บปวด และก็ดิฉันก็เชื่อว่าภาพฝันร้ายของความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในอดีต ก็คงเป็นเหตุการณ์ที่จะหลอนประชาชนคนไทยไปอีกนาน เราไม่อยากเห็นเหตุการณ์นั้น”

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าว แถลงข่าวและตอบคำถามสื่อ 30 พฤศจิกายน 2556

คำกล่าวนี้สะท้อนภาพภาวะผู้นำที่มาจาก "ฐานคิด" ของผู้นำ ว่าเธอ "ต้องการแบบใด" โดย “ฐานคิด” นี้ มีส่วนประกอบของ Plot เรื่องในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

เธอมองว่าจะใช้ความรุนแรงแบบในอดีตไม่สามารถกระทำได้อีก  และต้องการลดการสูญเสียและยุติการสูญเสียที่เกิดขึ้น เพื่อรักษาคะแนนนิยมของตนไว้ และเพื่อเรียกกระแสนิยมกลุ่มไทยเฉย ไทยอดทน ที่ล้วนไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงและเรียกร้องสังคมที่ปกติสุขโดยไว คนกลุ่มนี้ คือ ผู้ชี้ความชอบธรรมให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ฝ่ายใดได้รับความชอบธรรมจากคนกลุ่มนี้ก็จะมีพลังมากขึ้น เพราะ คือกลุ่มที่มีจำนวนมากในสังคม

แต่สิ่งที่สำคัญกว่าความนิยม ณ ห้วงเวลานี้ คือ การสร้างบรรทัดฐานใหม่ในสังคม การแสดงออกหรือการมีส่วนร่วมทางการเมืองรัฐต้องคุ้มครองและการสูญเสียชีวิตในการร่วมกิจกรรมทางการเมืองไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม

การหลีกหนีการเผชิญหน้าหรือการปะทะที่จะนำมาสู่การสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้ จึงนำมาสู่การแถลงยุบสภา โดยเธอได้กล่าวว่า "การคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินด้วยการยุบสภาเเละเลือกตั้งใหม่ให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยเเละเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ประชาชนต้องตัดสินว่า คนส่วนใหญ่ต้องการเเนวทางใดเเละให้ใครมาบริหารประเทศตามเเนวทางนั้น ขอเชิญทุกกลุ่มเเละทุกพรรคใช้เวทีเลือกตั้งนำเสนอทางเลือกให้คนไทย" นาวสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวแถลงยุบสภา 9 ธันวาคม 2556

การเลือกตั้งจึงเป็นอาวุธที่มีอานุภาพมากกว่าปืนหรืออุปกรณ์ในการสลายการชุมนุมที่จะยุติความขัดแย้ง การเลือกตั้งเป็นการเปลี่ยนถ่ายทางอำนาจที่เรียบง่ายที่สุด ในการลดการเผชิญหน้าทางการเมือง ในการให้ประชาชนทั้งประเทศได้มาร่วมตัดสินใจร่วมกันอีกครั้ง เป็นการนำเอาผลงานมาแลกคะแนนเสียง ทั้งผลงานของฝ่ายค้านและผลงานของฝ่ายรัฐบาล

แต่เรื่องราวที่เข้ามายังตัวเธอยังไม่จบ ฝ่ายผู้ชุมนุมกลับหลีกหนีการเลือกตั้ง เพราะ มีความเชื่อที่ว่าตนจะได้รับความพ่ายแพ้ แสดงให้เห็นว่าพรรคฝ่ายค้านไม่มีผลงานในการมาแลกคะแนนเสียง แต่ก็ได้นำคำว่า “ระบอบทักษิณ” มาเป็นเครื่องมือในการหลีกหนีการเลือกตั้ง ผลจากกลุ่มคนที่มีมากที่สุดของประเทศ คือ กลุ่มคนที่เรียกกันว่า รากหญ้า และ ชนชั้นกลางใหม่ คนกลุ่มนี้เติบโตมาด้วยนโยบายของพี่ชายเธอ เขามีความรู้สึกว่าได้รับโอกาสจากพี่ชายของเธอ เขาจึงครองเสียงข้างมากของประเทศไว้ได้จนเธอลงเลือกตั้งในปี พ.ศ.2554 ก็ได้รับชัยชนะ พรรคการเมืองของเขาชนะการเลือกตั้งมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เว้นช่วงการขึ้นมาของรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ในปี พ.ศ.2551

กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาเรียกร้อง สภาประชาชน ไม่เอาเลือกตั้ง ไม่เอายุบสภา เพราะ กระบวนการประชาธิปไตยแบบสากลนี้มันทำให้เขาพ่ายแพ้แน่นอน ด้วยจำนวนฝั่งผู้สนับสนุนรัฐบาลที่เขามีเยอะกว่า ผ่าน ระบบ 1 คน 1 เสียงจึงเป็นเครื่องมือที่ทรงอำนาจของคนกลุ่มสนับสนุนรัฐบาล ฝ่ายที่ต้องออกแรงในทางการเมืองคือกลุ่มสนับสนุนพรรคฝ่ายค้านที่ต้องออกมาริมถนน แต่ผู้ที่เติบโตจากนโยบายของพี่ชายเธอ ได้รับความสบายขึ้น รอเดินเข้าหาระบบ เช่น คูหาเลือกตั้ง เป็นต้น ไม่ต้องเหนื่อยริมถนนเช่นในอดีต การปะทะกันด้านจำนวนจึงเกิดขึ้น สงครามตัวเลขจึงเกิดขึ้น ว่าใครมีมากกว่ากัน

ประชาธิปไตยจึงต้องแลกมาด้วยความอดทนของทุกฝ่ายเพราะตัวเลขขึ้นลงตามเวลาและเหตุการณ์ ภาพความอดทนที่ประชาชนคาดหวังจากผู้นำ เป็นภาพความอดทนที่อยู่ในภาพสังคมที่ชายเป็นใหญ่ ที่กล้าหาญท้าชนกับทุกสิ่ง จึงเป็นที่มาของการกล่าวจบท้ายการแถลงข่าวที่ว่า

“ก็วันนี้ยังอยู่ที่นี่ ยังยืนอยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหัวใจหลัก แล้ววันนี้ดิฉันก็มีโอกาสมาให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ทำงานเหน็ดเหนื่อย ในการดูแลความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน ดิฉันเองไม่หนีไปไหนหรอกค่ะ ถึงแม้ดิฉันเป็นผู้หญิง ดิฉันก็กล้าเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ต่างๆ”

นาวสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าว แถลงข่าวและตอบคำถามสื่อ 30 พฤศจิกายน 2556

และด้วยความเป็นผู้หญิงของเธอ เธอได้แสดงความเป็นหญิงออกมาเสียมากเกินไปในสังคมชายเป็นใหญ่ คือ การร้องไห้ เธอจึงถูกมองว่าไม่มีภาวะผู้นำ การที่เธอ "ร้องไห้" ไม่ใช่เรื่องราวใหญ่โต ถ้าเรามองในมุมที่เธอ "มนุษย์คนหนึ่ง" แต่ด้วยความคาดหวังของประชาชน แต่การเป็นผู้นำ การร้องไห้ก็จะไม่สู้ดีนัก การร้องไห้จึงแสดงถึงความอ่อนแอหรือยอม ทั้งที่การร้องไห้มันตีความหมายได้มาก ดีใจก็ได้ เสียใจก็ได้ ยอมถอยก็ได้ ลุกขึ้นสู้ก็ได้ เป็นต้น  แต่การร้องไห้   ก็ไม่สำคัญเท่า "การแสดงความรับผิดชอบ" ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมันอยู่ที่คุณร้องไห้ "ด้วยเหตุผลอะไร"  ร้องไห้เพราะไม่อยากทำให้เสียหาย หรือ ร้องไห้เพราะลงมือทำให้เสียหายไปแล้ว

มิใช่เพียงการร้องไห้เพียงอย่างเดียวที่ถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์ การมองที่เรื่องความสวยและเรื่องพฤติกรรมทางเพศ เช่น กรณีการขึ้นโรงแรมโฟร์ซีซัน มีการตีความไปถึงความไม่รักนวลสงวนตัว ศีลธรรมอันดีหรือรสนิยมทางเพศ ตามมายาคติทางเพศ ซึ่งผู้ชายมักจะไม่ถูกตั้งคำถามเหล่านี้  , กรณีการกล่าวสุนทรพจน์ถึงเรื่องสภาวะการเมืองไทย ณ ประเทศมองโกเลีย ก็สร้างความไม่พอใจให้กับขั้วตรงข้ามทางการเมือง โดยคุณชัย ราชวัตร ได้กล่าวลงเฟซบุคว่า “โปรดเข้าใจ กะหรี่ไม่ใช่หญิงคนชั่ว กะหรี่แค่เร่ขายตัว แต่หญิงชั่วเที่ยวเร่ขายชาติ” , กรณีการพูดผิดๆถูกๆของเธอเมื่อให้สัมภาษณ์ทางสื่อมวลชน , กรณีการต้อนรับประธานาธิบดีบารัค โอมาบา ที่มีผู้วิจารณ์ว่ากำลังส่งสายตัวยั่วยวนหรือมีพฤติกรรมยั่วยวนฝั่งตรงข้าม , กรณีการกล่าวว่าเป็น “อีโง่” ของหัวหน้าฝ่ายค้าน และสื่อมักจะวิจารณ์เธอว่า “เอาแต่แต่งตัวสวย”เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ลดทอนความเป็นมนุษย์เป็นอย่างมาก มันแสดงให้เห็นถึงทางตันของฝ่ายต่อต้านที่แทบจะหาเหตุผลมาโต้แย้งมิได้

จึงเป็นคำกล่าวของเธอที่ว่า

“ดิฉันไม่ใช่ไม่มีความรู้สึก ดิฉันได้ฟังมาตลอดกับการร้องขอกับผู้ชุมนุม การที่กล่าวถึงทั้งตระกูลนั้น ดิฉันก็ถือว่าเราเป็นคนไทยด้วยกัน จะถึงขนาดไม่ให้เหยียบอยู่ในแผ่นดินไทยเลยหรือ เราจะเป็นกันอย่างนี้หรือ ดิฉันถอยไม่รู้ว่าจะถอยอย่างไรแล้ว ก็ขอความเป็นธรรมด้วยค่ะ”

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวแถลงแถลงข่าวและตอบคำถามสื่อ 10 ธันวาคม 2556

เธอแสดงบทผู้หญิง ในพื้นที่ของผู้ชาย คือ พื้นที่แห่งช้างเท้าหน้า จึงต้องทนกับกระแสอคติในสังคมที่นิยมให้ชายเป็นใหญ่ ตั้งแต่ครัวเรือนจนถึงระดับชาติ การอดทนในครั้งนี้ของเธอ คือ ภาวะผู้นำอย่างหนึ่งที่สำคัญ ความอดทนของเธอในครั้งนี้ คือ บรรทัดฐานใหม่ของสังคม

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งที่สำคัญในสังคมประชาธิปไตยที่พยายามให้มนุษย์เสมอภาคกัน แต่วันนี้พื้นที่ทางการเมืองมีแต่การทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นสภาวะการเมืองทุ่มหมดหน้าตัก ประชาชนทั้งประเทศจะตัดสินตัวเธอเอง และประชาชนทั้งประเทศจะตัดสินอนาคตประเทศไทยร่วมกัน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net