Skip to main content
sharethis

นิสิตประสานเสียงค้านนโยบายใหม่ห้ามใช้มอเตอร์ไซค์ในมหาวิทยาลัย ชี้สารพัดความไม่เหมาะสม ตึกเรียนไกล รถยนต์ไฟฟ้า-จักรยานไม่พอรองรับ ไม่มีทางเดินในร่ม ไม่มีส่วนร่วมในนโยบาย รอลุ้นผลสรุปมหาวิทยาลัย 20 ส.ค.นี้ ไปต่อหรือถอย  


ภาพประท้วงวานนี้ (18 ส.ค.) จากเฟซบุ๊ก Rung'z Dungrao


ภาพประท้วงวานนี (18 ส.ค.) จากเฟซบุ๊ก sarocha khadma
 

19  ส.ค.2558 สืบเนื่องจากกรณีการประท้วงนโยบาย ‘Green University’ หรือมหาวิทยาลัยสีเขียวของนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรเกือบ 1,000 คน เมื่อวานนี้ (18 ส.ค.) มีการปิดล้อมทางเข้าออกมหาวิทยาลัย จนท้ายที่สุดนำไปสู่ข้อสรุปของทางมหาวิทยาลัยที่จะผ่อนผันให้ใช้รถจักรยานยนตร์ได้ตามปกติจนถึงวันที่ 20 ส.ค.ซึ่งจะมีการประชุมใหญ่เพื่อหาข้อสรุปว่าจะยกเลิกนโยบาย Green University หรือไม่ ทำให้นิสิตยอมสลายตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นโยบายดังกล่าวกำหนดการห้ามใช้จักรยานยนตร์ในการสัญจรภายในมหาวิทยาลัยตั้งแต่ในช่วงเวลา 8.30-16.30 น. ครอบคลุมทั้งอาจารย์ บุคลากร นิสิต และบุคคลภายในที่มาติดต่อมหาวิทยาลัย การประท้วงในครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก โดยหลังจากมีการทดลองใช้นโยบายนี้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมาก็ได้สร้างกระแสความไม่พอใจในหมู่นิสิตจนเกิดเป็นการประท้วงก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 ก.ค. และ 21 ก.ค. ในแต่ละครั้งจะมีการนัดรวมกลุ่มผ่านเพจของเฟซบุ๊กที่มีชื่อว่า ‘กรีนยูนิเวอซิตี้ เหมือนจะดี แต่ใช้ไม่ได้’

จากแบบบันทึกข้อความส่วนราชการของสำนักงานอธิการบดี กองอาคารสถานที่ เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ประชาสัมพันธ์ให้นิสิตงดใช้จักรยานยนต์ ภายในมหาวิทยาลัย ลงนามโดย ศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ จินายน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ลงวันที่ 12 พ.ค.2558  ระบุถึงที่มาของนโยบายนี้ว่าเป็นไปเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการลดใช้พลังงาน และแก้ปัญหาการจราจรหนาแน่นในชั่วโมงเร่งด่วน

ส่วนประกาศของมหาวิทยาลัยเรื่อง “มาตรการส่งเสริมวินัยการจราจรภายในมหาวิทยาลัย” ได้ออกมาอย่างเป็นทางการเพื่อรองรับนโยบายนี้เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ลงนามโดยอธิการบดี ระบุมาตรการสำหรับผู้ไม่ปฏิบัติตามประกาด้วยว่าสำหรับนิสิตจะโดนตักเตือน หากปฏิบัติความผิดซ้ำจะถูกตัดคะแนนความประพฤติ (ถูกบันทึกชื่อ 3 ครั้งตัดคะแนน 5 คะแนน)


ภาพจากเฟซบุ๊ก Beautyy Chul

สุภาภรณ์ เฉลิมภาค นิสิตปริญญาตรี คณะสังคมศาสตร์ ซึ่งได้ร่วมประท้วงนโยบายดังกล่าวด้วยเมื่อวานนี้ ให้ความเห็นว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้อย่างยิ่งเนื่องจากมีผลกระทบที่ได้รับคือนักศึกษาส่วนใหญ่ต้องเดินมาจากหน้ามหาวิทยาลัยเพื่อจะไปเรียนที่ตึกอาคารเรียนรวม (ตึก Qs) ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลัง นิสิตจะต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนมาก เวลาพักกลางวันหาที่กินข้าวยากมากเพราะคนเยอะ แต่พื้นที่นั่งกินข้าวน้อย ทำให้นิสิตต้องอออกไปรับประทานอาหารข้างนอก การไม่มีจักรยานยนต์จึงยิ่งสร้างความยากลำบาก เพราะรถยนต์ไฟฟ้าที่มหาวิทยาลัยจัดให้มีจำนวนน้อยมากหรือส่วนใหญ่ก็จะเต็มตลอด

“เมื่อวานก็ไปประท้วงมา ไปยืนตะโกนตามเขา แต่ก็ไม่ได้สักแต่ว่าตะโกนๆ ไปเพราะหนูก็คิดว่าที่ทำอยู่ทำเพื่ออะไร ถึงวิธีที่ใช้อาจจะดูไร้เหตุผล แต่หนูว่าก็ยังดีกว่าต้องก้มหน้านิ่งเฉยทำตามคำสั่งที่เราเองไม่ได้เห็นด้วย และสร้างความเดือดร้อนมากกว่าผลดีให้เรา เราไปประท้วงเพื่อปกป้องสิทธิให้ตัวเอง ทนร้อนแป๊ปเดียวแต่ต่อไปเราจะใช้ชีวิตดีขึ้น” สุภาภรณ์กล่าว

ธณัฐชา ชอบธรรม นิสิตปริญญาตรี จากคณะสังคมศาสตร์ ซึ่งได้ร่วมประท้วงนโยบายดังกล่าวด้วยเมื่อวานนี้ ให้สัมภาษณ์ว่า นโยบาย ‘Green University’ เป็นนโยบายที่ดี แต่สภาพแวดล้อมของทางมหาวิทยาลัยขณะนี้ยังไม่พร้อมกับนโยบายดังกล่าว และทางเดินสำหรับให้นิสิตก็ยังไม่มีทางม้าลายให้ข้ามถนน ที่จอดรถจักรยานยนต์ที่เตรียมให้ก็ไม่มีที่บังแดดให้กับรถจักรยานยนต์ ส่วนจักรยานที่เตรียมไว้ให้ใช้บริการก็มีไม่เพียงพอต่อนิสิต ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าปัจจุบันมีอยู่เพียง 15 คันที่ใช้ได้จริงไม่สามารถรองรับต่อจำนวนนิสิตทั้งหมด ต้องเสียเวลารอรถนานจนแทบไม่ทันเข้าเรียน อีกทั้งถนนเส้นทางเข้าทางประตู 5 ที่เป็นเส้นทางเล็กๆ ซึ่งอนุญาตให้นำรถจักรยานยนต์ขับไปเพื่อเข้าสู่ที่จอดได้ก็ไม่ได้ราดยาง เป็นพื้นดินทรายทำให้รถล้มหลายครั้ง ชาวบ้านที่จะเข้ามาทำธุระในมหาวิทยาลัยก็ประสบความยากลำบากในการเดินทาง

“หากนโยบายนี้มีต่อก็อยากให้ค่อยๆ ทำทีละอย่างให้พร้อมกว่านี้ แต่ถ้าบังคับใช้อยู่ก็อาจจะมีการประท้วงเกิดขึ้นอีก” ธณัฐชากล่าว

นิสิตปริญญาเอก คณะศึกษาศาสตร์ซึ่งไม่ประสงค์ออกนาม กล่าวว่า เขาไม่ได้ร่วมประท้วงนโยบายนี้ เนื่องจากเห็นว่าไม่น่าจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายของมหาวิทยาลัย

ฝ่ายบริหารไม่ฟังเสียงนิสิตตั้งแต่เริ่มคิดโครงการ และคงดื้อดึงจนหมดวาระ (การดำรงตำแหน่งของอธิการ) อย่างแน่นอน” นิสิตปริญญาเอกกล่าว

นิสิตปริญญาเอกคนเดิมยังได้เสนอแนะทางอออกของการทำนโยบาย ‘Green University’ ว่า

1) ควรสร้างทางเดินและทางจักรยานในร่ม เพื่อให้เดินทางไปได้ทุกตึกและรอบมหาวิทยาลัย โดยแยกจากผิวจราจรปกติ

2) ควรสร้างโรงจอดรถจักรยานยนต์ในร่ม และมีระบบดูแลความปลอดภัยอย่างดี เมื่อจอดรถเสร็จสามารถรับจักรยานและปั่นตามทางในร่มได้เลยเหมือนกับโรงเรียนในประเทศญี่ปุ่น

3) เพิ่มรถยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยมีตารางเวลาเดินรถที่ชัดเจน และจัดเที่ยววิ่งให้บ่อยมากขึ้น เพียงพอต่อความต้องการของนิสิตทั้งหมด

4) เพิ่มพื้นที่สีเขียว (ปลูกต้นไม้) ให้มากขึ้น ให้สอดคล้องกับนโยบาย ‘Green University ‘

“ถ้าหากสร้างระบบที่ดีได้ คงจะไม่มีใครต่อต้าน แต่อย่าลืมหลักการมีส่วนร่วม นิสิตก็เป็นหนึ่งในสมาชิกบ้านหลังนี้ ถ้าไม่ฟังความรู้สึกก็ไม่แคล้วจะเกิดการต่อต้านอย่างแน่นอน” นิสิตปริญญาเอกกล่าว

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net