ปริญญา มธ. เสนอทางออกกฎหมาย 'ชุมชนป้อมมหากาฬ' พ.ร.ฎ.เวนคืนแค่นโยบาย เปลี่ยนได้

ปริญญา เทวานฤมิตรกุลและนักศึกษา นิติศาสตร์ มธ. เสนอ ทางออกด้านกฎหมายกับชุมชนป้อมมหากาฬ ไม่ต้องคืนเงินทดแทน ยกพื้นที่ให้เป็นของ กทม. แต่ต้องออก พ.ร.ฎ. ใหม่ให้ชาวบ้านอยู่ได้เพื่อไม่ขัดกฏหมายสิทธิชุมชนตาม รธน. ย้ำ พ.ร.ฏ. เก่าเป็นเพียงนโยบายเปลี่ยนได้ทุก ครม.

ขากซ้ายไปขวา : ธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ,ปริญญา เทวานฤมิตรกุล,นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประชาไทสรุปวงสนทนา Co-Create 2 ชุมชนป้อมมหากาฬกับทางออกกฎหมาย ร่วมหาทางออกด้านกฎหมายกับกรณีไล่รื้อชุมชนเก่าแก่ป้อมมหากาฬ ระหว่างชาวบ้านในพื้นที่ นำโดยปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยวงสนทนาว่าด้วยการหาทางออกทางข้อกฎหมายเพื่อให้ชุมชนป้อมมหากาฬยังคงอยู่ต่อไป

ที่มาของปัญหาชาวชุมชนป้อมมหากาฬ – กรุงเทพมหานคร

พระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นโครงการการปรับปรุงพื้นที่ของเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ) ที่ได้ประกาศใช้ในบริบทของกฎหมายที่เก่าแก่ล้าหลังกว่าโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดปัญหาตามมา เนื่องจาก พ.ร.ฎ. ฉบับนี้ถูกประกาศใช้ก่อนที่จะมีการใส่สิทธิชุมชนเข้าไปในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ดังนั้นปัญหาคือ เมื่อ พ.ร.ฎ. การเวนคืนที่ดิน พ.ศ. 2535 มีผลประกาศใช้และเป็นเหตุของการไล่รื้อตามที่ กทม. กล่าวอ้าง กลับไม่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย

ป้อมมหากาฬดำรงอยู่ตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 3 แต่ พ.ร.ฎ. เพิ่งประกาศใช้ในปี 2535 โดยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นผู้ลงนามทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นของกรุงเทพมหานคร เพื่อที่จะเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นสวนสาธารณะและกันคนออกไป แต่ทั้งนี้ พ.ร.ฎ. นั้นเป็นโครงการในระดับนโยบาย ของรัฐบาลนายอานันต์ ซึ่งหมายความว่านโยบายสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามคณะผู้บริหาร เนื่องจากทุกครั้งที่เปลี่ยนผู้บริหาร นโยบายก็เปลี่ยน

ทางออกทางกฎหมายเพื่อชาวชุมชนป้อมมหากาฬ

  1. ออกพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมและกฎหมายสิทธิชุมชน โดยทำความเข้าใจร่วมกันในเรื่อง “พื้นที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ” หรือเปลี่ยนวัดถุประสงค์จาก “เพื่อทำสวนสาธารณะและการอนุรักษณ์โบราณสถานแห่งชาติ” ให้เป็น “เพื่อชุมชนและการอนุรักษ์ป้อมมหากาฬเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์” ด้วยเหตุนี้พื้นที่ป้อมมหากาฬก็ไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่ว่างเปล่าที่ไม่มีชุมชนอาศัยอยู่ ทั้งนี้ต้องมีข้อตกลงกันระหว่างชาวชุมชนและกรุงเทพมหานครว่าผู้ที่จะอาศัยอยู่ในชุมชนป้อมมหากาฬต่อไป ต้องเป็นผู้อยู่อาศัยแต่เดิมเท่านั้น ต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือส่งต่อให้เช่า อีกทั้งการมีอยู่ของชุมชนต้องเป็นไปเพื่อการอนุรักษ์ชุมชนเก่าแก่ และเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

  1. ให้กรุงเทพมหานครออกโฉนดชุมชนให้แก่ชาวบ้านชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งกรณีนี้ชุมชนสามารถบริหารจัดการภายในพื้นที่ได้เอง กทม. มีหน้าที่เพียงกำกับดูแลเท่านั้น ปัจจุบันโฉนดชุมชนมีการนำมาใช้มากขึ้น จากปัญหาที่ชาวบ้านเข้าไปจับจองอาศัยในที่ดินของรัฐเป็นเวลานาน เมื่อวันหนึ่งรัฐต้องการใช้ประโยชน์จากที่ดินผืนนั้นจึงเกิดการเวนคืนที่ดิน แต่หลังรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ได้มีการเพิ่มสิทธิชุมชนเข้ามา หมายถึงการให้สิทธิบุคคลที่อยู่ในชุมชนได้ร่วมกันจัดการบริหารชุมชนด้วยตัวเอง ในกรณีชุมชนเก่าแก่และเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์อย่างชุมชนป้อมมหากาฬอาจจะไม่ยุติธรรมที่รัฐจะเข้ามาเวนคืนที่ดินโดยไม่ฟังเสียงของผู้คนในชุมชน โฉนดชุมชนจึงเป็นตัวเลือกที่อยู่ตรงกลางระหว่างรัฐและชุมชน โดยโฉนดดังกล่าวไม่ใช่การยกพื้นที่ให้แก่ชาวบ้านในบริเวณนั้น แต่เป็นการออกเอกสารสิทธิผู้อยู่อาศัยได้ใช้ประโยชน์ต่างๆ ในที่ดินผืนเดิม ผู้รับโฉนดไม่มีสิทธินำไปขายหรือส่งต่อ ซึ่งโฉนดนี้จะมีข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐและชุมชน ในกรณีชาวบ้านชุมชนป้อมมหากาฬได้มีข้อเสนอเปิดพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงอนุรักษ์เพื่อเป็นประโยชน์แก่สังคม และดูแลพื้นที่โบราณสถานเก่าแก่ซึ่งข้อเสนอนี้สามารถแบ่งเบาภาระการดูแลและบำรุงสถานที่ของ กทม. ได้ในระดับหนึ่ง

 

“ถ้าหากชุมชนป้อมมหากาฬเข้ามาอยู่ในภายหลัง ชุมชนก็ต้องย้ายออกสถานเดียว แต่จากหลักฐานต่างๆ ทั้งภาพถ่ายและประวัติศาสตร์จะเห็นได้ว่าชุมชนอยู่คู่ป้อมมหากาฬมาโดยตลอด ดังนั้นก็มีเหตุผลอันชอบธรรมที่จะเลือกทางหนึ่งทางใดเพื่อที่จะให้ชุมชนป้อมมหากาฬได้อยู่คู่กับป้อมมหากาฬเพื่อการอนุรักษ์ต่อไป”

“ตอนที่ชาวบ้านไปพบรองนายกเขาบอกว่าก็มันผิดกฎหมาย หลังจากนี้ให้ท่านพูดได้เลยว่าไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่ผิดจากกฤษฎีกาที่เซ็นต์โดยนายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งนายกคนนั้นออกนโยบายได้ก็หมายความว่านายกคนนี้หรือนายกคนหน้าก็สามารถออกนโยบายใหม่ได้” ปริญญากล่าว

กทม.ได้ใช้เงื่อนไขของค่าทดแทนเพื่อดำเนินการในการไล่รื้อ โดยค่าทดแทนแบ่งเป็นสองส่วนคือค่าเวนคืนที่ดินและค่ารื้อถอน ซึ่งตนมองว่าค่าเวนคืนชาวบ้านไม่จำเป็นต้องจ่ายคืนเพื่อที่จะมีสิทธิอยู่ในพื้นที่ต่อไป เนื่องจากการจ่ายเงินให้ชาวบ้านก็เป็นการยกกรรมสิทธิที่ดินบริเวณนี้ให้แก่ กทม. แต่ทั้งนี้ต้องอย่าลืมว่าเมื่อเป็นกรรมสิทธิของ กทม.ก็มิได้หมายความว่าจะสามารถไล่รื้อได้โดยชอบธรรม เนื่องจากยังมีสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญคุ้มครองชาวบ้านอยู่ ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 ซึ่งระบุเรื่องสิทธิชุมชนได้ถูกยกเลิกไปแล้ว และรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับ พ.ศ. 2557 ก็ไม่ได้มีการระบุสิทธิชุมชนเอาไว้ แต่ศาลปกครองเคยตัดสินมาแล้วในกรณีห้วยคลิตี้ จ.กาญจนบุรี ซึ่งมีข้อโต้แย้งว่าสิทธิชุมชนได้หมดไปแล้ว แต่ศาลปกครองกล่าวว่า สิทธิชุมชนเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวคุ้มครอง เพราะเป็นสิทธิที่ปวงชนชาวไทยเคยมี ตั้งแต่ปี 2540 จนกลายเป็นประเพณีการปกครองประเทศไทยไปแล้ว

มาตรา 4 รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 กล่าวว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้

หากไม่สามารถร่างกฤษฎีกาขึ้นมาใหม่ สามารถตีความวัตถุประสงค์ฉบับเก่าอีกครั้งได้หรือไม่?

ปัจจุบันการเวนคืนพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬได้ติดปัญหาอยู่เพียง 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งก็คือบริเวณตรงกลางซึ่งเป็นพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬ บริเวณส่วนบนและส่วนล่างได้มีการไล่รื้อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถ้าต้องการจะตีความคำว่า “เพื่ออนุรักษ์โบราณสถานของชาติ” ใหม่ ซึ่งการตีความพระราชกฤษฎีกาต้องอาศัยคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ตีความ เท่ากับว่ายอมให้อำนาจการตัดสินขึ้นอยู่กับฝ่ายรัฐเพียงฝ่ายเดียวอีกครั้ง หากคณะกรรมการตีความว่าเชิงอนุรักษ์เป็นเพียงแค่การเหลือบ้านแล้วพื้นที่ไว้ แต่กันชาวบ้านในชุมชนออกไปนั่นคือข้อสิ้นสุด ด้วยเหตุผลนี้การผลักดันให้มีราชกฤษฎีกาใหม่ ถือเป็นผลดีที่สุด

“ท่านทั้งหลายไม่ใช่คนค้าขายบนทางเท้าที่สยามสแคว์ หรือผู้บุกรุกคลองโอ่งอ่าง นี่เป็นคนละอย่างกันเพราะพวกเขามาทีหลัง พวกเราอยู่มาก่อน และอยู่แล้วดีต่อกรุงเทพฯ กรุงเทพต้องเป็นเมืองที่มีชีวิต คนที่อยู่กรุงเทพฯ ได้ต้องไม่ใช่แค่คนที่มีเงิน ทุกคนต้องอยู่กับกรุงเทพฯ ได้” ปริญญากล่าวทิ้งท้าย

ข้อเสนอ 5 ข้อของชาวชุมชนป้อมมหากาฬ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท