การสารภาพผิดตามมาตรา 112 (หรือ The Winston Syndrome)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

มรดกของวิธีพิจารณาความอาญาแบบเดิมที่อัปลักษณ์ที่สุดแต่ได้รับการยกระดับการทรมานให้เหมาะกับยุคสมัยใหม่คือ กรณีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112   

วิกฤตการณ์ของระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เหนือการเมืองและของลัทธิหลงใหลเจ้า (Hyper-royalism) … ทำให้ความผิดตามมาตรา 112 กลายเป็นอาชญากรรมร้ายแรงยิ่งกว่าในยุคก่อนๆ ที่ผ่านมา แม้แต่ผู้ป่วยทางจิตก็ไม่ได้รับการยกเว้น เพราะรัฐและพวกหลงเจ้ามืดบอดตามัวไปกับความคิดของระบอบเก่า ไม่สามารถเข้าใจหรือยอมรับความคิดเรื่องสิทธิและสิทธิมนุษยชน หรือสามัญสำนึก (common sense) ของหลักการเหล่านั้น

ในบริบทนี้เองเราจึงเห็นการใช้กฏหมายอย่างไม่เป็นธรรมที่สะท้อนด้านลบทั้งหลายที่ตกค้างอยู่ในนิติรัฐแบบไทยๆ ดังที่กล่าวไปแล้ว นั่นคือ คำสั่งของผู้ปกครองคือกฎหมายอันชอบธรรม วิธีพิจารณาความแบบไทยๆ ที่สำคัญคือ ถือว่าผิดไว้ก่อน พิสูจน์ทีหลัง ได้แก่ การปฏิเสธไม่ยอมให้ผู้ต้องหาประกันตัวด้วยเหตุผลว่า “เป็นคดีร้ายแรง” ทั้งๆ ที่ มาตรา 112 เป็นเรื่องของความคิดและการแสดงออก ไม่มีการกระทำร้ายแรงเสียหายต่อทรัพย์สินหรือชีวิตของผู้อื่นแต่อย่างใด แถมมีตัวอย่างให้เห็นว่า ศาลอนุญาตให้ผู้ต้องหาคดีอาชญากรรมโหดเหี้ยมกว่าได้รับการประกันตัว การพิจารณาคดีเป็นความลับและห้ามเผยแพร่ให้ประชาชนรู้ถ้อยคำที่ถูกกล่าวหาด้วยเหตุผลประหลาด เสมือนยุคโบราณที่ ไม่ให้ประชาชนรับรู้กฎหมายว่าอนุญาตให้พูดอะไรหรือไม่ให้พูดอะไรบ้าง มีแต่ผู้พิพากษาเท่านั้นที่มีธรรมะสูงพอจึงมีความสามารถที่จะเจาะเข้าไปในใจของผู้ต้องหาจนค้นพบเจตนาที่แท้จริงของผู้ต้องหาได้ (Streckfuss 2011) รวมถึงมีสิทธิตีความกฎหมายอย่างน่าเกลียดว่าการกระทำใดหรือคำพูดใดผิด หรือใครบ้างอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของกฎหมายนี้ และตัดสินลงโทษอย่างไม่สมเหตุสมผลได้

แต่มีอัปลักษณะอีกอย่างของการใช้กฎหมายนี้ที่เราควรสนใจอย่างจริงจัง นั่นคือ การสารภาพว่าทำความผิดตามมาตรา 112  ในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ผู้ต้องหาคดี 112 แทบทุกกรณียอมรับสารภาพทำไม? คำตอบที่รู้กันดีก็คือ การสารภาพจะช่วยย่นระยะเวลาในการพิจารณาและลดระยะเวลาติดคุก การสารภาพแลกกับความหวังว่าจะได้ลดโทษ กล่าวได้ว่า คำสารภาพเป็นผลของการล่อลวงชักจูง หรือเป็นผลของการถูกบังคับกลายๆนั่นเอง ปรากฏการณ์นี้แสดงว่าทุก ๆ ฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่ ผู้พิพากษา และประชาชนทั่วไป ถือว่าผู้ต้องหา 112 มีความผิดแน่นอนโดยไม่ต้องพิสูจน์ และต่อให้ผู้ต้องหาสามารถพิสูจน์ได้ว่าเนื้อหาที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดมาตรา 112 นั้นเป็นความจริง ก็ยังถือว่าผิดอยู่ดี ดังที่ผู้พิพากษาคนหนึ่งได้กล่าวกับทนายความในคดีหนึ่งว่า “ยิ่งจริง ยิ่งหมิ่น ไม่จริง ก็ยิ่งโคตรหมิ่น”

กรณี 112 ได้ประมวลอัปลักษณะของกระบวนการยุติธรรมไทยเข้าไว้ด้วยกัน คือสุดยอดของความอยุติธรรมแบบไทยๆ  วิธีพิจารณาความอาญาแบบจารีตนครบาลได้กลายเป็นบรรทัดฐานสำหรับวิธีพิจารณาความอาญากรณี 112 ไปแล้ว กล่าวอีกอย่างได้ว่า กรณี 112 เป็นส่วนหนึ่งของ “จารีตนครบาลแบบใหม่”  เป็นภูมิปัญญาแบบโบราณของรัฐ ผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมและประชาชนผู้สนับสนุนยุยงส่งเสริมการใช้มาตรา 112 ในแบบนี้ รวมถึงคนที่ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นกับความอยุติธรรมของจารีตนครบาลใหม่ด้วย กรณี 112 สะท้อนภาวะภูมิปัญญาและนิติวัฒนธรรมยุคปัจจุบันของสังคมไทยเป็นอย่างดี

ลักษณะอย่างหนึ่งของจารีตนครบาลแบบดั้งเดิมคือการทรมานให้สารภาพ เป็นวิธีการที่กฎหมายยอมรับ การลงโทษในวัฒนธรรมแบบเก่าก็เน้นการทรมานทางกาย  รวมทั้งการทรมานทางกายในที่สาธารณะ ในกระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่ การทรมานให้สารภาพและการลงโทษทางกายถูกยกเลิกไปแล้ว แต่อาชญากรรมละเมิดต่อกษัตริย์ถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่สุดดังได้กล่าวข้างต้น กรณี 112 จึงต้องถูกจัดการด้วยวิธีพิเศษ จารีตนครบาลใหม่ที่ใช้กับผู้ต้องหา 112 จึงรวมการทรมานด้วย เพียงแต่ว่าสำหรับอาชญากรรมทางความคิดนั้น การสารภาพในตัวมันเองคือการทรมานอย่างหนึ่ง

เราอาจเข้าใจประเด็นนี้ได้ดีขึ้นจากเรื่องเทียบเคียง (allegory) นั่นคือชะตากรรมของวินสตัน สมิธ (Winston Smith) ในนิยายเรื่อง 1984 ของจอร์จ ออร์เวล ในเรื่องนี้รัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จบังคับให้ประชาชนคิดเหมือนๆ กัน ประพฤติปฏิบัติเหมือนๆ กัน และมีชีวิตอยู่ในแบบที่รัฐบงการโดยประชาชนไม่ต้องมีความคิดของตัวเอง เพื่อความสงบเรียบร้อยเป็นระเบียบและประโยชน์สุขของส่วนรวม สังคมนี้มี “พี่เบิ้ม” (Big Brother) ซึ่งเป็นอภิชนชนิดหนึ่ง ปรากฏกายอยู่ทุกที่ จ้องมองประชาชนทุกคนตลอดเวลา และรู้ทุกเรื่องไปหมด พี่เบิ้มจะคอยสั่งสอนประชาชนว่าจะคิดอะไรจะเชื่ออะไร ในสังคมเช่นนี้ ความคิดอิสระหรือปัจเจกภาพของปัจเจกชนเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่สุดต่อรัฐ ปัจเจกภาพคือการขบถในสังคมต้องการสถาปนาเอกภาพแบบไม่ต้องคิด แต่วินสตันพัฒนาปัจเจกภาพขึ้นมา มีความคิดอิสระเป็นของตัวเอง รวมทั้งตกหลุมรักจูเลียตามความปรารถนาของตัวเอง ความรักและความคิดอิสระเป็นอาชญากรรมทางความคิด (Thought Crime) เขาถูกจับโดยตำรวจความคิด (Thought Police) ถูกทรมานให้เขาสารภาพความผิดที่คิดอิสระไม่สยบยอมตาม“พี่เบิ้ม”  แต่ที่โหดเหี้ยมที่สุดก็คือบังคับให้เขาทรยศต่อจูเลีย การทรมานที่ได้ผลทำให้เขายอมแพ้ยอมทรยศต่อจูเลียในที่สุด ไม่ใช่การทรมานทางกายแต่เป็นการทรมานทางจิตใจ หลังจากสารภาพไปแล้ว วินสตันสูญเสียสิ่งมีค่าที่สุดซึ่งเขาเคยมีในชีวิต คือปัจเจกภาพและความรัก พี่เบิ้มจึงยอมปล่อยตัววินสตันได้ หลังจากนั้นเขากลับไปมีชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ผู้คนคิดเหมือนๆ กัน จงรักภักดีต่อพี่เบิ้มเหมือนๆ กัน (แต่เขายังมีชีวิตอยู่หรือ?)

สำหรับวินสตันและผู้ต้องหา 112 การสารภาพในตัวมันเองคือการทรมานอย่างหนึ่ง เพราะมาตรา 112 เป็นอาชญากรรมทางความคิด การทำลายความคิดอิสระจึงเป็นการทรมานยิ่งกว่าทรมานกาย หากไม่นับคนที่เป็นเหยื่อเพราะถูกกลั่นแกล้งแล้ว ผู้ต้องหา 112 ส่วนใหญ่คือคนที่มีความคิดเป็นตัวของตัวเอง เชื่อในความคิดอิสระ ปกป้องยืนยันความคิดอิสระของตนอย่างมั่นคง แม้ต้องเสี่ยงคุกเสี่ยงตารางก็ตาม พวกเขามีศักดิ์ศรีทะนงในอิสระทางความคิด เป็นเกียรติยศที่เขาหวงแหน ดังนั้น แม้ว่าการสารภาพจะเป็นทางเลือกซึ่งชาญฉลาดถูกต้องในสถานการณ์ที่เป็นจริงเพื่อมีชีวิตอยู่รอดในโลกอัปลักษณ์ที่มีมาตรา 112 และไม่ว่าพวกเขาจะเปลี่ยนความคิดจริงหรือไม่ก็ตาม การสารภาพเป็นการทำร้ายจิตใจลงย่อยยับ เป็นการกระทำที่สุดแสนจะทรมานสำหรับพวกเขา เพราะเท่ากับเขาต้องทิ้งทำลายความคิดอิสระที่ทำให้เขามีความเป็นมนุษย์ลงอย่างย่อยยับ อิสระที่ได้รับหลังการสารภาพจึงเป็นเพียงอิสระทางกาย เพราะจิตใจ ศักดิ์ศรี ความภาคภูมิใจในตัวของตัวเอง ความเป็นมนุษย์ได้ถูกทำลายไปแล้ว

นี่คือเหตุผลที่รัฐและกระบวนการยุติธรรมของไทยต้อนผู้ต้องหาเหล่านี้เข้ามุมแล้วยื่นทางเลือกให้กับพวกเขาว่า จงสารภาพ จึงจะได้รับการปล่อยตัวเร็วขึ้น

นี่คือความโหดร้ายของการสารภาพผิดต่อมาตรา 112

 

หมายเหตุ: บางส่วนจากบทความของธงชัย วินิจจะกูล “อภิสิทธิ์ปลอดความผิด (impunity) และความเข้าใจสิทธิมนุษยชนในนิติรัฐแบบไทยๆ” ใน ฟ้าเดียวกัน ฉบับ 40 ปี 6 ตุลา, ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-ธันวาคม 2559, คัดมาจากหน้า 210-214

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท