Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

สืบเนื่องจากกรณีความขัดแย้งเรื่องการอนุญาตให้นักเรียนคลุมผมในโรงเรียนแห่งหนึ่งของจังหวัดปัตตานีซึ่งโรงเรียนดังกล่าวมีครูส่วนใหญ่เป็นครูไทยพุทธและอ้างเรื่องเขตธรณีสงฆ์ในการไม่อนุญาตให้นักเรียนคลุมหิญาบ ภายหลังการอนุญาตครูคนพุทธแสดงความไม่พอใจเริ่มหยุดงาน และกลุ่มผู้ปกครองและศิษย์เก่าคนพุทธเริ่มไม่พอใจเช่นกัน

มองเผินๆ เรื่องนี้คล้ายกับกรณีหิญาบวัดหนองจอก และบางคนอาจจะเชื่อมโยงกรณีนี้เข้ากับการประท้วงใหญ่เรียกร้องสิทธิการคุลมหิญาบของพื้นที่เมื่อปี พ.ศ.2531

กรณีหิญาบครั้งนี้มีความเหมือนและความต่าง

เหมือนกับโรงเรียนวัดหนองจอกในแง่ของการเรียกร้องสิทธิ์ในการคลุมหิญาบที่นักเรียนมุสลิมเป็นคนกลุ่มน้อย ครูส่วนใหญ่ไม่ใช่มุสลิม และพื้นที่เป็นเขตธรณีสงฆ์

เหมือนกับการประท้วงใหญ่หิญาบที่ยะลาในแง่ความต้องการทางศาสนา ตัวตนหรืออัตลักษณ์ของผู้ศรัทธา และเรียกร้องสิทธิ์ทางศาสนาของตนเอง

ความต่างในเรื่องนี้มีกรณีเดียว คือ บริบทของพื้นที่ และสถานการณ์ทางการเมืองของพื้นที่สามจังหวัดในวันนี้ได้แปรเปลี่ยนไป


อ่านหิญาบ:ตัวตนผู้ศรัทธา

สำหรับคนคลุมหิญาบหลายๆ คน หิญาบมีความหมายที่ลึกซึ้งสำหรับผู้คลุม มันเป็นการเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับพระเจ้าผ่านผัสสะในชีวิตประจำวัน เป็นการซึมซับความยำเกรงพระเจ้าและเอาชนะอารมณ์ปรารถนาส่วนตน ในงานของข้าพเจ้า เคยสัมภาษณ์ผู้หญิงที่ค่อยๆ พยายามปรับปรุงตนเองเป็นมุสลิมที่ดี การคลุมหิญาบเป็นองค์ประกอบหนึ่งของกระบวนการสร้างและรักษาศรัทธาของพวกเธอ

หิญาบในแง่นี้ เกิดจาก เจตจำนงค์อันเสรี

แต่แน่นอนว่าเจตจำนงค์นี้เกี่ยวพันกับความรู้ทางศาสนาที่เธอได้รับ หากเราละการวิพากษ์ความเชื่อและมองที่หัวใจของผู้ศรัทธา การพยายามเกาะเกี่ยวใจตนเองกับอะไรบางอย่างเพื่อเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยว เป็นเรื่องที่มนุษย์ศาสนาไหนๆ หรือแม้แต่คนไร้ศาสนา ที่มีความเมตตา ที่มีความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์คงพอจะเข้าใจได้


หิญาบ กับตัวตน มิติทางสังคม

มุมมองของมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ หิญาบ ได้กลายเป็นภาคบังคับ เป็นส่วนหนึ่งของตัวตนผู้ศรัทธามิติทางสังคม

ในเชิงชุมชนมุสลิมที่นี่ถูกสอนและเชื่อกันว่าการเป็นมุสลิมที่ดี เชื่อฟังพระเจ้ามีข้อบังคับต่างๆ และหนึ่งในข้อบังคับนั้น คือ การปกปิดร่างกาย และคลุมผมสำหรับสตรี ความเชื่อตามตัวบทที่สนับสนุนให้ตักเตือนกันและกันมีผลให้มุสลิมพื้นที่ส่วนใหญ่ช่วยกันกำกับศรัทธากันและกัน บางคนตักเตือนโดยบริสุทธิ์ใจ บางคนตักเตือนด้วยความรู้สึกหยิ่งทะนงถือดีกว่าคนอื่น หรือต้องการใช้อำนาจยกตนข่มท่าน อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ว่ากันไป แต่การตักเตือนต่อหน้าย่อมดีกว่าการว่ากล่าวลับหลังกัน

มองมุมศาสนา การนินทาคือบาปอันชั่วร้าย

มองมุมสังคมวิทยา การนินทา คือ การกำกับสังคมในรูปแบบหนึ่งซึ่งไม่ปะทะหรือเผชิญหน้า เป็นการกดดัน และเป็นอำนาจต่อรองของผู้มีอำนาจน้อยกว่าในสังคม

ผู้หญิงมุสลิมไม่คลุมหิญาบจะเผชิญแรงกดดันจากสังคมที่คาดหวังความดีจากหิญาบ
ผู้หญิงที่คลุมหิญาบ จะถูกคาดหวังในระดับที่ยิ่งกว่าในการครองตัวให้เหมาะสม ขีดจำกัดต่างๆ มาพร้อมกับความเหมาะสมเมื่อเธอคลุมหิญาบ

แม้หิญาบจะถูกมองว่าเป็นเรื่องใหม่ในพื้นที่ มีพัฒนาการไม่ยาวนานแต่ทรงพลังอย่างมากกับชุมชนศรัทธาที่ผนวกความเป็นมลายูเข้ากับการเป็นมุสลิม ชุมชนที่คนผนวกตัวตนทางสังคมเข้ากับตัวตนทางศาสนา

ในแง่การเมืองหิญาบหรือ ผ้าคลุมผม ไม่ได้ทำหน้าที่แค่คลุมผม แต่ทำหน้าที่ในการเมืองเชิงอัตลักษณ์ด้วย

ผ้าคลุมผมสตรี represent ความเป็นอิสลาม และความเป็นมุสลิม

ในขณะที่หมวดกะปิเยาะห์ไม่ใช่ข้อบังคับ เคราอาจจะทำให้ชายบางคนดูกลมกลืนกับฮิปสเตอร์ แต่หิญาบเป็นสิ่งที่ฉายชัดประกาศศรัทธา

และศรัทธาที่ว่ากอดเกี่ยวกับตัวตนอย่างแยกไม่ได้

ตัวตนในระดับ self หรือตัวตนด้านใน ไม่ได้แยกขาดจากตัวตนระดับอัตลักษณ์ identity แต่มันทำงานแนบเนื่องไปด้วยกัน สำนึกว่า เราคือใคร สร้างและส่งผลกับความสัมพันธ์กับโลกและผู้คนต่างๆ ที่เราพบเจอทั้งใกล้และไกล

การคลุมหิญาบจึงสำคัญสำหรับผู้ศรัทธาทั้งมิติด้านใน จิตวิญญาณและมิติทางสังคม


หิญาบ สัญญะทางการเมือง

แต่ในโลกที่การปะทะขัดแย้งกันของความเชื่อทั้งเรื่องศาสนา การเมือง อัตลักษณ์ หิญาบกลายเป็นสัญลักษณ์ท่ามกลางการสู้รบ

ในประเทศตะวันตก ผู้หญิงสวมหิญาบเป็นเป้าหมายของกลุ่มเกลียดชังอิสลาม ตัวเลขเหยื่ออันดับต้นๆ คือคนคลุมนิกอบ รองลงมาคือหิญาบ สูงกว่าผู้ชายไว้หนวดเคราหน้าแขกๆ มาก
ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ หิญาบบ่งบอกความเป็นมุสลิมอันเป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ กรณีขัดแย้งเรื่องหิญาบในพื้นที่อื่นๆ ไม่ว่าจะวัดหนองจอก หรือต่างประเทศ อาจจะมาจากความเกลียดกลัวอิสลาม เกลียดกลัวมุสลิม ด้วยสถานการณ์โลกาภิวัฒน์ที่ภาพข่าวสถานการณ์โลกได้สร้างให้มุสลิมเป็นผู้ร้าย แต่ไม่ใช่พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้
คนพุทธที่นี่ไม่ได้เกลียดกลัวมุสลิมแบบที่พื้นที่อื่นในประเทศนี้และประเทศอื่นเป็น


อ่านใจคนพุทธพื้นที่ ผ่านกรณีความขัดแย้งเรื่องการสวมหิญาบ

อัตลักษณ์นั้นเป็นสิ่งที่เป็นความรุนแรงอย่างไม่ตั้งอกตั้งใจ เพราะเป็นสิ่งที่ดึงความเหมือนและผลักไสความต่าง หิญาบ ในฐานะตัวแสดงอัตลักษณ์จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ในพื้นที่ซึ่งมีความขัดแย้งดำรงอยู่

ความขัดแย้งในพื้นที่ไม่ใช่ความขัดแย้งโดยตรงแบบคนพุทธเกลียดคนมุสลิม คนมุสลิมเกลียดคนพุทธทื่อๆ แบบนั้น แต่มันละเอียดอ่อนซับซ้อนกว่ามาก

ท่ามกลางความรุนแรงสิบกว่าปีที่ผ่านมา คนพุทธย้ายออกจากพื้นที่จำนวนมาก และปฏิเสธไม่ได้ว่าในบางพื้นที่อำเภอพวกเขาคือเป้าหมายของผู้ใช้ความรุนแรงเห็นต่างจากรัฐ บางทีก็สงสัยว่าพวกผู้ใช้ความรุนแรงเห็นต่างจากรัฐทำไมไม่ไปโจมตีรัฐ ไปโจมตีคนบริสุทธิ์ทำไม คนพุทธที่เหลืออยู่ในพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ด้วยความหวาดกลัว หวาดระแวง เด็กๆ ในเมือง ผู้ปกครองไม่อนุญาตให้ไปแวนทไกลบ้าน ไปไกลหูไกลตา หรือแม้แต่ยอมกลับบ้านเย็น ผู้ปกครองยอมให้ลูกติดเกมสดีกว่าออกไปเที่ยวเล่นกับเพื่อน เป็นวัยรุ่นที่นี่ไม่เหนื่อยแต่ไม่ค่อยสนุกนะ

เรื่องราวความโหดร้าย ความรุนแรงที่คนพุทธถูกกระทำสะพัดเวียนวนดังมนต์ตราแห่งความกังวลหวาดกลัวในหมู่คนพุทธ

นอกจากนี้ในสิบกว่าปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนมืออำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจในพื้นที่จากคนพุทธ และคนไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่สู่คนมลายูมุสลิมได้ทำให้คนพุทธรู้สึกว่าตนเองเป็นคนกลุ่มน้อยไร้พลังอำนาจ ไม่ต่างกับที่คนมลายูเคยรู้สึกในเมื่อหลายสิบปีก่อน และการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นไปอย่างรวดเร็ว

พร้อมๆ กับความรุนแรงทางตรง ฐานอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจเปลี่ยน นโยบายของรัฐที่ถูกมองว่าอุ้มชูคนมุสลิมพื้นที่ให้ทุนให้สิทธิพิเศษต่างๆ โดยไม่เหลียวแลคนพุทธ ได้ทำให้คนพุทธเต็มไปด้วยความเจ็บปวด น้อยใจ

คนพุทธนั้น อัตลักษณ์ตัวตนผูกกับความเป็นไทยและรัฐไทย มีความจงรักภักดีกับสถาบันแห่งชาติและความเป็นชาติเป็นรัฐ แต่พวกเขาก็อกหักและเจ็บปวดกับการดูแลของภาครัฐในพื้นที่ ในขณะที่คนมลายูอยู่กับประวัติศาสตร์เจ็บปวดกับรัฐมายาวนาน ไม่ได้เชื่อมั่นในรัฐและทุกวันนี้ก็ยังหวาดระแวงว่าวันไหน พ่อ พี่ชาย น้องชาย อาจจะกลายเป็นผู้ต้องสงสัยในสถานการณ์ความไม่มั่นคงที่ไม่รู้เหนือรู้ใต้ ภายใต้ความแตกต่างทางอัตลักษณ์และความแตกต่างของรูปแบบความรุนแรงพวกเขาเผชิญความทุกข์ที่แตกต่างและพัฒนาความขัดแย้งต่อกัน

กรณีนี้ หิญาบ ไม่ใช่ชนวนของความขัดแย้ง แต่เป็นปลายยอดของภูเขาน้ำแข็งแห่งความขัดแย้งที่ทั้งสองฝ่ายกำลังเผชิญอยู่ สำหรับคนมุสลิมพื้นที่ ตัวตนทางศาสนาเป็นฐานรากของตัวตนในเชิงปัจเจกบุคคลและทางสังคม หิญาบ เป็นหนึ่งในองค์ประกอบนั้น สำหรับคนพุทธ หิญาบ คือ สัญลักษณ์แห่งการรุกกลืนพื้นที่ซึ่งพวกเขาถูกริดรอน ภายใต้ความบอบช้ำต่างๆ ที่ผ่านมา หากจะมีพื้นที่ไหนที่เขาพอจะรักษาพื้นที่แห่งตัวตนไว้ได้เขาอยากจะสู้เพื่อรักษาแม้ว่าจะเป็นการสู้ทางอ้อมก็ตาม พวกเขาไม่ได้จงใจจะปฏิเสธองค์ประกอบแห่งศรัทธาของเพื่อน แต่ความกลัว และความรู้สึกถูกคุกคามพื้นที่ทำงาน สำหรับคนมลายูตัวตนผูกพันกับองค์ประกอบทางศาสนา แต่คนพุทธตัวตนของพวกเขาผูกพันกับพื้นที่ของความเป็นบ้าน ผูกพันกับการเป็นรัฐสถาบัน ครูพุทธในโรงเรียนอยากจะผดุงความเป็นโรงเรียนรัฐที่พวกเขารู้จักเอาไว้ ผดุงรักษาพื้นที่แห่งตัวตนเขาเอาไว้พอๆ กับที่คนมุสลิมอยากผดุงรักษาศรัทธาของตนเอง

ทางออกในเรื่องนี้บางทีอาจจะไม่ใช่การคุยเรื่องหิญาบอย่างเดียว ณ พื้นที่โรงเรียนเดียว แต่เรื่องหิญาบควรนำไปสู่การทำความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจกันผ่านการสานเสวนา ที่ไม่ใช่เพื่อให้ได้มาซึ่งหิญาบ แต่เป็นความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน แต่คือการเข้าไปดูแลแผลใจเพื่อนคนพุทธ นำไปสู่การเปิดพื้นที่บางอย่างให้มากกว่าปาหี่พหุวัฒนธรรมที่เป็นอยู่

เมื่อสันติภาพไม่อาจเกิดได้หากปราศจากความยุติธรรม คนมุสลิมมลายูเคยผ่านประสบการณ์หลายอย่างที่รู้สึกว่าตนเองถูกปฎิบัติไม่เป็นธรรม ทำไมเราจะยอมให้ความไม่เป็นธรรมนั้นเกิดขึ้นกับเพื่อนบ้านของเรา ความสุขความทุกข์ของเพื่อนบ้านควรได้รับการดูแลรักษาไปพร้อมๆ กับการรักษาสิทธิอันชอบธรรมของเราเอง

 


เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net