Skip to main content
sharethis

ไม่ใช่เกษตรกรก็(ควร)สนใจ ใครกินพืชผักผลไม้เกี่ยวเต็มๆ ... เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษราว 100 คน บุกทำเนียบฯ เรียกร้องให้แบนยากำจัดศัตรูพืช พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส รมว.เกษตรฯ รับหนังสือเอง ระบุจะตั้งคณะกรรมการร่วม ภาคประชาชนไม่เห็นด้วยเกษตรเป็นแม่งาน ต้องการกรรมการอิสระจากรัฐบาล ให้เวลา 3 อาทิตย์จะมาใหม่


ภาพจากเพจ ThaiPBS

5 มิ.ย. 2561 ที่ศูนย์บริการประชาชน เครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม ประมาณ 100คน นำโดยเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่อันตรายร้ายแรง ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนมติ ยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส โดยมีนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับหนังสือแทน

ทางเครือข่ายมีข้อเสนอ 1.ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายทบทวนมติ และพิจารณายกเลิกพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เพื่อให้เป็นไปตามเจตนาของ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 2.ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ศึกษาหาวิธีการทดแทน ตามมติของสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค 3.ในช่วงก่อนการยกเลิก หากพบมีผลกระทบต่อต้นทุนของเกษตรกร เสนอให้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ พร้อมกันนี้เครือข่ายยังเห็นว่าข้าราชการในกรมวิชาการเกษตรมีผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องดังกล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรกล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนายกฯให้มารับหนังสือ กระทรวงเกษตรจะรับเป็นเจ้าภาพในการเสนอข้อเท็จจริงใหม่ให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาอีกครั้ง เพราะด้วยวิธีปฏิบัติแล้ว ไม่สามารถยกเลิกได้ในทันที แต่จากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำงานร่วมกับเครือข่ายเพื่อศึกษาข้อเท็จจริง ยืนยันว่ารัฐบาลต้องการให้ทุกชีวิตปลอดภัย รัฐบาลดำเนินการ 1.เรื่องสุขภาพ 2.สิ่งแวดล้อม 3.เศรษฐกิจ โดยเห็นสุขภาพของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด การตั้งคณะกรรมการร่วมกัน หากทางเครือข่ายเห็นว่าเจ้าหน้าที่ของกระทรวงคนใดมีผลประโยชน์ทับซ้อน รับเงิน ขอให้แจ้งมาเราพร้อมดำเนินการให้

ภายหลังการมอบหนังสือและได้รับคำมั่นสัญญาจาก รมว.เกษตรและสหกรณ์ ทางเครือข่ายฯ ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรงยอมรับการแต่งตั้งกรรมการอิสระเพื่อให้มีการทบทวนมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายโดยมีกรอบการทำงานภายใน 60 วัน แต่ยืนยันให้มีการแต่งตั้งตัวแทนกรรมการโดยรัฐบาล และให้เป็นกรรมการที่ปลอดจากผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างแท้จริง แต่เครือข่ายไม่อาจยอมรับข้อเสนอที่จะให้กระทรวงเกษตรฯ เป็นเจ้าภาพในการดำเนินการเรื่องนี้ เพราะไม่ได้เป็นหน่วยงานที่เชี่ยวชาญเรื่องสุขภาพอีกทั้งมีบทบาททับซ้อนในฐานะที่มีหน้าที่ส่งเสริมและดูแลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นหลัก มองมิติเพียงประสิทธิภาพของการใช้สารเคมีเป็นหลัก

"เครือข่ายจะติดตามความชัดเจนของรัฐบาลว่าจะแถลงและดำเนินการในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยต้องเป็นไปตามกรอบข้อเสนอของเครือข่ายฯ 3 ข้อ ได้แก่

1) ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายทบทวนมติ และพิจารณายกเลิกพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ในเดือนธันวาคม 2562 ตามกรอบเวลาที่กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอไว้ โดยกระบวนการพิจารณาข้อมูลและลงมติต้องไม่มีผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วม เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มาตรา 12 วรรค 2 ใช้ข้อมูลที่ทันสมัย เป็นกลางทางวิชาการ และมาจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรง ได้แก่ ผลการพิจารณาของกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และข้อมูลจากเครือข่ายประชาคมวิชาการ ซึ่งเพียงพอต่อการพิจารณายกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส

2) ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการศึกษาหาวิธีการทดแทน ตามมติของสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค ทั้งนี้จากการสำรวจของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พบว่า เกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ข้าว อ้อย ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และมันสำปะหลัง ร้อยละ 63 ไม่ได้ใช้พาราควอตในการกำจัดวัชพืช นั่นหมายถึงมีสารกำจัดวัชพืชชนิดอื่นและวิธีการในการจัดการวัชพืชที่มีประสิทธิภาพมากกว่าพาราควอตอยู่แล้ว หากแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้รวบรวมองค์ความรู้เหล่านี้มาเผยแพร่ในวงกว้าง

3) ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ก่อนจะยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสในปี 2562 หากพบว่ามีผลกระทบต่อต้นทุนของเกษตรกร เสนอให้กระทรวงการคลังศึกษาและจัดเก็บภาษีจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง มาใช้ในการเยียวยาผลกระทบและสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีจัดการวัชพืชที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะลดผลกระทบจากการถูกกีดกันทางการค้าจากความไม่ปลอดภัยของสารพิษตกค้าง การละเมิดสิทธิเกษตรกรที่ใช้สารพิษที่อันตรายร้ายแรง ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกในระยะยาว

ภายใน 3 สัปดาห์หลังจากนี้จะมีการจัดประชุมใหญ่ของเครือข่ายโดยมีตัวแทนจากสมาชิกเครือข่ายทั้ง 700 องค์กรเข้าร่วม เพื่อประกาศยกรระดับปฏิบัติการ และท่าทีของเครือข่ายต่อไป" แถลงการณ์ระบุ

ทั้งนี้ เพจ Biothai ของมูลนิถีชีววิถี ให้ข้อมูลปัญหาของระบบการพิจารณาของหน่วยงานไทยว่า อะไรคือ “วัตถุอันตราย” ว่า  เมื่อปี 2552 คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้เห็นชอบตามข้อเสนอของกรมวิชาการเกษตร ประกาศให้พืชสมุนไพร 13 ชนิด ได้แก่ สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายหยาก เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 1 ซึ่งจะทำให้มีการควบคุมผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรดังกล่าวที่มีการแปรรูปขั้นต้น "โดยไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี" ที่นำไปใช้ "ป้องกันกำจัด ทำลาย ควบคุมแมลง วัชพืช โรคพืช ศัตรูพืช หรือควบคุมการเจริญเติบโตของพืช” ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (โปรดดู http://www.biothai.net/node/223) มติดังกล่าวของคณะกรรมการวัตถุอันตรายถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง กลายเป็นพาดหัวใหญ่ในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรในขณะนั้นต้องออกมาขอโทษต่อประชาชน และกระทรวงอุตสาหกรรมต้องรีบดำเนินการให้มีการทบทวนมติดังกล่าวจนต้องถอนคำประกาศในที่สุด (https://www.thairath.co.th/content/9880) อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนในคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่เกี่ยวข้องกับประกาศให้พืชสมุนไพร 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ปัจจุบันยังคงมีบทบาทสำคัญในคณะกรรมการวัตถุอันตรายและอนุกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้องผลักดันให้พาราควอตสารพิษร้ายแรงที่หลายประเทศทั่วโลกประกาศแบนไปแล้วให้สามารถใช้ต่อไปได้ เช่นเดียวกับคลอร์ไพริฟอส สารพิษที่พบตกค้างมากที่สุดในผักผลไม้ ซึ่งพบว่าส่งผลกระทบต่อสมองของเด็กและทารกอย่างไม่อาจฟื้นคืนได้ มติดังกล่าวเสมือนการตบหน้าข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขและคณะทำงานสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงของ 4 กระทรวงหลัก ซึ่งเสนอให้ยกเลิกการใช้สารพิษร้ายแรงดังกล่าว และตบหน้าประชาชนไทยทั้งประเทศที่กังวลต่อผลกระทบของสารพิษเหล่านั้นต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

 

ที่มาบางส่วน: มติชนออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net