Skip to main content
sharethis

ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ภาษีลาภลอย วางเขตไว้ไม่เกินรัศมี 5 กม.รอบพื้นที่โครงการฯ  มาตรการภาษีบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ร่าง พ.ร.บ.ทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล ฯลฯ

ที่มาภาพ https://th2-cdn.pgimgs.com/cms/news/2016/06/Trin-1.original.jpg

เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติที่สำคัญหลายประเด็น ประกอบด้วย มติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ. .... ร่าง พ.ร.บ.ทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล พ.ศ. .... ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ)  และ ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดจำนวนคนต่างด้าวซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ. ....

โดยมีรายละเอียดดังนี้

ร่างภาษีลาภลอย ไม่เกินรัศมี 5 กม.

พรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.ได้มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ. .... (หรือภาษีลาภลอย) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลได้ดำเนินการลงทุนจัดทำโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ (โครงการฯ) จำนวนมาก ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ท่าเรือ สนามบิน โครงการทางด่วนพิเศษ และโครงการอื่น ๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศในระยะยาว ซึ่งเมื่อโครงการฯ ดังกล่าวเริ่มดำเนินการจนกระทั่งแล้วเสร็จ จะส่งผลให้ที่ดินและห้องชุดบริเวณรอบโครงการฯ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษีและสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาจากผู้ที่ได้รับประโยชน์ดังกล่าว จึงเห็นควรให้มีการจัดเก็บภาษีจากเจ้าของที่ดินหรือห้องชุดที่ได้รับประโยชน์จากการเพิ่มของมูลค่าที่ดินหรือห้องชุดอันเนื่องมาจากการพัฒนาโครงการฯ และนำรายได้จากการจัดเก็บภาษีดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาประเทศต่อไป โดย ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือครอบครองที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของรัฐหรือเป็นเจ้าของห้องชุดที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาทและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเจ้าของห้องชุดรอการจำหน่ายซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการฯ

2. โครงการฯ ที่จัดเก็บภาษี คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนท่าเรือ สนามบิน โครงการทางด่วนพิเศษ และโครงการอื่น ๆ ที่กำหนดในกฎกระทรวง

3. การจัดเก็บภาษีแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้ 3.1 ในระหว่างการดำเนินการจัดทำโครงการฯ จะจัดเก็บภาษีจากการขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือห้องชุดซึ่งตั้งอยู่รอบพื้นที่โครงการฯ ในรัศมีที่กำหนด 3.2 เมื่อการก่อสร้างโครงการฯ แล้วเสร็จ จะจัดเก็บภาษีเพียงครั้งเดียวจาก 1) ที่ดินหรือห้องชุดเฉพาะส่วนที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท(ยกเว้นภาษีให้แก่ที่ดินหรือห้องชุดที่ใช้เพื่อพักอาศัยและที่ดินที่ใช้ประกอบเกษตรกรรม) 2) ห้องชุดของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่รอจำหน่าย ซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการฯ

4. พื้นที่จัดเก็บภาษี กำหนดขอบเขตไว้ไม่เกินรัศมี 5 กิโลเมตรรอบพื้นที่โครงการฯ ทั้งนี้ กำหนดให้คณะกรรมการพิจารณากำหนดพื้นที่จัดเก็บภาษี ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นกรรมการและเลขานุการออกประกาศกำหนดพื้นที่ที่จะจัดเก็บภาษีในแต่ละโครงการฯ

5. หน่วยงานจัดเก็บภาษี ได้แก่ กรมที่ดินและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีโครงการฯตั้งอยู่

6. ฐานภาษีเพื่อการคำนวณภาษี ให้คำนวณจากส่วนต่างของมูลค่าที่ดินหรือห้องชุดที่เพิ่มขึ้นระหว่างวันที่รัฐเริ่มก่อสร้างโครงการฯ และมูลค่าในวันที่การก่อสร้างโครงการฯ แล้วเสร็จ สำหรับโครงการฯ ที่ยังก่อสร้างอยู่ในวันที่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ ให้ใช้วันที่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้เป็นวันเริ่มต้นในการคำนวณฐานภาษี ทั้งนี้ การคำนวณมูลค่าที่ดินและห้องชุด ให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินและราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุดเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินที่คณะกรรมการกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์กำหนดเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ ในกรณีห้องชุดไม่สามารถคำนวณส่วนต่างของมูลค่าห้องชุดได้ เนื่องจากไม่มีราคาประเมินห้องชุดให้คำนวณส่วนต่างดังกล่าวเท่ากับร้อยละ 20 ของมูลค่าห้องชุด

7. การคำนวณภาษีให้ใช้ฐานภาษีของที่ดินหรือห้องชุดที่คำนวณได้คูณด้วยอัตราภาษี

8. อัตราภาษี กำหนดเพดานอัตราสูงสุดของภาษีที่กรมที่ดินและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจจัดเก็บได้ ไม่เกินร้อยละ 5 ของฐานภาษี ทั้งนี้ อัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริงจะกำหนดในพระราชกฤษฎีกา

9. ภาษีที่จัดเก็บได้ให้นำส่งเงินภาษีเข้าคลังเป็นรายได้ของแผ่นดิน

10. โครงการฯ ที่จัดเก็บภาษี คือ โครงการฯ ที่ยังก่อสร้างอยู่ในวันที่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ หรือโครงการฯ ที่จะก่อสร้างภายหลังจากวันที่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้

ร่าง พ.ร.บ.ทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล

ครม. มติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง  เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา  ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ระบุว่า กำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคลโดยได้กำหนดบทนิยามให้ “ทรัสต์” หมายความว่า นิติสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์และ “การจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล” หมายความว่า การบริหารจัดการทรัพย์สินของผู้ก่อตั้งทรัสต์เพื่อประโยชน์ของผู้รับประโยชน์ ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในสัญญาก่อตั้งทรัสต์ ทั้งนี้ ให้รวมถึงการจัดการทรัพย์สินในกองทรัสต์ภายหลังผู้ก่อตั้งทรัสต์ถึงแก่ความตาย โดยขอบเขตของทรัสต์ตาม พ.ร.บ.นี้ ให้มีวัตถุประสงค์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล และไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการดังต่อไปนี้ คือ 1) มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน 2) การระดมทุนจากประชาชน 3) การจัดการทรัสต์ที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน และ 4) การจัดการทรัสต์ที่มีลักษณะเป็นทรัสต์เพื่อการประกอบธุรกิจที่มีกฎหมายกำกับดูแล ทั้งนี้ยังได้กำหนดหลักการต่าง ๆ เกี่ยวกับทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล

ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

ครม. อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

ครม. ยังรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเสนอ 

รวมทั้งให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเร่งรัดดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารทุนหมุนเวียน แล้วส่งผลการพิจารณาให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป และให้ยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2549 (เรื่อง ขั้นตอนการจัดตั้งองค์การมหาชน) และให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเร่งรัดดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวตามความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. ต่อไป

ยกเว้นภาษีเงินได้ฯ บรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้

โดย สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา ประกอบด้วย 

1. กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละสิบห้าของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าจ้างรายวันให้แก่ลูกจ้าง ให้แก่ 1.1 บุคคลธรรมดา ซึ่งมีการจ้างแรงงานไม่เกินสองร้อยคน และมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) (6) (7) หรือ (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 48 (1) แห่งประมวลรัษฎากร รวมกันไม่เกินหนึ่งร้อยล้านบาทต่อปีก่อนหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ทั้งนี้ ในปีภาษีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ และ 1.2 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีการจ้างแรงงานไม่เกินสองร้อยคน และมีรายได้จากการขายสินค้าและให้บริการรวมกันไม่เกินหนึ่งร้อยล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้

2. บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 4 ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ 2.1 มีการจ่ายค่าจ้างรายวันให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะกรรมการค่าจ้างประกาศกำหนด ซึ่งให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป 2.2 มีการจ่ายค่าจ้างรายวันให้แก่ลูกจ้างในอัตราสูงกว่าอัตราค่าจ้างรายวันเดิมที่ได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างก่อนวันที่ 1 เม.ย. พ.ศ. 2561 และ 2.3 ไม่มีการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เนื่องจากรายจ่ายในการจ้างงานตามพระราชกฤษฎีกาอื่นที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรอีก ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

กำหนดจำนวนคนต่างด้าวซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร

ครม. ยังมีมติเห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดจำนวนคนต่างด้าวซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย 
 
สาระสำคัญของร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย  เป็นการกำหนดจำนวนคนต่างด้าวซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยกำหนดจำนวนคนต่างด้าวซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรเป็นรายปีประเทศละไม่เกิน 100 คนต่อปี และไม่เกิน 50 คนต่อปี สำหรับคนไร้สัญชาติ ทั้งนี้ เพื่อให้คนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยสามารถยื่นคำขอมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยต่อไป อันเป็นการส่งเสริมให้คนต่างด้าวเข้ามาลงทุนและทำงานในประเทศไทย 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net