Skip to main content
sharethis

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานในพิธีเปิดงาน Thailand Social Expo 2018 ณ ฮอลล์ 5 - 7 อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี ภาพจาก: เว็บไซต์รัฐบาลไทย

3 ส.ค. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า เมื่อเวลา 09.30 น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เดินไปเป็นประธานในพิธีเปิดงาน Thailand Social Expo 2018 ที่ฮอลล์ 5 - 7 อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี ทั้งนี้ ก่อนที่พลเอกประยุทธ์ จะเดินทางมาถึงเจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัย ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของอิมแพค เมืองทองธานี ได้ตรวจบุคคลที่จะเข้าร่วมงานอย่างละเอียด เข้มงวด และเป็นที่น่าสังเกตว่าเจ้าหน้าที่เข้มงวดกับสื่อมวลชนและช่างภาพที่จะเข้าปฎิบัติหน้าที่ภายในบริเวณงาน และเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่จากกองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 จัดทำใบลงทะเบียนสำหรับช่างภาพ สื่อมวลชน ให้ลงชื่อ สังกัด และเบอร์โทรศัพท์  จดเลขบัตรประชาชน 

ซึ่งข้อกำหนดมีเนื้อหาดังนี้ มารยาทในการถ่ายภาพของช่างภาพสื่อมวลชน

1.ต้องอยู่ในลักษณะเคารพต่อนายกรัฐมนตรีและแสดงความเคารพทั้งก่อนและหลังถ่ายภาพ

2. การแต่งกาย สุภาพบุรุษชุดสูทสากล สุภาพสตรีชุดกระโปรง รองเท้าหุ้มส้น

3.กล้องที่จะนำมาบันทึกภาพต้องผ่านการตรวจและติดแท็ก ที่ได้รับอนุญาตจากตำรวจสันติบาล 

4. จะอนุญาตให้เฉพาะช่างภาพที่ลงทะเบียนและติดต่อแผนที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

5.ไม่แสดงกริยาวาจาหรือมารยาทอันไม่สมควร

6.ในการถ่ายภาพควรอยู่ห่างจากนายกรัฐมนตรี 5 เมตรเป็นอย่างน้อย

7. ไม่ควรเบียดเสียดกันถ่ายภาพหรือถ่ายภาพลักษณะยืนค้ำศรีษะผู้อื่นหรือยื่นกล้องถ่ายภาพในลักษณะถ่ายภาพข้ามท่าน

สำหรับข้อควรปฎิบัติในการบันทึกภาพมีดังนี้

1.ต้องไม่ถ่ายภาพตรงหน้า ขณะที่นายกรัฐมนตรีอยู่ในห้องรับรอง

2.ห้ามถ่ายภาพขณะเดินขึ้นหรือลงจากที่สูงเช่นบันได ฯลฯ

3.ห้ามถ่ายภาพขณะรับประทานอาหาร

4.ห้ามออกนอกสถานที่ที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ วิ่งตัดหน้า วิ่งลุกลนหรือห้อมล้อมกีดขวางทางเดิน

5.ให้บันทึกได้ในจุดหรือสถานที่ที่เจ้าหน้าที่ได้จัดไว้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม

6.การใช้ไฟฉายใช้ได้ในทุกโอกาส แต่การถ่ายไฟไม่ควรเกิน 1,500 วัตต์และควรอยู่ห่างจากห้องรับรอง

7.หากฝ่าฝืนมารยาทข้อควรปฏิบัติหรือไม่เชื่อฟังคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ จะถูกริบปลอกแขนและห้ามบันทึกภาพ 

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานด้วยว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้มีการวิพากษณ์วิจารณ์ และคัดค้านการทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียนของ พลเอกประยุทธ์ โดย JAKARTA Post นำเสนอบทความชี้ให้เห็นว่า ท่ามการกระแสของการเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยของภูมิภาค ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมที่ประชาคมอาเชียนจะยินยอมให้ผู้นำรัฐบาลทหารเป็น ประธานอาเซียนไปปีถัดไป ซึ่งอาจจะเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ พลเอกประยุทธ์ประกาศที่จะไม่พูดถึงประเด็นทางการเมือง และส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้มงวดกับการทำงานของสื่อมวลชน

ด้านเว็บไซต์รัฐบาลไทย รายว่า พลเอกประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่เอกสารเกี่ยวกับข้อปฏิบัติของช่างภาพสื่อมวลชนทางโซเชียลมีเดีย ออกโดยกองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 ซึ่งมีเนื้อหาระบุถึงมารยาทในการถ่ายภาพ และข้อควรปฎิบัติในการบันทึกภาพ ว่า

"เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารตั้งแต่ปี 2558 จึงไม่เข้าใจว่าทำไมถูกนำมาเผยแพร่ตอนนี้ จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันในกลุ่มสื่อมวลชนและคนที่ได้พบเห็น ไม่ต้องการให้เกิดความเข้าใจผิด หรือเกิดปัญหาการทำงานระหว่างทีมนายกรัฐมนตรีและสื่อมวลชน" พลเอกประยุทธ์ กล่าว

พลเอกประยุทธ์ เชื่อว่าวัตถุประสงค์ของการออกข้อปฏิบัติในขณะนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจคงมีความปรารถนาดีต้องการให้การปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยผู้นำประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และตั้งใจจะยกระดับการทำงานของทั้งเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนให้มีความเป็นสากล และมีมาตรฐานเช่นเดียวกับนานาประเทศ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาความเป็นจริงตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้บังคับใช้ข้อปฏิบัตินี้โดยเคร่งครัดแต่อย่างใด ส่วนเรื่องใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับมาตรการรักษาความปลอดภัย เช่น โค้งคำนับก่อนและหลังการถ่ายภาพ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของช่างภาพ พลเอกประยุทธ์ ได้กำชับให้กองบัญชาการตำรวจสันติบาลไปพิจารณาทบทวนและถอนออกจากข้อปฏิบัติ เพราะคนจะเคารพหรือให้เกียรติกันนั้นขึ้นอยู่กับวัตรปฏิบัติของแต่ละบุคคล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net