Skip to main content
sharethis

ในวาระครบรอบ 20 ปี ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องการปฏิรูป 'รีฟอร์มาซี' ในมาเลเซีย สื่อมาเลเซียนำเสนอเรื่องของ เทียน ฉัว (Tian Chua) ผู้เป็นโฉมหน้าของการเคลื่อนไหวครั้งประวัติศาสตร์ในตอนนั้น ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เขาเคยคาดหวังไว้ ถึงจะมาช้าแต่ในตอนนี้กำลังเกิดขึ้นแล้วในมาเลเซีย

เทียน ฉัว นั่งเผชิญหน้าตำรวจปราบจลาจลเมื่อปี 2541 (ที่มาของภาพ: thestar.com.my)

ในช่วงเดือน ก.ย. เมื่อปี 2541 มาเลเซียมีการชุมนุมของประชาชนที่ไม่พอใจการใช้อำนาจของมหาเธร์ โมฮัมหมัด ที่สั่งปลดอันวาร์ อิบราฮิม ผู้ที่เขามีความขัดแย้งด้วยในยุคนั้น ทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านบนท้องถนนของผู้คนจำนวนมาก และหนึ่งในผู้ที่เป็นโฉมหน้าของการประท้วงคือ 'เทียน ฉัว' นักกิจกรรมในเวลานั้นซึ่งต่อมาเขาได้กลายเป็นรองหัวหน้าพรรคยุติธรรมประชาชน (PKR) พรรคฝ่ายค้านสำคัญที่มีอันวาร์ อิบราฮิม โดยเทียน ฉัวเคยเป็นอดีต ส.ส.เขตบาตู ในกัวลาลัมเปอร์ด้วย

ในวาระครบรอบ 20 ปี ของเหตุการณ์ดังกล่าว เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดอะสตาร์จึงนำเสนอเรื่องเล่าของเขาต่อเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น

เทียน ฉัวเป็นผู้คนที่อยู่ในรูปภาพนั่งเผชิญหน้ากับรถบรรทุกปืนน้ำที่นำมาใช้ปราบปรามผู้ชุมนุม ในช่วงเวลานั้นตำรวจปราบจลาจลกำลังทำการสลายการชุมนุมที่หน้าห้างสรรพสินค้าโซโกในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ในการชุมนุมครั้งนั้นตัวเทียนฉัวเองเป็นกองหน้าในการขึ้นนำปราศรัยเรียกร้องให้มหาเธร์ โมฮัมหมัด ลาออกจากตำแหน่ง

สัมภาษณ์: เทียน ฉัว ส.ส.มาเลเซียผู้มาคำนับศพ เฉิน ผิง, 22 ก.ย. 2556

เทียน ฉัวเล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่ามีเรื่องที่ขัดกับสิ่งที่ผู้คนทั่วไปคิดอยู่อย่างหนึ่ง คือช่วงเวลาก่อนที่ตำรวจปราบจลาจลจะเข้าปะทะผู้ชุมนุมเป็นช่วงเวลาที่ใจต้องนิ่งที่สุด เขาให้เหตุผลว่าเพราะพวกเขาต้องเตรียมรับมือกับแก็สน่ำตาทำให้ต้องกำหนดลมหายใจเข้าออกของตนเองไม่ให้ตื่นเต้นจนเกินไป นอกจากนี้ยังต้องเตรียมตัวรับมือกับการถูกทุบตีด้วย

นอกจากนี้เทียน ฉัวยังให้คำแนะนำว่าผู้ชุมนุมควรจะตั้งสติและมองว่าแก็สน้ำตาถูกยิงมาจากทางไหนและจะเดินอย่างใจเย็นเพื่อหาที่ๆ ค่อนข้างปลอดภัยได้อย่างไร สำหรับเทียน ฉัวแล้วที่ๆ ค่อนข้างปลอดภัยสำหรับเขาคือการเดินมุ่งตรงไปยังตำรวจปราบจลาจล นั่นทำให้เขาถูกเข้าใจผิดและถูกกล่าวหาว่า "พุ่งเข้าปะทะ" กับตำรวจปราบจลาจล แต่จริงๆ แล้วเขาแค่วิ่งเข้าไปหาตำรวจปราบจลาจลเพราะแก๊สน้ำตาถูกยิงมาจากจุดนั้นแล้วจุดที่ยิงแก็สน้ำตามาจะเป็นจุดที่ค่อนข้างปลอดภัยในการหลบแก๊สน้ำตา

ขบวนการรีฟอร์มาซีซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้วในวันที่ 20 ก.ย. 2541 เป็นกระแสความไม่พอใจที่เกิดขึ้นหลังจากการสั่งปลดอันวาร์ อิบราฮิม ออกจากพรรคอัมโนและปลดออกจากการเป็นรองนายกรัฐมนตรีในยุคนั้น โดยมีผู้คนจำนวนมากชุมนุมบนท้องถนนเพื่อเรียกร้องให้มหาเธร์ โมฮัมหมัด ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งมีความขัดแย้งกับอันวาร์และเป็นผู้รับผิดชอบในการเล่นงานอันวาร์ลาออกจากตำแหน่ง และในคืนวันที่มีการชุมนุมใหญ่นั้นเองก็มีการนำกำลังตำรวจบุกเข้าไปในบ้านของอันวาร์เพื่อจับกุมเขาข้อหามีส่วนร่วมกับการจลาจลจากผู้สนับสนุนเขา

เทียน ฉัวบอกว่าการเดินขบวนประท้วงในครั้งนั้นน่าจะเป็นขบวนการเคลื่อนไหวมวลชนอย่างแท้จริงครั้งแรกนับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 

สื่อเดอะสตาร์ทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากการปราบปรามผู้ชุมนุม เทียน ฉัวถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่กองหนุน FRU ซึ่งก็คือตำรวจปราบจลาจลในตอนนั้น หลังจากนั้นอลิซาเบธ หว่อง ก็จะออกแถลงการณ์ต่อสื่อในกรณีการจับกุมเทียน ฉัว โดยที่ปัจจุบันอลิซาเบธเป็นนักกิจกรรมสิทธิมนุษยชนที่ปัจจุบันเป็นนักการเมืองรัฐสลังงอร์

เทียน ฉัวเองในตอนนั้นก็เป็นนักกิจกรรมแรงงานและสิทธิมนุษยชน เขาเล่าว่าเขาตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการรีฟอร์มาซีทันทีในคินที่อันวาร์ถูกจับกุม สำหรับเขาแล้วขบวนการรีฟอร์มาซีคือการที่ "ประชาชนธรรมดาเรียกร้องกดดันให้เกิดการปฏิรูปที่พลิกโฉมมากกว่านี้" เป้นการเรียกร้องที่จะเห็นมาเลเซียปลอดการทุจริตคอร์รัปชัน ปลอดการปกครองภายใต้การเมืองอำนาจนิยมพรรคเดียว และปลอดการกดขี่สิทธิมนุษยชน เป็นความต้องการเปลี่ยนระบบให้เกิดสังคมที่อิสระมากกว่านี้

มหาเธร์ โมฮัมหมัด ในสายตาของเทียน ฉัวในยุคนั้นคือ "โฉมหน้าของอำนาจผูกขาด" ที่ลิดรอนความปรารถนาเสรีภาพของผู้คน โดยพยายามยึดกุมอำนาจผ่านพรรคการเมืองอัมโน นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาถึงถูกประท้วงต่อต้านจากผู้คน

ในแง่ที่ว่าทำไมเทียน ฉัวถึงกลายมาเป็นจุดสนใจสำหรับสื่อนั้น เขาบอกว่าน่าจะเป็นเพราะชื่อเขาจำง่ายและเมื่อคนที่ไม่มีชื่อเสียงอะไรมาก่อนถูกจับกุม 8-9 ครั้งคนก็จำชื่อได้ถึงแม้ว่าจะไม่มีการบันทึกเอาไว้ เทียน ฉัวยังบอกอีกว่าน่าจะเป็นเพราะตำรวจพยายามสลายขบวนการด้วยการจับคนที่ดูเป็นหัวหอกแทนที่จะเป็นผู้ติดตาม

เรียบเรียงจาก

Revisiting Reformasi 20 years later, The Star, 29-09-2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net