Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

1. ยิ่งเล็ก ยิ่งดี

วันนี้เราจะมาพูดถึง “ขนาดเจ้าหน้าที่ภาครัฐ” ว่า “ยิ่งเล็ก ยิ่งดี” มีที่มาอย่างไร ทำไมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายประเทศจึงพยายามลดขนาดเจ้าหน้าที่ภาครัฐ แล้วเขาประสบความสำเร็จในการลดหรือไม่ และมาหาข้อเท็จจริงว่า “ยิ่งเล็ก ยิ่งดี” เป็น “ความเชื่อ” (Folklore) หรือความจริง (Fact)

2. ที่มาของ “ยิ่งเล็ก ยิ่งดี”

2.1 “ยิ่งเล็ก ยิ่งดี” มีที่มาจากอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจของลัทธิทุนนิยมเสรี (Laissez-Faire/Free Market Capitalism) ภายใต้อุดมการณ์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตย (รูปที่ 1) ลัทธินี้เชื่อในกลไกตลาด การให้ปัจเจกบุคคลเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต (ทุน ที่ดิน แรงงาน และการจัดการ) การปล่อยให้มีการแข่งขันโดยเสรีและให้กลไกตลาด (อุปสงค์และอุปทาน) เป็นผู้กำหนดราคา โดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐ กำไรจะเป็นแรงขับเคลื่อนการผลิตและการกระจายสินค้าและบริการ บทบาทของรัฐในลัทธินี้จึงมีน้อยมาก รัฐยิ่งเล็ก ยิ่งดี

รูปที่ 1 : อุดมการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง

ทุนนิยมโดยรัฐ à ß ตลาดสังคมนิยม à ß ทุนนิยมสวัสดิการ à ß ทุนนิยมเสรี

 

คอมมิวนิสต์ à                                                           ß ประชาธิปไตย

  1.  

2.2“ยิ่งใหญ่ ยิ่งดี” เป็นแนวคิดที่อยู่ตรงกันข้าม มีดีมาจากอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจลัทธิทุนนิยมโดยรัฐ (State Capitalism) ภายใต้อุดมการณ์ทางการเมืองแบบคอมมิวนิสต์ ลัทธินี้เชื่อในระบบเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ที่รัฐเป็นเจ้าของ ผู้บริหาร หรือผู้จัดการปัจจัยการผลิตเพียงหนึ่งเดียว รัฐเป็นผู้กำหนดราคาและการกระจายสินค้าและบริการ รัฐจึงเปรียบเหมือนบริษัทมหึมาหนึ่งเดียวที่มีหน้าที่บริหารประเทศ รัฐในลัทธินี้จึงมีบทบาทมาก รัฐยิ่งใหญ่ ยิ่งดี

2.3 โลกทุกวันนี้ ไม่มีระบบทุนนิยมโดยรัฐหรือทุนนิยมเสรีแท้ ๆ แม้แต่ประเทศคอมมิวนิสต์ก็นำระบบตลาดมาใช้ เช่น จีน ก็เรียกระบบของตนว่า “เศรษฐกิจตลาดสังคมนิยม” (Socialist Market Economy[2]) ส่วนประเทศที่ปกครองแบบประชาธิปไตยก็เอาระบบสังคมนิยมมาใช้ เช่น ประเทศในกลุ่มแสกนดิเนเวีย ก็นำระบบเครือข่ายความมั่นคงทางสังคม (Social Safety Net) มาใช้รองรับผู้ด้อยโอกาสในสังคม กลายเป็นระบบ “ทุนนิยมสวัสดิการ” (Welfare Capitalism) ระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศล้วนเป็นแบบผสมผสาน บทบาทของรัฐจะมีมากหรือน้อยจึงขึ้นอยู่กับอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศนั้น ๆ โดยรัฐจะมีบทบาทมากในระบบทุนนิยมโดยรัฐ และบทบาทน้อยในระบบทุนนิยมเสรี

2.4 นอกจากอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองแล้ว แนวคิด “การบริหารรัฐกิจแนวใหม่” (New Public Management) ที่พัฒนาขึ้นในทศวรรษที่ 80 (ค.ศ. 1980s) ก็มีส่วนสำคัญในการสร้างกระแส “ยิ่งเล็ก ยิ่งดี” แนวคิดนี้เน้นการนำแนวทางการบริหารของภาคเอกชนมาใช้ในภาครัฐ โดยการบริหารรัฐเชิงพาณิชย์ (Commercialization) การเปิดให้มีการแข่งขันโดยปราศจากอุปสรรคในการเริ่มวิสาหกิจใหม่หรือเลิกวิสาหกิจเดิม (Contestability) การบริหารภาครัฐที่ยืดหยุ่นและคล่องตัว (Flexible and Autonomous) เพื่อเปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหาร บริหารได้อย่างเต็มที่ การให้ความสำคัญกับ “ประสิทธิภาพ” (Efficiency) “ความคุ้มค่า” (Value for Money) และการควบคุมทางการเงิน (Financial Control) การทำน้อยได้มาก (More for Less) เป็นต้น

2.5 ภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่มีต่อเนื่องตั้งแต่ทศวรรษ 80 (ค.ศ. 1980s) เช่น ภาวะฟองสบู่แตกที่เริ่มในญี่ปุ่น (ค.ศ. 1986 to 1991) วิกฤตทางการการเงินในสหรัฐ (Black Monday 1987) และต่อเนื่องมาเป็นวิกฤตการออมและการให้กู้ยืมในสหรัฐ (Savings and Loan Crisis 1980s - 1990s) วิกฤตเศรษฐกิจในเม็กซิโก (ค.ศ. 1994) วิกฤตต้มยำกุ้งที่เริ่มในไทยและกระจายไปทั่วเอเซีย (ค.ศ. 1997) ภาวะฟองสบู่ดอทคอมแตกในสหรัฐ (ค.ศ. 2000 - 2002) วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐ (Subprime Mortgage Crisis 2007-2010) วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป (European Debt Crisis 2009-) เป็นต้น (Financial Crisis, n.d.) ล้วนเป็นแรงผลักดันให้รัฐบาลในหลายประเทศปฏิรูประบบบริหารภาครัฐขนานใหญ่และต่อเนื่อง มีการทบทวนบทบาทภาครัฐ ลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ ลดขนาดเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ฯลฯ

3. การปฏิรูประบบบริหารภาครัฐกับขนาดเจ้าหน้าที่ภาครัฐของกลุ่มประเทศ OECD

รูปที่ 2 : สัดส่วนการจ้างงานภาครัฐต่อการจ้างงานรวมในประเทศของกลุ่ม OECD พ.ศ. 2550 และ 2558

Data: OECD, 2017, Government at a Glance, p. 91

หลังจากการปฏิรูประบบบริหารภาครัฐอย่างต่อเนื่องกว่า 2 ทศวรรษ (ค.ศ. 1980s  และ 1990s) บทบาทภาครัฐของกลุ่มประเทศ OECD) กลับมากขึ้น (OECD, 2005, p. 20) ซึ่งข้อมูลล่าสุดก็สะท้อนภาพดังกล่าว สัดส่วนการจ้างงานภาครัฐต่อการจ้างงานรวมในประเทศของกลุ่มประเทศ OECD โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 17.9 ในปี พ.ศ. 2550 มาเป็นร้อยละ 18.1 ในปี พ.ศ. 2558 (OECD, 2017, p. 91 - รูปที่ 2) อย่างไรก็ตาม บทบาท รูปแบบ และวิธีการดำเนินการ (Intervention) ของรัฐ ตลอดจนโครงสร้างเจ้าหน้าที่ภาครัฐ (Human Resource Mix) และคุณสมบัติของเจ้าหน้าที่ภาครัฐเปลี่ยนไปจากเดิมมาก

4. “ยิ่งเล็ก ยิ่งดี” จริงหรือ ?

4.1 การตรวจสอบข้อเท็จจริงนี้จะใช้เครื่องมือทางสถิติที่เรียกว่า การวิเคราะห์ความสัมพันธ์แบบเส้นตรง (Pearson Correlation) ของ “ขนาดเจ้าหน้าที่ภาครัฐ” และ “ประสิทธิภาพ” ที่ระดับความเชื่อมั่น (Confident Interval) 95% ซึ่งถ้าตำนานเป็นเพียงความเชื่อ ความสัมพันธ์จะไม่มีนัยทางสถิติ (F - Statistically Insignificant) ถ้าตำนานเป็นจริง ความสัมพันธ์ของ “ขนาดฯ” กับ “ประสิทธิภาพ” จะไม่ได้เกิดจากความบังเอิญ แต่เกิดอย่างมีนัยทางสถิติ โดยค่าความสัมพันธ์ (r) จะเป็นค่าลบ กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ภาครัฐขนาดเล็ก ประสิทธิจะสูงขึ้น เจ้าหน้าที่ภาครัฐขนาดใหญ่ ประสิทธิภาพจะต่ำลง แต่ค่า r เป็นค่าบวก ก็แสดงว่า ตำนานกลับหัวกลับหาง กล่าวคือ รัฐขนาดใหญ่-ประสิทธิภาพสูง รัฐขนาดเล็ก-ประสิทธิภาพต่ำ  นอกจากนี้ ถ้าค่า r หรือ R2 มากกว่า 0.5 หรือใกล้ 1 แสดงว่าขนาดภาครัฐและประสิทธิภาพมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งมาก แต่ถ้าค่า r น้อยกว่า 0.5 หรือใกล้ศูนย์ แสดงว่ามีความสัมพันธ์กันน้อยหรือแทบไม่มี

4.2 ตัวแทนขนาดเจ้าหน้าที่ภาครัฐและตัวแทนประสิทธิภาพ

4.2.1 ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์พันธ์นี้ ใช้ตัวแทนของขนาดภาครัฐ 3 ตัวแปร คือ

(1) “สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐต่องบประมาณ” (หน่วย : ร้อยละ) ใช้ข้อมูลค่าเฉลี่ยสามปี (พ.ศ. 2553 - 2555) ของธนาคารโลก (The World Bank, 2016)

(2) “สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านบุคคลต่อ GDP” (หน่วย : ร้อยละ) ใช้ข้อมูลปี
พ.ศ. 2558 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
(IMF, 2016, pp. 14-16)

(3) “สัดส่วนการจ้างงานภาครัฐต่อการจ้างงานรวมในประเทศ” (หน่วย : ร้อยละ) ใช้ข้อมูลจากสองแหล่ง สำหรับกลุ่มประเทศ OECD ยกเว้น เม็กซิโกและโปแลนด์ ใช้ข้อมูลปี พ.ศ. 2558 ของ OECD (2017, p. 91) ส่วนประเทศนอกกลุ่ม OECD รวมทั้งเม็กซิโกและโปแลนด์ ใช้ข้อมูลปี พ.ศ. 2557 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO, 2018)

4.2.2 ส่วนตัวแทนประสิทธิภาพก็มี 3 ตัวแปร เช่นกัน คือ

(1) “ขีดความสามารถแข่งขันในเวทีโลก” ใช้ข้อมูลจากรายงานขีดความสามารถแข่งขันในเวทีโลกปี พ.ศ. 2557 และ 2558 ของสภาเศรษฐกิจโลก (WEF, 2014, p. 13; 2015, p. 7) หน่วยเป็นค่าคะแนน 0 - 7 คะแนนใกล้ 0 หมายถึงขีดความสามารถฯ ต่ำ คะแนนใกล้ 7 ขีดความสามารถสูง

(2) “ประสิทธิผลภาครัฐ” (Government Effectiveness) ใช้ข้อมูลปี
พ.ศ. 2557 และ 2558 ของกลุ่มธนาคารโลก โครงการ Worldwide Governance Indicators
(World Bank Group, 2017) โดยหน่วยวัดเป็นค่าคะแนน - 2.5 ถึง + 2.5 ถ้าคะแนนเป็นลบ แสดงว่าไร้ประสิทธิภาพ คะแนนเป็นบวก มีประสิทธิภาพ และ

(3) “ดัชนีพัฒนาการมนุษย์” (Human Development Index) ใช้ข้อมูลปี
พ.ศ. 2555, 2557 และ 2558 ของ UNDP
(UNDP, 2012; 2015, pp. 208-211; 2016, pp. 198-201) โดยหน่วยเป็นค่าคะแนนตั้งแต่ 0.0 ถึง 1.0 ค่าใกล้ศูนย์ หมายถึง พัฒนาการน้อย ค่าใกล้หนึ่ง พัฒนาการมาก

4.3 ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ขนาดภาครัฐและประสิทธิภาพรวม 9 คู่ มีดังนี้

4.3.1 “สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านบุคคลต่อ GDP” กับ “ขีดความสามารถแข่งขันในเวทีโลก” ไม่มีความสัมพันธ์อย่างเป็นนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่า R2 = 0.01, F = 1.22, p = 0.27 (ข้อมูล 124 ประเทศ - รูปที่ 3)

4.3.2 “สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านบุคคลต่อ GDP” กับ “ประสิทธิผลภาครัฐ” ไม่มีความสัมพันธ์อย่างเป็นนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่า R2 = 0.002, F = 0.30, p = 0.58 (ข้อมูล 140 ประเทศ - รูปที่ 4)

รูปที่ 3 : สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐต่อ GDP กับ
ขีดความสามารถแข่งขันในเวทีโลก พ.ศ. 2558

รูปที่ 4 : สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐต่อ GDP กับ
ประสิทธิผลภาครัฐ พ.ศ. 2558

R2 = 0.01, F = 1.22, p = 0.27, n = 124

R2 = 0.002, F = 0.30, p = 0.58, n = 140

    1.  

4.3.3 “สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านบุคคลต่อ GDP” กับ “ดัชนีพัฒนาการมนุษย์” มีความ
สัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% (ไม่มีความสัมพันธ์ที่ระดับความเชื่อมั่น 96% ขึ้นไป) แต่ความสัมพันธ์นั้นมีน้อยมาก โดยมีค่า r เป็นค่าบวก, R2 = 0.037, F = 5.14, p = 0.025 (ข้อมูล 134 ประเทศ – รูปที่ 5)

4.3.4 “สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านบุคคลต่องบประมาณรายจ่าย” กับ “ขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก” ไม่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่า R2 = 0.01, F = 0.70, p = 0.40 (ข้อมูล 72 ประเทศ – รูปที่ 6)

รูปที่ 5 : สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐต่อ GDP กับ
ดัชนีพัฒนาการมนุษย์
พ.ศ. 2558

r เป็นบวก, R2 = 0.037, F = 5.14, p = 0.025, n = 134

รูปที่ 6 : สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐต่องบประมาณรายจ่ายกับ ขีดความสามารถแข่งขันในเวทีโลก พ.ศ. 2553-2555

R2 = 0.01, F = 0.70, p = 0.40, n = 72

 

 

4.3.5 “สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐต่องบประมาณรายจ่าย” กับ “ประสิทธิผลภาครัฐ” ไม่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่า R2 = 0.004, F = 0.27, p = 0.61 (ข้อมูล 71 ประเทศ – รูปที่ 7)

4.3.6 “สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐต่องบประมาณรายจ่าย” กับ “ดัชนีการพัฒนามนุษย์” ไม่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่า R2 = 0.04, F = 3.25, p = 0.08 (ข้อมูล 72 ประเทศ – รูปที่ 8)

รูปที่ 7 : สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐต่องบประมาณรายจ่ายกับประสิทธิผลภาครัฐ พ.ศ. 2555

R2 = 0.004, F = 0.27, p = 0.61, n = 71

รูปที่ 8 : สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐต่องบประมาณรายจ่ายกับดัชนีการพัฒนามนุษย์ พ.ศ. 2555

R2 = 0.04, F = 3.25, p = 0.08, n = 72

 

 

4.3.7 “สัดส่วนการจ้างงานภาครัฐต่อการจ้างงานรวมในประเทศ” กับ “ขีดความสามารถแข่งขันในเวทีโลก” ไม่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่า R2 = 0.02, F = 0.61, p = 0.44 (ข้อมูล 41 ประเทศ – รูปที่ 9)

4.3.8 “สัดส่วนการจ้างงานภาครัฐต่อการจ้างงานรวมในประเทศ” กับ “ประสิทธิผลภาครัฐ” ไม่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่า R2 = 0.02, F = 0.99, p = 0.33 (ข้อมูล 43 ประเทศ – รูปที่ 10)

รูปที่ 9 : สัดส่วนการจ้างงานภาครัฐต่อการจ้างงานรวมในประเทศกับขีดความสามารถแข่งขันในเวทีโลก พ.ศ. 2557/2558

R2 = 0.02, F = 0.61, p = 0.44, n = 41

รูปที่ 10 : สัดส่วนการจ้างงานภาครัฐต่อการจ้างงานรวมในประเทศกับประสิทธิผลภาครัฐ พ.ศ. 2557/2558

R2 = 0.02, F = 0.99, p = 0.33, n = 43

    1.  

4.3.9 “สัดส่วนการจ้างงานภาครัฐต่อการจ้างงานรวมในประเทศ” กับ “ดัชนีการพัฒนามนุษย์” ไม่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่า R2 = 0.04, F = 1.57, p = 0.22 (ข้อมูล 42 ประเทศ  – รูปที่ 11)

4.4 จากผลการวิเคราะห์ข้างต้นจะเห็นได้ว่า มีตัวแทนเพียงคู่เดียวจากเก้าคู่ที่ความสัมพันธ์มีนัยทางสถิติ คือ “สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านบุคคลต่อ GDP” กับ “ดัชนีพัฒนาการมนุษย์” แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวก็มีน้อยมาก (R2 = 0.037) ส่วนความสัมพันธ์ของตัวแทนอีก 8 คู่ ไม่มีนัยทางสถิติ จึงอาจสรุปได้ว่า “ยิ่งเล็ก ยิ่งดี” เป็นเพียงความเชื่อ ดังจะเห็นได้ว่า ประเทศที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ญี่ปุ่น ฮ่องกง (เขตเศรษฐกิจ) ซึ่งมีขีดความสามารถแข่งขันในเวทีโลกอยู่ลำดับต้น ๆ (WEF, 2015, p. 7) บางประเทศก็มีสัดส่วนเจ้าหน้าที่ภาครัฐต่อการจ้างงานรวมในประเทศสูงมาก เช่น ฟินแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ และเดนมาร์ค สูงร้อยละ 24 ถึง 30 แต่บางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และฮ่องกงกลับมีสัดส่วนเจ้าหน้าที่ภาครัฐต่อการจ้างงานรวมในประเทศต่ำมากเพียงร้อยละ 5.9 และ 6.6 ตามลำดับ (OECD, 2017, p. 91) ขนาดเจ้าหน้าที่ภาครัฐจึงไม่มีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพของรัฐ/ประเทศ

4.5 ผลการวิเคราะห์ข้างต้นสอดคล้องกับผลการศึกษาของ Richard Posner นักกฎหมายและนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง “สัดส่วนการจ้างงานภาครัฐต่อกำลังแรงงาน” กับ “รายได้ต่อหัว” (Per Capita Income) แล้วพบว่า ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างขนาดเจ้าหน้าที่ภาครัฐกับประสิทธิภาพของประเทศหรือรัฐ (Richard Allen Posner, 2011)

5. ปริมาณหรือคุณภาพของคน

รูปที่ 11 : สัดส่วนการจ้างงานภาครัฐต่อการจ้างงานรวมในประเทศกับดัชนีพัฒนาการมนุษย์ พ.ศ. 2557/2558

R2 = 0.04, F = 1.57, p = 0.22, n = 42

ในขณะที่ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างขนาดเจ้าหน้าที่ภาครัฐกับประสิทธิภาพของรัฐ/ประเทศ เรากลับพบว่าคุณภาพของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เช่น การปราศจากฉ้อราษฎร์บังหลวง การไม่เล่นพรรคเล่นพวก มีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพของรัฐ/ประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ดังรูปที่ 12 และ 13

รูปที่ 12 : ดัชนีการฉ้อราษฎร์บังหลวง กับ ขีดความสามารถ
แข่งขันในเวทีโลก ปี 2559

R2 = 0.7, F = 305.8, p = 2.14E-36, n = 136

รูปที่ 13 : การเล่นพรรคเล่นพวก กับ ดัชนีพัฒนาการมนุษย์

 

R2 = 0.22, F = 37.9, p = 7.62E-9, n = 140

* ดัชนีการฉ้อราษฎร์บังหลวง จาก Transparency International, Corruption Perceptions Index 2016

ขีดความสามารถแข่งขันในเวทีโลก จาก WEF, Global Competitiveness Report 2016 – 2017

* การเล่นพรรคเล่นพวก จาก WEF, Global Competitiveness Report
2014 – 2015

ดัชนีพัฒนาการมนุษย์ จาก UNDP, Human Development Report 2015

6. สรุป

6.1 ขนาดเจ้าหน้าที่ภาครัฐขึ้นอยู่กับอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง โดยตำนาน “ยิ่งเล็ก ยิ่งดี” มีที่มาจากอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีภายใต้อุดมการณ์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตย แนวคิดการบริหารรัฐกิจแนวใหม่ และผลพวงของวิกฤตทางเศรษฐกิจ

6.2 จากบทเรียนของกลุ่มประเทศ OECD ความพยายามปฏิรูประบบการบริหารภาครัฐที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องไม่ได้ทำให้ขนาดภาครัฐเล็กลง เพียงแต่ทำให้บทบาทและรูปแบบการดำเนินงานของรัฐเปลี่ยนไป เป็นผลให้โครงสร้างของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ คุณสมบัติ และคุณภาพของเจ้าหน้าที่เปลี่ยนไปด้วย

6.3 การเปรียบมวยต้องดูพิกัดฉันใด การเปรียบเทียบขนาดเจ้าหน้าที่ภาครัฐก็ต้องดูบริบททางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่ใกล้เคียงกันฉันนั้น ดังนั้น การเปรียบเทียบขนาดเจ้าหน้าที่ภาครัฐของเรากับประเทศจีนซึ่งใช้ระบบตลาดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่รัฐมีบทบาททางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมอย่างมาก หรือกับประเทศสิงคโปร์และญี่ปุ่นที่ใช้ระบบเสรีนิยมประชาธิปไตยที่รัฐมีบทบาททางเศรษฐกิจและสังคมน้อย เพราะมีชนชั้นกลางสูงมากถึงร้อยละ 62.3 และ 59.5 ตามลำดับ (สูงเป็นอันดับสองและห้าของโลก) ขณะที่ไทยมีชนชั้นกลางน้อยมากเพียงร้อยละ 3.7 แต่มีชนชั้นล่างสูงถึงร้อยละ 92.3 (Global Wealth Report, 2015, p. 32) จึงเป็นการเปรียบมวยผิดคู่ ผิดฝาผิดตัวอย่างยิ่ง

6.4 ขนาดของเจ้าหน้าที่ภาครัฐไม่มีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพของรัฐ/ประเทศ แต่คุณภาพของเจ้าหน้าที่ภาครัฐมีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพของรัฐ/ประเทศอย่างมีนัยสำคัญ การปราศจากการฉ้อราษฎร์บังหลวงและการไม่เล่นพรรคเล่นพวก จะเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันในเวทีโลกของประเทศและทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

6.5 จากข้อเท็จจริงดังกล่าว รัฐควรจะหันมาทบทวนนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐโดยเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ เพราะนอกจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐของเราไม่ได้มีมากไปแล้ว[3] การลดจำนวนเจ้าหน้าที่ภาครัฐหรือการลดค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐยังไม่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของรัฐ/ประเทศ แต่การปรับเชิงคุณภาพ เช่น การปรับโครงสร้างและสัดส่วนเจ้าหน้าที่ภาครัฐ การปรับระบบสรรหาเพื่อให้ได้คนเก่งและดีที่มีคุณสมบัติและคุณภาพที่สอดคล้องของบทบาทที่เปลี่ยนไปของรัฐ การปรับปรุงระบบการแต่งตั้งให้ปลอดจากการเล่นพรรคเล่นพวก ฯลฯ จะเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐได้ดีกว่ามาก

 

 

 

บรรณานุกรม

Credit Suisse, Global Wealth Report (2015)

Financial Crisis. (n.d.). In Wikipedia. Retrieved March 12, 2018, from https://en.wikipedia.org/wiki/Financial_crisis#19th_century

International Labour Organization (2018), Public Employment by Sectors and Sub-sectors of National Accounts. Retrieved Feb 8, 2018 09:32 +0100, from www.ilo.org/ilostat.

International Monetary Fund (2016), Government Finance Statistics Yearbook 2015, Washington DC

OECD (2005), Modernising Government: The Way Forward, OECD Publishing, Paris. Retrieved March 5, 2018, from http://dx.doi.org/10.1787/9789264010505-en

OECD (2017), Government at a Glance 2017, OECD Publishing, Paris. Retrieved March 5, 2018, from http://dx.doi.org/10.1787/gov_glance-2017-en

Richard Allen Posner (2011), Too Many Government Workers ? Retrieved March 5, 2018, from http://www.becker-posner-blog.com/2011/09/too-many-government-workersposner.html

UNDP (2012), Human Development Data. Retrieved Feb 4, 2018 : 11.00 am, from http://hdr.undp.org/en/data

UNDP (2015), Human Development Report 2015, United States: PBM Graphics

UNDP (2016), Human Development Report 2016, Canada: Lowe-Martin Group

World Bank (2016), Size of the Public Sector: Government Wage Bill and Employment, February 17, 2016. Retrieved Jan 12, 2018 :11.00 am, from http://www.worldbank.org
/en/topic/governance/brief/size-of-the-public-sector-government-wage-bill-and-employment

World Economic Forum (2014), Global Competitiveness Report 2014-2015, Switzerland

World Economic Forum (2015), Global Competitiveness Report 2015-2016, Switzerland

World Bank Group, The Worldwide Governance Indicators, 2017 Update. Retrieved Sept 22, 2017, from www.govindicators.org

 

[1] ปรับปรุงจากต้นฉบับเดิม ซึ่งเผยแพร่วันที่ 12 มีนาคม 2561 โดยเพิ่มหัวข้อ 6.3

[2] ดูความหมายของ Socialist Market Economy เพิ่มเติม http://www.economywatch.com/market-economy/socialist-market-economy.html

[3] ดู วิสูตร ประสิทธิ์ศิริวงศ์ (2561), เจ้าหน้าที่ภาครัฐของเรามากไปจริงหรือ ? https://drive.google.com/open?id=1ELhL_UfW2x8xGfSlNs-S7H2dSuzSG-w4

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net